ข้ามไปเนื้อหา

กลีบสมอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กลีบสมอง (อังกฤษ: Lobes of the brain) เป็นส่วนหนึ่งของสมอง ในการแบ่งกลีบของสมองในระยะดั้งเดิม เป็นการแบ่งตามลักษณะทางกายวิภาค ซึ่งแสดงถึงความเกี่ยวข้องกับหน้าที่ที่ต่างๆ กันของสมอง เทเลนเซฟาลอน ซึ่งเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของสมองมนุษย์แบ่งออกได้เป็นกลีบต่างๆ เช่นเดียวกันกับสมองส่วนซีรีเบลลัม แต่หากไม่ระบุให้เจาะจงลงไป การแบ่งกลีบของสมองมักหมายถึงการแบ่งกลีบเฉพาะของซีรีบรัม

เทเลนเซฟาลอนแบ่งออกได้เป็น 4 กลีบ ได้แก่

แผนภาพแสดงกลีบของสมอง
  สมองกลีบท้ายทอย (occipital lobe)
  สมองกลีบข้าง (parietal lobe)
  สมองกลีบหน้า (frontal lobe)
  สมองกลีบขมับ (temporal lobe)
  ก้านสมอง (brain stem)
  ซีรีเบลลัม (cerebellum)
  1. สมองกลีบหน้า (Frontal lobe) ทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิด ความเสียหายของสมองส่วนนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอารมณ์
  2. สมองกลีบข้าง (Parietal lobe) ทำหน้าที่สำคัญในการรวบรวมและประมวลข้อมูลความรู้สึกทั้งหลาย และหน้าที่ในการควบคุมวัตถุ ส่วนของสมองกลีบข้างนี้ยังเกี่ยวข้องกับการประมวลภาพและที่ว่าง (visuospatial processing)
  3. สมองกลีบท้ายทอย (Occipital lobe) รับความรู้สึกเกี่ยวกับการมองเห็น การเสื่อมของสมองส่วนนี้ทำให้เห็นภาพหลอน (hallucinations)
  4. สมองกลีบขมับ (Temporal lobe) รับความรู้สึกเกี่ยวกับกลิ่นและเสียง รวมทั้งการประมวลสิ่งกระตุ้นที่ซับซ้อนเช่น ใบหน้า หรือทิวทัศน์

นอกจากนี้ยังมี

  • สมองกลีบอินซูลา (insular lobe) เป็นส่วนของคอร์เท็กซ์ที่อยู่ระหว่างและถูกปกคลุมด้วยสมองกลีบขมับและสมองกลีบข้าง ในบางตำราแยกคอร์เท็กซ์นี้ออกเป็นกลีบหนึ่งของสมอง และบางที่จัดกลุ่มกลีบนี้กับโครงสร้างลิมบิก ที่อยู่ลึกลงไปในสมองในกลีบลิมบิก (limbic lobe)
  • ซีรีเบลลัม (Cerebellum) ทำหน้าที่เชื่อมโยงข้อมูลรับความรู้สึกกับการเคลื่อนไหว ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรักษาร่างกายให้สมดุล ซีรีเบลลัมสามารถแบ่งออกเป็นสมองกลีบหน้า (anterior lobe), กลีบด้านหลัง (posterior lobe), และกลีบฟลอกคูโลโนดูลาร์ (flocculonodular lobe) ในบางครั้งมีการจัดให้ซีรีเบลลัมเป็นกลีบหนึ่งของสมองซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง

กลีบทั้งสี่หรือห้าของเทเลนเซฟาลอนแบ่งออกครึ่งหนึ่งเป็นครึ่งทรงกลม เรียกว่า ซีรีบรัล เฮมิสเฟียร์ข้างซ้ายและขวา (cerebral hemisphere) ครึ่งทรงกลมทั้งสองเชื่อมต่อกันด้วยโครงสร้างที่เรียกว่า คอร์ปัส คาโลซัม (corpus callosum) ทำให้สมองทั้งสองข้างสามารถส่งข้อมูลไปหากันและกันได้ สมองข้างซ้ายจะรับและส่งข้อมูลไปยังข้างขวาของร่างกาย และสมองข้างขวาจะทำหน้าที่เกี่ยวกับร่างกายซีกซ้าย

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]