ข้ามไปเนื้อหา

การแข่งเรือยาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประเพณีแข่งเรือ เป็นประเพณีหน้าน้ำของคนไทยและประเทศใกล้เคียง เป็นการละเล่นในยามน้ำหลากที่สืบทอดมาแต่โบราณ และมักมีการแข่งเรือควบคู่ไปกับการทำบุญ ปิดทอง ไหว้พระและงานกฐิน ช่วยสร้างบรรยากาศให้งานบุญครึกครื้นขึ้น

ประเพณีแข่งเรือ เป็นการละเล่นที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยในชนบทถิ่นที่อยู่อาศัยใกล้น้ำ ในช่วงเดือนสิบเอ็ดและเดือนสิบสอง ชาวบ้านเว้นว่างจากการทำไร่ทำนา เป็นโอกาสที่หนุ่มสาวได้พบปะเกี้ยวพาราสีกัน ได้เห็นฝีไม้ลายมือของชายอกสามศอก ได้เห็นความสามัคคีพร้อมเพรียงของเหล่าหนุ่มฝีพาย การแข่งเรือมักมีการเล่นเพลงเรือ เพลงปรบไก่ เพลงครึ่งท่อน และสักวาโต้ตอบกันระหว่างหนุ่มสาวหลังการแข่งเรือ เป็นการใช้ฝีปากไหวพริบและความเป็นเจ้าบทเจ้ากลอน โต้ตอบเกี้ยวพาราสีกัน ได้แสดงความสามารถทั้งหญิงและชาย ผู้ดูมีทั้งอยู่บนตลิ่ง และที่พายเรือกันไปเป็นหมู่ ต่างสนุกสนานกันทั่วหน้า

เรือแข่งที่แถบชาวบ้านลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาใช้แข่งซึ่งทำจากท่อนซุงทั้งต้น การต่อเรือยาวต้องใช้ความรู้ ความชำนาญมาก จึงจะได้เรือที่สวยและแล่นได้เร็วเวลาพาย

ปัจจุบันประเพณีการแข่งเรือยังมีเหลืออยู่บ้างไม่มากเหมือนสมัยก่อน เพราะวิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงไป แต่เราไม่ค่อยจะได้ยินเสียงเพลงเห่เรือของฝีพายและของชาวบ้าน กลับได้ยินเพลงลูกทุ่งแทน เพราะขาดผู้รู้คุณค่าและความสนใจที่จะรักษาไว้ จึงไม่ได้สนับสนุนผู้มีความรู้ความสามารถในการเห่เรือ ให้สืบทอดประเพณีนี้ต่อมา เป็นที่น่ายินดีที่หน่วยงานราชการ และเอกชนบางแห่ง เล็งเห็นคุณค่าของประเพณีแข่งเรือ จึงได้จัดให้มีการแข่งเรือขึ้นในหลายๆท้องถิ่นที่อยู่ริมน้ำ ซึ่งประสบผลสำเร็จ ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติมากมาย

จุดประสงค์การแข่งขันเรือยาว

[แก้]
  • ฉลองเทศการออกพรรษาของชาวไทยพุทธเพราะจะจัดขึ้นหลังจากออกพรรษาแล้ว
  • เป็นการสร้างความสามัคคี ให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน
  • ในอดีตนั้นจะใช้เรือยาวในการแห่กฐินหรือผ้าป่าไปวัด และเพื่อความสนุกสนานและความเพลิดเพลิน จึงได้จัดแข่งขันเรือยาวขึ้นด้วย
  • เป็นโอกาสดีของหนุ่มสาว ต่างหมู่บ้านที่จะได้รู้จักพบปะสังสรรค์กัน

ในต่างประเทศ

[แก้]

การแข่งเรือยาว พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ เช่น ประเทศอินเดีย พม่า กัมพูชา และลาว[1] ชื่อของการแข่งเรือเรียกในภาษาต่าง ๆ ได้แก่

  • อินเดีย ในรัฐเกรละ เรียกพิธีก่อนการแข่งเรือว่า "จุนทัน วาลลัม" และการแข่งเรือยาวเรียก "วาลลัม กาลี" (Vallam Kali)[2][3] ในช่วงสิงหาคมถึงกันยายนของทุกปี
  • บังกลาเทศ การแข่งเรือยาวเรียกว่า "นอคา เบส" (เบงกอล: নৌকা বাইচ หรือ Nouka Baich) [4] ในช่วงมิถุนายน ถึงตุลาคมของทุกปี ซึ่งการแข่งนี้ยังแพร่ไปตามชุมชนชาวยะไข่ในพม่าด้วยซึ่งเรียก "Pailong Poye"[5][6]
  • กัมพูชา จัดการแข่งเรือยาวในช่วงเทศกาลน้ำที่เรียกว่า "พิธีบุญอมตูก" (ពិធីបុណ្យអុំទូក)[7] ในแม่น้ำโขงช่วงต่อกับตนเลสาบในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งมีทั้งแบบนั่งและยืนพาย[8][9] และมีการแข่งเรือยาวแบบนี้ในชุมชนชาวเขมรในเวียดนามตอนใต้ในบริเวณปากแม่น้ำโขงด้วย[10] ซึ่งเรียกเทศกาล"ออกอมบก" (Ok-om-bok)[11]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สยามรัฐ. ผลการแข่งขันเรือยาวประเพณีไทยลาวเวียดนาม ครั้งที่ 21 13 กันยายน 2563.
  2. Vallam Kali Movie. VALLAM KALI Snake Boat Games เก็บถาวร 2021-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2564.
  3. Incredible India. Vallam Kali (Boat Race) สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2564.
  4. Mahfuz Alam. Month-long boat race under way in Pabna. NewAge Entertainment. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2564.
  5. Ataul Karim Patwary, Biplab Roy, Rajidul Hoque, Shariful Alam Khandakar. Process of Developing a Community Based Tourism and Identifying its Economic and Social Impacts: An Empirical Study on Cox's Bazar, Bangladesh. Pakistan Journal of Humanities and Social Sciences January – March 2019, Volume 7, No. 1, Pages 1 – 13.
  6. ဓါတ်လယ်ဆရာတော် - ပရိတ်ကြီး (၁၁) သုတ် The Rakhine of Awagyun. 19 พฤศจิกายน 2563.
  7. អង្គរវត្ត (Nokorwat News) រាជរដ្ឋាភិបាល សម្រេចផ្អាកការប្រារព្ធព្រះរាជពិធីបុណ្យអុំទូក បណ្ដែតប្រទីប និងសំពះព្រះខែ អកអំបុក ឆ្នាំ២០២០ ភ្នំពេញ (พนมเปญ) สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2564.
  8. Alamy. Water festival takes place every year in Cambodia in November when the Tonle Sap river changes direction. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2564.
  9. Alamy. Soc Trang, Vietnam - November 13, 2016: Traditional khmer boat racing named Doi Ghe Ngo held in Soc Trang, November 13, Vietnam. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2564.
  10. VOVWorld. Ngo boat race of the Khmer 2 พฤศจิกายน 2563.
  11. Sinh Cafe Travel. Traditional festival of Khmer people in Mekong Delta[ลิงก์เสีย] สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2564.