ซาร์บอมบา
AN602 (Tsar Bomba) รัสเซีย: изделие 602, АН602, Иван[1] | |
---|---|
แบบจำลองของซาร์ บอมบา จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย | |
ชนิด | อาวุธเทอร์โมนิวเคลียร์ |
แหล่งกำเนิด | สหภาพโซเวียต |
ประวัติการผลิต | |
ผู้ออกแบบ | Yulii Borisovich Khariton, Andrei Sakharov, Victor Adamsky, Yuri Babayev, Yuri Smirnov, และ Yuri Trutnev |
จำนวนที่ผลิต | 1 (และอีก 1 ลูกจำลอง) |
ข้อมูลจำเพาะ | |
มวล | 27,000 กิโลกรัม (60,000 ปอนด์) |
ความยาว | 8 เมตร (26 ฟุต) |
เส้นผ่าศูนย์กลาง | 2.1 เมตร (6.9 ฟุต) |
ผลระเบิด | 50 ถึง 58 เมกะตัน |
ซาร์ บอมบา (รัสเซีย: Царь-бомба; อังกฤษ: Tsar Bomba) เป็นชื่อเล่นที่ใช้เรียกระเบิดไฮโดรเจน AN602 ของสหภาพโซเวียต เป็นอาวุธนิวเคลียร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และมีพลังทำลายล้างรุนแรงที่สุด เท่าที่เคยมีการใช้งานมา จัดว่าเป็น "อาวุธที่มีพลังทำลายล้างที่สุดของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ" ชื่อนี้เป็นชื่อที่สื่อในโลกตะวันตกตั้งให้ แต่ต่อมาในรัสเซียก็ยอมรับชื่อนี้มาใช้
ระเบิดนี้พัฒนาขึ้นโดยสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น ตามแบบแผนที่ออกแบบไว้เดิมจะมีขนาดเทียบเท่ากับการระเบิดของทีเอ็นที (TNT) 100 เมกะตัน เทียบเท่ากับ 420 PJ (เพตะจูล) แต่ได้ลดลงเหลือ 50 เมกะตัน[2] เพื่อลดขนาดของระเบิดลงให้สามารถบรรทุกด้วยเครื่องบินตูโปเลฟ ตู-95 ที่ได้รับการดัดแปลงเป็นพิเศษ พลังทำลายล้างของซาร์ บอมบา คิดเป็น 1,400 เท่าของระเบิดลิตเติลบอย (13–18 กิโลตัน) รวมกับแฟตแมน (21 กิโลตัน)
ซาร์ บอมบามีความยาว 8 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.1 เมตร น้ำหนัก 27,000 กิโลกรัม (60,000 ปอนด์) ถูกสร้างขึ้นจำนวน 1 ลูก และลูกตัวอย่างอีก 1 ลูกที่สร้างขึ้นเฉพาะโครงสร้างภายนอก ลูกระเบิดถูกนำไปทดสอบเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1961 บริเวณเกาะ โนวายาเซมลยา ทางตอนเหนือของขั้วโลกเหนือ ระเบิดถูกทิ้งลงจากเครื่องตูโปเลฟ ตู-95 ที่ระดับความสูง 10.5 กิโลเมตร เมื่อเวลา 11.32 นาฬิกา ตามเวลาท้องถิ่น ระเบิดได้รับการออกแบบให้จุดระเบิดด้วยเซ็นเซอร์บารอมิเตอร์[3] ที่ความสูง 4 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน (4.2 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล) ระเบิดต้องหน่วงเวลาเพื่อให้เครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินสังเกตการณ์บินห่างออกไปเป็นระยะทาง 47 กิโลเมตร เพื่อไม่ได้รับผลกระทบจากแรงระเบิด การทดสอบนี้ออกแบบให้เกิดลูกไฟกลางอากาศและให้สลายตัวไปก่อนลูกไฟจะตกลงกระทบพื้นผิวโลก
ซาร์ บอมบาเป็นอาวุธนิวเคลียร์แบบความร้อน มีการทำงานเป็น 3 ขั้นตอนแบบ Teller–Ulam คือ ขั้นแรกเป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิซชันทำให้เกิดแรงอัด จากนั้นจึงเกิดปฏิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ให้ความร้อน และใช้พลังงานจากการระเบิดนำพาความร้อนให้มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างมากขึ้น จากการทดสอบ ซาร์ บอมบาทำให้เกิดลูกไฟขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 กิโลเมตรในอากาศ สามารถมองเห็นและรู้สึกถึงคลื่นความร้อนได้ที่ระยะ 1,000 กิโลเมตรจากจุดศูนย์กลางการระเบิด มีรัศมีการทำลายในระยะ 1,000 กิโลเมตรจากศูนย์กลาง โดยทุกอย่างในรัศมี 40 กิโลเมตรได้ระเหยกลายเป็นไอทั้งหมด เมื่อก๊าซที่เกิดขึ้นปะทะกับเมฆ ทำให้เกิดเมฆรูปเห็ดมีความสูงประมาณ 64 กิโลเมตร ความกว้างของฐานเมฆประมาณ 40 กิโลเมตร
พลังงานที่ปลดปล่อยออกมาระหว่างการระเบิดเท่ากับ 2.1×1017 จูล หรือ 1% ของพลังงานเฉลี่ยที่ดวงอาทิตย์ส่งมายังโลก การระเบิดยังได้ส่งแรงอัดมหาศาลสู่ห้วงอวกาศ ทำให้ระบบการสื่อสารเป็นอัมพาตไป 1 ชั่วโมง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Чуприн, Константин (10 มิถุนายน 2005). Бомбы с ласковыми именами [Bombs with affectionate names]. Независимое военное обозрение (ภาษารัสเซีย). Vol. 43 no. 452. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2005.
- ↑ Sublette, Carey, บ.ก. (30 ตุลาคม 2018). "Tsar Bomba". NuclearWeaponArchive.org.
- ↑ Adamsky, Viktor; Yuri Smirnov (Fall 1994). "Moscow's Biggest Bomb: the 50-Megaton Test of October 1961" (PDF). Cold War International History Project Bulletin (4): 3, 19–21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 26 มีนาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2008.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ซาร์บอมบา
- วีดิทัศน์ (Flash) ของ "Tsar Bomba". Sonicbomb.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 ธันวาคม 2012.
- Tsar Bomb – The biggest bomb ever ที่ยูทูบ
- Google Maps