กระวิน ธรรมพิทักษ์
พันเอก กระวิน ธรรมพิทักษ์ | |
---|---|
ผู้บังคับการกองบินขนส่งทหารบก | |
กัปตันบริษัทเดินอากาศ | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 15 มีนาคม พ.ศ. 2451 จังหวัดฉะเชิงเทรา ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 3 ธันวาคม พ.ศ. 2544 (93 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
เชื้อชาติ | ไทย |
ศาสนา | พระพุทธศาสนา |
คู่สมรส | พวงเพ็ชร เหมนิธิ ทับ เหมนิธิ |
บุตร | 10 คน |
บุพการี |
|
ที่อยู่อาศัย | กรุงเทพมหานคร |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
ยศ | พันเอก เรือเอก จ่าอากาศเอก ร้อยตำรวจเอก |
พันเอก กระวิน ธรรมพิทักษ์ [1] นักบินสายแดงแห่งกรมอากาศยาน นักบินรบแห่งราชนาวีไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา กัปตันยุคแรกของบริษัทเดินอากาศ ผู้บังคับการกองบินขนส่งทหารบก และนักบินประจำตัว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก และอธิบดีกรมตำรวจ
ประวัติ
[แก้]พันเอก กระวิน ธรรมพิทักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2451 ที่อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุตรคนโตของ เต็ก ธรรมพิทักษ์ และ สุดใจ ธรรมพิทักษ์ (ญ.) มีน้องสาว 1 คน คือ ละม่อม พงษ์ศิริ (ญ.) ต่อมาได้สมรสกับ พวงเพ็ชร เหมนิธิ (ญ.) ผู้น้อง และ ทับ เหมนิธิ (ญ.) ผู้พี่ บุตรีของ หลวงนิติการประสิทธิ์ (นวน เหมนิธิ) กับ อิ่ม นิติการประสิทธิ์ (ญ.) , เป็นผู้สืบสายสกุล “ณ ราชสีมา” ชั้น 6 สาย "พระยาภักดีสงคราม (เจ้าเมืองนางรอง)" [2][3]
พันเอก กระวิน มีบุตรธิดา เกิดกับ พวงเพ็ชร เหมนิธิ (ญ.) จำนวน 7 คน และเกิดกับ ทับ เหมนิธิ (ญ.) จำนวน 3 คน รวมทั้งสิ้น 10 คน ดังนี้
- มนู ธรรมพิทักษ์ สมรสกับ เตือนใจ ธรรมพิทักษ์ (ญ.) มีบุตรธิดา 1 คน ได้แก่ น.อ.เมศร์
- ร.อ.กวี ธรรมพิทักษ์
- นาวี ธรรมพิทักษ์ สมรสกับ ประคองทรัพย์ ธรรมพิทักษ์ (ญ.) มีบุตรธิดา 2 คน ได้แก่ บรม , ปวีณา (ญ.)
- สุทัศนีย์ บุรพรัตน์ (ญ.) สมรสกับ ร.ต.ประจวบ บุรพรัตน์ อดีตผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) มีบุตรธิดา 3 คน ได้แก่ นพวรรณ บุญตัน (ญ.) , นันทลี กาญจนะโภคิน (ญ.) , ชลิศา (ญ.)
- วินัย ธรรมพิทักษ์
- สุภาณี เสนะวงษ์ (ญ.) สมรสกับ สุรศักดิ์ เสนะวงษ์ อดีตรองผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีบุตรธิดา 3 คน ได้แก่ สมนัส รอดแช่ม (ญ.) , นพ.ญาโณ , ศศิวิภา อัมพรสิทธิกูล (ญ.)
- วิทยา ธรรมพิทักษ์
- โยธิน ธรรมพิทักษ์ สมรสกับ พัชรินทร์ ธรรมพิทักษ์ (ญ.) มีบุตรธิดา 2 คน ได้แก่ ธนทัต , ธนพล
- สุธีรา คัมภีรญาณนนท์ (ญ.) สมรสกับ พล.อ.อ.ธีร์ศิลป์ คัมภีรญาณนนท์ อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดและสมาชิกวุฒิสภา มีบุตรธิดา 3 คน ได้แก่ น.อ.(พิเศษ) คัมภีร์ , ศักย์ศรณ์ , ธริชยา (ญ.)
- สุกัญญา ธรรมมงคล (ญ.) สมรสกับ สันติ ธรรมมงคล อดีตกรรมการ บริษัท ป.เครือพาณิชย์ จำกัด มีบุตรธิดา 1 คน ได้แก่ พัชราภรณ์ (ญ.)
พันเอก กระวิน ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2544 สิริอายุ 93 ปี 8 เดือน 13 วัน และได้ประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร
การศึกษา
[แก้]- ปี พ.ศ. 2470 ศิษย์การบินชั้นประถม กองโรงเรียนการบิน กรมอากาศยาน
- ปี พ.ศ. 2471 ศิษย์การบินชั้นมัธยม ประจำกองบินใหญ่ที่ 1 กรมอากาศยาน
- ปี พ.ศ. 2480 ได้รับทุนจากกองทัพอากาศเข้าศึกษาโรงเรียนนายเรือ และได้สำเร็จโรงเรียนนายเรือ เหล่านักบินชั้นตรี ในปี พ.ศ. 2482 ระหว่างศึกษา ณ โรงเรียนนายเรือ ได้ศึกษาพิเศษต่างประเทศ ได้แก่
- 23 พ.ค.2480 - 27 ก.ย.2480 ฝึกภาคนักเรียน เรือหลวงแม่กลอง และ เรือหลวงท่าจีน ไปประเทศญี่ปุ่น
- 31 พ.ค.2481 - 14 ก.ค.2481 ฝึกภาคนักเรียน เรือหลวงแม่กลอง ไปประเทศฟิลิปปินส์
- 25 เม.ย.2482 - 11 มิ.ย.2482 ฝึกภาคนักเรียน เรือหลวงแม่กลอง ไปประเทศสิงคโปร์
- ปี พ.ศ. 2485 - 2487 ระหว่างปฏิบัติราชการฉุกเฉินในสงครามมหาเอเชียบูรพาได้ศึกษาวิชาการบินและเครื่องบิน ที่กองทัพอากาศ ประเทศญี่ปุ่น และ กองบินราชนาวี ประเทศญี่ปุ่น
บทบาททางสังคม
[แก้]นักบินรบสายแดงแห่งกรมอากาศยาน
[แก้]พันเอกกระวิน มีความใฝ่ฝันเป็นนักบินตั้งแต่วัยเยาว์ เนื่องจากเกิดในช่วงวิวัฒนาการของการใช้อากาศยาน เมื่ออายุ 6 - 10 ปี ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (28 ก.ค. 2457 – 11 พ.ย. 2461) ซึ่งมีการเร่งพัฒนาและนำอากาศยานมาใช้ประโยชน์ทางทหารอย่างเด่นชัด [4] ผลจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศไทยได้พัฒนากองทัพโดยจัดรูปแบบยุโรป และมีการจัดตั้งกรมอากาศยานขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อพันเอกกระวินจบการศึกษาชั้นสามัญ ได้สมัครเข้าเป็นนายสิบนักบิน โดยเข้าเป็นศิษย์การบินชั้นประถม กองโรงเรียนการบิน กรมอากาศยาน ในปี พ.ศ. 2470 และเป็นศิษย์การบินชั้นมัธยม ประจำกองบินใหญ่ที่ 1 กรมอากาศยาน ในปี พ.ศ. 2471
เมื่อจบการศึกษาได้รับการประดับปีกและสายแดง เป็นนักบินรบของกรมอากาศยาน กองทัพบก และได้เข้าประจำการเป็นนักบินประจำกองบินใหญ่ที่ 1 กรมอากาศยาน (ยศสิบตรี) ในปี พ.ศ. 2472 , เป็นนักบินประจำ หมวดบินที่ 2 ฝูงศึกษา กองบินน้อยที่ 1 กรมอากาศยาน (ยศสิบโท) ในปี พ.ศ. 2473 และขึ้นเป็นผู้บังคับหมู่บิน หมวดบินที่ 2 ฝูงบินที่ 3 กองบินน้อยที่ 2 กรมอากาศยาน (ยศสิบเอก) ในปี พ.ศ. 2476
นักบินรบแห่งราชนาวีไทย เข้าร่วมรบในสงครามมหาเอเชียบูรพา
[แก้]ต่อมากองทัพเรือได้ริเริ่มแนวคิดจัดตั้งหมวดบินทะเล เพื่อสนับสนุนการรบทางทะเลขึ้น มีการเตรียมการจัดซื้อเครื่องบินทะเลแบบ วาตานาเบ้ (Watanabe WS-103S Siam Navy Reconnaissance Seaplane) จำนวน 6 เครื่อง จากญี่ปุ่น เพื่อใช้ประจำบนเรือรบที่สั่งต่อจากญี่ปุ่น ประกอบด้วย เรือหลวงแม่กลอง และเรือหลวงท่าจีน และส่วนหนึ่งประจำการ ณ อ่าวสัตหีบ [5][6][7] สิบเอกกระวินได้ถูกวางตัวเป็นนักบินของฝูงบินทะเลใหม่ที่จะเกิดขึ้น จึงถูกโอนไปรับยศจ่าอากาศเอกและรับทุนจากกองทัพอากาศ เข้าศึกษาโรงเรียนนายเรือ ในปี พ.ศ. 2479 โดยสำเร็จการศึกษาโรงเรียนนายเรือ เหล่านักบินชั้นตรี และได้ถูกบรรจุเป็นว่าที่นายเรือตรี ตำแหน่งนักบินและผู้ตรวจการณ์ประจำหมวดบินทะเล กองเรือรบ ในปี พ.ศ. 2482
ก่อนหน้านั้น จักรวรรดิญี่ปุ่นได้ประกาศนโยบาย "การจัดระเบียบใหม่ในเอเชียตะวันออกและการสร้างวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา" (อังกฤษ: New order in East Asia and the Greater East Asia Co-Prosperity Sphere) และต่อมาได้เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรัฐบาลไทยได้ลงนามเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับประเทศญี่ปุ่น โดยในปี พ.ศ. 2484 นายเรือโทกระวิน ซึ่งดำรงตำแหน่ง นักบินลองเครื่องหมวดบินทะเล กองเรือรบ ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติราชการทัพในคราวกรณีฉุกเฉินเข้าร่วมสงครามมหาเอเชียบูรพา ในตำแหน่งผู้บังคับฝูงบิน 3 และได้ศึกษาวิชาการบินและเครื่องบิน ที่กองทัพอากาศญี่ปุ่น และ กองบินราชนาวีญี่ปุ่น ระหว่างปฏิบัติราชการสงคราม ระหว่างปี พ.ศ. 2485 - 2487 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะยุติลงใน ปี.พ.ศ. 2488 โดยฝ่ายอักษะเป็นฝ่ายแพ้สงคราม
นายเรือโทกระวิน ได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ สงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2484 [8] และได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นนายเรือเอก เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2487
กัปตันยุคแรกของบริษัทเดินอากาศ
[แก้]วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2490 คณะรัฐมนตรีซึ่งมีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติอนุมัติแผนงานการบินพาณิชย์ของกระทรวงคมนาคม ให้ดำเนินงานโดยจัดตั้งในรูปของ บริษัท เดินอากาศ จำกัด (อังกฤษ: Siamese Airways Co.,Ltd.) โดยรับโอนกิจการบินพาณิชย์ จากกองทัพอากาศมาดำเนินงานต่อ นายเรือเอกกระวิน ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บังคับฝูงบิน 3 ในขณะนั้น ด้วยอุปนิสัยซึ่งเป็นคนฉลาด เรียนหนังสือเก่ง ไม่ยอมคน มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง ได้ตัดสินใจลาออกจากกองทัพเรือ เนื่องจากมีปัญหากับผู้บังคับบัญชา ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2490 [9] และสมัครเข้าเป็นกัปตันบริษัทเดินอากาศ นายเรือเอกกระวินเป็นกัปตันที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น อาจด้วยรูปสมบัติและฝีมือด้านการบิน การโดยสารเครื่องบินในประเทศไทยในยุคนั้นถือเป็นยุคเริ่มแรกยังไม่แพร่หลาย และมีราคาค่าโดยสารค่อนข้างสูง มีกลุ่มผู้โดยสารเฉพาะกลุ่ม ผู้โดยสารสมัยนั้นจะนิยมเดินทางโดยเครื่องบินที่มีนายเรือเอกกระวินเป็นกัปตัน [10]
นักบินประจำตัวจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
[แก้]ความสามารถด้านการบินของ นายเรือเอกกระวิน ได้กลายเป็นที่โจษจัน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้ชักชวนนายเรือเอกกระวิน ให้ลาออกเพื่อมาทำหน้าที่นักบินประจำตัว โดยนายเรือเอกกระวินได้ตัดสินใจลาออกจากบริษัทเดินอากาศ ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ก่อนที่จอมพลสฤษดิ์ ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะทำรัฐประหารในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ขึ้นครองอำนาจอยู่เบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาล และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเองในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ตลอดระยะเวลาที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นครองอำนาจและดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก และอธิบดีกรมตำรวจ ร้อยตำรวจเอกกระวิน หรือต่อมาคือ พันตรีกระวิน จะเป็นผู้ทำหน้าที่นักบินประจำตัว จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ได้ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2506
ด้วยการสนับสนุนของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายเรือเอกกระวิน ได้กลับมารับราชการอีกครั้งในปี พ.ศ. 2499 ได้รับยศร้อยตำรวจเอก สังกัดกรมตำรวจสอบสวนกลาง (หน้าที่ทางอากาศ) ก่อนขึ้นดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับการบินลำเลียง ฝ่ายสนับสนุนตำรวจตระเวนชายแดน กองบัญชาการตำรวจภูธร ในปี พ.ศ. 2503 และได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งรักษาราชการ รองผู้บังคับการกองบินขนส่งทหารบก ในปี พ.ศ. 2504 ก่อนขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองบินทหารบกจนเกษียนอายุราชการ
เปิดสถานีบริการน้ำมันตรา 3 ทหาร
[แก้]ในปี พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้ยกเลิกข้อผูกพันที่ทำไวักับบริษัทต่างชาติ และตั้งองค์การเชื้อเพลิง เป็นรัฐวิสาหกิจใน ปี พ.ศ. 2503 โดยใช้สัญลักษณ์ 3 ทหาร เพื่อดำเนินธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน จัดหา และกลั่นน้ำมัน [11] ทันทีที่มีการจัดตั้งองค์การเชื้อเพลิง ในปี พ.ศ. 2503 ร้อยตำรวจเอกกระวิน ได้เปิดสถานีบริการน้ำมันตรา 3 ทหาร บริเวณริมถนนพหลโยธิน ตรงข้ามซอยอารีย์สัมพันธ์ ซึ่งเป็นบ้านพักอาศัย (หน้าสำนักงานเขตพญาไท ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้กับครอบครัวเป็นอย่างมาก ด้วยรายได้จากการเป็นกัปตันบริษัทเดินอากาศและทำธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน จึงสามารถส่งเสียบุตรธิดาทั้ง 10 คน ให้ได้รับการศึกษาในต่างประเทศทั้งหมด
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2511 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[12]
- พ.ศ. 2509 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)[13]
- พ.ศ. 2484 – เหรียญชัยสมรภูมิ สงครามอินโดจีน (ช.ส.)[14]
- พ.ศ. 2508 – เหรียญชัยสมรภูมิ สงครามมหาเอเชียบูรพา (ช.ส.)[15]
- พ.ศ. 2478 – เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (พ.ร.ธ.)
- พ.ศ. 2486 – เหรียญช่วยราชการเขตภายใน การรบสงครามมหาเอเชียบูรพา (ช.ร.)[16]
- พ.ศ. 2505 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)[17]
- พ.ศ. 2485 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)[18]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ งานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก กระวิน ธรรมพิทักษ์ , พ.ย.2546
- ↑ กรมศิลปากร, จดหมายเหตุนครราชสีมา 11 กันยายน พ.ศ. 2497, พิมพ์สนองคุณ เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) และ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินท์ ณ ราชสีมา), กรุงเทพฯ: ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ม.ป.ป.)
- ↑ ต้นสกุล ณ ราชสีมา ย้อนเรื่อง เมืองโคราช
- ↑ อากาศยานปีกตรึงมีการใช้ในทางทหารครั้งแรกโดยอิตาลีในลิเบียเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ระหว่างสงครามอิตาลี-ตุรกีเพื่อการลาดตระเวน ตามมาด้วยการทิ้งระเบิดมือและการถ่ายภาพทางอากาศในปีต่อมา เมื่อถึง พ.ศ. 2457 ประโยชน์ใช้สอยทางทหารของอากาศยานนั้นปรากฏชัดขึ้น อากาศยานนำมาใช้เพื่อการลาดตระเวนและโจมตีภาคพื้นดิน ในการยิงเครื่องบินฝ่ายข้าศึก มีการพัฒนาปืนต่อสู้อากาศยาน เครื่องบินขับไล่ เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ โดยเยอรมนีและอังกฤษ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ใกล้ยุติ เรือบรรทุกเครื่องบินจึงได้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก
- ↑ "ประวัติหน่วยงานกองการบินทหารเรือ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2020-05-17.
- ↑ เครื่องบินทะเลแบบ "วาตานาเบ้" เรือบินลำแรกของราชนาวีไทย
- ↑ กองทัพเรือ ทำพิธีรับมอบเครื่องบินทะเล แท่นคู่ แบบ วาตานาเบ จำนวน 6 เครื่อง (กองทัพเรือญี่ปุ่น บันทึกในหนังสือคู่มืออากาศยาน ว่า ชื่อ WS-103S SIAM NAVY RECONNAISSANCE SEAPLANE ได้รับการสร้างออกมาเพียง 7 เครื่อง ) ที่กรุงเทพ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2481 ซึ่งนับเป็นเครื่องบินแบบแรกของราชนาวีไทย กองทัพเรือกำหนดชื่อเรียกว่า “บ.รน.1” (เครื่องบินราชนาวี 1)
- ↑ มีนักบินแห่งราชนาวีไทยได้รับพระราชทาน รวมทั้งสิ้น 9 นาย ได้แก่ นายนาวาตรีประพันธ์ เกษเสถียร , นายเรือเอก อุทัย หงษ์โสภณ , นายเรือเอก สำอาง ศิริศฤงฆาร, นายเรือเอก ทวี พุทธินันทน์ , นายเรือเอก กระวิน ธรรมพิทักษ์ , นายเรือโท จินต์ จุลชาต, นายเรือตรี จำลอง ขันธหิรัญ , นายเรือตรี บุญเรือง ดิษฐประสบ และ นายเรือตรี สงวน รัตนรุ่งเรือง
- ↑ อ้างแล้ว หน้า 5
- ↑ อ้างแล้ว หน้า 5
- ↑ ปั๊ม 3 ทหาร
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๕ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๐๓, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๓ ตอนที่ ๑๑๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๘๔, ๑๙ ธันวาคม ๒๕๐๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๗๑๖, ๓๐ สิงหาคม ๒๔๘๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ, เล่ม ๘๒ ตอนที่ ๙๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๕, ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เหรียญช่วยราชการเขตภายใน เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๔๓ ง หน้า ๒๖๑๕, ๑๗ สิงหาคม ๒๔๘๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน, เล่ม ๗๙ ตอนที่ ๔๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๓, ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๐๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๕๙ ตอนที่ ๖๑ ง หน้า ๒๔๓๘, ๑๘ กันยายน ๒๔๘๕
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2451
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2544
- ทหารบกชาวไทย
- ทหารเรือชาวไทย
- ทหารอากาศชาวไทย
- ตำรวจชาวไทย
- พันเอกชาวไทย
- เรือเอก
- ทหารชาวไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง
- นักบินชาวไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง
- นักบินในสงครามโลกครั้งที่สอง
- นักบินนาวีชาวไทย
- นักบินทหารบก
- นักบินชาวไทย
- พุทธศาสนิกชนชาวไทย
- บุคคลจากอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต.ม.
- ผู้ได้รับเหรียญชัยสมรภูมิ
- ผู้ได้รับเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
- ผู้ได้รับเหรียญช่วยราชการเขตภายใน
- ผู้ได้รับเหรียญราชการชายแดน
- ผู้ได้รับเหรียญจักรมาลา