กรมปรึกษาชาติชั้นสูง
กรมปรึกษาชาติชั้นสูง (เขมร: ក្រុមប្រឹក្សាជាតិជាន់ខ្ពស់ กฺรุมบฺรึกฺสาชาติชาน̍ขฺพส̍; อังกฤษ: Supreme National Council: SNC) เป็นความร่วมมือที่เกิดจากผู้นำกัมพูชาทั้งสี่ฝ่ายเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนกัมพูชาในสหประชาชาติชั่วคราวจนกว่าการเลือกตั้งในกัมพูชาจะเสร็จสิ้น การประชุมของกรมปรึกษาชาติชั้นสูงเกิดขึ้นครั้งแรกในกรุงเทพฯเมื่อ 17 กันยายน พ.ศ. 2533 ที่สถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาในประเทศไทย[1] สมาชิกมี 12 คน ประกอบด้วย ฝ่ายรัฐบาลพนมเปญ 6 คน คือ ฮุน เซน, กง ซัมโบล, ฮอร์ นัมฮง, สิน สอง, เตีย บัญ, และเจียม สงวน ฝ่ายฟุนซินเปก 2 คนคือ พระนโรดม รณฤทธิ์ และแสง โกศล ฝ่ายแนวร่วมปลดปล่อยฯ 2 คนคือ ซอน ซาน และเอียง เมาลี ฝ่ายเขมรแดง 2 คนคือ เขียว สัมพัน และซอน เซน[1]
ประธานกรมปรึกษาชาติชั้นสูง คือ สมเด็จพระนโรดม สีหนุ ตามมติจากการประชุมเมื่อ 24-26 มิถุนายน พ.ศ. 2534 ทุกฝ่ายยอมรับธงชาติและเพลงชาติของกรมปรึกษาชาติชั้นสูงว่าเป็นธงชาติและเพลงชาติของกัมพูชา แต่กัมพูชาทุกฝ่ายยังคงใช้ธงชาติและเพลงชาติของตนได้จนกว่าจะเลือกตั้ง ทุกฝ่ายตกลงหยุดยิงและหยุดรับความช่วยเหลือด้านอาวุธจากต่างชาติตั้งแต่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2534 สำนักงานใหญ่ของกรมปรึกษาชาติชั้นสูงอยู่ในกรุงพนมเปญ แต่ในระหว่างที่สำนักงานใหญ่ยังสร้างไม่เสร็จให้ใช้สถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาในประเทศไทยเป็นสถานที่ในการประชุม กรมปรึกษาชาติชั้นสูงยังมีหน้าที่ร่างกฎหมายเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญใหม่ของกัมพูชา
หลังจากลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่กรุงปารีสเมื่อ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2534 พระนโรดม สีหนุได้เสด็จนิวัตพนมเปญในฐานะประธานกรมปรึกษาชาติชั้นสูงเมื่อ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 และได้มีหลายประเทศเปิดสถานทูตเพื่อสร้างสัมพันธไมตรีกับกรมปรึกษาชาติชั้นสูง[2]