ข้ามไปเนื้อหา

การทดแทนคุณลักษณะ (จิตวิทยา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การทดแทนคุณลักษณะ[1] (อังกฤษ: Attribute substitution) เป็นกระบวนการทางจิตวิทยาที่เชื่อว่า เป็นเหตุของความเอนเอียงทางประชาน (cognitive bias) และการแปลสิ่งเร้าทางประสาทสัมผัสผิด (perceptual illusion) หลายอย่าง ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเราต้องทำการประเมินคุณลักษณะเป้าหมาย (target attribute) ที่ต้องใช้การคำนวณที่ซับซ้อน แต่กลับใช้คุณลักษณะอีกอย่างหนึ่งแทนที่ ซึ่งเรียกว่า คุณลักษณะฮิวริสติก (heuristic attribute) ที่สามารถคำนวนได้ง่ายกว่า[2] (เช่น การประเมินความน่าจะเป็นว่าอยู่ในกลุ่ม โดยใช้ความคล้ายคลึงของบุคคลกับกลุ่ม แทนที่จะใช้อัตราพื้นฐานของความน่าจะเป็น) การแทนที่เช่นนี้เชื่อว่าเกิดขึ้นในระบบการประเมินแบบรู้เอง (intuitive) ที่เป็นไปโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่ระบบที่ต้องอาศัยความคิดพิจารณาที่อยู่เหนือสำนึก ดังนั้น เมื่อเราทำความพยายามที่จะตอบปัญหาที่ยาก เราอาจจะกลับไปตอบปัญหาที่ต่างกันแต่เกี่ยวข้องกัน โดยที่ไม่รู้ว่ามีการแทนที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งอธิบายว่า ทำไมเราจึงไม่รู้ถึงความเอนเอียงต่าง ๆ ของตน และทำไมความเอนเอียงยังดำรงอยู่ได้แม้เมื่อมีการบอกให้รู้แล้ว และอธิบายอีกด้วยว่า ทำไมการตัดสินใจของมนุษย์บ่อยครั้งจึงไม่มีลักษณะของการถอยกลับไปสู่ค่าเฉลี่ย (regression toward the mean)[3]

ทฤษฎีนี้รวมทฤษฎีต่างหลายอย่างที่อธิบายความผิดพลาดในการคิดหาเหตุผลโดยอธิบายว่า มนุษย์แก้ปัญหาบางอย่างโดยใช้ฮิวริสติกซึ่งเป็นทางลัดในการคิดหาเหตุผล ที่ในบางสถานการณ์ให้คำตอบที่ผิดพลาด[2] ต่อมา ทฤษฎีที่เสนอในปี ค.ศ. 2008 โดยใช้ชื่อว่า effort-reduction framework (โครงสร้างการลดความพยายาม) ก็รวมทฤษฎีนี้เป็นส่วนหนึ่ง โดยเป็นทฤษฎีที่เสนอว่า มนุษย์ใช้เทคนิคต่าง ๆ เพื่อลดความพยายามที่ต้องทำทางใจในการทำการตัดสินใจ[4]

พื้นเพประวัติ

[แก้]
แดเนียล คาฮ์นะมัน ผู้ได้รับรางวัลเพื่อระลึกถึงอัลเฟรด โนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ (ค.ศ. 2002)

ในผลงานวิจัยปี ค.ศ. 1974 นักจิตวิทยาชาวอเมริกันแดเนียล คาฮ์นะมัน และอะมอส ทเวอร์สกี้ ได้เสนอว่า กลุ่มความเอนเอียงหลายสกุล (คือ ความผิดพลาดอย่างเป็นระบบในการประเมินและการตัดสินใจ) สามารถอธิบายได้โดยใช้คำอธิบายเกี่ยวกับฮิวริสติก (ทางลัดทางความคิด) รวมทั้งฮิวริสติกโดยความเข้าถึงได้ง่าย (availability heuristic) และฮิวริสติกโดยความเป็นตัวแทน (representativeness heuristic) ในปี ค.ศ. 2002 ดร. คาฮ์นะมันและผู้ร่วมงานได้ปรับปรุงคำอธิบายนี้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า การทดแทนคุณลักษณะเป็นกระบวนการที่เป็นฐานของความเอนเอียงเหล่านั้นและปรากฏการณ์อื่น ๆ[3]

ในปี ค.ศ. 1975 นักจิตวิทยาท่านหนึ่งเสนอว่า กำลังของสิ่งเร้า (เช่น ความสว่างของแสง หรือความรุนแรงของอาชญากรรม) เป็นสิ่งที่เซลล์ประสาทเข้ารหัส โดยไม่ขึ้นอยู่กับภาวะที่รับรู้จากสิ่งเร้า (Stimulus modality) คือไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นแสงที่สว่าง หรือเป็นเสียงที่ดังเป็นต้น คาฮ์นะมันและเพื่อนร่วมงานต่อยอดความคิดนี้ โดยเสนอว่า คุณลักษณะเป้าหมาย (target attribute) และคุณลักษณะฮิวริสติก (heuristic attribute) อาจเป็นสิ่งที่แตกต่างกันโดยธรรมชาติ[3]

ปัจจัยต่าง ๆ

[แก้]
มนุษย์ไม่คุ้นเคยต่อการคิดมาก และบ่อยครั้งพึงใจที่จะเชื่อถือการตัดสินใจที่พอเป็นไปได้ตามที่คิดได้

แดเนียล คาฮ์นะมัน, American Economic Review 93 (5) December 2003, p. 1450[5]

ดร. คาฮ์นะมันและเพื่อนรวมงานเสนอองค์ประกอบ 3 อย่างสำหรับการทดแทนคุณลักษณะ คือ[3]

  1. คุณลักษณะเป้าหมาย (target attribute) เป็นสิ่งที่ค่อนข้างเข้าถึงยาก (หรือคำนวณได้ยาก)
    แต่การทดแทนจะไม่เกิดขึ้นในการตอบปัญหาเกี่ยวกับความจริงที่สามารถดึงออกมาจากความจำได้โดยตรง (เช่น "วันเกิดของคุณคืออะไร") หรือเกี่ยวกับประสบการณ์ในปัจจุบัน (เช่น "คุณรู้สึกหิวน้ำตอนนี้หรือเปล่า")
  2. คุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกันเข้าถึงได้ง่าย
    นี่อาจจะเป็นเพราะลักษณะนี้มีการประมวลโดยอัตโนมัติในกระบวนการรับรู้ปกติ หรือว่ามีการกระตุ้นผ่านกระบวนการ priming ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรากำลังคิดถึงชีวิตแห่งความรักของเรา แล้วเกิดคำถามว่า เรามีความสุขแค่ไหน เราอาจจะทดแทนด้วยคำตอบว่า เรามีความสุขแค่ไหนในชีวิตแห่งความรักของเรา โดยที่ไม่ได้คิดถึงส่วนอื่น ๆ ของชีวิต
  3. การทดแทนไม่มีการตรวจจับหรือแก้โดยระบบความคิด
    ยกตัวอย่างเช่น เมื่อถามว่า "ไม้ตีลูกบอลและลูกบอลทั้งสองมีราคา $1.10 ไม้ตีมีราคา $1 มากกว่าลูกบอล ลูกบอลมีราคาเท่าไร" คนเป็นจำนวนมากจะตอบอย่างผิด ๆ ว่า $0.10[A][5] การอธิบายโดยทฤษฎีการทดแทนคุณลักษณะก็คือ แทนที่การคำนวณ เราอาจจะแบ่ง $1.10 ออกเป็นจำนวนมาก ($1) และจำนวนน้อย ($0.10) ซึ่งง่ายที่จะกระทำ ความรู้สึกว่าคำตอบนี่ถูกหรือไม่จะขึ้นอยู่กับว่า เราเช็คการคำนวณนี้ผ่านระบบความคิดด้วยหรือไม่

ตัวอย่าง

[แก้]
ตัวอย่างการทดแทนคุณลักษณะทางตา ภาพลวงตานี้ (รูปคู่ซ้ำทั้ง 3 ชุดมีขนาดเท่ากันใน 2-มิติ) เกิดได้เพราะขนาด 2-มิติ ของบางส่วนของภาพมีการตัดสินตามขนาด 3-มิติ ซึ่งเป็นการคำนวนที่ทำอย่างรวดเร็วโดยระบบสายตา คือรูปจริง ๆ แล้วเป็นภาพ 2 มิติ แต่ระบบสายตาของเราตีความโดยอัตโนมัติเหมือนเห็นภาพ 3 มิติ จึงทำให้รูปคู่ซ้ำทั้ง 3 ชุดดูมีขนาดต่างกันมาก

ภาพลวงตา

[แก้]

ทฤษฎีการทดแทนคุณลักษณะสามารถอธิบายความยืนกรานของภาพลวงตาบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อให้ผู้ร่วมการทดลองตัดสินขนาดของบุคคลสองคนในรูปทัศนมิติ ขนาดของบุคคลอาจจะเกิดความบิดเบือนเพราะลักษณะอื่น ๆ ที่แสดงความเป็น 3-มิติ ทำให้เกิดภาพลวงตา สามารถใช้ทฤษฎีการทดแทนคุณลักษณะอธิบายได้ว่า มีการแทนที่ขนาด 2-มิติ จริง ๆ ของรูป ด้วยขนาด 3-มิติ เพราะขนาด 3-มิติ เข้าถึงได้ง่ายเพราะเป็นสิ่งที่เกิดการคำนวณโดยอัตโนมัติในระบบสายตา แต่ว่า จิตรกรและช่างถ่ายภาพผู้ชำนาญการจะมีโอกาสเสี่ยงต่อภาพลวงตาเช่นนี้น้อยกว่า เพราะว่า ขนาด 2-มิติของรูปสามารถเข้าถึงได้ง่ายในระบบการรับรู้[5]

การประเมินมูลค่าของประกันชีวิต

[แก้]

ดร. คาฮ์นะมันให้อีกตัวอย่างหนึ่งที่มีการเสนอประกันชีวิตเนื่องกับการก่อการร้าย ให้กับคนอเมริกันกลุ่มหนึ่งระหว่างที่เดินทางไปในยุโรป ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งมีการเสนอประกันชีวิตเนื่องกับความตายทุกประเภท แม้ว่า "ความตายทุกชนิด" จะรวม "ความตายเนื่องกับการก่อการร้าย" คนกลุ่มแรกยินดีที่จะจ่ายเบี้ยประกันมากกว่าคนกลุ่มหลัง ดร. คาฮ์นะมันเสนอว่า มีการใช้ลักษณะคือความกลัว (เป็น heuristic attribute) แทนที่การคำนวณความเสี่ยงอย่างรวม ๆ ในการเดินทาง (ซึ่งเป็น target attribute)[6] เพราะว่า ความกลัวต่อการก่อการร้ายในผู้ร่วมการทดลองเหล่านี้ มีกำลังกว่าความกลัวต่อความตายในการเดินทางไปต่างประเทศโดยทั่ว ๆ ไป

การเหมารวม

[แก้]

การเหมารวมเป็นแหล่งของคุณลักษณะฮิวริสติกอีกแหล่งหนึ่ง[3] ในการคุยกันตัวต่อตัวกับคนแปลกหน้า การตัดสินความเฉลียวฉลาดของคนแปลกหน้า เป็นการคำนวณที่ซับซ้อนกว่าการตัดสินตามสีผิว ดังนั้น ถ้าเรามีการเหมารวมเกี่ยวกับความเฉลียวฉลาดของคนขาว คนดำ หรือคนเอเชีย เราก็อาจจะใช้คุณลักษณะทางผิวพันธ์แทนคุณลักษณะทางปัญญาที่ไม่ค่อยชัดเจน ธรรมชาติของการทดแทนคุณลักษณะที่เกิดขึ้นก่อนความสำนึก ที่เป็นธรรมชาติแบบรู้เอง (intuitive) ก็จะอธิบายได้ว่า ทำไมเราจึงได้รับอิทธิพลจากการเหมารวม ทั้ง ๆ ที่เราเองอาจจะคิดว่า เราได้ทำการประเมินที่ตรงกับความจริง ที่ไม่ประกอบด้วยความเอนเอียง เกี่ยวกับความเฉลียวฉลาดของคนแปลกหน้านั้น

ในการประเมินศีลธรรมและความยุติธรรม

[แก้]

มีนักวิชาการทางกฎหมายที่เสนอว่า การทดแทนคุณลักษณะเป็นไปอย่างกว้างขวางเมื่อเราต้องคิดหาเหตุผลในเรื่องศีลธรรม การเมือง และกฎหมาย[7] คือ เมื่อมีปัญหาใหม่ ๆ ที่ยากในเรื่องเหล่านั้น เรามักจะหาปัญหาที่คุ้นเคยกว่าแต่มีความเกี่ยวข้องกัน (ที่เรียกว่า กรณีต้นแบบ หรือ prototypical case) แล้วใช้วิธีแก้ปัญหาต้นแบบ เป็นวิธีแก้ปัญหาที่มีใหม่ซึ่งยากกว่า นักวิชาการกล่าวว่า ความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่หรือผู้เป็นใหญ่ทางการเมืองหรือทางศาสนาที่เราเชื่อใจ สามารถใช้เป็นลักษณะฮิวริสติก เมื่อเรามีคำถามเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

แหล่งกำเนิดอีกอย่างหนึ่งของลักษณะฮิวริสติกก็คืออารมณ์ คือ ความคิดเห็นทางศีลธรรมในประเด็นที่มีความอ่อนไหวเช่น เพศสัมพันธ์ การโคลนมนุษย์ อาจจะเกิดการขับเคลื่อนโดยปฏิกิริยาทางอารมณ์เช่นความสะอิดสะเอียน (disgust) ไม่ใช่โดยหลักความคิดที่เป็นเหตุผล[8] แต่ว่าทฤษฎีของนักวิชาการนี้มีผู้แย้งว่า ไม่ได้ให้หลักฐานที่พอเพียงว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการทดแทนคุณลักษณะ และไม่ใช่เป็นกระบวนการอื่น ที่มีผลต่อกรณีเหล่านี้[4]

ปรากฏการณ์คนสวยคนหล่อเป็นเหมือนคนคุ้นเคย

[แก้]

นักจิตวิทยาอีกท่านหนึ่งทำรายงานชุดการทดลอง ที่ให้ผู้ร่วมการทดลองดูรูปใบหน้า แล้วตัดสินว่าเคยเห็นใบหน้าเหล่านั้นมาก่อนไหม มีการพบอย่างซ้ำ ๆ กันว่า ใบหน้าที่ดึงดูดใจ มักจะรับการระบุอย่างผิด ๆ ว่า เคยเห็นมาแล้ว[9] ผู้ทำงานวิจัยตีความโดยใช้ทฤษฎีการทดแทนคุณลักษณะ คือ คุณลักษณะฮิวริสติกในกรณีนี้ก็คือ "ความรู้สึกที่แจ่มใสอบอุ่น" ซึ่งเป็นความรู้สึกต่อคนที่อาจจะเป็นคนคุ้นเคย หรือเป็นคนที่ดึงดูดใจ แต่ว่า การตีความเช่นนี้ยังมีผู้ไม่เห็นด้วย เพราะว่า ค่าความแปรปรวน (variance) ของความคุ้นเคยทั้งหมด ไม่สามารถอธิบายได้โดยความดึงดูดใจของรูป[4]

หลักฐาน

[แก้]

ดร. คาฮ์นะมันกล่าวว่า[5] หลักฐานสนับสนุนทฤษฎีการทดแทนคุณลักษณะที่ตรงประเด็นที่สุดก็คือการทดลองในปี ค.ศ. 1973 ที่แสดงลักษณะต่าง ๆ ทางจิตวิทยาของทอม ผู้เป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสมมุติ[10] มีการให้ผู้ร่วมการทดลองกลุ่มหนึ่งให้คะแนน "ความคล้ายคลึง" ของทอมกับนักศึกษาทั่ว ๆ ไปในสาขา 9 สาขา (รวมทั้งนิติศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และบรรณารักษศาสตร์) มีการให้อีกลุ่มหนึ่งให้คะแนนว่า "มีความเป็นไปได้เท่าไร" ที่ทอมจะเข้ารับการศึกษาในแต่ละสาขา ถ้าการให้ค่าความเป็นไปได้เป็นไปตามกฎความน่าจะเป็น คะแนนที่ให้ก็ควรจะคล้ายกับอัตราพื้นฐาน (base rates) ซึ่งก็คืออัตราส่วนของนักเรียนในแต่ละสาขา 9 สาขา (ซึ่งมีการให้ผู้ร่วมการทดลองกลุ่มที่ 3 ประเมิน) และการประเมินที่เป็นไปตามความน่าจะเป็นจะต้องกล่าวว่า ทอมมีโอกาสที่จะเข้ารับการศึกษาในสาขามนุษยศาสตร์มากกว่าบรรณารักษศาสตร์ เพราะว่า มีนักศึกษาในสาขามนุษยศาสตร์มากกว่า และข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของทอมที่ให้เป็นเรื่องคลุมเครือและไม่น่าเชื่อถือ แต่ผลปรากฏว่า คะแนนที่ให้เกี่ยวกับความน่าจะเป็น (ประเมินโดยกลุ่มหนึ่ง) เหมือนกับคะแนนที่ให้เกี่ยวกับความคล้ายคลึง (ประเมินโดยอีกกลุ่มหนึ่ง) แทบเป็นหนึ่งต่อหนึ่ง ซึ่งเหมือนกับในอีกการทดลองหนึ่งที่ให้ผู้ร่วมการทดลองประเมินความน่าจะเป็นของหญิงสมมุติว่า จะเข้าทำอาชีพแบบไหน ผลเช่นนี้บอกเป็นนัยว่า แทนที่เราจะประเมินความน่าจะเป็นอาศัยอัตราพื้นฐาน เราจะใช้คุณลักษณะเกี่ยวกับความคล้ายคลึงกันที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าแทนที่

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • Kahneman, Daniel; Shane Frederick (2004). "Attribute Substitution in Intuitive Judgment". ใน Mie Augier, James G. March (บ.ก.). Models of a man: essays in memory of Herbert A. Simon. MIT Press. pp. 411-432. ISBN 978-0-262-01208-9. OCLC 52257877.
  • Kahneman, Daniel; Shane Frederick (2005). "A Model of Heuristic Judgment". ใน Keith James Holyoak, Robert G. Morrison (บ.ก.). The Cambridge Handbook of Thinking and Reasoning. Cambridge University Press. pp. 267–294. ISBN 978-0-521-82417-0. OCLC 56011371.
  • Kahneman, Daniel (2002-12-08). "Maps of Bounded Rationality: A Perspective on Intuitive Judgement and Choice (Nobel Prize Lecture)". NobelPrize.org. The Nobel Foundation. สืบค้นเมื่อ 2009-06-13.
  • Kahneman, Daniel (2007-07-22). "Short Course in Thinking about Thinking". Edge.org. Edge Foundation. สืบค้นเมื่อ 2009-06-13.
  • Sinnott-Armstrong, Walter (in press). "Moral Intuitions as Heuristics". ใน J. Doris, G. Harman, S. Nichols, J. Prinz, W. Sinnott-Armstrong, S. Stich (บ.ก.). The Oxford Handbook of Moral Psychology. Oxford University Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2015-04-07. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)CS1 maint: multiple names: editors list (ลิงก์)
  • Dai, Xianchi; Wertenbroch, Klaus (2008). "Advances in Judgmental and Inferential Heuristics" (PDF). Advances in Consumer Research. 35: 233–236.[ลิงก์เสีย]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. * x + y = $1.10
    • x = y + $1
    • ดังนั้น y + $1 + y = $1.10
    • และดังนั้น y = $0.05

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑", ให้ความหมายของ attribute ว่า "คุณลักษณะ" และของ substitution ว่า "การทดแทน (กลไกทางจิต)"
  2. 2.0 2.1 Newell, Benjamin R. (2007). Straight choices: the psychology of decision making. Routledge. pp. 71-74. ISBN 978-1-84169-588-4. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Kahneman, Daniel; Frederick, Shane (2002). "Representativeness Revisited: Attribute Substitution in Intuitive Judgment". ใน Gilovich, Thomas; Griffin, Dale; Kahneman, Daniel (บ.ก.). Heuristics and Biases: The Psychology of Intuitive Judgment. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 49–81. ISBN 978-0-521-79679-8. OCLC 47364085.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: editors list (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 4.2 Shah, Anuj K.; Daniel M. Oppenheimer (2008-03). "Heuristics Made Easy: An Effort-Reduction Framework". Psychological Bulletin. American Psychological Association. 134 (2): 207–222. doi:10.1037/0033-2909.134.2.207. ISSN 1939-1455. PMID 18298269. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 Kahneman, Daniel (2003-12). "Maps of Bounded Rationality: Psychology for Behavioral Economics". American Economic Review. American Economic Association. 93 (5): 1449–1475. doi:10.1257/000282803322655392. ISSN 0002-8282. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  6. Kahneman, Daniel (2007). "Short Course in Thinking About Thinking". Edge.org. Edge Foundation. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-20. สืบค้นเมื่อ 2009-06-03.
  7. Sunstein, Cass R. (2005). "Moral heuristics". Behavioral and Brain Sciences. Cambridge University Press. 28 (4): 531–542. doi:10.1017/S0140525X05000099. ISSN 0140-525X. PMID 16209802.
  8. Sunstein, Cass R. (2009). "Some Effects of Moral Indignation on Law" (PDF). Vermont Law Review. Vermont Law School. 33 (3): 405–434. SSRN 1401432. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-11-29. สืบค้นเมื่อ 2009-09-15.
  9. Monin, Benoît (2005), "Correlated Averages vs. Averaged Correlations: Demonstrating the Warm Glow Heuristic Beyond Aggregation" (PDF), Social Cognition, 23 (3): 257–278, doi:10.1521/soco.2005.23.3.257, ISSN 0278-016X, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-05-27, สืบค้นเมื่อ 2015-04-07 {{citation}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  10. Kahneman, Daniel; Amos Tversky (1973-07). "On the Psychology of Prediction". Psychological Review. American Psychological Association. 80 (4): 237–51. doi:10.1037/h0034747. ISSN 0033-295X. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)