ข้ามไปเนื้อหา

สุมังคลวิลาสินี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สุมังคลวิลาสินี เป็นคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในพระสุตตันตปิฎก หมวดทีฆนิกาย พระพุทธโฆษาจารย์ หรือพระพุทธโฆสะ เรียบเรียงขึ้น โดยอาศัยอรรกถาเก่าภาษาสิงหฬที่แปลมาจากภาษมคธหรือภาษาบาลีมาแต่เดิม แต่ต่อมาต้นฉบับสูญหายไปพระพุทธโฆษาจารย์จึงเดินทางไปยังลังกาทวีปเพื่อแปลอรรถกถาเหล่านี้กลับคืนเป็นภาษาบาลีอีกครั้ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ที่เรียบเรียงขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 1000 [1]

ผู้เขียน

[แก้]

ในบทลงท้ายของสุมังคลวิลาสินี ปรากฏความว่า พระพุทธโฆสะ ได้เรียบเรียง หรือรจนาคัมภีร์นี้ขึ้น ตามคำอาราธนาของพระทาฐานาคสังฆเถระ โดยท่านผู้รจนานำเอาเนื้อหาข้อมูลจากมหาอรรถกถา (และ/หรือ) มูลอรรถกถา มาเรียบเรียง โดยมีหลักธรรมที่สอดคล้องกับที่สั่งสอนกันในวัดมหาวิหาร ซึ่งเป็นที่พำนักของท่านในลังกาทวีป [2]

เนื้อหา

[แก้]

สุมังคลวิลาสินี มีเนื้อหาค่อนข้างยาว เนื่องจากเป็นการให้อรรถาธิบายแก่หมวดทีฆนิกาย แห่งพระพระสุตตันตปิฎก ซึ่งรวบรวมมพระสูตรที่มีขนาดยาวถึง 34 สูตร จุดประสงค์สำคัญของสุมังคลวิลาสินี คือให้ความกระจ่างเกี่ยวกับพระธรรมวินัย ด้วยการอธิบายรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ เช่น การอธิบายว่า การฆ่าสัตว์นั้น มีโทษน้อยในสัตว์เล็ก มีโทษมากในสัตว์ใหญ่ เพราะมีความ พยายามมาก ปาณาติบาตมี องค์ 5 มีประโยค 6 ตัวอย่างเช่นในอรรถกถาพรหมชาลสูตร ของทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ซึ่งเกี่ยวข้องกับศีลเป็นหลัก ได้มีการอธิบายถึงการกล่าวผรุสวาท ว่าจะต้องประกอบด้วย 1. อกฺโกสิตพฺโพ ปโร คนอื่นที่ตนด่า 2.กุปิตจิตฺตํ จิตโกรธ 3. อกฺโกสนา การด่าจึงจะนับเป็นผรุสวาจา หรือการกล่าวถ้อยคำหยาบคาย อันเป็นส่วนหนึ่งของศีลข้อมุสาวาท ดังนี้ [3]

นอกเหนือจากการขยายความหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมถึงการอธิบายคำศัพท์ต่าง ๆ ที่ปรากฏในพระสูตรนานา ดังเช่นอรรกถาอื่น ๆ แล้ว สุมังคลวิลาสินียังมีความโดดเด่นตรงที่เป็นคัมภีร์ที่บันทึกเรื่องราวเบื้องหลังอันเกี่ยวเนื่องกับพระสูตรนั้น รวมถึงประวัติศาสตร์แวดล้อมอัน วรรณคดีโบราณ ประเพณีของชาวอินเดียในยุคนั้นที่เกี่ยวเนื่องกับพระสูตรและคำสอนที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด

นอกเหนือจากการระบุถึงความพยายามของพระเทวทัตในการพยายามที่จะต่อรองกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะเป็นผู้นำคณะสงฆ์เสียเองแล้ว [4] นอกจากนี้ ยังมีการพรรณนาถึงรายละเอียดเกี่ยวกับปฐมสังคายนา โดยมีการระบุชัดว่า ในการสังคายนาครั้งนี้ มิได้มีเพียงแค่การรวบรวมพระธรรมวินัย ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเทศนาสั่งสอนไว้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพระอภิธรรมด้วย [5] สุมังคลวิลาสินี ยังพรรณนาและอธิบายถึงวงศ์กษัตริย์ต่าง ๆ ในสมัยพุทธกาล เช่น วงศ์มัลละ วงศ์ศากยะ วงศ์โกลิยะ วงศ์ลิจฉวี เป็นต้น นับเป็นผลงานที่มีคุณค่ายิ่งในการศึกษาประวัติศาตร์โบราณ [6]

ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์วรรณกรรม ตัวอย่างเช่นในอรรถกถาพรหมชาลสูตร ของทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ยังมีการเอ่ยพาดพิงถึงเรื่องมหาภารตะ อันเป็นวรรณคดีเอกของอินเดียโบราณ อย่างไรก็ตาม เป็นการในทำนองที่ว่า เนื้อหาในมหากาพย์เรื่องนี้ เกี่ยวพันกับการรณยุทธิ์ มิควรที่เอ่ยถึง เพราะเป็นติรัจฉานกถา กล่าวคือ "เป็นถ้อยคำที่ขวางทางสวรรค์และทางนิพพาน เพราะไม่ใช่ธรรมที่เป็นเหตุให้ออกไปจากทุกข์" ดังปรากฏเนื้อความว่า "แม้ในเรื่องการรบ มีเรื่องภารตยุทธ์เป็นต้น ถ้อยคำที่เกี่ยวกับความพอใจในเรื่องทายว่า คนโน้นถูกคนโน้นฆ่าอย่างนี้ แทงอย่างนี้นั่นแหละ ชื่อว่าติรัจฉานกถา แต่เรื่องที่พูดอย่างนี้ว่า แม้คนชื่อเหล่านั้นก็ถึงความสิ้นไป ดังนี้ ย่อมเป็นกรรมฐานทุกเรื่องทีเดียว" [7]

นอกจากนี้ ยังมีการอธิบายถึงสรรพวิทยาอันเกี่ยวเนื่องกับคำสอนต่าง ๆ อย่างน่าสนใจยิ่ง เช่น การระบุว่าครรภ์ย่อมพินาศด้วยเหตุ 3 อย่าง คือ ลม เชื้อโรค กรรม (อรรกถาพรหมชาลสูตร) การให้ความรู้ว่า เมื่อเอาผ้าสะอาด คลุมตลอดศีรษะ ไออุ่นแต่ศีรษะย่อมแผ่ไปทั่วผ้าทั้งผืนทีเดียว (อรรถกถาสามัญญผลสูตร) มีการอธิบายความหมายของคำว่า ไตรเพท หรือไตรเวทย์ ของพราหมณ์ (อรรกถาอัมพัฏฐสูตร) เป็นต้น

นับว่า สุมังคลวิลาสินีเป็นขุมความรู้อันยิ่งใหญ่ มิเพียงขยายความคำสอนและประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังบันทึกเรื่องราว ขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณ ธรรมชาติวิทยา มานุษยวิทยา ชีววิทยา ภูมิศาสตร์ และสรรพศาสตร์อีกมากมาย เทียบได้กับสารานุกรมยุคโบราณเล่มหนึ่งเลยทีเดียว [8]

คัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระพรหมคุณาภรณ์ หน้า 459
  2. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. สุมังคลวิลาสินี อรรกถาพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม 3 ภาค 2 หน้า 475 - 476
  3. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าที่ 192
  4. Bimala Charan Law. หน้า 109
  5. Kashi Nath Upadhyaya. หน้า 40
  6. Bimala Charan Law. หน้า 110
  7. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าที่ 218
  8. Bimala Charan Law. หน้า 105 - 114

บรรณานุกรม

[แก้]
  • พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2550). พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพมหานคร.
  • พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. สุมังคลวิลาสินี อรรกถาพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม 1 ภาค 1
  • พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. สุมังคลวิลาสินี อรรกถาพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม 3 ภาค 2
  • Kashi Nath Upadhyaya. (1998). Early Buddhism and the Bhagavadgita. Delhi : Motilal Banarsidass.
  • Bimala Charan Law. (1923). The Life and Work of Buddhaghosa. Calcutta : Thacker, Spink & Co.

ตัวบทคัมภีร์

[แก้]

*สุมังคลวิลาสินี (บาลี)

สุมังคลวิลาสินี ๑

สุมังคลวิลาสินี ๒

สุมังคลวิลาสินี ๓

*สุมังคลวิลาสินี (แปลไทย)

สุมังคลวิลาสินี