ข้ามไปเนื้อหา

กาพย์ฉบัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กาพย์ฉบัง หมายถึง คำประพันธ์ประเภทกาพย์ บทหนึ่งมีเพียงหนึ่งบาท บาทละ 3 วรรค บังคับจำนวนคำและสัมผัส ไม่มีบังคับเอก-โท หรือครุ-ลหุ กาพย์ฉบังที่กวีนิยมใช้ในวรรณกรรมตั้งแต่โบราณคือ กาพย์ฉบัง 16

ประวัติ

[แก้]

คนเรา เคยเชื่อกันว่ากาพย์เป็นคำประพันธ์ที่ดัดแปลงมาจากฉันท์ แต่สำหรับ กาพย์ฉบัง นี้ไม่ปรากฏว่ามาจากฉันท์ชนิดใด และไม่เหมือนกาพย์ชนิดใดในตำรากาพย์ ขณะที่สุจิตต์ วงษ์เทศ ระบุว่ากาพย์ฉบังเป็นฉันทลักษณ์เขมร โดย ฉบัง มีรากจากคำเขมรว่า “จฺบำง” หรือ “จํบำง” (ไทยใช้ว่า จำบัง) แปลว่า รบ, สงคราม แต่กวีเขมรบรรยายฉากสงคราม, เคลื่อนทัพ, สู้รบ ด้วยฉันทลักษณ์ที่เขมรเรียกบทพํโนล(ปุมโนล) แล้วไทยเรียกฉบัง[1]

ในจินดามณีมีข้อความว่า

จ ○○○○○○  ○○○○  ○○○○○○ ฯ 16 ฉบัง
โคลสิงฆฉันท์ ฯ มิได้กำหนด ครุ ลหุ แลนิยมแต่กลอนฟัดกันอย่างกาพย

เมื่อพิจารณากาพย์ตัวอย่างแล้วฉันทลักษณ์ก็คือ กาพย์ฉบัง 16 นั่นเอง[2] ส่วนคำว่า โคลงสิงฆฉันท์ น่าจะเป็นชื่อวรรณกรรมที่ยกมาเป็นตัวอย่าง

นอกจากนี้ในจินดามณี ยังปรากฏรูปแบบกาพย์ฉบังอีก 2 ชนิด[3] จากที่ระบุว่า

๏ ○○○○○○  ○○○○ ○○○○○○○○ ฯ 18
ชื่อฉันทฉบำดำเนอรกลอน 4

และ

๏  ○○○○○○○   ○○○○○    ○○○○○○ ฯ 18
ฉันทฉบำดำเนอรกลอน 5 ฯ

เมื่อพิจารณากาพย์ตัวอย่างแล้วฉันทลักษณ์เป็นกาพย์ฉบัง 18 แต่การจัดวรรคต่างกัน คำว่าดำเนอรกลอน 4 หมายถึงการรับสัมผัสคำที่ 4 ของวรรคที่สอง และดำเนอรกลอน 5 หมายถึงการรับสัมผัสคำที่ 5 ของวรรคที่สองนั่นเอง

ฉันทลักษณ์

[แก้]

กาพย์ฉบัง 16

[แก้]

หนึ่งบทมี 16 คำ 3 วรรค วรรคละ 6 - 4 - 6 คำตามลำดับ บังคับสัมผัสท้ายวรรคแรกกับวรรคที่สอง สัมผัสระหว่างบทส่งจากคำสุดท้ายบทแรก ไปยังคำท้ายวรรคแรกในบทต่อไป ดังตัวอย่าง

๏ นกกดสองสิ่งเสียงหวาน ไก่เถื่อนอันตรกาน
อเนกในไพรสณฑ์
๏ กวักกว่าเปล้าปล่าโจษจล ออกเอี้ยงอลวล
ก็ร้องวางเวงเวหา
๏ ซังแซวเหยี่ยวรุ้งเร้นกา จับจอมพฤกษา
สรหล้ายสรหลมซมกัน
๏ สาลิกาแขกเต้าขานขัน บันลิงลายพรรณ
เพียงพบูมแมนเขียน
มหาชาติคำหลวง กัณฑ์มหาพน

กวีอาจเพิ่มสัมผัสระหว่างวรรคที่ 2 กับวรรคที่ 3 เพื่อเพิ่มความไพเราะก็ได้ ดังตัวอย่าง

๏ เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน เหมือนอย่างนางเชิญ
พระแสงสำอางข้างเคียง
๏ เขาสูงฝูงหงส์ลงเรียง เริงร้องซ้องเสียง
สำเนียงน่าฟังวังเวง
๏ กลางไพรไก่ขันบรรเลง ฟังเสียงเพียงเพลง
ซอเจ้งจำเรียงเวียงวัง
๏ ยูงทองร้องกระโต้งโห่งดัง เพียงฆ้องกลองระฆัง
แตรสังข์กังสะดาลขานเสียง
๏ กะลิงกะลางนางนวลนอนเรียง พระยาลอคลอเคียง
แอ่นเอี้ยงอีโก้งโทงเทง
กาพย์พระไชยสุริยา

กาพย์ฉบัง 18 แบบสัมผัสคำที่ 4

[แก้]

หนึ่งบทมี 18 คำ 3 วรรค วรรคละ 6 - 4 - 8 คำตามลำดับ บังคับสัมผัสท้ายวรรคแรกกับวรรคที่สอง สัมผัสระหว่างบทส่งจากท้ายวรรคแรก ไปยังท้ายวรรคแรกในบทต่อไป ดังตัวอย่าง

๏ เมื่อนั้นเบื้องบั้นเขียวขาว หมอกมัวดินดาว
ครวนชรอ่ำชรอื่อลมฝน
๏ ฟ้าฟื้นหลั่งหล่อโชรชล อับแสงสุริยพล
คะค้ฤนคึกกึกกเกรอกเวหา ฯ
จินดามณี

กาพย์ฉบัง 18 แบบสัมผัสคำที่ 5

[แก้]

หนึ่งบทมี 18 คำ 3 วรรค วรรคละ 7 - 5 - 6 คำตามลำดับ บังคับสัมผัสท้ายวรรคแรกกับวรรคที่สอง สัมผัสระหว่างบทส่งจากท้ายวรรคแรก ไปยังท้ายวรรคแรกในบทต่อไป ดังตัวอย่าง

๏ บัดนั้นอินทราธิบดี ใช้เทพสารถี
ชื่อมาตลีลิลา
๏ เอารถม้าแมนลงมา ถวายสมเด็จราชา
ธิราชกลางรณรงค์
๏ รถนี้รถอินทรบรรยงก์ ตรัสใช้ตูข้าลง
มาถวายสมเด็จราชา ฯ
ราชาพิลาปคำฉันท์

อ้างอิง

[แก้]
  1. สุจิตต์ วงษ์เทศ. กาพย์ฉบัง ฉันทลักษณ์เขมร วรรณคดียุคต้นอยุธยา. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2555.
  2. สุภาพร มากแจ้ง. กวีนิพนธ์ไทย 1. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2535.
  3. ศิลปากร, กรม. จินดามณี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ บรรณาคาร, 2543.


แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]