กกขนาก
กกขนาก | |
---|---|
กกขนาก | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
หมวด: | Magnoliophyta |
ชั้น: | Monocotyledoneae |
อันดับ: | Poales |
วงศ์: | Cyperaceae |
สกุล: | Cyperus |
สปีชีส์: | Cyperus difformis |
ชื่อทวินาม | |
Cyperus difformis (L., 1756) |
กกขนาก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cyperus difformis) เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวอยู่ในวงศ์กก เป็นพืชจำพวกไม้ล้มลุก มีอายุไม่เกินหนึ่งปี ขึ้นเป็นกอสูง 10-70 เซนติเมตร ลักษณะลำต้นเป็นเหลี่ยมมีผิวเกลี้ยง มีสันชัดเจน กาบใบเรียงซ้อนกันที่โคนกอ ใบของกกขนากมีรูปขอบขนานแคบ ปลายแหลมยาว 10-20 เซนติเมตร กว้าง 2-6 เซนติเมตร ไม่แยกเป็นก้านใบและแผ่นใบ ดอกออกเป็นช่อแน่นกลมคล้ายร่มที่ซ้อนกัน ออกดอกตลอดปี ช่อดอกย่อยจำนวนมากรวมกันเป็นกระจุก ก้านชูดอกสูง 30-40 เซนติเมตร บริเวณปลายก้านกาบช่อย่อยเป็นแผ่นเยื่อบางสีน้ำตาล รูปรี มีเกสรเพศผู้ 3 อัน ผลของกกขนาดมีสีเหลืองแกมเขียว มีลักษณะเป็นผลแห้ง เมื่อแก่แล้วจะไม่แตก มีขนาดเล็กและเป็นรูปรีหรือรูปไข่กลับ ใช้เมล็ดในการแพร่พันธุ์[1][2]
กกขนากพบได้ในเขตร้อนและเขตเส้นศูนย์สูตรของทวีปเอเชีย นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งมักขึ้นในนาข้าวและตามแหล่งน้ำทั่วไป โดยเฉพาะในดินชื้นแฉะในนาหว่านน้ำตม นาดำและนาหว่านข้าวแห้ง ชอบขึ้นในที่ชื้นแต่ไม่งอกใต้น้ำ[1][3] กกขนากที่งอกออกมาใหม่ จะมีลักษณะเหมือนปลายมีดแหลมโผล่ขึ้นจากผิวดินและมีสีเขียวอ่อน งอกขึ้นแข่งต้นข้าวได้อย่างรุนแรง เพราะต้นจะสูงกว่าและมีอายุสั้น อาจทำให้ต้นข้าวล้มและผลผลิตลดลงได้ จากการทดลองพบว่า กกขนาก 100 ต้นต่อตารางเมตร จะทำให้ผลผลิตข้าวลดลง 49-84 % แต่ถ้ามีถึง 300 ต้นต่อตารางเมตร จะทำให้ผลผลิตลดลงถึง 57-90% นอกจากนี้ความเสียหายจะเพิ่มมากขึ้น หากดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง[4]
การป้องกันและการกำจัด
[แก้]กกขนากถือว่าเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อขึ้นในพื้นที่ใช้ประโยชน์ เช่น นาข้าว อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ต้นข้าวได้ ดังนั้นจึงต้องมีการป้องกันและกำจัดกกขนากด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้[3]
- ล่อให้กกขนากงอก โดยไขน้ำเข้านาแล้วขังไว้ 3 วัน ต่อมาจึงระบายน้ำออกทิ้งไว้ในสภาพดินชื้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ ต้นกกขนากจะงอกขึ้นมาจำนวนมาก จากนั้นให้ไถกลบทำลาย และเตรียมดินใหม่โดยทำให้ดินเรียบสม่ำเสมอ แล้วเอาน้ำเข้านา (หลังหว่านข้าวแล้วงอก 7 วัน) โดยขังน้ำสูงจากพื้นให้มากกว่า 2 เซนติเมตร ระดับน้ำจะควบคุมไม่ให้กกขนากงอกออกขึ้นมาได้ แต่ต้นที่งอกออกมาก่อนหน้าการขังน้ำจะสามารถเจริญเติบโตต่อได้
- ระดับน้ำที่ท่วมยอดกกขนากจะทำให้ต้นเน่าตายได้
- การหว่านข้าวให้สม่ำเสมอไม่ปล่อยให้มีที่ว่าง จะช่วยควบคุมจำนวนกกขนากได้
- การใช้สารกำจัดวัชพืช ซึ่งมี 2 แบบ ได้แก่ ใช้ก่อนวัชพืชงอก เช่น เพรททิลาคลอร์, บิวทาคลอร์, เบเฟนอกซ์, ธิโอเบนคาร์บ เป็นต้น และแบบใช้หลังวัชพืชงอกแล้ว เช่น บีสไพริแบก-โซเดียม, โพรพานิล, ไพราโซซัลฟูรอน-เอทธิล เป็นต้น
- การกำจัดโดยการถอนด้วยมือ ให้ทำในช่วงที่กกขนากกำลังแตกกอ[4]
ชื่อพ้องและชื่อท้องถิ่น
[แก้]กกขนากมีชื่อพ้องหลายชื่อ[5] รวมถึงในประเทศไทยมีการเรียกชื่อแตกต่างกันในแต่ละที่[4] ดังนี้
- ชื่อพ้อง
- Cyperus difformis var. breviglobosus (Kük., 1936)
- Cyperus difformis forma humilis (Debeaux, 1876)
- Cyperus difformis forma maximus (C.B.Clarke, 1884)
- Cyperus difformis var. subdecompositus (Kük., 1936)
- Cyperus goeringii (Steud., 1854)
- Cyperus holoschoenoides (Jan ex Schult., 1824)
- Cyperus lateriflorus (Torr., 1858)
- Cyperus oryzetorum (Steud., 1854)
- Cyperus protractus (Link, 1821)
- Cyperus subrotundus (Llanos, 1851)
- Cyperus viridis (Willd. ex Kunth, 1837)
- ชื่อท้องถิ่น
- ดอกต่อ - ภาคเหนือ
- หญ้าขนหมู - ภาคเหนือ
- ผือน้อย - ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 กกขนาก เก็บถาวร 2011-05-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากระบบสืบค้นฐานข้อมูลพรรณไม้องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สืบค้นวันที่ 20 พฤศจิกายน 2553
- ↑ กกขนาก เก็บถาวร 2017-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน องค์ความรู้เรื่องข้าว จากเว็บไซต์สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สืบค้นวันที่ 20 พฤศจิกายน 2553
- ↑ 3.0 3.1 วัชพืชในนาข้าว - กกขนาก เก็บถาวร 2010-08-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน องค์ความรู้เรื่องข้าว จากเว็บไซต์กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สืบค้นวันที่ 20 พฤศจิกายน 2553
- ↑ 4.0 4.1 4.2 กกขนาก - ศัตรูพืชและการกำจัด เก็บถาวร 2009-04-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สืบค้นวันที่ 20 พฤศจิกายน 2553
- ↑ Species details จาก Catalogue of Life, สืบค้นวันที่ 20 พฤศจิกายน 2553 (อังกฤษ)