ข้ามไปเนื้อหา

การตายเฉพาะส่วน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การตายของเนื้อเยื่อหลังจากเกิดแผลไหม้อย่างรุนแรง

การตายเฉพาะส่วน (อังกฤษ: necrosis; มาจากภาษากรีก: νεκρός nekros ตาย) เป็นการตายของเซลล์และเนื้อเยื่อซึ่งจะมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องตามมาอย่างมาก ได้แก่การบวมของเซลล์, การย่อยสลายโครมาติน, และการเสื่อมสภาพของเยื่อหุ้มเซลล์และเยื่อหุ้มออร์แกเนลล์ ในระยะต่อมาจะเกิดการย่อยสลายดีเอ็นเอ, การเกิดช่องว่าง (vacuolation) ของเอนโดพลาสมิกเรติคูลัม (endoplasmic reticulum) , การสลายของออร์แกเนลล์, และเกิดการสลายเซลล์ หลังจากเยื่อหุ้มเซลล์แตกสลายจะมีการปล่อยองค์ประกอบภายในเซลล์ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ กระบวนการดังกล่าวแยกออกจากการเปลี่ยนแปลงหลังการตาย (Postmortem change) และจากการคงสภาพเนื้อเยื่อโดยฟอร์มาลิน[1]

การตายของเซลล์แบบนี้แตกต่างจากการตายแบบอะพอพโทซิส (apoptosis) เพราะซากของเซลล์จะถูกเซลล์กลืนกิน (phagocyte) ของระบบภูมิคุ้มกันเข้ามากำจัดได้ยากเนื่องจากการตายเฉพาะส่วนไม่มีการส่งสัญญาณของเซลล์ (cell signals) ซึ่งกระตุ้นให้เซลล์กลืนกินข้างเคียงเข้ามาจัดการซาก ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถจะระบุตำแหน่งของการตายและไม่สามารถนำองค์ประกอบของเซลล์ที่ตายกลับมาใช้ใหม่ดังเช่นการตายแบบอะพอพโทซิส

สาเหตุ

[แก้]

สาเหตุของการตายเฉพาะส่วนได้แก่การได้รับการบาดเจ็บ การติดเชื้อ มะเร็ง เนื้อตายเหตุขาดเลือด (infarction) สารพิษ และการอักเสบอย่างต่อเนื่อง การทำลายระบบที่จำเป็นภายในเซลล์อย่างรุนแรงจะทำให้เกิดการกระตุ้นการทำลายระบบอื่นๆ ภายในเซลล์เป็นลูกโซ่ เรียกว่า "cascade of effects" การตายเฉพาะส่วนอาจเกิดขึ้นจากการดูแลบริเวณบาดแผลอย่างไม่เหมาะสม การตายแบบนี้จะมีการหลั่งเอนไซม์พิเศษที่เก็บเอาไว้ในไลโซโซม (lysosome) ซึ่งสามารถย่อยสลายองค์ประกอบของเซลล์หรือย่อยสลายทั้งเซลล์ หลังจากที่เซลล์ได้รับความบาดเจ็บจะมีการสลายเยื่อหุ้มไลโซโซมเป็นการเริ่มต้นลูกโซ่ปฏิกิริยาซึ่งทำให้เกิดการปล่อยเอนไซม์ออกมา และออกมายังภายนอกเซลล์จึงทำให้เกิดการทำลายเซลล์ข้างเคียงด้วย ซึ่งต่างจากการตายแบบอะพอพโทซิส

ในการตัดเนื้อออกตรวจ (biopsy) กระบวนการ fixation เนื้อเยื่อหรือการแช่เย็นจะช่วยหยุดปฏิกิริยาการตายเฉพาะส่วน ในงูพิษและแมงมุมหลายชนิดสามารถผลิตสารพิษซึ่งทำให้เนื้อเยื่อบริเวณถูกกัดเกิดการตายเฉพาะส่วนได้

รูปแบบการตายของเนื้อเยื่อ

[แก้]

ลักษณะการตายเฉพาะส่วนของเนื้อเยื่อแบ่งออกเป็น 7 รูปแบบเด่นๆ ได้ดังนี้

  • Coagulative necrosis ลักษณะเนื้อตายแน่น แข็ง ซีด เนื้อเยื่อที่ตายเห็นขอบเขตชัดเจน เซลล์ในบริเวณเนื้อตายจะคงโครงรูปเอาไว้ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากกล้องจุลทรรศน์[1] พบได้จากภาวะเลือดมีออกซิเจนน้อย (hypoxia) เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (myocardial infarction) , ม้ามขาดเลือด (splenic infarction)
  • Liquefactive necrosis ลักษณะเนื้อตายยุ่ย นุ่ม เหลว เซลล์ในบริเวณนี้จะไม่เหลือโครงสร้างของเนื้อเยื่อเดิมไว้[1] มักจะเกี่ยวข้องกับการทำลายเซลล์และการเกิดหนอง (pus) เช่น โรคปอดบวม (pneumonia) ซึ่งทั่วไปแล้วเกี่ยวกับการติดเชื้อแบคทีเรียหรือราเพราะเป็นเชื้อจุลชีพก่อโรคที่สามารถกระตุ้นการอักเสบได้ อย่างไรก็ตามการขาดเลือดเฉพาะที่ (ischemia) ของสมองสามารถทำให้เกิดการตายแบบนี้มากกว่าเกิดการตายแบบ coagulative necrosis เนื่องจากเนื้อเยื่อสมองไม่มีโครงสร้างที่ช่วยค้ำจุน
  • Gummatous necrosis เป็นลักษณะเนื้อตายเฉพาะที่เกี่ยวกับการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดเกลียว (spirochaet) เช่น ซิฟิลิส
  • Haemorrhagic necrosis เป็นเนื้อตายเฉพาะส่วนจากการอุดกั้นของการระบายเลือดดำของอวัยวะหรือเนื้อเยื่อ ทำให้มีเลือดออกนอกช่องทางเดินเลือดหรือหลอดเลือด[1] เช่น การบิดของอัณฑะ (testicular torsion) หรือเมื่อลำไส้ขาดเลือด
  • Caseous necrosis เป็นลักษณะการตายแบบ coagulation necrosis ที่จำเพาะต่อเชื้อไมโคแบคทีเรีย (mycobacteria) (เช่นวัณโรค) , เชื้อรา, และวัตถุแปลกปลอมบางชนิด บริเวณที่ตายจะออกสีเหลืองเหมือนเนย ไม่เป็นช่องว่าง ในกล้องจุลทรรศน์จะเห็นเป็นปื้นสีชมพู[1] อาจกล่าวได้ว่าเป็นการตายรูปแบบผสมระหว่าง coagulative และ liquefactive necroses
  • Fat necrosis เป็นผลจากการทำงานของเอนไซม์ไลเปสย่อยเนื้อเยื่อไขมัน ลักษณะเนื้อตายเป็นสีเหลืองซีด อาจเห็นจุดขาวคล้ายชอล์ค ในกล้องจุลทรรศน์จะเห็นบริเวณเซลล์ไขมันที่ถูกเอนไซม์ย่อยเป็นปื้นสีชมพูอมม่วง ในขณะที่เซลล์ที่ตายแบบไม่มีเอนไซม์ย่อยจะเห็นเซลล์ไขมันเสื่อมปะปนกับฮิสติโอไซต์ (histiocyte) ในบางครั้งอาจพบปฏิกิริยาการเปลี่ยนเป็นสบู่ (saponification) ในเนื้อเยื่อได้[1] พบในตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน และการตายของเนื้อเยื่อเต้านม
  • Fibrinoid necrosis เกิดจากการทำลายผนังหลอดเลือดจากผลของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการสะสมของสารโปรตีนที่ดูคล้ายไฟบริน (fibrin-like) ในผนังหลอดเลือดแดง ซึ่งเมื่อย้อมดูใต้กล้องจุลทรรศน์จะเห็นลักษณะเป็นปื้นสีชมพูติดสีกรด (eosinophilic)

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 มานะ ทวีวิศิษฎ์ (บรรณาธิการ) , พยาธิวิทยาพื้นฐาน. กรุงเทพฯ: ภาควิชาพยาธิวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549. ISBN 974-9980-70-0

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • Necrosis causes, details and definition เก็บถาวร 2009-05-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • Undersea and Hyperbaric Medical Society. "Necrotizing Soft Tissue Infections". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-05. สืบค้นเมื่อ 2008-07-25.