กากน้ำตาล
กากน้ำตาล (อังกฤษ: molasses, /məˈlæsɪz, moʊ-/, "โมลาส" หรือ black treacle) มีรากศัพท์มาจากคำว่า “melaço” ในภาษาโปรตุเกส[1] กากน้ำตาลเป็นของเหลวลักษณะเหนียวข้นสีน้ำตาลดำ ที่เป็นผลพลอยจากการผลิตน้ำตาลทราย ซึ่งไม่สามารถจะตกผลึกน้ำตาลได้อีก เป็นเนื้อของสิ่งที่ไม่ใช่น้ำตาลที่ละลายปนอยู่ในน้ำอ้อย ซึ่งประกอบด้วยน้ำตาลซูโครส น้ำตาลอินเวิร์ต (invert sugar) และสารเคมี เช่น ปูนขาว ที่ใช้ในการตกตะกอนให้น้ำอ้อยใส[2] กากน้ำตาลมีระดับพลังงานระดับต่ำถึงปานกลางขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำที่มีอยู่ในกากน้ำตาล มีโพแทสเซียม และมีปริมาณน้ำในระดับสูง ทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย กากน้ำตาลแบ่งได้หลายชนิด
ชนิดของกากน้ำตาล
[แก้]- กากน้ำตาลจากอ้อย : เกิดจากกรรมวิธีการผลิตน้ำตาลทรายจากอ้อยโดยเริ่มจากการนำอ้อยเข้าหีบได้น้ำอ้อย กรองเอากากออกจากน้ำอ้อยแล้วเคี่ยวน้ำอ้อยจนได้ผลึกของน้ำตาลทรายตกตะกอนออกมา แยกผลึกน้ำตาลทรายด้วยหม้อปั่น[3] ผลพลอยได้จะมี ขี้ตะกอน กากอ้อย และ กากน้ำตาล
- กากน้ำตาลจากหัวบีท : เป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลจากหัวบีท[4]
- กากน้ำตาลจากส้ม : น้ำตาลที่ได้จากส้มมีกลิ่นและรสต่างจากกากน้ำตาลอ้อย[4]
- กากน้ำตาลจากข้าวโพด : กากน้ำตาลจากข้าวโพด มีน้ำตาลมากกว่า 48 เปอร์เซ็นต์ หวานและหอมกว่าน้ำตาลอ้อย[4]
- กากน้ำตาลจากไม้ : เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมกระดาษ[4]
ประโยชน์และส่วนประกอบของกากน้ำตาล
[แก้]ประโยชน์ของกากน้ำตาลสามารถใช้ได้ในหลายอุตสหกรรมเช่น ใช้ทำปุ๋ย ใช้เลี้ยงสัตว์ใช้ผลิตแอลกอฮอล์ ใช้ในอุตสาหกรรมยีสต์ ใช้ทำผงชูรส และใช้ทำกรดน้ำส้ม แต่ส่วนใหญ่จะใช้ผลิตแอลกอฮอล์ และใช้เป็นอาหารสัตว์[5] สำหรับในประเทศไทยส่วนใหญ่จะใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแอลกอฮอล์สำหรับการผลิตสุรา และการผลิตเอทานอล เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตแก๊สโซฮอล์ นอกจากนี้ ยังใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตผงชูรส อุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมการผลิตยีสต์ ตลอดจนการนำกากน้ำตาลไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมรายย่อยต่าง ๆ เช่น นำกากน้ำตาลไปใช้หมักทำปุ๋ยน้ำ ใช้ทำน้ำสกัดชีวภาพ ใช้เพาะเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อใช้ในฟาร์มกุ้ง ตลอดจนใช้ในการบำบัดน้ำทิ้ง
- เหล้ารัม: เป็นสุรากลั่นที่ผลิตจากวัตถุดิบจำพวกน้ำอ้อย น้ำเชื่อมของน้ำผลไม้และกากน้ำตาล[6]
- เหล้ายิน: หรือ "ไดร์ยิน"[7] โดยการนำกากน้ำตาลที่ทำให้บริสุทธิ์ไปหมักและกลั่น
- น้ำส้มสายชู: ได้จากการหมักกากน้ำตาล
- ซีอิ๊วดำ: ทำจากซีอิ๊วขาวผสมกับกากน้ำตาล แล้วนำไปต้มจนได้ความเข้มข้นพอเหมาะ สามารถนำไปใช้สำหรับปรุงอาหาร[8]
- อาหารสัตว์: กากน้ำตาลใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้องเช่น วัว ควาย แพะ เพราะกากน้ำตาลจะช่วยเพิ่มรสชาติแก่อาหารสัตว์แล้วยังช่วยกระตุ้นการทำงานของบัคเตรีในกระเพาะซึ่งจะช่วยย่อยอาหารหยาบ เช่น ยอดอ้อย ฟางข้าว[5] การใช้กากน้ำตาลเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่ใช้เพื่อเพิ่มความน่ากิน ลดฝุ่นและเพื่อยึดเม็ดอาหารให้แน่นขึ้น หรือใช้เป็นพาหะสำหรับยา[4]
- แอลกอฮอล์: โดยนำเอากากน้ำตาลมาทำให้เจือจางด้วยน้ำแล้วหมักโดยอาศัยเชื้อยีสต์เปลี่ยนน้ำตาลไปเป็นแอลกอฮอล์ จากนั้นก็นำมากลั่นแยกแอลกอฮอล์ออกซึ่งจะได้แอลกอฮอล์ที่มีความบริสุทธ์ประมาณ 95% ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ได้แตกต่างกันไปตามคุณภาพของกากน้ำตาล ตลอดจนกรรมวิธีการผลิตแอลกอฮอล์ของโรงงานนั้น โดยกากน้ำตาลหนัก 1 ตันจะให้แอลกอฮอล์ประมาณ 238-340 ลิตร[9][5]
- ผลิตไฟฟ้า: โดยการย่อยสลายสารอินทรีย์จากกากน้ำตาลในบ่อหมักจะได้ก๊าซชีวภาพออกมา ซึ่งประกอบด้วยก๊าซหลัก ได้แก่ แก๊สมีเทน 65% เป็นก๊าซติดไฟ ให้ความร้อน 9,000 กิโลแคลอรีต่อลูกบาศก์เมตร ร่วมกับคาร์บอนไดออกไซด์ 35% และก๊าซอื่น ๆ เช่น ก๊าซไข่เน่า ก๊าซไนโตรเจน และความชื้น[10]
ส่วนประกอบของกากน้ำตาล[11]
ส่วนประกอบ | เปอร์เซ็นต์ % |
น้ำตาลที่ใช้หมักเชื้อ | 50.1 |
ซูโครส | 36.66 |
น้ำ | 20.65 |
เถ้าซัลเฟต | 15 |
น้ำตาลรีดิวซ์ | 13 |
โพแทสเซียม K2O | 4.19 |
ยางและแป้ง | 3.43 |
แคลเซียม CaO | 1.35 |
แมกนีเซียม MgO | 1.12 |
ไนโตรเจน | 0.95 |
ซิลิกาในรูป SiO2 | 0.46 |
ขี้ผึ้ง | 0.38 |
ฟอสเฟต P2O5 | 0.12 |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Origin of MOLASSES. merriam-webster.
- ↑ ธุรกิจต่อเนื่อง เก็บถาวร 2016-03-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Thai Sugar Mill Group.
- ↑ กระบวนการผลิตน้ำตาลทราย[ลิงก์เสีย]. ไทยชูการ์ มิลเลอร์.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 "เทคนิคอาหารสัตว์เคี้ยวเอี้อง". การผลิตโคนม. คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กรกฎาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2013.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 เกษม สุขสถาน (บ.ก.). "การใช้ประโยชน์น้ำตาล". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 5. guru.sanook.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 มิถุนายน 2013. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2013.
- ↑ กำเนิดเหล้ารัม. uncle tom house.
- ↑ GIN การกำเนิดเหล้ายิน. uncle tom house.
- ↑ ซีอิ๊วดำ. thaicuisinenetwork.
- ↑ กระบวนการผลิตเอทานอล[ลิงก์เสีย] สมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลแห่งประเทศไทย.
- ↑ โรงไฟฟ้า “กากน้ำตาล” บุกบ้านแพ้ว คำถาม-ความกังวลที่ไร้คำตอบ เก็บถาวร 2016-04-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Sakhononline.com.
- ↑ กระบวนการ R-phenylacetylcarbinol ไบโอทรานส์ฟอร์เมชั่นแบบสองเฟสที่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพชนิดเซลล์รวมในสภาวะเขย่า. คณะอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.