ข้ามไปเนื้อหา

ฉบับร่าง:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
Department of Marine and Coastal Resources
ภาพรวมกรม
ก่อตั้ง3 ตุลาคม พ.ศ. 2545; 22 ปีก่อน (2545-10-03)
ประเภทส่วนราชการ
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่เลขที่ 120 หมู่ 3 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
บุคลากร1,583 คน (พ.ศ. 2566)
งบประมาณต่อปี1,839,927,800 บาท
(พ.ศ. 2568)[1]
ฝ่ายบริหารกรม
  • ปิ่นสักก์ สุรัสวดี, อธิบดี
  • เผด็จ ลายทอง, รองอธิบดี
  • ว่าง, รองอธิบดี
ต้นสังกัดกรมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เว็บไซต์เว็บไซต์ของกรม

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อังกฤษ: Department of Marine and Coastal Resources; DMCR) หรือชื่อย่อ ทช. เป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อความมั่งคั่ง สมดุล และยั่งยืนของทะเลไทยเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

ประวัติ

[แก้]

จากพัฒนาของประเทศในด้านต่างๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา เช่น การทำประมง อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การพัฒนาแหล่งชุมชนและอื่นๆ ทำให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมาก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อความเสื่อมโทรมของทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการใช้ที่ดินชายฝั่งทะเลมากจนเกิดความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ และมีการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอย่างรุนแรง พื้นที่ป่าชายเลน ลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากการบุกรุกและเปลี่ยนแปลงสภาพเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ แหล่งปะการังและหญ้าทะเล อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเช่นกัน ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ลดลงอย่างมาก ประกอบกับสภาพแวดล้อมของแหล่งน้ำเสื่อมโทรม ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต และขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ

ตระหนักว่าการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอดีตที่ผ่านมา ยังไม่มีเอกภาพ ขาดการบูรณาการและไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง หรือมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ จึงได้มีการปฏิรูประบบราชการและมีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545[2] กำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่เกี่ยวกับอนุรักษ์ และพื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรวมทั้งประกาศใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน หมวด 9 หมวด 22 และ 23 จัดตั้งหน่วยงานภายใต้กระทรวงอีก 10 หน่วยงาน โดยมีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อยู่ในลำดับที่ 4 เป็นรวมงานที่เกี่ยวข้องในด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จากกรมประมง กรมป่าไม้ และกรมพัฒนาที่ดิน ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาอยู่ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม[3]

ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ดำเนินงานตามภารกิจ เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล และตอบสนองต่อความต้องการของภาคประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ มีการเร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้กับประชาชน มุ่งการดำเนินงานเพื่อการสงวนอนุรักษ์ รักษา และป้องกันทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อประโยชน์ของชุมชน สังคม และประเทศชาติ อีกทั้งจะพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและทันต่อสาธารณการณ์ปัจจุบัน

อำนาจและหน้าที่

[แก้]

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้[4]

  1. เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำนโยบายและแผนเพื่อการบริหารจัดการการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
  2. เสนอให้มีการปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมกฎ ระเบียบ และมาตรการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ฟื้นฟู การจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน
  3. กำกับดูแล ประเมิน และติดตามตรวจสอบการอนุรักษ์ การฟื้นฟู การจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการป้องกันการกัดเซาะทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ และมาตรการที่เกี่ยวข้อง
  4. ศึกษา วิจัย และพัฒนาการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งพืชและสัตว์ทะเลที่หายากและใกล้สูญพันธ์ุ
  5. เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณากำหนดพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ พื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และพื้นที่ที่จะใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเพื่อประโยชน์ในการสงวน อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
  6. ส่งเสริมการมีส่วนรวมและสนับสนุนประชาชน ชุมชน ชายฝั่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบริหารจัดการการปลูก การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
  7. เป็นศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศ
  8. ประสานความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศและต่างประเทศในด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
  9. ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และมอบอำนาจของกรมหรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

หน่วยงานในสังกัด

[แก้]

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีการแบ่งส่วนราชการตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563 ดังต่อไปนี้[5]

  • กลุ่มตรวจสอบภายใน
  • กลุ่มพัฒนาระบบราชการ
  • กลุ่มปฏิบัติราชการประจำ ศรชล.
  • กลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรม

ทำเนียบอธิบดี

[แก้]
อธิบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ปลอดประสพ สุรัสวดี (รักษาการ) 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 – 21 ตุลาคม พ.ศ. 2545
2. ไมตรี ดวงสวัสดิ์ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 – 30 กันยายน พ.ศ. 2549
3. นิศากร โฆษิตรัตน์ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2549 – 30 กันยายน พ.ศ. 2551
4. สำราญ รักชาติ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 – 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552
5. วิชาญ ทวิชัย 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552 – 30 กันยายน พ.ศ. 2552
6. (1) จตุพร บุรุษพัฒน์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 – 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552
7. อดิศักดิ์ ทองไข่มุกต์ 28 เมษายน พ.ศ. 2553 – 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553
8. เกษมสันต์ จิณณวาโส 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553 – 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554
9. บุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 – 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555
10. นพพร ศรีสุข 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555 – 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
11. ชลธิศ สุรัสวดี 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 – 18 ตุลาคม พ.ศ. 2558
12. สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558 – 30 กันยายน พ.ศ. 2560
6. (2) จตุพร บุรุษพัฒน์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 – 30 กันยายน พ.ศ. 2562
13. โสภณ ทองดี 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 – 30 กันยายน พ.ศ. 2565
14. อรรถพล เจริญชันษา 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 – 30 กันยายน พ.ศ. 2566
15. ปิ่นสักก์ สุรัสวดี 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 – ปัจจุบัน

อ้างอิง

[แก้]