ข้ามไปเนื้อหา

การตีโฉบฉวยวัดซ้าเหล่ย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Xá Lợi Pagoda raids)
การบุกรุกโจมตีวัดซ้าเหล่ย
เป็นส่วนหนึ่งของ วิกฤตการณ์ชาวพุทธในสงครามเวียดนาม
วัดซ้าเหล่ย จุดศูนย์กลางของการโจมตีในครั้งนี้
สถานที่วัดพุทธหลายแห่งทั่วประเทศเวียดนามใต้ โดยเฉพาะที่วัดซ้าเหล่ยในไซ่ง่อน
วันที่21 สิงหาคม 1963
เป้าหมายผู้ประท้วงชาวพุทธ
ประเภทกราดยิง, ทุบตี, ทำลายถาวรวัตถุ
ตายมีการคาดการณ์ว่ามากถึงหลักร้อยคน
เจ็บหลักร้อยคน
ผู้ก่อเหตุกองกำลังพิเศษกองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม นำโดยโง ดิ่ญ ญู

การตีโฉบฉวยวัดซ้าเหล่ย (อังกฤษ: Xá Lợi Pagoda raids) เป็นชุดปฏิบัติการณ์โจมตีวัดพุทธจำนวนมากในเมืองหลักของเวียดนามใต้หลังเที่ยงคืนของวันที่ 21 สิงหาคม 1963 โดยกองกำลังพิเศษกองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม ภายใต้การนำของ เล กวาง ตุง ร่วมกับตำรวจ ทั้งหมดภายใต้คำสังโดยตรงจากโง ดิ่ญ ญู น้องชายของประธานาธิบดีเวียดนามใต้ โง ดิญ เสี่ยม วัดซ้าเหล่ย (Xá Lợi Pagoda) ซึ่งเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ เป็นหนึ่งในวัดที่สำคัญที่สุดที่ถูกโจมตีในครั้งนี้ มีชาวพุทธมากกว่า 1,400 คนถูกจับกุม และมีการคาดการณ์ยอดผู้เสียชีวิตและสูญหายหลักร้อยคน ประชากรชาวพุทธซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ของเวียดนามใต้ทำการประท้วงและดื้อแพ่งต่อรัฐบาลของเสี่ยมซึ่งบังคับใช้นโยบายที่มีความโน้มเอียงต่อต้านศาสนาพุทธ, ก่อการการกราดยิงในวันวิสาขบูชาที่เมืองเว้ และนโยบายบังคับห้ามแขวนธงฉัพพรรณรังสี การประท้วงของชาวพุทธมีอยู่ตามวัดสำคัญต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่วัดซ้าเหล่ยแห่งนี้

ในเดือนสิงหาคม เจ้าหน้าที่ของกองทัพบกสาธารณรัฐเวียดนาม (ARVN) เสนอการบังคับใช้กฏอัยการศึกเพื่อสลายการชุมนุมและเพื่อเป็นการเตรียมการก่อการรัฐประหาร ญู ซึ่งในตอนนั้นพร้อมที่จะทำการจับกุมและบดขยี้ผู้ประท้วง ใช้โอกาสนี้ในการฉวยโอกาสและสร้างความอับอายแก่บรรดานายพล เขามอบหมายให้กองทัพพิเศษของตุง สวมเครื่องแบบกองทัพบกและเข้าโจมตีชาวพุทธ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปและพันธมิตรสหรัฐกล่าวโทษว่าการโจมตีนี้มาจากกองทัพบก ซึ่งจะช่วยลดทอนอำนาจและโอกาสในอนาคตของบรรดานายพลในกองทัพบกที่วางแผนรัฐประหารอยู่

ไม่นานหลังเที่ยงคืนของวันที่ 21 สิงหาคม กองกำลังพิเศษของญูบุกเข้าโจมตีวัดพุทธในเมืองใหญ่ทั่วประเทศโดยใช้ปืนกลอัตโนมัติ ระเบิดมือ ไม้ตะบอง และวัตถุระเบิดอื่น ๆ ทำให้เกิดความเสียหายไปทั่ว ถาวรวัตถุบางส่วนถูกทำลาย เช่น พระพุทธรูปในวัดทู่ดัมในเมืองเว้ วัตถุมีค่าของบางวัดถูกปล้นไป รวมถึงพระสรีรังคารและพระธาตุของพระสงฆ์ที่ได้รับความเคารพนับถือสูง ในเมืองเว้ เกิดการปะทะไปถึงบนท้องถนนระหว่างพลเมืองกับกองกำลังของรัฐบาล

พี่น้องตระกูลโงกล่าวโทษว่ากองทัพบกเป็นผู้ก่อการโจมตี ซึ่งในตอนแรกสหรัฐเชื่อเช่นนั้น ก่อนที่ต่อมาความจริงจะถูกเปิดเผย และทำให้สหรัฐหันหลังให้แก่รัฐบาลของเสี่ยมและวางแผนหาผู้นำรัฐบาลคนใหม่มาแทน ทั้งหมดนำไปสู่การรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน การโจมตีครั้งนี้ยังสร้างความโกรธเคืองไปทั่วในหมู่ประชาชน ซึ่งหลังจาเหตุการณ์ทำให้ข้าราชการระดับสูงหลายคนต้องลาออกจากตำแหน่ง และบรรดานักเรียนนักศึกษาบางส่วนยังประท้วงหยุดเรียนและจัดการชุมนุม ซึ่งนำไปสู่การจับกุมผู้ผระท้วงครั้งใหญ่เพิ่มเติมอีก เนื่องจากนักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ซึ่งออกมาประท้วงและถูกจับกุมนั้นมาจากครอบครัวชนชั้นกลางที่รับข้าราชการหรือเป็นสมาชิกในกองทัพ การจับกุมนี้ยิ่งมีผลร้ายต่อฐานเสียงเดิมของตระกูลโงมากยิ่งขึ้นไปอีก

อ้างอิง

[แก้]
  • Buttinger, Joseph (1967). Vietnam: A Dragon Embattled. New York City, New York: Praeger.
  • Dommen, Arthur J. (2001). The Indochinese Experience of the French and the Americans: Nationalism and Communism in Cambodia, Laos, and Vietnam. Bloomington, Indiana: Indiana University Press. ISBN 0-253-33854-9.
  • Fall, Bernard B. (1963). The Two Viet-Nams. London: Praeger.
  • Gettleman, Marvin E. (1966). Vietnam: History, documents and opinions on a major world crisis. Harmondsworth, Middlesex: Penguin Books.
  • Halberstam, David; Singal, Daniel J. (2008). The Making of a Quagmire: America and Vietnam during the Kennedy Era. Lanham, Maryland: Rowman & Littlefield. ISBN 978-0-7425-6007-9.
  • Hammer, Ellen J. (1987). A Death in November: America in Vietnam, 1963. New York City: E.P. Dutton. ISBN 0-525-24210-4.
  • Jacobs, Seth (2006). Cold War Mandarin: Ngo Dinh Diem and the Origins of America's War in Vietnam, 1950–1963. Lanham, Maryland: Rowman & Littlefield. ISBN 0-7425-4447-8.
  • Jones, Howard (2003). Death of a Generation: how the assassinations of Diem and JFK prolonged the Vietnam War. New York City: Oxford University Press. ISBN 0-19-505286-2.
  • Karnow, Stanley (1997). Vietnam: A history. New York City: Penguin Books. ISBN 0-670-84218-4.
  • Langguth, A. J. (2000). Our Vietnam: the war, 1954–1975. New York City: Simon & Schuster. ISBN 0-684-81202-9.
  • Maclear, Michael (1981). Vietnam: The Ten Thousand Day War. New York City: Methuen Publishing. ISBN 0-423-00580-4.
  • Moyar, Mark (2006). Triumph Forsaken: The Vietnam War, 1954–1965. New York City: Cambridge University Press. ISBN 0-521-86911-0.
  • Prochnau, William (1995). Once Upon a Distant War. New York City: Times Books. ISBN 0-8129-2633-1.
  • Ray, Nick; Yanagihara, Wendy (2005). Vietnam. Footscray, Victoria: Lonely Planet. ISBN 1-74059-677-3.
  • Sheehan, Neil (1988). A Bright Shining Lie: John Paul Vann and America in Vietnam. New York City: Random House. ISBN 0-679-72414-1.
  • Tucker, Spencer C. (2000). Encyclopedia of the Vietnam War. Santa Barbara, California: ABC-CLIO. ISBN 1-57607-040-9.
  • Warner, Denis (1964). The Last Confucian: Vietnam, South-East Asia, and the West. Sydney: Angus and Robertson.