ข้ามไปเนื้อหา

โง ดิ่ญ เสี่ยม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Ngô Đình Diệm)
โง ดิ่ญ เสี่ยม
นายกรัฐมนตรีคนที่ 6 แห่งรัฐเวียดนาม
ดำรงตำแหน่ง
19 มิถุนายน ค.ศ. 1954 – 26 ตุลาคม ค.ศ. 1955
ก่อนหน้าบืว หล็อก (Bửu Lộc)
ถัดไปยุบเลิกตำแหน่ง
ประธานาธิบดีคนที่ 1 แห่งสาธารณรัฐเวียดนาม
ดำรงตำแหน่ง
26 ตุลาคม ค.ศ. 1955 – 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963
ก่อนหน้าเพิ่งก่อตั้งตำแหน่ง
ถัดไปเซือง วัน มิญ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด3 มกราคม ค.ศ. 1901
จังหวัดกว๋างบิ่ญ
เสียชีวิต2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963(1963-11-02) (62 ปี)
ไซง่อน ประเทศเวียดนามใต้
พรรคการเมืองพรรคเกิ่นลาว
ลายมือชื่อ

โง ดิ่ญ เสี่ยม[] (<ideonly>แม่แบบ:Ngeonly><de> entation}} <de>; 3 มกราคม ค.ศ. 1901 – 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963) เป็นนักการเมืองชาวเวียดนาม เป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายของรัฐเวียดนามตั้งแต่ ค.ศ. 1954 ถึง ค.ศ. 1955 แล้วจึงได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกแห่งเวียดนามใต้ (สาธารณรัฐเวียดนาม) ตั้งแต่ ค.ศ. 1955 จนกระทั่งถูกจับกุมและลอบสังหารในรัฐประหารเมื่อ ค.ศ. 1963

โง ดิ่ญ เสี่ยม เกิดในตระกูลสำคัญ เป็นสมาชิกของคริสตจักรคาทอลิกแห่งเวียดนาม และเป็นบุตรของโง ดิ่ญ ขา (Ngô Đình Khả) ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ โง ดิ่ญ เสี่ยม ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส และคิดจะออกบวชตามโง ดิ่ญ ถุก (Ngô Đình Thục) ผู้เป็นพี่ชาย แต่สุดท้ายเปลี่ยนใจไปรับราชการ โง ดิ่ญ เสี่ยม ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในราชสำนักของจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย (Bảo Đại) โดยได้เป็นผู้ว่าการจังหวัดบิ่ญถ่วน (Bình Thuận) ใน ค.ศ. 1929 แล้วจึงได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยใน ค.ศ. 1933 แต่ 3 เดือนให้หลัง ก็ลาออกจากตำแหน่ง แล้วออกหน้าประณามจักรพรรดิว่า ทรงเป็นเครื่องมือของฝรั่งเศส จากนั้น โง ดิ่ญ เสี่ยม หันไปสนับสนุนกลุ่มชาตินิยมเวียดนาม โดยส่งเสริมการต่อต้านคอมมิวนิสต์ซึ่งอยู่คนละขั้วกับโห่ จี๊ มิญ (Hồ Chí Minh) และส่งเสริมการปลดปล่อยเวียดนามจากความเป็นอาณานิคม โง ดิ่ญ เสี่ยม ก่อตั้งพรรคเกิ่นลาว (Cần lao) เพื่อสนับสนุนแนวคิดทางการเมืองของตนที่เรียกว่า ทฤษฎีญันหวิ (Thuyết Nhân vị)

โง ดิ่ญ เสี่ยม ต้องลี้ภัยหลายปี จนได้กลับคืนปิตุภูมิในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1954 และจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย ทรงแต่งตั้งโง ดิ่ญ เสี่ยม เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่นานหลังจากนั้น มีการประชุมเจนีวา ค.ศ. 1954 ซึ่งมีผลให้แบ่งเวียดนามออกเป็นเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้อย่างเป็นทางการตามเส้นขนานที่ 17 โง ดิ่ญ เสี่ยม สามารถรวบรวมอำนาจในเวียดนามใต้ด้วยความช่วยเหลือของโง ดิ่ญ ญู (Ngô Đình Nhu) ผู้เป็นน้องชาย ใน ค.ศ. 1955 หลังมีการลงประชามติซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทุจริต โง ดิ่ญ เสี่ยม ได้ประกาศตั้งสาธารณรัฐเวียดนามขึ้นในเวียดนามใต้โดยมีตนเองเป็นประธานาธิบดี ส่วนเวียดนามเหนือก็มีการตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม รัฐบาลของโง ดิ่ญ เสี่ยม ได้รับเสียงสนับสนุนจากประเทศอื่น ๆ ที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ที่โดดเด่นที่สุดคือสหรัฐ เมื่อได้ปกครองเวียดนามใต้แล้ว โง ดิ่ญ เสี่ยม ดำเนินโครงการ "สร้างชาติ" หลายโครงการ ซึ่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและพื้นที่ชนบท ทว่า นับแต่ ค.ศ. 1957 เป็นต้นมา โง ดิ่ญ เสี่ยม ต้องเผชิญความไม่สงบจากกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่มีเวียดนามเหนือหนุนหลัง ในที่สุดกลุ่มเหล่านี้ได้จัดตั้งเป็นองค์กรอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อว่า เหวียดก่ง (Việt Cộng) โง ดิ่ญ เสี่ยม ตกเป็นเป้าของการลอบสังหารและการพยายามรัฐประหารหลายครั้ง จนใน ค.ศ. 1962 โง ดิ่ญ เสี่ยม จึงก่อตั้งโครงการอั๊ปเจี๊ยนเหลือก (Ấp Chiến lược) ซึ่งเป็นหมุดหมายหลักในความพยายามของเขาที่จะรับมือกับกลุ่มก่อความไม่สงบ

การที่โง ดิ่ญ เสี่ยม นิยมคาทอลิก และเบียดเบียนผู้ถือพุทธในเวียดนาม ทำให้เกิดวิกฤตการณ์พุทธ (Buddhist crisis) ใน ค.ศ. 1963 ซึ่งรุนแรงจนทำลายความสัมพันธ์ที่มีกับสหรัฐและประเทศอื่น ๆ ซึ่งเคยเห็นอกเห็นใจโง ดิ่ญ เสี่ยม นอกจากนี้ ยังทำให้ระบอบปกครองของโง ดิ่ญ เสี่ยม เสื่อมความนิยมในหมู่ผู้นำกองทัพบกสาธารณรัฐเวียดนาม ดังนั้น ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963 เหล่าผู้นำทหารสาธารณรัฐเวียดนามจึงก่อรัฐประหารผ่านความช่วยเหลือของสำนักข่าวกรองกลางแห่งสหรัฐ ในวันนั้น โง ดิ่ญ เสี่ยม และโง ดิ่ญ ญู น้องชาย หนีรอดไปได้ แต่ในวันถัดมา โง ดิ่ญ เสี่ยม ก็ถูกจับกุม และถูกลอบสังหาร ตามคำสั่งของพลเอก เซือง วัน มิญ (Dương Văn Minh) ผู้สืบตำแหน่งประธานาธิบดีต่อมา

ในหน้าประวัติศาสต์นั้น โง ดิ่ญ เสี่ยม เป็นบุคคลซึ่งเป็นที่โต้แย้ง นักประวัติศาสตร์บางคนมองว่า โง ดิ่ญ เสี่ยม เป็นเครื่องมือของสหรัฐ บางคนมองว่า เขาเป็นตัวแทนของระบอบประเพณีในเวียดนาม แต่ในเวลาที่เขาถูกลอบสังหารนั้น มองกันอย่างกว้างขวางว่า เขาเป็นเผด็จการที่ฉ้อฉล[1]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. ในงานภาษาไทย ยังมีการเขียนว่า "โง ดินห์ เดียม"

อ้างอิง

[แก้]
  1. Słowiak, Jerema (2017). "Role of the Religion and Politico-Religious Organizations in the South Vietnam During Ngo Dinh Diem Period" (PDF). Nauki Społeczne. Kraków: Zeszyty Naukowe Towarzystwa Doktorantów UJ (16): 109–124. ISSN 2082-9213.