ข้ามไปเนื้อหา

การเหมารวม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าหน้าที่ตำรวจซื้อโดนัทกับกาแฟ เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการเหมารวมพฤติกรรมในทวีปอเมริกาเหนือ

การเหมารวม[1] (อังกฤษ: Stereotype) คือ คตินิยมหรือทัศนคติของสังคมทั่วไปที่มีต่อกลุ่มคนอื่น ชาติอื่น หรือลักษณะของบุคคลบางประเภทจนกลายเป็นมาตรฐาน มีพื้นฐานมาจากการสรุปเอาจากข้อสมมุติพื้นฐานที่มีแนวโน้มที่เป็นอัตวิสัย

การเหมารวมเกิดขึ้นจากความคิดที่คุ้นเคยทางมโนธรรม เช่น จากพฤติกรรมบางอย่าง หรือลักษณะพิเศษอันแตกต่างจากผู้อื่นที่ปรากฏและเป็นที่สังเกตอยู่ชั่วระยะเวลาอันยาวพอประมาณ การที่แนวคิดทางวัฒนธรรม (Meme) จะกลายมาเป็นสิ่งที่ยอมรับกันโดยสังคมโดยทั่วไปได้ การเหมารวมไม่อาจจะเป็นแนวคิดที่ผิดไปทั้งหมด และจะต้องมีองค์ประกอบที่สังคมยอมรับ (Social recognition) การเหมารวมมิได้ใช้แต่เฉพาะกลุ่มคนแต่อาจจะใช้ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอจนสามารถทำนายผลที่จะออกมาได้

การเหมารวมอาจจะเป็นได้ทั้ง “ดี” และ “ไม่ดี” แต่แนวคิดทางของการเหมารวมส่วนใหญ่แล้วยากที่จะเสนอภาพพจน์ทางบวกของกลุ่มชน

ที่มาของคำ

[แก้]

คำว่า “stereotype” มาจากภาษากรีก “στερεότυπος” ที่แปลตรงตัวว่า “สิ่งที่แข็ง” ที่เกิดจากการรวมคำว่า “στερεός” (“stereos”) ที่แปลว่าแข็งหรือแน่น[2] กับคำว่า “τύπος” (“tupos”) ที่แปลว่าประทับเป็นรอย[3] ซึ่งเป็นคำที่คิดขึ้นโดยช่างพิมพ์ชาวฝรั่งเศสแฟร์แมง ดิโดท์ (Firmin Didot) ที่หมายถึงภาพที่พิมพ์จากต้นฉบับที่นำมาใช้ในการพิมพ์แทนที่จะใช้ตัวต้นฉบับเป็นตัวแบบโดยตรง ต่อมานักหนังสือพิมพ์อเมริกันวอลเตอร์ ลิพพ์แมนน์ (Walter Lippmann) เป็นผู้ริเริ่มนำคำนี้มาใช้เป็นอุปมา โดยบรรยายการเหมารวมว่าเป็น “ภาพพจน์ในสมอง” และกล่าวว่า “ไม่ว่าจะถูกหรือผิด, ...จินตนาการเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาจากสิ่งที่ประสบ... ผลคือการเหมารวมที่เกิดขึ้นที่ยากที่จะกำจัด” (พับลิคโอพินเนียน, 1922, 95-156) [4] อันที่จริงแล้วทั้ง “สำนวนจำเจ” (cliché) และ การเหมารวม มาจากคำที่ใช้ในวงการการพิมพ์ และมีความหมายเดียวกัน “สำนวนจำเจ” มาจากภาษาฝรั่งเศสสำหรับพื้นผิวสำหรับการพิมพ์ด้วย “stereotype”[5]

ตัวอย่างของการเหมารวมก็ได้แก่ตัวละครไชล็อกในบทละคร The Merchant of Venice โดยวิลเลียม เชกสเปียร์ที่ถ้าอ่านอย่างผ่าน ๆ ก็จะมีบุคลิกต่าง ๆ ที่ถือว่าเป็นการเหมารวมอันเป็นที่น่ารังเกียจของสังคมที่มีต่อชาวยิวเป็นต้น

สาเหตุ

[แก้]

นักสังคมวิทยาเชื่อว่าการจัดกลุ่มทางจิตวิทยา (หรือการประทับตรา) เป็นสิ่งจำเป็นและสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทัศนคติหนึ่งในการทำความเข้าใจในกระบวนการสร้างการเหมารวม คือการเข้าใจความแตกต่างระหว่าง “กลุ่มใน” (Ingroup) และ “กลุ่มนอก” (Outgroup) ผู้อยู่ “กลุ่มใน” จะถือว่าเป็นผู้ปกติและมีคุณสมบัติเหนือกว่า และโดยทั่วไปแล้วจะเป็นกลุ่มที่มีผู้ที่มีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของหรือมีผู้ต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ส่วน “กลุ่มนอก” หมายความง่าย ๆ ว่าเป็นผู้คนที่อยู่นอกกลุ่ม ที่มักจะเห็นกันว่าด้อยกว่าผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของ “กลุ่มใน”

อีกทัศนะหนึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ และ โดยมิได้จงใจ การสร้างการเหมารวมโดยอัตโนมัติหรือจากจิตใต้สำนึกเป็นการกระทำที่ทำกันทุกคนโดยไม่ได้สังเกต กระบวนการนี้มักจะตามมาจากการสังเกตจากสิ่งแวดล้อมโดยการรวบรวมข้อมูลและการแก้ไขข้อมูลก่อนที่จะทำการสรุปเป็นการเหมารวม การสร้างการเหมารวมโดยอัตโนมัติเป็นผลมาจากการสังเกตพฤติกรรมจากสิ่งแวดล้อมที่กลายมาเป็นความคิดที่พัฒนาไปเป็นการเหมารวมของจิตใต้สำนึก

ทัศนะที่สามในการทำความเข้าใจความคิดเกี่ยวกับการเหมารวมคือการจัดเป็นประเภททั่วไป และประเภทรอง การเหมารวมประกอบด้วยระบบระดับชั้นที่ประกอบด้วยกลุ่มทั่วไปและกลุ่มเฉพาะตามลำดับ กลุ่มทั่วไปอาจจะหมายถึงกลุ่มกว้าง ๆ ที่เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ขณะที่กลุ่มรองจะเป็นหนึ่งในกลุ่มย่อยภายในกลุ่มทั่วไป กลุ่มรองจะเป็นกลุ่มที่เฉพาะเจาะจง และทัศนคติที่มีต่อกลุ่มก็จะแตกต่างกันออกไปตามแต่ทัศนคติของแต่ละมุมมอง

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการสร้างการเหมารวมคือการที่จะเข้าใจความซับซ้อนของระบบสังคมทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แม้ว่าการเหมารวมจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกตรงต่อความจริง แต่เป็นสิ่งที่สะดวกต่อสมอง การจัดกลุ่มเป็นความสามารถอันสำคัญของมนุษย์เพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้เราเข้าใจ สามารถทำนายพฤติกรรมของสังคมได้ และจัดระบบต่าง ๆ ของสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ เมื่อจัดเข้าเป็นกลุ่ม ๆ แล้วเราก็มักจะหลีกเลี่ยงการวิจัยข้อมูลใหม่หรือข้อมูลที่เข้ามาโดยไม่ได้คาดล่วงหน้าของบุคคลแต่ละคน การจัดลักษณะที่เป็นของกลุ่มทั่วไปให้แก่สมาชิกของกลุ่มเป็นโครงสร้างทางความคิดที่ช่วยในการประหยัดเวลาในการที่จะเข้าใจสังคม และทำให้สามารถทำให้ทำนายพฤติกรรมของสังคมได้ง่ายขึ้น

โดยทั่วไปแล้วมนุษย์ส่วนใหญ่มักจะใช้การเหมารวมเพื่อสนองความต้องการทางจิตวิทยาที่จะต้องสร้างความรู้สึกดีให้แก่ตนเอง (Self) การเหมารวมพิทักษ์อัตตาจากความกังวลและส่งเสริมความเชื่อมั่นในตนเอง (self-esteem) การจัดตนเองให้อยู่ในกลุ่มที่ถือกันว่าเป็นกลุ่มมาตรฐานหรือกลุ่มปกติ และจัดผู้อื่นให้อยู่ในกลุ่มที่ถือว่าด้อยกว่าหรือผิดปกติทำให้ผู้นั้นมีความรู้สึกว่าตนเองมีค่า (sense of self worth)

อิทธิพลจากประสบการณ์เมื่อยังเป็นเด็กเป็นปัจจัยอันมีอิทธิพลและอันซับซ้อนต่อการพัฒนาการเหมารวม แม้ว่าการเหมารวมจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้แต่มักจะเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็กตอนต้นภายใต้อิทธิพลของบิดามารดา, ครูบาอาจารย์, เพื่อน และ มีเดีย เมื่อฝังใจแล้วก็จะกลายมาเป็นความเชื่อของตนเองต่อมา

ทฤษฎีหลายททฤษฎีทางวิทยาศาสตร์พัฒนามาจากการศึกษาทางสังคมวิทยาเกี่ยวกับการสร้างการเหมารวมและการสร้างอคติ (prejudice) การศึกษาในสมัยแรก ๆ เชื่อกันว่าหรือเสนอว่าการเหมารวมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะในหมู่ผู้มีระเบียบวินัย/เคร่งครัด/ชอบใช้อำนาจ (authoritarian) และขาดความยืดหยุ่น เก็บกด นักสังคมวิทยาสรุปว่ามีสาเหตุมาจากความขัดแย้ง, การมาจากครอบครัวที่ได้รับความกดดันจากบิดามารดา และ ความขาดการพัฒนาทางสมองและทางอารมณ์อันเพียงพอ แต่ในปัจจุบันความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่ล้าสมัย นักวิทยาศาสตร์และนักทฤษฎีในปัจจุบันสรุปว่าการเหมารวมไม่แต่จะเกิดขึ้นเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างไม่จบไม่สิ้นในกระบวนการคิดของมนุษย์

สถานภาพแวดล้อมบางอย่างก็อาจจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการสร้างการเหมารวมของแต่ละบุคคล ตัวอย่างเช่นงานศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าสตรีสร้างการเหมารวมในทางลบมากกว่าชาย และสตรีจะอ่านลักษณะรูปร่างหน้าตามากกว่าชาย นักทฤษฎีบางท่านค้านและสนับสนุนความเชื่อมโยงของความคิด/ประสบการณ์ และเชื่อว่าความคิดเชิงลำเอียงต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็เป็นการเพียงพอที่จะสร้างทัศนคติต่อบุคคลนั้น นักทฤษฎีท่านอื่นกล่าวว่าอย่างน้อยที่สุดก็จะต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างสถานะทางจิตใจและพฤติกรรมในการที่จะสร้างทัศนคติหรือสร้างการเหมารวมขึ้นมาได้ การสร้างการเหมารวมเป็นแต่เพียงทฤษฎีที่มิได้มีรากฐานมาจากเหตุการณ์แวดล้อมที่พิสูจน์ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการเหมารวมคือการสรุปอย่างไม่ถูกต้องของลักษณะภายในจากลักษณะรูปร่างหน้าตาที่เห็นภายนอก คำอธิบายของพฤติกรรมของบุคคลเป็นสิ่งที่เกิดจากภายใน (ที่รวมทั้งวัตถุประสงค์, ความรู้สึก, บุคลิก, ลักษณะเฉพาะตัว, เหตุผล, ค่านิยม และ ความรู้สึกชั่วแล่น (impulses)) มิใช่มาจากลักษณะรูปร่างหน้าตาที่มองเห็นจากภายนอก

นักสังคมวิทยาชาร์ลส์ อี. เฮิร์สท์แห่งวิทยาลัยวูสเตอร์กล่าวว่า “สาเหตุหนึ่งของการเหมารวมมาจากการขาดความสัมพันธ์โดยตรง หรือ ความรู้ที่เป็นชิ้นเป็นอันเกี่ยวกับบุคคลหรือกลุ่มชาติพันธ์ การขาดความสัมพันธ์โดยตรงทำให้ผู้เหมารวมจัดรวมบุคคลที่ไม่รู้จักดีเข้าด้วยกันเป็นกลุ่มบุคคลที่ขาดความเป็นเอกบุคคล”[6] สาขาการศึกษาแต่ละสาขาก็มีทฤษฎีเกี่ยวกับการพัฒนาของการเหมารวมที่แตกต่างกันออกไป: นักจิตวิทยาจะเน้นประสบการณ์ของบุคคลที่มีต่อกลุ่มบุคคล, แบบแผนการสื่อสารติดต่อกับกลุ่มบุคคล และ ความขัดแย้งภายในกลุ่ม ส่วนนักสังคมวิทยาจะมองในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ และตำแหน่งของแต่ละกลุ่มในโครงสร้างของสังคม นักมนุษยนิยมเชิงวิจัยจิตวิทยา (Psychoanalytically-oriented humanists) เช่นแซนเดอร์ กิลแมนก็จะมีความเห็นว่าการเหมารวม “ตามความหมาย” เป็นสัญลักษณ์ (representation) ของกลุ่มที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริงแต่เป็นความคิด (projection) ของกลุ่มที่มีต่อกัน

การเหมารวมเป็นสัญลักษณ์ (representation) ของกลุ่มที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการให้คำอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างกลุ่ม หรือระบบการสร้างเหตุผล (system justification) ฐานะทางสังคม หรือ ตำแหน่งของกลุ่มเป็นเครื่องแสดงเนื้อหาของการเหมารวม มิใช่ลักษณะของบุคคลแต่ละคน หรือของสมาชิกแต่ละคนของกลุ่มที่แท้จริง[7] กลุ่มที่มีสิทธิทางสังคมและทางเศรษฐกิจน้อยกว่ากลุ่มอื่นจะเป็นกลุ่มที่ได้รับการเหมารวมที่เป็นการสนับสนุนเหตุผลถึงสาเหตุที่เป็นกลุ่มที่ถือกันว่าด้อยกว่าผู้อื่น เช่นเป็นกลุ่มที่มีผู้มีงานทำน้อยกว่ากลุ่มอื่น สาเหตุที่สมาชิกในกลุ่มที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่ด้อยกว่าประสบกับความยากลำบากในการหางานทำอาจจะอาจจะเกิดจากความลำเอียงที่เกิดขึ้นภายในกลุ่ม, จากการถือผิว หรือจากปัจจัยทางอำนาจทางสังคมที่เกี่ยวข้อง แต่กระนั้นสมาชิกในกลุ่มนี้ก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ที่ 'ขาดความกระตือรือร้น' เช่นในความเห็นที่ว่า 'ถ้าจะพยายามหาจริง ๆ ก็จะหาได้', 'ขาดความมีสติปัญญา' เช่นในความเห็นที่ว่า 'คงฉลาดไม่พอที่จะทำงานได้' และ 'เกียจคร้าน' เช่นในความเห็นที่ว่า 'คงจะชอบของเขากินแทนที่จะทำงาน'

การเหมารวมจะเน้นความความแตกต่างระหว่างกลุ่มอย่างเกินเลยจากความเป็นจริง นอกจากนั้นในการจัดลำดับของกลุ่มแต่ละกลุ่ม ก็ยังเป็นเครื่องมือในการลดลักษณะความคล้ายคลึงกันระหว่างกลุ่ม และจะเพิ่มการมองหาข้อแตกต่าง และเน้นความแตกต่างยิ่งขึ้นไปอีก[8] กรณีที่ว่านี้ดูเหมือนว่ากลุ่มที่ดูจะแตกต่างกันมากอันที่จริงแล้วเป็นกลุ่มที่คล้ายคลึงกันมากกว่าที่จะแตกต่าง ตัวอย่างเช่นในบรรดาชาวแอฟริกันอเมริกัน ที่ความเป็นพลเมืองอเมริกันจะเด่นชัดกว่าความแตกต่างของผิวซึ่งหมายความว่าชาวแอฟริกันอเมริกันมีความเป็นชาวอเมริกันมากกว่าที่จะเป็นชาวแอฟริกัน[9] แต่กระนั้นภายในวัฒนธรรมอเมริกันชาวอเมริกันผิวดำ และชาวอเมริกันผิวขาวก็ยิ่งมองเห็นกันว่าเป็นชนสองกลุ่มที่แทบจะไม่มีความเกี่ยวข้องกัน

ผลกระทบ, ความตรงต่อความเป็นจริง, ความหมาย

[แก้]

การเหมารวมอาจจะเป็นได้ทั้งแนวคิดทางบวกและทางลบที่มีต่อบุคคล โจชัว อารอนสัน และ คลอด เอ็ม. สตีลผู้ทำการศึกษาผลกระทบกระเทือนทางจิตวิทยาต่อชาวแอฟริกันอเมริกันและสตรี[10] กล่าวว่าการค้นคว้าทางจิตวิทยาพบว่าบุคคลในสองกลุ่มนี้มีความสามารถในการโต้ตอบกับสถานการณ์และความสัมพันธ์กับผู้อื่นสูง[11] อารอนสัน และ สตีลกล่าวถึงตัวอย่างหนึ่งที่พบว่าการให้ป้อนข้อมูลกลับ (feedback) ที่ไม่ตรงต่อความจริงต่อนักศึกษาวิทยาลัยมีผลต่อคะแนนการทดสอบระดับเชาวน์ปัญญาอย่างผิดปกติ และอีกข้อหนึ่งเมื่อนักศึกษาได้รับการชมเชยว่าเป็นผู้มีสติปัญญา เป็นผู้มีมานะ หรือ เป็นผู้ทำคะแนนได้สูง คะแนนของกลุ่มที่ได้รับการชมเชยว่าเป็นผู้มีสติปัญญาจะต่ำกว่ากลุ่มอื่นอย่างเห็นได้ชัด อารอนสัน และ สตีลเชื่อว่ามีสาเหตุมาจาก “ความลำเอียงเกี่ยวกับความสามารถโดยกำเนิด” (innate ability bias) ผลกระทบกระเทือนดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่กับกลุ่มชนกลุ่มน้อย นักศึกษาชายผิวขาวผู้มีความสามารถเชิงคณิตศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาคณิตศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ได้รับการทดสอบคณิตศาสตร์ที่ค่อนข้างยาก กลุ่มหนึ่งได้รับการบอกว่าวัตถุประสงค์ของการทดสอบก็เพื่อหาคำตอบถึงสาเหตุที่นักศึกษาชาวเอเชียได้คะแนนสูงกว่า กลุ่มที่ว่านี้ทำคะแนนต่ำกว่าอีกกลุ่มหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด[11]

ปัจจัยที่ทำให้เกิดความความลำเอียงของการเหมารวมอาจจะมาจาก:

  • การให้เหตุผลสนับสนุนความลำเอียงอันไม่พื้นฐาน หรือ ความขาดความรู้
  • การไม่เต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือพฤติกรรมที่มีต่อกลุ่มที่ถูกเหมารวม
  • การกีดกันบุคคลบางคนจากกลุ่มที่ถูกเหมารวมจากการเข้าเป็นส่วนหนึ่ง หรือ จากการประสบความสำเร็จของกิจกรรมหรือสาขา

ผลของการใช้การเหมารวมอาจจะผันผวน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะออกไปในทางลบ และจะเป็นสิ่งที่ไม่แจ่มแจ้งจนกระทั่งเวลาผ่านไปชั่วขณะหนึ่ง ในชั่วเวลาที่ผ่านไปเหยื่อของการเหมารวมบางคนก็จะมีพฤติกรรมตามที่เหมารวมไว้ เนื่องมาจากความเห็นที่ว่าการเหมารวมเป็นพฤติกรรมปกติในการเลียนแบบ ผลในทางลบก็รวมทั้งการสร้างทัศนคติที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับกลุ่มคน, การเป็นแพะรับบาป, การสรุปความเห็นอย่างผิดผิด, การป้องกันตนเองจากการทำความเข้าใจทางอารมณ์ และ การทำให้ประสิทธิภาพของการทำกิจการลดถอยลง การใช้การเหมารวมเป็นเครื่องเตือนสติผู้ถูกเดียดฉันท์ถึงทัศนคติของสังคมที่มีต่อตน

กฎในศิลปะและวัฒนธรรม

[แก้]

การเหมารวมปรากฏโดยทั่วไปในระบบการสื่อทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ในรูปแบบของการสร้าง Stock character (Stock character) ตัวละครประเภทนี้พบในงานเขียนบทละครของเบอร์โทลท์ เบรชท์, ดาริโอ โฟ และ ฌัก เลอก็อกผู้สร้างนักแสดงการเหมารวมเพื่อเพิ่มความเป็นนาฏกรรมให้มากยิ่งขึ้น ในละครกลอนสด[12] (Commedia dell'arte) ก็เช่นกัน การเหมารวมที่สร้างภาพพจน์ที่เป็นที่เข้าใจโดยผู้รับ/ผู้ชมได้ทันทีเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการใช้ในการโฆษณา และ ละครหรรษา[13] (Situation comedy) การเหมารวมเหล่านี้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เช่นในปัจจุบันตัวละครเชิงการเหมารวมเพียงสองสามตัวเท่านั้นในงาน “The Pilgrim's Progress” (The Pilgrim's Progress) โดย จอห์น บันยันที่ยังเป็นที่รู้จักและเข้าใจโดยผู้อ่าน

ทางด้านวรรณกรรม และ ศิลปะ การเหมารวมคือตัวละครหรือสถานการณ์ที่ “ดาษดื่น” หรือทำนายได้ ตลอดมาในประวัติศาสตร์นักเล่าเรื่อง (Storyteller) มักจะเล่าเรื่องที่มีพื้นฐานมาจากตัวละครหรือสถานการณ์เชิงการเหมารวมเพื่อเป็นเครื่องสร้างความสัมพันธ์อันรวดเร็วกับผู้ฟัง บางครั้งการเหมารวมบางอย่างก็จะเป็นการเหมารวมที่ซับซ้อนและชั้นสูง (complex and sophisticated) เช่นในตัวละครไชล็อกในบทละคร “เวนิสวาณิช” โดยวิลเลียม เชกสเปียร์ แต่ก็กล่าวได้ว่าเมื่อการเหมารวมกลายเป็นการเหมารวมที่ซับซ้อนและชั้นสูงก็อาจจะทำให้ยุติความเป็นการเหมารวม โดยตรง เพราะความที่กลายมามีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองแทนที่จะเป็นลักษณะดาษดื่นโดยทั่วไป แม้ว่าตัวละครไชล็อกยังคงถือว่าเป็นตัวละครที่ถือว่าไม่ถูกต้องทางการเมือง (politically unstable) เพราะเป็นตัวละครที่สร้างภาพพจน์แบบการเหมารวมของชาวยิว แต่หัวเรื่องของการแสดงการเยาะเย้ยเดียดฉันท์ (prejudice) ชาวยิวในสมัยของเชกสเปียร์ และรายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับไชล็อกเป็นการยกฐานะตัวละครขึ้นจากความเป็นการเหมารวมโดยทั่วไปมาเป็นตัวละครที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองที่ควรค่าแก่การแสดงในสมัยปัจจุบัน ลักษณะของตัวละครที่อาจจะถือว่าเป็นลักษณะดาษดื่นไม่จำเป็นต้องเป็นตัวละครที่เป็นการเหมารวมเสมอไป

แม้ว่ารากศัพท์ระหว่าง “การเหมารวม” และ “cliché” จะใกล้เคียงกันแต่คำสองคำนี้จะไม่ใช้สลับกันในเชิงวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่นการใช้สำนวนจำเจดื่นจะได้รับการวิจารณ์ในบรรยายเรื่องวิทยา (narratology) ขณะที่ การจัดประเภท (genre) และการจัดกลุ่ม (categorization) จะหมายถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มที่เป็นที่รู้จัก การบรรยายสถานการณ์และตัวละครในเรื่องว่ามี “ลักษณะทั่วไป” (typical) ก็เท่ากับว่าเหมาะกับประเภทใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าผู้เล่าเรื่องใช้ “cliche” ในการเล่าเรื่องก็เท่ากับเป็นการใช้ลักษณะที่ผิวเผิน ไม่มีความซับซ้อน และทำให้เรื่องที่เล่าขาดความเป็นขาดความเป็นต้นฉบับ การวิจารณ์การหลบหนีที่ดูท่าทีไม่น่าจะเป็นได้ของเจมส์ บอนด์โดยเอียน เฟลมมิ่งว่าเป็น “การเหมารวม” เป็นสิ่งที่ผู้อ่านหรือผู้ฟังเข้าใจ แต่จะเป็นการเหมาะสมกว่าถ้ากล่าวการหลบหนีที่ว่าเป็นลักษณะ “ดาษดื่น” เพราะเป็นการหลบหนีที่ใช้บ่อยและเลียนแบบกันไปจนเกินไป การเล่าเรื่องมักจะขึ้นอยู่กับการใช้ “ลักษณะทั่วไป” (typical) เพื่อให้ผู้อ่าน/ผู้ชมรู้จักหรือเข้าใจได้ทันที

ซิทคอมเกี่ยวกัยวัยรุ่น “Saved By The Bell” ประกอบด้วยStock characterต่าง ๆ ในกลุ่มเด็กวัยรุ่นเช่นตัวตลก (class clown), ดาว (jock), เนิร์ด (nerd), เชียร์ลีดเดอร์, สตรีนิยม (feminist) และ สาวแฟชั่น นอกจากนั้นก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่านอกจากจะสร้างตัวละครเป็นเชิงการเหมารวมแล้วซิทคอมนี้ยังสร้างการเหมารวมของสถาบันไฮสกูลเองด้วย การเหมารวมไฮสกูลทางโทรทัศน์มักจะเป็น “ลักษณะทั่วไป” ของโรงเรียนอเมริกันที่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอเมริกันฟุตบอล, แฟชั่น, ความสัมพันธ์ระหว่างวัยรุ่นหญิงชาย และมักจะไม่กล่าวถึงการศึกษา นอกจากนั้นแล้วกรีนวอลด์และบานาจีในนิตยสาร “Psychological Review” ก็ยังอธิบายว่าในภาพยนตร์หรือสื่ออื่น ๆ จะมีการใช้ ลักษณะเทิดทูน (Halo effect) เช่นในการสรุปอย่างกว้าง ๆ ว่าหญิงและชายที่มีรูปร่างหน้าตาดีจะเป็นผู้ที่มีความสุข, มีความแข็งแรง และมีบุคลิกดีกว่าผู้อื่น

การเหมารวมชาติพันธุ์และเชื้อชาติ

[แก้]

ชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา

[แก้]

ในสหรัฐความแตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยที่ต่างชาติพันธุ์มีรากฐานมาตั้งแต่เมื่อเริ่มการก่อตั้งเป็นอาณานิคมแล้ว เริ่มตั้งแต่เมื่อนักอาณานิคมเริ่มมีการติดต่อเป็นครั้งแรกกับชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา การเหมารวม “คนป่าเถื่อน” (the savage) ก็เริ่มขึ้น ในสมัยแรกชาวยุโรปก็ยกย่องว่าเป็น “อนารยชนที่มีอารยธรรม” (noble savages) เพราะความสามารถในการดำรงชีวิตอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากตามสายตาของชาวยุโรปได้ แต่ต่อมาเมื่อการตั้งถิ่นฐานขยายตัวออกไปทางตะวันตกมากขึ้น ชนพื้นเมืองก็กลายมาเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัว ภาพพจน์จึงกลายเป็นภาพพจน์ทางลบ สื่อมีเดียก็สร้างภาพพจน์ของชนพื้นเมืองว่าเป็นผู้ป่าเถื่อน ไร้วัฒนธรรม และโหดร้าย และมักจะบุกเข้ามาโจมตีผู้ตั้งถิ่นฐานผิวขาว, คาวบอย และรถม้า และกู่โหยหวนโดยเอามือป้องปาก เวลาสนทนาก็จะพูดด้วยเสียงห้าวต่ำและใช้คำเช่น “How” หรือ “Ugh”

ในการ์ตูน หรือ ภาพยนตร์การ์ตูนชนพื้นเมืองอเมริกันมักจะวาดเป็นสีแดงจัด และจะเรียกกันโดยทั่วไปในตะวันตกว่า “อินเดียน” ตัวอย่างของการเหมารวมของชนพื้นเมืองอเมริกันพบได้ในมีเดียต่าง ๆ ของตะวันตกมาจนถึงต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 การเหมารวมอื่นก็เป็นผู้สูบกล้อง ผู้ที่ทาสีเป็นลวดลายบนใบหน้า ผู้ที่เต้นรำรอบเสาโทเท็มที่มักจะมีเชลยมัดอยู่กับเสา, ผู้ส่งสัญญาณที่ทำด้วยควัน, ผู้ดำรงชีวิตอยู่ในกระโจม, ผู้สวมเครื่องประดับศีรษะที่เป็นขนนก และ ผุ้จะถลกหนังหัวศัตรูเป็นต้น

หลังจากการขยายอาณานิคมดำเนินต่อไปในสหรัฐอเมริกาชนพื้นเมืองอเมริกันก็ถูกแบ่งเป็นกลุ่มย่อยลงไปอีกเช่น “คริสเตียน” หรือ “ฮีเธน” (ผู้นับถือศาสนาคริสต์), “ผู้มีอารยธรรม” และ “คนป่าเถื่อน” แนวคิดเหล่านี้ใช้เวลาเพียงราวสิบปีก็กลายเป็นหลักความคิดของชาวอเมริกันอย่างแน่นหนา การเหมารวมชนพื้นเมืองอเมริกันจึงมีรากฐานมาจากความคิดที่เริ่มขึ้นโดยนักล่าอาณานิคมที่สร้างภาพพจน์ไว้ในทางลบเช่นเป็นผู้ป่าเถื่อนและดุร้าย

คนผิวขาวหลายคนมีทัศนคติว่าชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาปราศจากการควบคุมตนเองและไม่สามารถรักษาความรับผิดชอบได้ มัลคอล์ม ดี. โฮล์มส์ และ จูดิธ เอ. อันเทลล์ตั้งทฤษฎีว่าทัศนคติต่อชนพื้นเมืองเช่นนั้นเป็นรากฐานของปรัชญาที่ใช้กันในปัจจุบันในการหาเหตุผลสนับสนุนความแตกต่างระหว่างชาวอเมริกันผิวขาวและชนพื้นเมือง

ในปัจจุบันการเหมารวมของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ต่อชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกายังคงเป็นทัศนคติที่ถืออยู่ในกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลสหรัฐออกกฎหมายใหม่เพื่อเป็นการชดเชยสิ่งที่สูญเสียไปของชนพื้นเมืองอเมริกันโดยการอนุญาตให้มีการสร้างคาซิโนและการหารายได้จากคาซิโนที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายสหรัฐ การเหมารวมใหม่จึงเป็นผู้เป็นเจ้าของหรือญาติของผู้เป็นเจ้าของคาซิโน

การแสดงภาพพจน์ของชนพื้นเมืองสมัยใหม่จึงแทบจะไม่ปรากฏในวัฒนธรรมสมัยนิยมนอกไปจากเป็นตัวละครในภาพยนตร์เรื่อง “บ้าก็บ้าวะ” ที่เป็นการเหมารวมของผู้รักอิสระ หรือ ภาพยนตร์เรื่อง “Dances with Wolves” ที่เป็นการเหมารวมของผู้มีวัฒนธรรม, รักสงบ และผู้อยู่ร่วมกับธรรมชาติ

การเหมารวมชาวอินิวอิท

[แก้]

การเหมารวมชาวอินิวอิท (Inuit) หรือ เอสกิโม (Eskimo) มักจะเป็นผู้แต่งตัวด้วยเสื้อคลุมอันโนรัค (Anorak) ซึ่งเป็นเสื้อคลุมหนาทำด้วยหนังสัตว์ที่มีที่คลุมศีรษะ, สวมเครื่องตกแต่ง, อาศัยอยู่ในบ้านน้ำแข็ง (บ้านน้ำแข็ง), ล่าปลาด้วยฉมวก, เดินทางด้วยรถลากเลื่อนที่ดึงด้วย สุนัขฮัสกี, กินน้ำมันตับปลา และผู้ชายจะชื่อนานุค (Nanook) [14] (Inuktitut syllabics: ᓇᓄᖅ[15]ที่แปลว่าหมีขาวจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Nanook of the North” เด็กเอสกิโมก็มักจะมีแมวน้ำเป็นเพื่อนคู่ใจ และมักจะเชื่อกันว่าชาวเอสกิโมมีคำที่ใช้สำหรับคำว่าหิมะเป็นจำนวนมากมายซึ่งเป็นตำนานชาวเมือง (Urban legend)

บางครั้งก็จะแสดงเป็นภาพของผู้ที่จะเอาจมูกมาสีกันเมื่อพบปะกัน และมักจะล้อมรอบด้วยหมีขาว, วอลรัส และเพ็นกวิน ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะนกเพนกวินอยู่เฉพาะในซีกโลกใต้ ไม่ใช่ขั้วโลกเหนือ หรือบางครั้งก็จะแสดงภาพว่าเอสกิโมพำนักอยู่ที่ขั้วโลกใต้ซึ่งไม่ถูกต้องด้วยเหตุผลเดียวกัน และจะกล่าวกันว่าขี้อาย

การเหมารวมชนผิวดำ

[แก้]

การเหมารวมชนผิวดำในยุคแรก

[แก้]
Early การแสดงหน้าดำ (Minstrel show) แสดงภาพพจน์ของชาวแอฟริกันอเมริกันว่าเป็นผู้ไม่มีสติปัญญา รายละเอียดจากหน้าปก “The Celebrated Negro Melodies, as Sung by the Virginia Minstrels” ค.ศ. 1843

ในคริสต์ศตวรรษก่อนหน้านี้และระหว่างครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ชาวแอฟริกันอเมริกันมักจะแสดงเป็นภาพของผู้ที่งี่เง่า, ขี้โกง, เกียจคร้าน, มีกลิ่นไม่ดี, ขาดวัฒนธรรม และไม่เป็นคริสเตียน[6] นักอาณานิคมรุ่นแรก ๆ ของอังกฤษนำทัศนคติที่ว่าชนผิวดำเป็นผู้ที่ด้อยกว่าชนผิวขาวติดตัวมาเมื่อมาตั้งถิ่นฐานในทวีปอเมริกา ทัศนคตินี้เท่ากับเป็นเหตุผลสนับสนุนว่าการเป็นทาสของชนผิวดำและการออกกฎหมายหลายฉบับที่สนับสนุนการลงโทษอันขาดมนุษยธรรมเป็นสิ่งที่เหมาะสม และเป็นเหตุผลที่ใช้ในการกดขี่ชนผิวดำในอยู่ในสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมที่ต่ำกว่าอยู่เป็นเวลานาน[6]

ชนผิวดำมักจะแสดงเป็นภาพของผู้เป็นทาส หรือผู้รับใช้, ทำงานในไร่ อ้อย หรือแบกกระสอบฝ้าย, ผู้เคร่งครัดในศาสนาคริสต์และมักจะไปโบสถ์เป็นประจำ และจะร้องเพลงกอสเปล ในการแสดงโวเดอวีล[16] (vaudeville), การแสดงหน้าดำที่นักแสดงจะทาหน้าดำ, การ์ตูน และภาพยนตร์การ์ตูนของยุคนี้ชนผิวดำจะเป็นการเหมารวมผู้ที่เศร้า, เกียจคร้าน, ขี้เท่อ ที่มีปากหนาและรองเพลงบลูส์ และเต้นรำเก่ง แต่จะตื่นเต้นถ้าเห็นการเล่นลูกเต๋า, ตีไก่ หรือ กินแตงโม

ลักษณะการเหมารวมอีกอย่างหนึ่งของชนผิวดำจะเป็นผู้มีความสุขรักสนุกอยู่ตลอดเวลา เช่นในตัวละครเช่นลุงทอม, ลุงเรมัส หรือ บุคลิกบนเวที่ของผู้มีความสนุกของหลุยส์ อาร์มสตรอง การเหมารวมที่เป็นที่นิยมกันอีกอันหนึ่งจากสมัยนี้คือชนผิวดำกลัวผี (และจะกลัวจนตัวขาว) คนรับใช้ก็มักจะเป็นคนผิวดำ หรือแม่บ้านก็มักจะเป็นสตรีวัยกลางอ้วนใหญ่สวมกระโปรงบาน เช่นเมื่อไม่นานมานี้ในภาพยนตร์เรื่อง “เอฟบีไอต่อมหลุด” (Big Momma's House) เด็กผิวดำมักจะเป็นเด็กไม่มีกิริยา การพูดก็จะเป็นสำเนียงภาษาเฉพาะกลุ่ม

ชนผิวดำในแอฟริกามักจะเป็นการเหมารวมผู้ที่ยังเป็นบรรพกาล (primitive), ไร้เดียงสาเหมือนเด็ก, ดุร้าย และอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นเผ่า, ถือหอก, มีความเชื่อในเรื่องพ่อมดหมอผี (witchcraft) และนับถือพ่อมด นักล่าอาณานิคมผิวขาวก็จะเป็นภาพของผู้ที่ล่อลวงชนผิวดำโดยการหลอกขายของกระจุกกระจิกเป็นการแลกเปลี่ยนกับสิ่งมีค่า และ/หรือทำให้หวาดผวากับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือตัวละครใน “ตินตินในคองโก” เมื่อชนผิวขาวถูกจับได้โดยชนผิวดำก็มักจะถูกนำไปไว้ในหม้อดำใหญ่เพื่อจะเอาไปต้มกิน หรือบางครั้งก็จะเป็นภาพพจน์ที่เป็นพิกมีที่มีพฤติกรรมเหมือนเด็กเพื่อจะได้ล้อเลียนได้ว่ามีลักษณะเหมือนเด็ก

การเหมารวมอีกอย่างหนึ่งคือชายผิวดำที่ตกแต่งใบหน้าด้วยแป้นบนริมฝีปาก (lip plates) หรือกระดูกสอดบนสันจมูก ส่วนหญิงผิวดำก็จะเป็นหญิงที่เปลือยหน้าอกที่มีขนาดใหญ่ และก้นที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ หรือสตรีชาวชาวนเดเบเลตอนใต้ ที่ใส่วงแหวนซ้อนกันสูงบนคอที่ยาวเหมือนยีราฟ (เช่นเดียวกับสตรีกะยันในพม่า)

จอห์น ซี. คาลฮูนรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริการกล่าวสนับสนุนในประเด็นเรื่องการมีทาสในปี ค.ศ. 1844 ว่า “[การศึกษาทางวิทยาศาสตร์]เป็นสิ่งที่พิสูจน์และถึงความจำเป็นในการมีทาส แอฟริกันไม่มีสมรรถภาพในการดูแลตนเองและตกอยู่ในภาวะวิกลจริตเมื่อได้รับภาระของการมีเสรีภาพ การให้การพิทักษ์และป้องกันจากความตายทางจิตวิทยาจึงถือว่าเป็นกรุณาคุณ”

แม้ว่าหลังจากการเลิกทาสแล้วเชาว์ปัญญาของชนผิวดำก็ยังคงเป็นสิ่งที่เป็นข้อสงสัยกันอยู่ หลุยส์ เทอร์แมนเขียนใน “The Measurement of Intelligence” (การวัดเชาว์ปัญญา) 1916 ว่า:

[เยาวชนผิวดำและชนกลุ่มน้อยต่างชาติพันธุ์อื่น ๆ] ไม่สามารถที่จะรับการศึกษาแม้จะขั้นต่ำที่สุดได้ ไม่มีปริมาณของความพยายามในการที่จะสอนเท่าใดที่สามารถจะทำให้กลายเป็นผู้มีเสียงเลือกตั้งที่มีปัญญาได้ หรือเป็นพลเมืองที่มีสมรรถภาพได้ตามมาตรฐานโดยทั่วไป…ความซึมเซื่องดูเหมือนจะมาจากเผ่าพันธุ์ หรืออย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่มาจากครอบครัว…เยาวชนในกลุ่มนี้ควรจะได้รับการแยกเป็นชั้นพิเศษ และให้การศึกษาที่เป็นรูปธรรมและใช้งานได้ เยาวชนเหล่านี้ไม่มีสมรรถภาพในการเรียนรู้ทางนามธรรมแต่สามารถทำให้เป็นคนงานที่มีประสิทธิภาพได้…ในปัจจุบันการที่จะหว่านล้อมสังคมให้ยอมรับความคิดที่ว่าพวกเขาเหล่านี้ไม่ควรที่จะได้รับการอนุญาตให้สืบพันธุ์ต่อไปนั้นเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าจากมุมมองทางด้านสุพันธุศาสตร์ (Eugenics) จะกลายเป็นปัญหาหนักเพราะการสืบพันธุ์อันดกผิดปกติ[ของชนกลุ่มนี้]

การเหมารวมชนผิวดำในปัจจุบัน

[แก้]

ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมาการเหมารวมเกี่ยวกับชนผิวดำก็เปลี่ยนไปในมีเดียบางประเภทที่ออกไปในเชิงบวก โดยการแสดงภาพพจน์ของชนผิวดำและชาวแอฟริกันอเมริกันว่าเป็นผู้มีความถนัดทางด้านการกีฬา, การร้องเพลง และ การเต้นรำ ในภาพยนตร์หลายเรื่องหรือรายการต่อเนื่องทางโทรทัศน์ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 ชนผิวดำจะปรากฏเป็นผู้ที่มีอัธยาศัย/อุปนิสัยดี, มีกรุณาคุณ, ซื่อสัตย์สุจริต และมีสติปัญญา และโดยทั่วไปจะเป็นตัวรองที่เป็นเพื่อนที่ดีของตัวเอกของเรื่อง (เช่นในภาพยนตร์เรื่อง “คู่เดือดไมอามี่” (Miami Vice), “ริกก์สคนมหากาฬ” (Lethal Weapon) หรือ “มือปราบปืนโหด” (Magnum Force))

นักวิจารณ์บางท่านมีความเชื่อว่าความถูกต้องทางการเมือง (political correctness) เป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การสร้างการเหมารวมชนผิวดำไปในทางบวกจนเกินไป ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวแอฟริกันอเมริกันสไปค์ ลีใช้คำว่า “นิโกรลอยฟ้า” (Magical negro) ที่กลายมาเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการบรรยายการเหมารวมดังว่า ลีกล่าวเป็นเชิงเยาะถึงลักษณะแม่แบบ (archetype) ของการเหมารวมชนผิวดำที่แสดงชนผิวดำแบบ “super-duper magical negro” (นิโกรเลิศลอยฟ้า) เมื่อถกเถียงเรื่องการสร้างภาพยนตร์กับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตท และที่ มหาวิทยาลัยเยล[17][18]

จากการสำรวจมีเดียในปี ค.ศ. 1989 พบว่าชนผิวดำมากกว่าชนผิวขาวจะได้รับความบรรยายในเชิงเหยียดในเรื่องเชาว์ปัญญา[19] นักต่อสู้การเมืองและนักเทศน์ชาวแอฟริกันอเมริกันเจสสี แจ็คสันกล่าวในปี ค.ศ. 1985 ว่าข่าวสื่อสารมวลชนมักจะแสดงชนผิวดำในรูปแบบที่มีความ “ด้อยทางสติปัญญากว่าความเป็นจริง[20] ผู้กำกับภาพยนตร์สไปค์ ลีให้คำอธิบายว่าภาพพจน์ดังว่านี้มีผลกระทบกระเทือนในทางลบ “ในชุมชนของผม เราเทิดทูนนักกีฬา, ผู้ชายที่หาได้ผู้หญิง และ ผู้มีสติปัญญา” แต่ภาพพจน์ที่เป็นที่นิยมกันจะเป็นการเหมารวมชนผิวดำที่อาศัยอยู่ในตัวเมือง (inner-city), มีรายได้ต่ำ และ มีการศึกษาน้อยกว่าชนผิวขาว

แม้แต่ภาพพจน์ที่เรียกกันว่าภาพพจน์ทางบวกของชนผิวดำก็ยังทำให้เกิดการเหมารวมระดับเชาว์ปัญญา ในหนังสือ “Darwin's Athletes: how sport has damaged Black America and preserved the myth of race” (ไทย: นักกีฬาของดาร์วิน: วิธีที่การกีฬาสร้างความเสียหายต่อชนผิวดำอเมริกัน และรักษาความลึกลับของชาติพันธุ์) จอห์น โฮเบอร์มันกล่าวว่านักกีฬาผู้มีชื่อเสียงชาวแอฟริกันอเมริกันสนับสนุนปรัชญาของการลดความสำคัญของความสำเร็จทางการศึกษาในประชาคมชนผิวดำเอง[21]

ในปี ค.ศ. 1997 การศึกษาเรื่องการเหมารวมในวงการกีฬา นักค้นคว้าแสดงภาพนักบาสเกตบอลผิวขาว และนักบาสเกตบอลผิวดำให้ผู้ร่วมในการศึกษาได้ดู จากนั้นก็ให้ฟังการกระจายเสียงที่อัดไว้ล่วงหน้าของกีฬาบาสเกตบอล ภาพนักบาสเกตบอลผิวขาวได้รับการจัดลำดับว่าแสดงความมีเชาว์ปัญญาในการเล่นเกมสูงกว่าภาพนักบาสเกตบอลผิวดำมาก แม้ว่าผู้บรรยายการเล่นและรูปนักกีฬาจะเป็นรูปเดิมตลอดการทดลองก็ตาม[22] นักประพันธ์หลายท่านกล่าวว่าการบรรยายการเล่นกีฬาที่เน้น 'ความสามารถโดยธรรมชาติของชนผิวดำทางด้านการเล่นกีฬา' มีผลที่เป็นนัยยะว่าชนผิวขาวมีความสามารถในด้านอื่น ๆ สูงกว่า เช่นในด้านเชาว์ปัญญา[23]

แพทริเชีย เจ. วิลเลียมส์ นักเขียนสำหรับ “เดอะ เนชั่น” กล่าวถึงจาร์ จาร์ บิงคส์ตัวละครใน “สตาร์ วอร์ส” ว่า: “ไม่ว่าจะเป็นการจงใจหรือไม่ ความพลาดพลั้งหรือการเป็นผู้นำโชคร้ายมาให้แก่ผู้อื่นของจาร์ จาร์ บิงคส์ก็เป็นลักษณะที่นำมาจาก “การแสดงหน้าดำ” เป็นอย่างมากโดยตรง แม้ว่า[จาร์ จาร์ บิงคส์]จะสามารถแก้สถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว แต่ลักษณะเชิงเซ่อซ่าของผู้เป็นผู้ใหญ่กึ่งเด็กเป็นลักษณะที่ถอดมาจากซิทคอมอามอสและแอนดี้ของคริสต์ทศวรรษ 1920 โดยตรง”[24])

การเหมารวมชาวแอฟริกาเหนือ, ตะวันออกกลาง และ มุสลิม

[แก้]

การเหมารวมมุสลิมมักจะเกี่ยวกับข้องกับความโหดเหี้ยมและอำมหิต ทัศนคติดังว่าจะเห็นได้จากการแสดงว่ามุสลิมเกี่ยวข้องกับวางแผนระเบิดและการเป็นผู้ก่อการร้าย และ เป็นภาพของผู้มีฐานะยากจน หรืออาจจะเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติต่อสตรี, เกย์ หรือ ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการเหมารวมมุสลิมคืออาการกลัวชาวมุสลิม (Islamophobia) ซึ่งเป็นความกลัว, ชิงชัง และ ไม่ชอบผู้ที่เป็นมุสลิม

การเหมารวมชนผิวขาว

[แก้]

ตัวอย่างของการเหมารวมเกี่ยวกับชนผิวขาวในทางลบจะเห็นได้ชัดจากตัวการ์ตูนโฮเมอร์ ซิมป์สันซึ่งเป็นชายวัยกลางคนจากมิดอเมริกาท้วม, ขี้เกียจ และ ขี้เท่อ ในการ์ตูน “เดอะ ซิมป์สันส์[25] ซึ่งรายการเองก็เป็นวรรณกรรมล้อ ของด้านต่าง ๆ ของชีวิต, วัฒนธรรม และสังคมอเมริกัน[26] หรือการเหมารวมของ “อเมริกันโอหัง” (Ugly American) ที่จะเป็นชาวอเมริกันที่มีเสียงดัง, ชอบเรียกร้อง, ขาดความเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และ แต่งตัวเชย แต่ก็มักจะชดเชยด้วยการเป็นคนใจกว้าง[27]

การเหมารวมชาวไอริช

[แก้]
การถือผิวทางศึกษาจากนิตยสารอเมริกัน “ฮาร์เพอร์สวีคลีย์” ที่กล่าวว่าชาวไอริชมีลักษณะคล้ายคลึงกับ 'ชาวนีโกร'

การวิจัยทัศนคติของชาวอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยแมรี เจ. ฮิคมัน และบรอนเวน วอลเตอร์กล่าวว่า 'ไอริชคาทอลิก' คือผู้ที่เป็น “คนนอก” (other) หรือเป็นเผ่าพันธุ์ที่แยกออกไปต่างหากในมุมมองของปรัชญาชาตินิยมอังกฤษ ส่วนชาวไอริชก็เช่นกันที่ถือว่าชาวอังกฤษเป็น “คนนอก” และพยายามที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการปกครองตนเอง ที่ในที่สุดก็ได้มาในคริสต์ทศวรรษ 1920[28]

การเหมารวมที่ใช้สำหรับชาวไอริชไม่รุนแรงหรือหยาบคายเมื่อเทียบกับการเหมารวมที่ใช้สำหรับชาติพันธุ์อื่น ๆ แต่กระนั้นก็เป็นมุมมองที่ไม่ตรงต่อความจริงโดยกล่าวหาว่าชาวไอริชเป็นคนหุนหันพลันแล่น ชอบทะเลาะเบาะแว้ง และขี้เมา ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักเขียนการ์ตูนชาวอังกฤษคนหนึ่งเขียนภาพผู้อพยพเข้ามาชาวไอริชเป็นลิงใหญ่และมีความแตกต่างจากแองโกล-แซ็กซอน เจมส์ เรดฟิลด์นายแพทย์ชาวอเมริกันคนหนึ่งในคริสต์ทศวรรษ 1850 กล่าวว่า “ลักษณะใบหน้า” (facial angle) เป็นสัญญาณของความเฉลียวฉลาดและบุคลิก และเปรียบเทียบพักตรวิทยา (Physiognomy) ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ กับสัตว์ และกล่าวว่าเมื่อดูลักษณะใบหน้าของชาวไอริชแล้วก็จะคลายคลึงกับสุนัข, แยงกี้คลายคลึงกับหมี, เยอรมันกับสิงโต, ชนผิวดำเหมือนช้าง และชาวอังกฤษเหมือนวัว[29] ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 การการเหมารวมรูปทรงยังคงใช้กันมาจนถึงราวคริสต์ทศวรรษ 1950 โดยมีตัวละครเช่น มัทท์, เจฟฟ์ และ จิกส์ และ แม็กกีที่ยังปรากฏในหนังสือพิมพ์หลายร้อยฉบับทุกวัน[30]

การเหมารวมสำหรับชาวไอริชอื่น ๆ ก็รวมทั้งการเป็นผู้ขาดสติปัญญา และเป็นตัวตลกที่ผู้อื่นล้อเลียน ตัวอย่างก็ได้แก่ การล้อเลียนเกี่ยวกับ “ชาวอังกฤษ, ชาวไอริช และ ชาวสกอต” ที่มักจะจบลงด้วยการที่ชาวไอริชทำอะไรที่งี่เง่า

การเหมารวมชาวอิตาลี

[แก้]

การเหมารวมชาวอิตาลีที่นิยมกันมักจะเป็นความคิดที่ว่าชาวอิตาลีส่วนใหญ่จะเป็นคนรุนแรงโดยธรรมชาติ, ขาดความรู้, ขาดมารยาท และมักจะเกี่ยวข้องกับมาเฟีย ตัวอย่างของการใช้การเหมารวมเกี่ยวกับชาวอิตาลีปรากฏในละครโทรทัศน์ซีรีส์ “The Sopranos” ที่ถูกกล่าวหาโดยชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาลีว่าเป็นการเผยแพร่การเหมารวมเกี่ยวกับชาวอิตาลี

การเหมารวมชาวโปแลนด์

[แก้]

การเหมารวมเกี่ยวกับชาวโปแลนด์จะออกมาในรูปของเรื่องตลกล้อเลียนเชิงเหยียดหยาม ซึ่งอาจจะมาจากตลกล้อเลียนชาวเยอรมันเชื้อสายโปแลนด์ที่หนีบรรยากาศของความเป็นอคติต่อชาวเซมิติคก่อนหน้าและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรปราวปลายคริสต์ทศวรรษ 1940 ตลกล้อเลียนเหล่านี้มาจากความเดียดฉันท์ที่พรรคแนเชันนัลโซเซียลลิสต์ของเยอรมันพยายามเผยแพร่เพื่อที่จะเป็นการสนับสนุนว่าการทำร้ายหรือเข่นฆ่าชาวโปแลนด์เป็นสิ่งที่เหมาะที่ควร โดยการแสดงภาพพจน์ว่าชาวโปแลนด์ “dreck” — สกปรก, โง่ และ ด้อยกว่า[31] และอาจจะเป็นไปได้ว่าตลกถากถาง

นอกจากนั้นก็ยังเป็นไปได้ว่าการล้อเลียนถากถาง โพลัค (Polack) อเมริกันจากเยอรมนีเดิมก่อนสงครามโลกครั้งที่สองใช้กันในบริเวณที่มีปัญหาชายแดนในไซลีเชีย[32]

ชาวอเมริกันเชื้อสายโปแลนด์เป็นเหยื่อของความรู้สึกต่อต้านชาวโปแลนด์ในในรูปแบบของการใช้การเหมารวมมาเป็นเวลาหลายสิบปีตั้งแต่ก่อนคริสต์ทศวรรษ 1920 ระหว่างการแบ่งแยกโปแลนด์ ชาวโปแลนด์เป็นจำนวนมากอพยพต่อไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อจะหนีการเบียดเบียนกันขนานใหญ่ที่เกิดขึ้นในโปแลนด์ เมื่อมาถึงสหรัฐอเมริกาก็จะมาทำงานทุกอย่างที่มีให้ทำซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานกรรมกร ฉะนั้นการเหมารวมชาวโปแลนด์จึงเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่เกี่ยวกับการงาน และยังคงดำรงต่อมาแม้จะก้าวเข้ามาเป็นคนชั้นกลางแล้วในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 การเหมารวมเชิงดูหมิ่นเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อชาวโปแลนด์ในทางลบ การเยาะเย้ยดังกล่าวโดยสื่อมวลชนทำให้ชาวอเมริกันเชื้อสายโปแลนด์เกิดปัญหาในความกังขาของความเป็นอัตตา (identity crises), การมีความรู้สึกว่าตนบกพร่อง และ การขาดความเชื่อมั่นในตนเอง การเหมารวมเชิงลบต่อชาวอเมริกันเชื้อสายโปแลนด์ยังคงดำเนินต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน[33]

การเหมารวมชาวยิว

[แก้]
ตัวการ์ตูนที่มาจากการเหมารวมชาวยิวในลัทธิความเป็นอคติต่อชาวเซมิติค, ค.ศ. 1873

ชาวยิวถูกเหมารวมตลอดในฐานะแพะรับบาปของปัญหาสังคมต่าง ๆ มาเป็นเวลาหลายร้อยปี ลัทธิความเป็นอคติต่อชาวเซมิติคดำเนินต่อมาเป็นเวลาหลายร้อยปีจนมาถึงจุดสุดยอดในสมัยที่นาซีปกครองเยอรมนีระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ชายยิวยังคงมีการเหมารวมที่เป็นผู้มีความโลภ, ความจุกจิก และ ความใจแคบ ภาพที่แสดงก็มักจะเป็นภาพของคนนับเงินหรือสะสมเพชร ภาพยนตร์ในสมัยแรกมักแสดงชาวยิวเป็น “พ่อค้าเจ้าเล่ห์”[34].

ในการ์ตูนหรือการ์ตูนล้อเลียนชาวยิวมักจะเป็นภาพของผู้ที่มีผมหยิก, จมูกขอใหญ่, ปากหนา และสวมหมวกคิพพาห์ (Kippah) หรือหมวกปิดกระหม่อม วัตถุ, วลี หรือธรรมเนียมที่เน้นหรือเย้ยหยันความเป็นยิวก็ได้แก่เบเกิล, ผู้กำลังเล่นไวโอลิน, การทำสุหนัต, การต่อรอง และวลีเช่น “Mazel tov” (โชคดี), “Shalom” (สวัสดี) และ “Oy Vey” (อุแม่เจ้า) การเหมารวมอื่นก็ได้แก่รับบี, การบ่นและความคิดที่รู้สึกผิดเกี่ยวกับแม่ชาวยิว, เจ้าหญิงชาวอเมริกันยิว (Jewish-American Princess) ที่หมายถึงผู้ที่ถูกตามใจและเป็นผู้นิยมวัตถุ และชายยิวน่ารัก (Nice Jewish Boy) ซึ่งจะขี้อาย

การเหมารวมชาวเอเชียตะวันออกและชาวเอเชียใต้

[แก้]

เป็นการเหมารวมชาติพันธุ์ (ethnic stereotype) ที่พบในวัฒนธรรมตะวันตก การเหมารวมชาวเอเชียโดยเฉพาะเกี่ยวกับชาวเอเชียตะวันออกก็เช่นเดียวกับการเหมารวมเกี่ยวกับชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่มักจะเผยแพร่โดยสื่อมวลชน, วรรณกรรม, ละครและงานสร้างสรรค์อื่น ๆ ในหลายกรณีสื่อมวลชนจะสร้างภาพพจน์ของชาวเอเชียที่มีอิทธิพลมาจากมุมมองจากการเอายุโรปเป็นศุนย์กลาง (Eurocentrism) ที่มีต่อชาวเอเชียแทนที่จะเป็นทัศนคติที่สะท้อนความเป็นจริงของวัฒนธรรม, ประเพณี และ พฤติกรรมของชาวเอเชียที่แท้จริง[35] การเหมารวมนี้จึงมีผลสะท้อนในทางลบต่อการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นของชาวเอเชียผู้อพยพ, เหตุการณ์ปัจจุบัน, และ กฎหมาย ชาวเอเชียตะวันออกต้องประสบกับการการเลือกปฏิบัติ และตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมจากความชัง (Hate crime) ที่มีสาเหตุมาจากการเหมารวมชาติพันธุ์เพราะการเหมารวมดังว่าส่งเสริมภาวะความเป็นอคติต่อชาวต่างชาติ (Xenophobia)

การเหมารวมชาวสเปนและละติน

[แก้]

การเหมารวมชาวสเปนและละตินมักจะปรากฏในสื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ แต่ชาวฮิสแปนิคและลาติโนอเมริกันผิวขาวมักจะถูกละเลยในสื่อมวลชนของสหรัฐ ถ้าจะปรากฏก็มักจะเป็นภาพพจน์ที่ไม่ถูกต้อง และเป็นลูกครึ่ง[36][37] ถ้าเป็นลาติโนก็มักจะปรากฏเป็นผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่และไม่มีลักษณะเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ถ้ามีการอ้างอิงไปถึงประเทศที่มาก็มักจะเป็นเม็กซิโกหรือเปอร์โตริโกไม่ว่าจะมาจากที่ใดก็ตาม

การเหมารวมเกี่ยวกับเพศ

[แก้]

การเหมารวมเกี่ยวกับเพศหลัก

[แก้]

การเหมารวมความเป็นชาย

[แก้]

การเหมารวมความเป็นหญิง

[แก้]

การเหมารวมเพศทัศนะ

[แก้]

โดยทั่วไปและทัศนคติที่มีต่อเกย์, เลสเบี้ยน และ คนข้ามเพศ จะเป็นการเหมารวมทางลบที่สนับสนุนว่าการโจมตีหรือทำร้ายบุคคลในกลุ่มดังกล่าวเป็นการกระทำอันสมควรต่อเหตุผล หรือบางครั้งก็จะเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงต่อกลุ่มบุคคลดังกล่าว (Violence against LGBT people) เอบีซีนิวส์กล่าวว่า “ผู้รณงค์สนับสนุนเกย์มักจะวิจารณ์การสื่อข่าวเกี่ยวกับการเดินพาเหรดเพื่อแสดงความภูมิใจในการเป็นเกย์ว่าสื่อมวลชนมักจะเน้นความสนใจในกรณีที่นอกรูปนอกแบบ (extreme) คือผู้ที่ชายที่เป็นสตรีจนเกินตัว หรือ สตรีที่เป็นชายจัด แต่จะไม่รายงานเกี่ยวกับเรา ซึ่งพวกเราส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเพียงคนธรรมดาเหมือนกับผู้อื่นโดยทั่วไป”[38]

เกย์

[แก้]

เกย์มักจะถูกเหมารวมว่าเป็นผู้ที่นิยมเรื่องเพศเชิงสำส่อน (promiscuous), ติดสุรา, ชอบเฮฮาและใช้ยาเสพติด และ เป็นผู้มีฐานะดี และมักจะเน้นความมีลักษณะที่กระเดียดไปในทางที่เป็นสตรี (Effeminacy)

เลสเบียน

[แก้]

หญิงรักร่วมเพศหรือสตรีผู้นิยมรักเพศเดียวกันแบ่งเป็นสองกลุ่ม “เลสเบี้ยนเชิงบุรุษ” หรือ “ทอม” (Butch) และ “เลสเบี้ยนเชิงสตรี” หรือ “ดี้” (Lipstick lesbians) ความสัมพันธ์มักจะเป็นรูปแบบของ “Butch and femme” หรือคนหนึ่งเป็นบุรุษ และ อีกคนหนึ่งเป็นสตรี

รักร่วมสองเพศ

[แก้]

รักร่วมสองเพศหรือผู้ชอบทั้งสองเพศจะเหมารวมว่าเป้นผู้ที่นิยมเรื่องเพศเชิงสำส่อน (promiscuous) และไม่ชอบที่จะมีความสัมพันธ์แบบผูกมัดกับผู้ใดโดยเฉพาะ

คนใคร่เด็ก

[แก้]

ผู้เป็นโรคจิตที่เรียกว่าโรคใคร่เด็กจะเป็นการเหมารวมผู้นิยมเรื่องเพศเชิงรุนแรงและจะสนใจที่จะร่วมเพศโดยเฉพาะกับเยาวชน

คนข้ามเพศ

[แก้]

การเรียกบุคคลว่าเป็นคนข้ามเพศ (Transgender) เป็นทั้งการขวางการเลือกเพศใดเพศหนึ่งและในขณะเดียวกันก็เป็นการประทับตาบุคคลดังกล่าวไปด้วยในตัว (self stigmatizing) ผู้ที่ไม่ได้เป็นอยู่ในกลุ่มเพศหลักสองเพศมักจะถูกเหมารวมว่าเป็นผู้ที่นิยมเรื่องเพศเชิงสำส่อน, เป็นโสเภณี และ ผู้ติดสุรา

คนแปลงเพศ

[แก้]

การเหมารวมคนแปลงเพศ (Transsexual) พบเป็นครั้งแรกในราวปี ค.ศ. 1850 ที่เป็นคำนามที่หมายความว่า “ภาพที่คงตัวโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง”[39]

การเหมารวมภาวะด้านสังคมเศรษฐกิจ

[แก้]

การเหมารวมผู้ไร้ที่อยู่อาศัย

[แก้]

การเหมารวมผู้ไร้ที่อยู่อาศัย (Homeless) มักจะเป็นผู้ที่มีปัญหาทางพฤติกรรม, ติดยาหรือติดสุรา, เกียจคร้าน, มีภาวะผิดปกติทางจิต และสกปรกและมีกลิ่น

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์จิตวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2553, หน้า 285
  2. Stereos, Henry George Liddell, Robert Scott, A Greek-English Lexicon, at Perseus
  3. Tupos, Henry George Liddell, Robert Scott, A Greek-English Lexicon, at Perseus
  4. Ewen and Ewen, Typecasting: On the Arts and Sciences of Human Inequality, 2006, 3-10.
  5. <Merriam-Webster's Dictionary of English Usage.> Springfield, Illinois: Merriam-Webster, Inc., 1994. p. 250.
  6. 6.0 6.1 6.2 Hurst, Charles E. Social Inequality: Forms, Causes, and Consequences. 6. Boston: Pearson Education, Inc, 2007
  7. Jost, JT; Banaji, MB. (1994). "The role of stereotyping in system-justification and the production of false consciousness". British Journal of Social Psychology. 33: 1–27.
  8. Brewer, M (1979). "In-group bias in the minimal intergroup situation: A cognitive-motivational analysis". Psychological Bulletin. 86: 307–324. doi:10.1037/0033-2909.86.2.307.
  9. McAndrew, FT; Akande, A (1995). "African perceptions of Americans of African and European descent". Journal of Social Psychology. 135 (5): 649–655.
  10. Steele CM, Aronson J (November 1995). "Stereotype threat and the intellectual test performance of African Americans". J Pers Soc Psychol. 69 (5): 797–811. doi:10.1037/0022-3514.69.5.797. PMID 7473032.
  11. 11.0 11.1 Aronson J, Steele CM. (2005). Chapter 24:Stereotypes and the Fragility of Academic Competence, Motivation, and Self-Concept. In Handbook of Competence, [ p. 436].
  12. "ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-15. สืบค้นเมื่อ 2009-12-29.
  13. "ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-15. สืบค้นเมื่อ 2009-12-29.
  14. "nanuq". Asuilaak Living Dictionary. สืบค้นเมื่อ 2007-11-17.
  15. "ᓇᓄᖅ". Asuilaak Living Dictionary. สืบค้นเมื่อ 2007-11-17.
  16. "ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-15. สืบค้นเมื่อ 2009-12-29.
  17. Okorafor-Mbachu, Nnedi (2004-10-25). "Stephen King's Super-Duper Magical Negroes". Strange Horizons. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-14. สืบค้นเมื่อ 2006-12-03.
  18. Gonzalez, Susan (2001-03-02). "Director Spike Lee slams 'same old' black stereotypes in today's films". Yale Bulletin & Calendar. Yale University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-21. สืบค้นเมื่อ 2008-12-29.
  19. "The Portrayal of Race, Ethnicity and Nationality in Televised International Athletic Events". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-11-26. สืบค้นเมื่อ 2009-12-29.
  20. Jackson Assails Press On Portrayal of Blacks (NYT)
  21. Darwin's Athletes: how sport has damaged Black America and preserved the myth of race By John Milton Hoberman ISBN 0-395-82292-0
  22. "White Men Can't Jump": Evidence for the Perceptual Confirmation of Racial Stereotype Following a Basketball Game Jeff Stone, W. Perry, John M. Darley. Basic and Applied Social Psychology 1997, Vol. 19, No. 3, Pages 291-306
  23. The Ball Curve: Calculated Racism and the Stereotype of African American Men Ronald E. Hall Journal of Black Studies, Vol. 32, No. 1 (Sep., 2001), pp. 104-119
  24. Patricia J. Williams: "Racial Ventriloquism". The Nation. June 17, 1999. สืบค้นเมื่อ June 11, 2006.
  25. Kelly Whiteside; Andy Gardiner (2006-08-20). "USA needs to find the net". USA Today. สืบค้นเมื่อ 2008-05-09.
  26. Turner, p. 78
  27. http://news.bbc.co.uk/2/hi/8143780.stm
  28. Deconstructing Whiteness: Irish Women in Britain Mary J. Hickman, Bronwen Walter Feminist Review, No. 50, The Irish Issue: The British Question (Summer, 1995), pp. 5-19 doi:10.2307/1395487
  29. [1][ลิงก์เสีย]
  30. Kerry Soper, "Performing 'Jiggs': Irish Caricature and Comedic Ambivalence toward Asøsimilation and the American Dream in George McManus's Bringing Up Father." Journal of the Gilded Age and Progressive Era 4.2 (2005) : 72 pars. 30 Mar. 2007 online[ลิงก์เสีย].
  31. Tomasz Szarota, Goebbels: 1982 (1939-41) : 16, 36-7, 274; 1978. Also: Tomasz Szarota: Stereotyp Polski i Polaków w oczach Niemców podczas II wojny światowej; Bibliografia historii polskiej - 1981. Page 162.
  32. Christie Davies, The Mirth of Nations. Page 176.
  33. Dominic Pulera, Sharing the Dream: White Males in Multicultural America Published 2004 by Continuum International Publishing Group, 448 pages. ISBN 0-8264-1643-8. Page 99.
  34. The Movies, Race, and Ethnicity: Jews
  35. Kashiwabara, Amy, Vanishing Son: The Appearance, Disappearance, and Assimilation of the Asian-American Man in American Mainstream Media, UC Berkeley Media Resources Center
  36. Richard Rodrigue. "A CULTURAL IDENTITY".
  37. "Separated by a common language: The case of the white Hispanic". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-11. สืบค้นเมื่อ 2009-12-29.
  38. "Gay Stereotypes: Are They True?". ABC News. September 15, 2006.
  39. Online Etymology Dictionary

บรรณานุกรม

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]