การสวดภาณยักษ์
การสวดภาณยักษ์ เป็นพิธีที่ความเชื่อกันว่า เป็นพิธีที่สามารถขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย และปกป้องคุ้มครองผู้สวดและผู้สดับให้อยู่สุขสวัสดี เนื้อความที่นำมาสวดนั้นมาจากอาฏานาฏิยสูตร ซึ่งมีเนื้อหาว่า ด้วยรักษาในอาฏานาฏานคร บรรยายถึงเหตุการณ์การเข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของท้าวจาตุมหาราชทั้ง 4 ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา และผู้ดูแลปกครองยักษ์ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ และนาค
ที่มา
[แก้]หากพิจารณาเนื้อหาในอาฏานาฏิยสูตรจะพบว่า มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแจ้งให้พระบรมศาสดาพุทธและบรรดาสาวกในพระพุทธศาสนา ได้ตระหนักว่า ยังมีเหล่ายักษ์ ที่เป็นมิจฉาทิฐิ ไม่เลื่อมใสในพระธรรมอันสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศไว้ดีแล้ว เพราะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เพื่อเว้นจากฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติผิดในกาม, พูดปด, ดื่มสุราเมรัย พวกยักษ์เหล่านั้นไม่เว้นจากสิ่งเหล่านี้โดยมากจึงไม่ชอบ[1]
ท้าวจาตุมหาราชทั้ง 4 กราบทูลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า หากพระสาวกของพระผู้มีพระภาคเสพเสนาสนะอันสงัดในป่า อาจถูกยักษ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่เลื่อมใสในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาครบกวน และทำอันตรายได้ ด้วยเหตุนี้เพื่อคุ้มครองรักษารักษาภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาท้าวจาตุมหาราชทั้ง 4 จึงกราบทูลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทรงเรียนคาถาบทหนึ่ง เพื่อทำยักษ์เหล่านั้นให้เลื่อมใส พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ ท้าวเวสสวัณจึงกล่าวการรักษา ชื่อ อาฏานาฏิยา ซึ่งคำว่า “ รักขา” มีลักษณะเดียวกับ “ปริตร” คือสวดสำหรับคุ้มครองป้องกันภัย[2]
ทั้งนี้ พระสูตรดังกล่าวมีขนาดยาวมาก ในหนังสือบทสวดมนต์หลวง ส่วนของภาณวาร หรือจุตภาณวาร จึงแบ่งเป็น 2 ภาค คือ ปุพพภาค และปัจฉิมภาค ภาคแรกเรียกว่า “ยกฺขภาควาร” หรือ ภาณยักษ์ส่วนภาคหลังเรียกว่า “พุทฺธภาควาร” หรือภาณพระ แต่ด้วยความที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับยักษ์ และอมนุษย์ ผู้คนทั่วไปจึงนิยมเรียกกันว่าการสวดภาณยักษ์ แต่ในความเป็นจริงแล้วการสวดภาณยักษ์ เป็นการเรียกโดยสะดวก เพราะในการสวดภาณยักษ์นั้นมีทั้งภาณยักษ์ และภาณพระ รวมกันเป็นอาฏานาฏิยสูตร[3][4]
นอกจากนี้ ยังมีการตัดตอนอาฏานาฏิยสูตรในส่วนที่เป็น "รักขา" หรือคาถา หรือพระปริตร ที่ท้าวจาตุมหาราชทั้ง 4 ทรงถวายแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระองค์ได้ทรงมีพุทธานุญาตให้พระสงฆ์เรียนรักขานี้ เพื่อป้องกันภยันตรายจากยักษ์และอมนุษย์ ที่เป็นมิจฉาทิษฐิ ต่อมาพระปริตรนี้นิยมสวดกันอย่างกว้างขวาง มีรวมอยู่ในจุลราชปริตร หรือ สวด 7 ตำนาน อันหมายถึงการสวดพระปริตร 7 บท และในมหาราชปริตร หรือสวด 12 ตำนาน อันหมายถึงการสวดพระปริตร 12 บท[5]
พิธีกรรมการสวด
[แก้]ในสุมังคลวิลาสินี อรรถกถาอาฏานาฏิยสูตร ในปาฏิกวรรค ทีฆนิกาย พระสุตตันตปิฎก พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายแนวทางการสวดสาธยายอาฏานาฏิยสูตร หรือ รักขา ไว้ในข้อ "ปริตฺตปริกมฺมกถา" ว่า
"ไม่ควรสวดอาฏานาฏิยสูตรก่อนทีเดียว ควรสวดพระสูตรเหล่านี้ คือ เมตตาสูตร ธชัคคสูตร รตนสูตร ตลอด 7 วัน หากว่าพ้นไปได้เป็นการดี หากไม่พ้นควรสวด อาฏานาฏิยสูตร ภิกษุผู้สวดอาฏานาฏิยสูตรนั้น ไม่ควรเคี้ยวแป้งหรือเนื้อ ไม่ควรอยู่ในป่าช้า.
ถามว่า เพราะเหตุไร
ตอบว่า พวกอมนุษย์จะได้โอกาส
ที่ทำพระปริตควรทำให้มีหญ้าเขียวชะอุ่ม ปูอาสนะให้เรียบร้อย ณ ที่นั้นแล้วพึงนั่ง ภิกษุผู้กระทำพระปริต อันชนทั้งหลายนำออกจากวิหารไปสู่เรือน ควรล้อมด้วยเครื่องป้องกันคือกระดานแล้วพึงนำไป ไม่ควรนั่งสวดในที่แจ้ง ภิกษุควรปิดประตูและหน้าต่างแล้วจึงนั่งแวดล้อมด้วยมือเป็นอาวุธ กระทำเมตตาจิตในเบื้องหน้าแล้วสวด ควรให้รับสิกขาบทก่อนแล้วสวดพระปริตแก่ผู้ตั้งอยู่ในศีล แม้อย่างนี้ก็ไม่สามารถจะพ้นได้ ควรนำไปสู่วิหาร ให้นอนบนลานเจดีย์ ให้ทำอาสนบูชาตามประทีป ปัดกวาดลานเจดีย์ แล้วสวดมงคลกถา ควรประกาศให้ประชุมทั้งหมด
ใกล้วิหารมีด้านไม้ใหญ่ที่สุดอยู่ ควรส่งข่าวไป ณ ที่นั้นว่า หมู่ภิกษุย่อมรอการมาของพวกท่านชื่อว่าการไม่มาในที่ประชุมทั้งหมดจะไม่ได้รับ
แต่นั้นควรถามผู้ที่ถูกอมนุษย์สิงว่า ท่านชื่อไร เมื่อเขาบอกชื่อแล้วควรเรียกชื่อทีเดียว ท่านควรปล่อยบุคคลชื่อนี้ เพราะส่วนบุญในการบูชาด้วยวัตถุมัดเอาไว้ และของหอมเป็นต้น ส่วนบุญในการบูชาอาสนะ ส่วนบุญในการถวายบิณฑบาตของท่าน หมู่ภิกษุสวดมหามงคลกถาเพื่อประโยชน์แก่บรรณาการของท่าน ด้วยความเคารพในหมู่ภิกษุ ขอท่านจงปล่อยเขาเถิด ดังนี้
หากอมนุษย์ไม่ปล่อย ควรบอกแก่เทวดาทั้งหลายว่า พวกท่านจงรู้ไว้เถิด อมนุษย์นี้ไม่ทำคำของพวกเรา เราจักกระทำพุทธอาชญา ดังนี้
ควรสวดพระปริตนี้เป็นบริกรรมของคฤหัสถ์ก่อน ก็ถ้าภิกษุถูกอมนุษย์สิง ควรล้างอาสนะแล้วประกาศให้ประชุมกันทั้งหมด ให้ส่วนบุญในการบูชามีของหอมและดอกไม้เป็นต้น แล้วพึงสวดพระปริตนี้เป็นบริกรรมของภิกษุทั้งหลาย"[6]
การสวดภาณยักษ์ในประเทศไทย
[แก้]การสวดภาณยักษ์ในประเทศไทยไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า เริ่มต้นขึ้นเมื่อใด แม้จะมีมุขปาฐะเล่าขานถึงที่มากันต่าง ๆ ออกไป แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ แต่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏว่า ได้มีการสวดอาฏานาฏิยสูตร หรืออาฏานาฏิยปริตรเพื่อสะเดาะเคราะห์ในพระนคร สมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้น นอกจากนี้ยังปรากฏจารึกอาฏานาฏิยสูตร ในพระอารามหลวงสำคัญอย่างวัดชุมพลนิกายาราม ด้วย (ดู จารึกอาฏานาฏิยสูตร ใน http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=838[ลิงก์เสีย])
พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารีเถระ) อธิบายไว้ว่า ตามประเพณีไทยโบราณ นิยมสวดในพระราชพิธีตรุษหลวง เป็นพระราชพิธีเดือน 4 เรียกว่า พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ คือตัดปี หรือสิ้นปี เป็นพระราชพิธีในปลายเดือน 4 ขึ้นเดือน 5 ซึ่งนับว่าเป็นต้นปี (ดู "ตำนานอาฏานาฏิยปริตร")
พิธีเริ่มโดยเจ้าพนักงานตั้งบาตรนํ้า บาตรทราย จับด้ายมงคลสูตรใส่ลุ้งไว้ในโรงราชพิธีทั้ง 4 ทิศ พระนครและในพระราชนิเวศน์ จากนั้นอัญเชิญ พระพุทธปฏิมากรมาประดิษฐาน อาราธนาพระมหาเถรานุเถร ผลัดเปลี่ยนกันมาจำเริญพระปริตร ในโรงราชพิธีทุกตำบล สิ้นทิวาราตรีสามวาร โดยในระหว่างการเจริญพระปริตรนั้น จะมีพิธีทางพราหมณ์ และทางราชการควบคูกันไปด้วย ที่ภายนอกพระบรมมหาราชวัง และในพื้นที่ต่าง ๆ ของพระนคร เพื่อเป็นการขจัดปัดเป่าอุบาทว์และภยันตรายทั้งปวง
ทั้งนี้ พระสงฆ์สวดภาณยักษ์เป็นพระพิธี สำรับละ 4 รูป ผลัดกันสวด พระพิธีนี้ถือว่าเป็นพระสมณศักดิ์ ดำรงตำแหน่งพระพิธีหลวง พระผู้ได้รับแต่งตั้งจะต้องมีคุณสมบัติเป็นพิเศษในการสวด เช่น มีเสียงเพราะ มีความรู้การสวดตามแบบทำนอง แปลว่าสวดเป็น เป็นศิษย์มีครู โดยได้รับการฝึกมาดีแล้ว ซึ่ง พระพิธีสำหรับสวดภาณยักษ์ต้องมีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มอีกประการหนึ่ง คือเสียงดัง พระพิธีนี้ไม่มีทุกวัด แม้จะเป็นพระอารามหลวง ปกติจะมีเฉพาะอารามหลวงที่สำคัญ นอกจากนี้ พระราชพิธีซึ่งมีการสวดอาฏานาฏิยสูตร หรืออาฏานาฏิยปริตรนี้ แต่เดิมมีพระราชนิยมจัดทำที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง แต่ปัจจุบันพระราชพิธีนี้ได้ยกเลิกไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการสวดภาณยักษ์ได้แพร่ไปยังวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นอารามหลวงหรือไม่ก็ตาม (ดู "ตำนานอาฏานาฏิยปริตร") ส่วนใหญ่มักสวดด้วยสำเนียงที่ดุดัน แห้งแหบโหยหวนบ้าง เป็นการสวดทำนองขู่ตวาดภูตผีปีศาจ ซึ่งเป็นลักษณะการสวดเช่นเดียวที่ปรากฏในพระราชพิธี ทว่า ในระดับพระราชพิธีนั้น ต่อมาได้ทรงโปรดฯ ให้นิมนต์พระอีกสำรับหนึ่ง สวดภาณพระ ด้วยทำนองสรภัญญะที่ไพเราะชื่นใจขึ้นเป็นคู่กัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นขวัญ และ กำลังใจแก่ประชาราษฎร์ ว่าได้ขับไล่ภัยอันตรายสิ่งร้าย และ อวยพรชัยสิริมงคล ในกาลเวลาสำคัญแห่งการเปลี่ยนปี (ดู "ภาณพระ" ใน http://www.polyboon.com/kumpra/29_word_001.php เก็บถาวร 2016-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. หน้า 199
- ↑ สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. หน้า 199
- ↑ สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. หน้า 199
- ↑ "ภาณพระ" ใน http://www.polyboon.com/kumpra/29_word_001.php เก็บถาวร 2016-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. หน้า 199
- ↑ พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาอาฏานาฏิยสูตร หน้า 154 - 155
บรรณานุกรม
[แก้]- พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาอาฏานาฏิยสูตร ในปาฏิกวรรค ทีฆนิกาย พระสุตตันตปิฎก
- สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. กรุงเทพฯ . กรมการศาสนา พระทรวงวัฒนธรรม.
- "ภาณพระ" ใน http://www.polyboon.com/kumpra/29_word_001.php เก็บถาวร 2016-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- น.อ.ดร.ทองย้อย แสงสินชัย ร.น. "ตำนานอาฏานาฏิยปริตร" อ้างถึง "เจ็ดตำนานกับจริยธรรมไทย" โดย มนต์ธานี. โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง, 2542