ข้ามไปเนื้อหา

ผู้บริสุทธิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก To Kill a Mockingbird)
ผู้บริสุทธิ์
ปกหนังสือฉบับแรก
ผู้ประพันธ์ฮาร์เปอร์ ลี
ชื่อเรื่องต้นฉบับTo Kill a Mockingbird
ผู้แปลศาสนิก
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
สำนักพิมพ์สหรัฐอเมริกาเจ.บี.ลิปปินคอตต์แอนด์โค
ไทย สำนักพิมพ์เรจีนา
วันที่พิมพ์สหรัฐอเมริกา11 กรกฎาคม พ.ศ. 2503
ไทย พ.ศ. 2530

ผู้บริสุทธิ์ (อังกฤษ: To Kill a Mockingbird) เป็นนวนิยายรางวัลพูลิตเซอร์แต่งโดยฮาร์เปอร์ ลี หนังสือเล่มนี้ประสบความสำเร็จทันทีหลังตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2503 และกลายเป็นหนึ่งในนิยายอเมริกันสมัยใหม่ระดับคลาสสิก เนื้อหามีพื้นฐานมาจากการสังเกตครอบครัวและเพื่อนบ้านของผู้เขียน และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้ ๆ เมืองเกิดใน พ.ศ. 2479 เมื่อเธออายุได้ 10 ปี

หนังสือเล่มนี้เป็นที่รู้จักด้วยเนื้อหาที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นและอารมณ์ขัน แม้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาสังคมเช่นการข่มขืนและการแบ่งแยกสีผิว แอตติคัส ฟินช์ ตัวเอกซึ่งเป็นบิดาของผู้บรรยายในเรื่อง ได้กลายเป็นต้นแบบของทนายความผู้ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นต้นแบบทางคุณธรรมของผู้อ่านมากมาย บทวิจารณ์บทหนึ่งกล่าวถึงอิทธิพลของนวนิยายเรื่องนี้ว่า "ผู้บริสุทธิ์ อาจนับได้ว่าเป็นหนังสือที่มีผู้อ่านมากที่สุดที่กล่าวถึงเรื่องการแบ่งแยกสีผิวในอเมริกา และตัวละครหลัก แอตติคัส ฟินช์ ถือเป็นฮีโร่ผู้ต่อสู้กับการแบ่งสีผิวในนิยายที่คงอยู่ยาวนานที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20"[1]

แก่นเรื่องของ ผู้บริสุทธิ์ เกี่ยวข้องกับความไม่ยุติธรรมระหว่างเชื้อชาติและการทำร้ายผู้บริสุทธิ์ นักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่าลียังกล่าวถึงปัญหาชนชั้น ความกล้าหาญ และความกรุณา และบทบาทของเพศสถานะทางตอนใต้ของอเมริกา หนังสือเล่มนี้ถูกใช้สอนในโรงเรียนจำนวนมากในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเพื่อเน้นให้เห็นถึงความอดทนและการต่อสู้กับอคติ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บริสุทธิ์ ก็ถูกเรียกร้องให้ถอดถอนออกจากห้องเรียนและห้องสมุดหลายครั้ง เนื่องจากการใช้คำเรียกคนต่างเชื้อชาติ และผู้เขียนก็รับรู้ตั้งแต่หนังสือตีพิมพ์ว่าแม้หนังสือจะเป็นที่นิยมอย่างมาก แต่ผู้อ่านหลายคนไม่พอใจกับวิธีการกล่าวถึงคนผิวดำในเรื่อง

หนังสือของลีถูกวิจารณ์โดยหนังสือพิมพ์และนิตยสารอย่างน้อย 30 ฉบับ ซึ่งบทวิจารณ์แตกต่างกันอย่างมากตามวิธีการตัดสิน ในปี พ.ศ. 2549 บรรณารักษ์อังกฤษได้จัดอันดับให้หนังสือเล่มนี้อยู่ในอันดับสูงกว่าคัมภีร์ไบเบิลใน"รายชื่อหนังสือที่ผู้ใหญ่ทุกคนควรอ่านก่อนตาย"[2] หนังสือเล่มนี้ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง พิพากอธรรม ในปี พ.ศ. 2505 และได้รับรางวัลออสการ์ 3 รางวัล[3] ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 การแสดงนวนิยายเรื่องนี้ถูกจัดขึ้นทุกปีที่มอนโรวิลล์ รัฐแอละแบมา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของฮาร์เปอร์ ลี[4] จนถึงทุกวันนี้หนังสือเล่มนี้เป็นนวนิยายที่ถูกตีพิมพ์เล่มเดียวของลี และถึงแม้เธอจะตอบเกี่ยวกับผลกระทบของหนังสือมาตลอด แต่เธอก็ไม่แสดงตัวต่อสาธารณชนในฐานะตัวของเธอเองตั้งแต่ พ.ศ. 2507

ประวัติเบื้องหลังและการตีพิมพ์

[แก้]

ฮาร์เปอร์ ลี เกิดใน พ.ศ. 2469 และเติบโตมาในเมืองทางใต้ของมอนโรวิลล์ รัฐแอละแบมา ซึ่งเป็นที่ที่เธอกลายเป็นเพื่อนสนิทของทรูแมน คาโพตี นักเขียนชื่อดัง[5] เธอเข้าเรียนที่วิทยาลัยฮันติงดอน ในเมืองมอนต์กอเมอรี รัฐแอละแบมา (พ.ศ. 2487–88) และเรียนต่อทางด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยแอละแบมา (พ.ศ. 2488–92) ระหว่างที่เรียนอยู่ เธอเขียนให้กับนิตยสารวรรณกรรม Huntress ที่ฮันติงดอน และนิตยสารตลก Rammer Jammer ที่มหาวิทยาลัยแอละแบมา ที่วิทยาลัยทั้งสองแห่ง เธอเขียนเรื่องสั้นและบทความอื่น ๆ เกี่ยวกับความไม่ยุติธรรมระหว่างเชื้อชาติ ซึ่งเป็นหัวข้อที่ไม่ค่อยกล่าวถึงในสถานศึกษาเหล่านี้ในระยะเวลานั้น[6] ในปี พ.ศ. 2493 ลีย้ายไปมหานครนิวยอร์กและทำงานเป็นพนักงานจองตั๋วของ บริติช โอเวอร์ซี แอร์เวย์ คอร์ปปอเรชั่น ในขณะเดียวกันก็เริ่มเขียนบทความและเรื่องสั้นเกี่ยวกับผู้คนในมอนโรวิลล์ ในปี พ.ศ. 2500 ลีส่งบทความของเธอไปยังตัวแทนสำนักพิมพ์ที่คาโพตีแนะนำโดยหวังที่จะได้ตีพิมพ์ บรรณาธิการที่เจ. บี. ลิปปินคอตต์แอนด์โค แนะนำให้เธอเอาดีทางด้านการเขียน เธอจึงลาออกจากงานและได้รับเงินสนับสนุนจากเพื่อน ๆ ของเธอ[7]

ลีใช้เวลา 2 ปีครึ่งในการเขียน ผู้บริสุทธิ์ เธอเคยโยนต้นฉบับออกไปนอกหน้าต่างด้วยความหงุดหงิดจนมันกระจัดกระจายบนหิมะข้างนอก แต่บรรณาธิการของเธอทำให้เธอเขียนมันต่อ[5] หนังสือถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2503 ตอนแรกหนังสือถูกตั้งชื่อว่า แอตติคัส แต่ลีเปลี่ยนชื่อมันใหม่เพื่อแสดงว่าเรื่องราวนั้นลึกซึ้งเกินกว่าที่จะเป็นเพียงการวาดภาพตัวละคร[8] ทีมบรรณาธิการที่ลิปปินคอตต์เตือนลีว่าเธออาจจะขายหนังสือได้เพียงไม่กี่พันเล่ม[9] ใน พ.ศ. 2507 ลีรำลึกถึงความหวังในหนังสือเล่มนี้ว่า "ฉันไม่เคยหวังว่า 'ผู้บริสุทธิ์' จะประสบความสำเร็จอันใด…ฉันหวังว่ามันจะพบกับความตายที่ปลดปล่อยอย่างรวดเร็วด้วยมือของนักวิจารณ์ แต่ในขณะเดียวกัน ฉันก็แอบหวังไว้ว่าจะมีบางคนที่ชอบมันมากพอที่จะให้กำลังใจฉัน ให้กำลังใจทางสาธารณะ อย่างที่บอก ฉันหวังไว้ไม่มาก แต่ฉันกลับได้รับมากมาย และมันก็น่ากลัวพอ ๆ กับความตายที่ปลดปล่อยอย่างรวดเร็วที่ฉันหวังไว้ในตอนแรก"[10] แทนที่จะได้พบกับความตายที่ปลดปล่อยอย่างรวดเร็ว มันกลับถูกตีพิมพ์ในรีดเดอร์ส ไดเจสท์ คอนเดนส์ บุกส์ ซึ่งทำให้มีผู้อ่านมากมาย[11] และไม่เคยถูกหยุดตีพิมพ์เลยตั้งแต่เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรก

เนื้อเรื่องย่อ

[แก้]

เรื่องราวเกิดขึ้นระหว่างช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในเมืองสมมติที่ "เก่าแก่อ่อนล้า" ชื่อเมย์คอมบ์ ในรัฐแอลเบมา ผู้เล่าเรื่องคือเด็กหญิงสเกาต์ ฟินช์ อายุหกขวบ เธออาศัยอยู่กับพี่ชายชื่อเจมส์ และพ่อของเธอ แอตติคัส ซึ่งเป็นทนายความหม้ายวัยกลางคน เจมส์และสเกาต์เป็นเพื่อนกับเด็กชายดิลล์ซึ่งมาอาศัยกับป้าในเมย์คอมบ์ระหว่างหน้าร้อน เด็กทั้งสามทั้งกลัวและหลงใหลในเพื่อนบ้าน "บู" แรดลีย์ ผู้เก็บตัวเงียบอยู่ในบ้านตลอดเวลา ชาวเมืองเมย์โคมบ์มักจะหลีกเลี่ยงการพูดถึงบู และไม่มีใครเห็นเขาเป็นเวลาหลายปี เด็ก ๆ สร้างจินตนาการจากข่าวลือเกี่ยวกับลักษณะและเหตุผลที่บูต้องหลบซ่อนตัว พวกเขายังฝันเฟื่องเกี่ยวกับการทำให้บูออกมาจากบ้าน หลังจากที่ได้ดิลล์เป็นเพื่อนเล่นในช่วงฤดูร้อนสองครั้ง สเกาต์และเจมพบว่ามีใครบางคนวางของขวัญชิ้นเล็ก ๆ ไว้ให้พวกเขาในต้นไม้หน้าบ้านของแรดลีย์ บูผู้ลึกลับแสดงท่าทีเป็นมิตรแก่เด็ก ๆ หลายครั้ง แต่ไม่เคยปรากฏตัวให้พวกเขาเห็น

แอตติคัสได้รับมอบหมายให้ว่าความให้ ทอม โรบินสัน ชายผิวดำซึ่งถูกกล่าวหาว่าข่มขืนหญิงสาวผิวชาวชื่อ เมเอลลา ยูเวลล์ แอตติคัสตกลงว่าความให้ทอมอย่างสุดความสามารถ แม้ว่าชาวเมืองเมยโคมบ์หลายคนจะไม่ยอมรับ เด็กที่โรงเรียนกล่าวล้อเลียนเจมและสเกาต์ว่าเป็น "พวกรักไอ้มืด" เพราะการกระทำของแอตติคัส สเกาต์เกือบจะสู้กับเด็กคนอื่น ๆ เพื่อปกป้องชื่อเสียงของพ่อแม้ว่าเขาจะสั่งห้ามเธอไว้ แอตติคัสเองก็ต้องเผชิญกับกลุ่มคนที่พยายามจะฆ่าทอม แต่สถานการณ์อันตรายก็ผ่านพ้นไป เมื่อสเกาต์ เจมส์ และดิลล์สร้างความอับอายแก่กลุ่มคนจนเขาต้องแยกย้ายกันไป โดยทำให้พวกเขามองสถานการณ์ในมุมมองของแอตติคัสและทอม

แอตติคัสไม่ต้องการให้เด็ก ๆ เห็นการตัดสินคดีของทอมโรบินสัน สเกาต์ เจมส์ และ ดิลล์จึงแอบดูจากที่นั่งของคนดำ แอตติคัสชี้ให้เห็นว่าโจทก์ เมเอลลาและบ๊อบ ยูเวลล์ พ่อขี้เมาของเธอ กำลังโกหก การว่าความยังแสดงให้เห็นว่าเมเอลลาผู้ไม่มีเพื่อนเป็นฝ่ายพยายามสร้างสัมพันธ์ชู้สาวกับทอม แต่พ่อของเธอจับได้ แม้ว่าจะมีหลักฐานที่มีมูลเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของทอม ลูกขุนกลับตัดสินให้เขาผิด ความเชื่อมั่นในความยุติธรรมของเจมส์สั่นคลอนอย่างมาก เช่นเดียวกับแอตติคัส เมื่อทอมถูกยิงตายขณะพยายามหลบหนีจากคุก

บ๊อบ ยูเวลล์สาบานว่าจะแก้แค้นที่ถูกทำให้อับอายระหว่างการตัดสินคดี เขาถ่มน้ำลายใส่หน้าแอตติคัสที่หัวมุมถนน พยายามจะลอบเข้าไปในบ้านผู้พิพากษา และข่มขู่ภรรยาหม้ายของทอม ในที่สุด เขาก็โจมตีเจมส์และสเกาต์ขณะที่เดินกลับจากงานฮาโลวีนของโรงเรียน เจมส์แขนหักระหว่างที่ต่อสู้กัน และในระหว่างที่ชุลมุนก็มีคนเข้ามาช่วยเด็กทั้งสองไว้ ชายลึกลับอุ้มเจมส์กลับบ้าน สเกาต์พบว่าเขาคือบู แรดลีย์

นายอำเภอเมย์คอมบ์มายังที่เกิดเหตุและพบว่าบ๊อบ เอเวลล์ตายระหว่างการต่อสู้ นายอำเภอเถียงกับแอตติคัสเกี่ยวกับการให้เจมส์หรือบูรับผิดชอบ ในที่สุดแอตติคัสก็ยอมรับเรื่องของนายอำเภอว่า บ๊อบ ยูเวลล์ ล้มลงทับบนมีดของเขาเอง บูขอให้สเกาต์ไปส่งเขาที่บ้าน และหลังจากที่เธอกล่าวลาเขาที่หน้าประตูบ้านของเขา บูก็หายตัวไปอีกครั้ง ขณะที่ยืนอยู่บนระเบียงบ้านของแรดลีย์ สเกาต์นึกภาพชีวิตจากมุมมองของบู และรู้สึกเสียใจที่พวกเธอไม่เคยตอบแทนของขวัญที่บูให้มา

อิทธิพลจากชีวิตจริง

[แก้]

ลีกล่าวว่า ผู้บริสุทธิ์ ไม่ใช่อัตชีวประวัติ แต่เป็นตัวอย่างของ"วิธีเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้เขียนรู้ และเขียนด้วยความสัตย์"[12] แต่ถึงกระนั้น ผู้คนและเหตุการณ์หลายอย่างในวัยเด็กของเธอก็คล้ายคลึงกับสเกาต์ในนิยาย อมาซา โคลแมน พ่อของลี เป็นทนายความเหมือนกับแอตติคัส ฟินช์ และใน พ.ศ. 2462 เขาว่าความให้กับชายผิวดำสองคนที่เป็นจำเลยในคดีฆาตกรรม หลังจากที่พวกเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกแขวนคอ[13] เขาก็ไม่เคยรับว่าความคดีอาญาอีกเลย พ่อของลียังเป็นบรรณาธิการและผู้ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์มอนโรวิลล์ แม้ว่าเขาจะมีท่าทีต่อการแบ่งเชื้อชาติเป็นอนุรักษนิยมมากกว่าแอตติคัส เขาค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นเสรีนิยมเมื่อเขามีอายุมากขึ้น[14] แม้ว่าแม่ของสเกาต์เสียชีวิตตั้งแต่เธอเป็นทารก ในขณะที่แม่ของลีเสียชีวิตเมื่อเธอมีอายุ 25 ปี แต่แม่ของลีก็ป่วยเป็นโรคประสาทที่ทำให้พวกเขาห่างเหินกัน[15][16] ลีมีพี่ชายชื่อเอ็ดวินซึ่งอายุมากกว่าเธอสี่ปีเหมือนตัวละคร เจม และแม่บ้านคนผิวดำจะมาดูแลบ้านและครอบครัวของลีทุกวันเหมือนในนิยาย

ดิลล์ถูกสร้างขึ้นจากทรูแมน คาโพตี เพื่อนของลีในวัยเด็ก ซึ่งรู้จักกันในขณะนั้นในชื่อทรูแมน เพอร์ซันส์[17][18] คาโพตีมาพักกับป้าของเขาซึ่งอยู่ข้างบ้านของลีเวลาที่แม่ของเขาไปนครนิวยอร์ก เหมือนที่ดิลล์มาอยู่ข้างบ้านสเกาต์[19] คาโพตีมีจินตนาการเยี่ยมยอดและมีพรสวรรค์ในการทำให้เรื่องราวมีความดึงดูดใจเหมือนดิลล์ ทั้งลีและคาโพตีเป็นเด็กประหลาด ทั้งคู่ชอบอ่านหนังสือ ลีเป็นทอมบอยที่ใจร้อน และคาโพตีมักถูกล้อเลียนจากการใช้คำศัพท์ยาก ๆ และการที่เขาพูดไม่ชัด เธอและคาโพตีเป็นเพื่อนสนิทกันเพราะเขาทั้งสองรู้สึกแปลกแยกจากเพื่อนคนอื่น ๆ คาโพตีเรียกพวกเขาทั้งสองว่า "กลุ่มคนแปลกแยก"[20] ในปี พ.ศ. 2503 คาโพตีและลีเดินทางไปแคนซัสด้วยกันเพื่อสืบคดีฆาตกรรมซึ่งกลายเป็นโครงของสารคดีเรื่อง In Cold Blood

บทถนนเดียวกับบ้านของลีมีครอบครัวซึ่งปิดบ้านด้วยแผ่นไม้ บ้านหลังนี้เป็นต้นแบบของครอบครัวแรดลีย์ในเนื้อเรื่อง ลูกชายของครอบครัวมีปัญหาทางกฎหมายบางอย่างจึงถูกพ่อขังไว้ในบ้านด้วยความอับอายนานถึง 24 ปี เขาถูกซ่อนตัวไว้จนในที่สุดก็ถูกลืมและตายในปี 1952[21]

แม่แบบของทอม โรบินสันนั้นไม่ชัดเจน หลายคนคาดคะเนว่าตัวละครนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากหลายต้นแบบ เมื่อลีอายุ 10 ขวบ หญิงคนขาวที่อาศัยอยู่ใกล้ ๆ มอนโรวิลล์คนหนึ่งกล่าวหาชายผิวดำชื่อ วอลเตอร์ เลตต์ ว่าข่มขืนเธอ เรื่องราวและการตัดสินถูกลงในหนังสือพิมพ์ของพ่อของเธอ เลตต์ถูกตัดสินให้มีความผิดและถูกลงโทษประหารชีวิต แต่หลังจากมีจดหมายหลายฉบับร้องเรียนว่าเลตต์ถูกกล่าวหา เลตต์จึงถูกลดโทษลงเป็นจำคุกตลอดชีวิต เขาเสียชีวิตในคุกด้วยวัณโรคในปี พ.ศ. 2480[22] นักวิชาการหลายคนเชื่อว่าเค้าเรื่องนี้ยังได้รับอิทธิพลจากคดีของกลุ่มเด็กหนุ่มในสกอตต์สโบโร ที่โด่งดัง[23] ซึ่งเป็นคดีที่ชายผิวดำ 9 คนถูกตัดสินให้มีความผิดข้อหาข่มขืนหญิงผิวขาว 2 คนทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานไม่เพียงพอ แต่ใน พ.ศ. 2548 ลีกล่าวว่า ถึงคดีของสกอตต์สโบโรจะสามารถแสดงถึงความไม่เท่าเทียมในรัฐทางใต้ได้เหมือนกัน แต่เธอคิดถึงอะไรที่ตื่นเต้นน้อยกว่านั้น[24] นอกจากนี้ เอมเมตต์ ทิลล์ วัยรุ่นผิวดำที่ถูกสังหารเพราะจีบผู้หญิงผิวขาวในรัฐมิสซิสซิปปีเมื่อ พ.ศ. 2498 และผู้ซึ่งการตายของเขาเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องสิทธิของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ก็ถูกสันนิษฐานว่าเป็นต้นแบบของทอม โรบินสัน เช่นกัน[25]

รูปแบบ

[แก้]
"ฮาร์เปอร์ ลี มีพรสวรรค์ที่น่าชื่นชมในการเล่าเรื่อง ศิลปะของเธอนั้นสามารถเห็นเป็นรูปร่าง มีความแยบยลและลื่นไหลเหมือนภาพยนตร์ เรามองเห็นฉากหนึ่งหลอมรวมกับอีกฉากโดยไม่มีรอยต่อของการเปลี่ยนแปลง"
—อาร์. เอ. เดฟ ใน Harper Lee's Tragic Vision, พ.ศ. 2517

นักวิจารณ์และนักวิเคราะห์กล่าวถึงความสามารถในการเล่าเรื่องของลีว่าเป็นจุดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งในรูปแบบการเขียนของเธอ นักวิชาการคนหนึ่งเขียนว่า "ฮาร์เปอร์ ลี มีพรสวรรค์ที่น่าชื่นชมในการเล่าเรื่อง ศิลปะของเธอนั้นสามารถเห็นเป็นรูปร่าง มีความแยบยลและลื่นไหลเหมือนภาพยนตร์ เรามองเห็นฉากหนึ่งหลอมรวมกับอีกฉากโดยไม่มีรอยต่อของการเปลี่ยนแปลง"[26] ลีผสมผสานเสียงการสังเกตสิ่งรอบข้างของเด็กหญิงผู้บรรยายกับการรำลึกถึงวัยเด็กของผู้ใหญ่ ใช้ความคลุมเครือของเสียงนี้รวมกับเทคนิกการเล่าเรื่องโดยวิธีนึกภาพย้อนหลัง เพื่อจะเล่นรายละเอียดกับภาพ[27] วิธีการเล่าเรื่องนี้ทำให้ลีสามารถเล่าเรื่อง"ลวงตาที่น่าสนุกสนาน" ซึ่งผสมระหว่างความเรียบง่ายของการสังเกตในวัยเด็กกับสถานการณ์ของผู้ใหญ่ และทำให้ซับซ้อนด้วยแรงจูงใจที่ซ่อนอยู่และธรรมเนียมที่ทุกคนยอมรับ[28]

แต่บางครั้ง การผสมผสานนี้ก็ได้ผลเกินไปจนทำให้นักวิเคราะห์หลายคนสงสัยความสามารถในการใช้คำศัพท์และการเข้าใจที่เกินตัวของสเกาต์[29] นักเขียนบท ฮาร์ดิง ลีเมย์ และนักจารณ์วรรณกรรม แกรนวิลล์ ฮิกส์ แสดงความสงสัยที่เด็กที่ถูกเลี้ยงดูอย่างทะนุถนอมอย่างสเกาต์และเจมจะเข้าใจความซับซ้อนและน่ากลัวที่เกี่ยวกับการตัดสินชีวิตของทอม โรบินสันได้อย่างไร[30][31]

แจคเคอลีน ตาเวอร์เนอร์-คูร์บิน นักวิชาการเขียนเกี่ยวกับรูปแบบการเขียนของลีและการใช้อารมณ์ขันในโศกนาฏกรรมว่า "เสียงหัวเราะ …[แสดงให้เห็น] ส่วนที่ตายภายใต้ผิวหน้าอันสวยงาม และยังลดความน่ากลัวได้อีกด้วย คนเรานั้นยากที่จะถูกควบคุมด้วยสิ่งที่เราสามารถหัวเราใส่ได้"[32] บทบาทของเด็กหญิงสเกาต์ที่ตีเด็กผู้ชาย เกลียดการใส่กระโปรง และสบถสาบานเพื่อความสนุกนั้นสร้างอารมณ์ขัน ตาเวอร์เนอร์-คูร์บินยังตั้งข้อสังเกตว่า ลีใช้วิธีล้อเลียน เสียดสี และประชดประชัน เพื่อกล่าวถึงปัญหาที่ซับซ้อน โดยเฉพาะผ่านทางมุมมองของเด็ก หลังจากที่ดิลล์สัญญาจะแต่งงานกับเธอ แล้วกลับไปใช้เวลากับเจม สเกาต์ตัดสินใจว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ดิลล์กลับมาสนใจเธอก็คือการทำร้ายเขา ซึ่งเธอลงมือหลายครั้ง[33] ลีใช้วิธีเสียดสีในการบรรยายประสบการณ์วันแรกที่โรงเรียนอันน่าหงุดหงิดของสเกาต์ ครูบอกเธอว่าเธอจะต้องแก้ไขความเสียหายที่แอตติคัสสอนเธอให้เขียนและอ่าน และสั่งห้ามไม่ให้แอตติคัสสอนเธอต่อไป[34] ลีใช้การประชดประชันกับสถานการณ์ที่ไม่น่าขันที่สุด เมื่อเจมและสเกาต์พยายามที่จะทำความเข้าใจว่าเมย์โคมบ์พยายามทำตัวเป็นสังคมที่ดีทั้ง ๆ ที่ยังมีการเหยียดสีผิวได้อย่างไร การเสียดสีและประชดประชันถูกใช้มากเสียจนตาเวอร์เนอร์-คูร์บินตีความชื่อหนังสืออีกวิธีว่า ลีกำลังหัวเราะเยาะการศึกษา ระบบยุติธรรม และสังคมของเธอเอง โดยใช้เป็นหัวข้อในการล้อเลียนของเธอ[32]

นักวิจารณ์ยังกล่าวถึงวิธีการดำเนินเรื่องที่น่าสนใจ[35] เมื่อแอตติคัสเดินทางออกนอกเมือง เจมขังเพื่อนที่ร่วมชั้นเรียนรวีวารศึกษาไว้ที่ใต้ถุนโบสถ์ ทำให้คาลพัวร์เนีย แม่บ้านผิวดำพาสเกาต์และเจมไปที่โบสถ์ของเธอ ซึ่งทำให้เด็ก ๆ ได้เห็นชีวิตส่วนตัวของเธอและทอม โรบินสัน[36] สเกาต์เผลอหลับไประหว่างงานวันฮาโลวีน จนทำให้เธอขึ้นเวทีช้าและถูกผู้ชมหัวเราะดังลั่น สเกาต์ประหม่าและอายมากจนเธอเลือกที่จะเดินกลับบ้านในชุดแฟนซี ซึ่งช่วยชีวิตเธอไว้[37]

โครงเรื่อง

[แก้]
"ระหว่าง 33 ปีตั้งแต่ได้รับการตีพิมพ์ (ผู้บริสุทธิ์) ไม่เคยเป็นจุดสนใจของวิทยานิพนธ์ และมันเป็นหัวข้อของการวิจัยวรรณคดีเพียงแค่ 6 ฉบับ ซึ่งหลายฉบับมีความยาวเพียงสองสามหน้า"
—คลอเดีย จอห์นสัน ใน To Kill a Mockingbird: Threatening Boundaries, พ.ศ. 2537

แม้ว่านวนิยายเรื่องนี้จะได้รับความนิยมอย่างมากหลังตีพิมพ์ แต่มันกลับไม่ได้ถูกวิจารณ์อย่างนวนิยายสมัยใหม่ระดับคลาสสิกของอเมริกันเรื่องอื่น ๆ คลอเดีย จอห์นสัน ผู้เขียนหนังสือและบทความเกี่ยวกับ ผู้บริสุทธิ์ เขียนในปี 1994 ว่า "ระหว่าง 33 ปีตั้งแต่ได้รับการตีพิมพ์ (ผู้บริสุทธิ์) ไม่เคยเป็นจุดสนใจของวิทยานิพนธ์ และมันเป็นหัวข้อของการวิจัยวรรณคดีเพียงแค่ 6 ฉบับ ซึ่งหลายฉบับมีความยาวเพียงสองสามหน้า"[38] ในปี พ.ศ. 2546 นักเขียนอีกคนสนับสนุนว่า หนังสือเล่มนี้ "เป็นสัญลักษณ์ซึ่งแรงดลใจคนยังคงมีพลังอยู่มากอย่างน่าประหลาดใจ เพราะมันยังไม่ถูกตรวจสอบ"[39]

ฮาร์เปอร์ ลี ยังคงสงวนตัวจากการแปลนวนิยายของเธอตั้งแต่พุทธทศวรรษที่ 2500 แต่เธอเคยอธิบายให้เข้าใจถึงโครงเรื่องในจดหมายถึงบรรณาธิการที่เธอเขียนตอบกระแสความคลั่งไคล้ต่อหนังสือของเธอว่า "มันย่อมเป็นที่กระจ่างอยู่แล้วว่า ผู้บริสุทธิ์ อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ถึงเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติ คุณธรรมของคริสเตียน ซึ่งเป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาในชาวใต้ทุกคน"[40]

ชีวิตชาวใต้และความไม่เท่าเทียมของเชื้อชาติ

[แก้]

เมื่อหนังสือเล่มนี้ถูกวางจำหน่าย นักวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าหนังสือถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน และมีความเห็นที่ปนเปเกี่ยวกับความสามารถในการเชื่อมสองส่วนนี้เข้าด้วยกันของลี[41] ช่วงแรกของนวนิยายเกี่ยวข้องกับการที่เด็ก ๆ หลงใหลใน บู แรดลีย์ และการที่พวกเขารู้สึกปลอดภัยและสบายใจกับสภาพรอบตัวในเมือง นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ถูกดึงดูดโดยการสังเกตเพื่อนบ้านประหลาด ๆ ของสเกาต์และเจม นักเขียนคนหนึ่งประทับใจการอธิบายชาวเมืองเมย์โคมบ์อย่างละเอียดของลี จนเขาจัดนวนิยายนี้ให้อยู่ในหนังสือประเภทโรแมนติกท้องถิ่นของทางใต้[42] ความเป็นนิยายท้องถิ่นนี้ปรากฏให้เห็นเช่นตอนที่มาเยลลา เอเวลล์ ไม่กล้าที่จะยอมรับว่าเธอยั่วทอม โรบินสัน และคำจำกัดความเกี่ยวกับ "คนดี" ของแอตติคัสว่าเป็นคนที่มีสติดีและทำดีสุดความสามารถด้วยสิ่งที่เขามีอยู่ โครงเรื่องที่เกิดขึ้นในภาคใต้ซึ่งมีประเพณีและสิ่งต้องห้ามของตนเอง ดูเหมือนจะมีผลต่อเรื่องมากกว่าตัวละครเสียอีก[42]

นักวิจารณ์หนังสือ ฮาร์ดิง ลีเมย์ กล่าวถึงช่วงที่สองของนวนิยายว่าเกี่ยวกับ "ความอับอายของคนผิวขาวชาวใต้ในการปฏิบัติตนต่อคนผิวดำที่กัดกร่อนจิตใจ"[30] หลังจากที่หนังสือออกจำหน่าย นักวิเคราะห์หลายคนจัดให้ ผู้บริสุทธิ์ เป็นหนังสือเกี่ยวกับเชื้อชาติเป็นหลัก[43] คลอเดีย จอห์นสัน คิดว่า "มีเหตุผลที่จะเชื่อ" ว่านวนิยายนี้ได้รับอิทธิพลจากสองเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการกีดกันสีผิวในแอละแบมา คือ การที่โรซา พาร์กส ปฏิเสธการนั่งที่ท้ายรถเมล์ ซึ่งทำให้เกิดการคว่ำบาตรรถเมล์ในมอนต์กอเมอรีในพ.ศ. 2498 และการประท้วงในมหาวิทยาลัยแอละแบมาหลังจากที่ออเทอรีน ลูซี และพอลลี ไมเยอร์ส สมัครเข้าเรียน (แต่ในที่สุดไมเยอร์สก็ถอนใบสมัคร และลูซีถูกไล่ออก) [44] ในการเขียนเกี่ยวกับบริบททางประวัติศาสตร์ของหนังสือเล่มนี้ นักวิชาการทางวรรณคดีกล่าวว่า "ผู้บริสุทธิ์ ถูกเขียนและตีพิมพ์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งของทางใต้ตั้งแต่สมัยสงครามกลางเมือง แม้ว่าฉากของเรื่องจะเกิดขึ้นในช่วงปลายพุทธทศวรรษที่ 2470 แต่เนื้อเรื่องกลับมีมุมมองทั้งความขัดแย้ง ความตึงเครียด และความกลัวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในยุค 2490"[45] ความสำเร็จของนวนิยายเรื่องนี้ทำให้มีผู้กล่าวถึงอิทธิพลที่มีต่อความสัมพันธ์ของคนขาวกับคนดำในสหรัฐอเมริกาว่ามัน "มาถึงในเวลาที่เหมาะสมที่จะช่วยให้รัฐทางใต้และประเทศต่อกรกับความตึงเครียดระหว่างเชื้อชาติที่รุนแรงขึ้นจากการเรียกร้องสิทธิ"[46] การตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ถูกเชื่อมโยงกับการเรียกร้องสิทธิมากเสียจนบทวิเคราะห์ของหนังสือและชีวประวัติของฮาร์เปอร์ ลี มักมีบทบรรยายเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญในการเรียกร้องสิทธิ แม้ว่าในความเป็นจริงเธอไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเหล่านั้นโดยตรงเลย[47][48][49]

นักวิชาการ แพทริก ชูรา ผู้ให้ความเห็นว่าเอมเมตต์ ทิลล์ เป็นต้นแบบของทอม โรบินสัน เปรียบเทียบความอยุติธรรมที่ทอมในนิยายและทิลล์ต้องเผชิญ ชูรากล่าวถึงสัญลักษณ์ของผู้ข่มขืนชาวผิวดำและทำอันตรายต่อตัวแทนของ "สตรีชาวใต้ที่ถูกมองว่าอ่อนแอและศักดิ์สิทธิ์” [25] การฝ่าฝืนกฎใด ๆ โดยชายผิวดำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศกับหญิงผิวชาวแม้เพียงเล็กน้อยในช่วงเวลาในเรื่องมักจะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาถูกลงโทษถึงชีวิต การตัดสินคดีของทอม โรบินสัน มีลูกขุนเป็นชาวนาผิวขาวที่ยากจนซึ่งตัดสินให้เขาผิดแม้ว่าจะมีหลักฐานชัดแจ้งแสดงว่าเขาบริสุทธิ์ และชาวเมืองผิวขาวคนอื่น ๆ ที่มีการศึกษามากกว่าก็สนับสนุนการตัดสินใจของลูกขุน นอกจากนี้ เหยื่อของความอยุติธรรมใน ผู้บริสุทธิ์ มีความพิการซึ่งทำให้เขาไม่มีทางทำสิ่งที่เขาถูกกล่าวหาได้ และยังกีดขวางเขาในทางอื่น ๆ ด้วย[25] โรสลิน ซีเกล รวมทอม โรบินสันไว้ในตัวอย่างของลักษณะซึ่งปรากฏขึ้นบ่อย ๆ ในหมู่นักเขียนผิวขาวชาวใต้ที่แสดงถึงชายผิวดำว่า "โง่ น่าสมเพช อ่อนแอ และต้องพึ่งพาการจัดการของคนขาวมากกว่าใช้ความสามารถของตนในการปกป้องตัวเอง".[50] แม้ว่าทอมจะไม่ถูกลอบสังหารก่อนการตัดสิน แต่เขาก็ถูกยิงตายอย่างโหดเหี้ยมขณะพยายามหนีออกจากคุก

ความอยุติธรรมทางเชื้อชาติยังปรากฏในเนื้อเรื่องเป็นสัญลักษณ์อีกด้วย เช่นตอนที่แอตติคัสต้องยิงหมาบ้าทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ของเขา[51] แคโรลิน โจนส์ กล่าวว่าหมาบ้านั้นแสดงถึงอคติที่มีอยู่ในเมืองเมย์โคมบ์ และแอตติคัสซึ่งยืนคอยบนถนนไร้ผู้คนเพื่อยิงหมานั้น[52] ต้องต่อสู้กับการแบ่งแยกสีผิวโดยที่ไม่มีชาวผิวขาวคนใดช่วยเหลือ เขายังต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มคนที่พยายามฆ่าทอม โรบินสัน และต่อสู้ในศาลระหว่างการตัดสินคดีเพียงคนเดียวอีกด้วย ลีถึงกับใช้ภาพจินตนาการที่เหมือนอยู่ในฝันในฉากหมาบ้าเพื่อบรรยายฉากบางฉากในศาล โจนส์เขียนว่า "หมาบ้าที่แท้จริงในเมย์โคมบ์คือการแบ่งแยกเชื้อชาติที่ละทิ้งความเมตตาต่อทอม โรบินสัน"[52]

แม้ว่านวนิยายเรื่องนี้จะมีแก่นเรื่องเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันของเชื้อชาติ แต่ตัวละครชาวผิวดำกลับไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนักเมื่อเทียบกับชาวผิวขาว[53] หนังสือเล่มนี้ถูกมองว่าทำให้ตัวละครผิวดำขาดน้ำหนักไปด้วยการใช้คำศัพท์เหยียดเชื้อชาติ การวาดภาพตามแบบฉบับของคนดำว่าเป็นพวกงมงาย และลักษณะของคาลพัวร์เนียที่ดูเหมือน "ทาสผู้ซื่อสัตย์" ที่ถูกปรับให้เข้ากับยุคสมัย[54] แม้ว่าโดยทั่วไปเรื่องนี้จะมีผลลัพธ์ในทางบวกในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเชื่อชาติต่อผู้อ่านชาวผิวขาว มันกลับได้รับการตอบรับที่คลุมเครือจากผู้อ่านชาวผิวดำ หนังสือแนะนำการสอนสำหรับนวนิยายเรื่องนี้ซึ่งตีพิมพ์โดย เดอะ อิงลิช เจอร์นัล เตือนว่า "บางอย่างที่ดูวิเศษและมีพลังสำหรับนักเรียนกลุ่มหนึ่งอาจจะทำให้อีกกลุ่มสูญเสียความเคารพในตนเอง"[55] ที่ปรึกษาด้านภาษาชาวแคนาดาคนหนึ่งพบว่าหนังสือเล่มนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักเรียนผิวขาว แต่นักเรียนผิวดำกลับพบว่ามันทำให้เขาเสียความมั่นใจ นักเรียนคนหนึ่งที่เล่นบทคาลพัวร์เนียในละครโรงเรียนพูดถึงการแสดงของเธอว่า "เป็นมุมมองของคนขาว จากความคิดแบ่งแยกเชื้อชาติ คุณไม่ค่อยได้เห็นอะไรเกี่ยวกับตัวละครชาวแอฟริกันอเมริกัน คุณไม่ได้รู้จักพวกเขาในระดับบุคคล... ฉันรู้ว่าโดยพื้นฐานมันเกี่ยวกับการแบ่งแยกเชื้อชาติ แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดที่คุณจะได้จากเรื่องนี้"[56]

ชนชั้น

[แก้]

ในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2507 ลีกล่าวถึงความตั้งใจของเธอว่า “จะเป็นเจน ออสเตน แห่งแอละแบมาใต้[57] ทั้งออสเตนและลีต่างท้าทายการแบ่งสถานะทางสังคมและให้ความสำคัญกับคุณค่าของแต่ละบุคคลมากกว่าฐานะทางสังคม ตัวอย่างเช่น เมื่อสเกาต์ทำให้เพื่อนร่วมชั้นที่มีฐานะยากจนกว่าชื่อวอลเตอร์ คันนิงแฮม อับอายตอนที่เขามาบ้านฟินช์ คาลพัวร์เนีย แม่บ้านผิวดำก็ตำหนิและลงโทษเธอที่ทำอย่างนั้น[58] แอตติคัสให้ความเคารพการตัดสินใจของคาลพัวร์เนีย และหลังจากนั้นยังโต้แย้งพี่สาวของเขา หรือป้าอเล็กซานดราผู้น่าเกรงขาม เมื่อเธอเสนอให้ไล่คาลพัวร์เนียออก[59]

การดัดแปลง

[แก้]

ภาพยนตร์ใน พ.ศ. 2505

[แก้]

หนังสือเล่มนี้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันในปี พ.ศ. 2505 นำแสดงโดยเกรกอรี เป็กซึ่งรับบทแอตติคัส อลัน เจ. พาคูลา โปรดิวเซอร์ระลึกถึงตอนที่ผู้บริหารของพาราเมาต์พิกเจอส์ถามเขาถึงบทละคร "เขาถามว่า 'คุณวางแผนจะเล่าเรื่องอะไรในหนัง' ผมถามกลับว่า 'คุณอ่านหนังสือหรือยัง?' เขาตอบว่า 'อ่านแล้ว' ผมพูดว่า 'นั่นแหละเรื่อง'"[60] ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการตอบรับดีมาก โดยทำรายได้มากกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้างเพียง 2 ล้านเหรียญ และได้รับรางวัลออสการ์ 3 รางวัล ได้แก่รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมโดยเกรกอรี เป็ก รางวัลกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมโดยฮอร์ตัน ฟูต นอกจากนี้ยังได้รับการเสนอชื่ออีก 5 สาขา รวมทั้งสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมโดยแมรี แบดดามซึ่งรับบทสเกาต์[61]

ฮาร์เปอร์ ลี พอใจกับภาพยนตร์เป็นอย่างมาก เธอกล่าวว่า "ในหนังเรื่องนั้นคนและตัวละครได้มาพบกัน...ฉันได้รับข้อเสนอหลายต่อหลายครั้งให้เอามันไปทำละครเพลง ละครโทรทัศน์ หรือละครเวที แต่ฉันปฏิเสธตลอด หนังเรื่องนั้นเป็นผลงานศิลปะ"[62] ก่อนเริ่มถ่ายทำเป็กพบกับพ่อของลี ผู้ซึ่งเป็นต้นแบบของแอตติคัส พ่อของลีเสียชีวิตก่อนหนังเริ่มฉายและลีประทับใจกับการแสดงของเป็กมากจนเธอให้นาฬิกาพกของพ่อเธอแก่เป็ก ซึ่งเขาพกติดตัวไว้ในคืนที่เขาได้รับรางวัลออสการ์รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม[63] หลายปีต่อมา เขาลังเลที่จะบอกลีว่านาฬิกาเรือนนั้นถูกขโมยจากกระเป๋าเขาในสนามบินลอนดอนฮีทโธรว์ แต่เมื่อเขาบอกเธอ เขาเล่าว่าเธอตอบว่า " 'เอาเถอะ มันเป็นแค่นาฬิกาเรือนนึง' ฮาร์เปอร์รู้สึก แต่เธอไม่ใช่คนที่อ่อนไหวต่อสิ่งของ"[64] ลีและเป็กยังคงเป็นเพื่อนกันหลังจากภาพยนตร์นี้ หลานชายของเป็กถูกตั้งชื่อว่า "ฮาร์เปอร์" เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอ[65]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Crespino, Joseph (2000). "The Strange Career of Atticus Finch". Southern Cultures. University of North Carolina Press. 6 (2): 9–29.
  2. Pauli, Michelle (2006-03-02). "Harper Lee tops librarians' must-read list". Guardian Unlimited. สืบค้นเมื่อ 2008-02-13.
  3. "1962 Oscars - Academy Awards - Winners and Nominees". สืบค้นเมื่อ 2009-04-13.
  4. Charles J. Shields (2006-06-11). "'Mockingbird: A Portrait of Harper Lee". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2009-04-13.
  5. 5.0 5.1 "To Kill a Mockingbird About the Author". The Big Read, National Endowment for the Arts. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-16. สืบค้นเมื่อ 2009-04-13.
  6. Shields, Charles. Mockingbird: A Portrait of Harper Lee. Henry Holt and Co.: 2006, p. 79–99.
  7. "Nelle Harper Lee". Alabama Academy of Honor. Alabama Department of Archives and History. 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-18. สืบค้นเมื่อ 2007-11-13.
  8. Shields, p. 129.
  9. Shields, p. 14.
  10. Lacher, Irene (2005-05-21). "Harper Lee raises her low profile for a friend; The author of 'To Kill a Mockingbird' shuns fanfare. But for the kin of Gregory Peck". Los Angeles Times. p. E.1.
  11. Shields, p. 242.
  12. "Harper Lee," in American Decades. Gale Research, 1998.
  13. Shields, p. 120–121.
  14. Shields, p. 122–125.
  15. Shields, p. 40–41.
  16. "A writer's story: The mockingbird mystery". The Independence. 2006-06-04.
  17. Krebs, Albin. "Truman Capote Is Dead at 59; Novelist of Style and Clarity", The New York Times, August 26, 1984, p. 1.
  18. "Truman Capote". UXL Encyclopedia of World Biography. 2003. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-29. สืบค้นเมื่อ 2007-11-13.
  19. Fleming, Anne Taylor (1976-07-09). "The Private World of Truman Capote". The New York Times Magazine. p. SM6.
  20. Steinem, Gloria (November 1967). "Go Right Ahead and Ask Me Anything (And So She Did) : An Interview with Truman Capote". McCall's: 76.
  21. Hile, Kevin S. (August 1994). "Harper Lee". Authors and Artists for Young Adults. Vol. 13. ISBN 9780810385665.
  22. Bigg, Matthew (2007-09-23). "Novel Still Stirs Pride, Debate; 'Mockingbird' Draws Tourists to Town Coming to Grips With Its Past". The Washington Post. p. A3.
  23. Johnson, Boundaries p. 7–11.
  24. Shields, p. 118.
  25. 25.0 25.1 25.2 Chura, Patrick (Spring 2000). "Prolepsis and Anachronism: Emmet Till and the Historicity of To Kill a Mockingbird". Southern Literary Journal. 32 (2): 1.
  26. Dave, R.A. (1974). "Harper Lee's Tragic Vision". Indian Studies in American Fiction. MacMillan Company of India, Ltd. ISBN 978-0333900345.
  27. Graeme Dunphy, "Meena's Mockingbird: From ฮาร์เปอร์ ลี to Meera Syal", Neophilologus, 88 (2004) 637-660. PDF online เก็บถาวร 2009-03-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  28. Ward, L. "To Kill a Mockingbird (book review)." Commonwealth: December 9, 1960.
  29. Adams, Phoebe (August 1960). "To Kill a Mockingbird". The Atlantic Monthly. สืบค้นเมื่อ 2007-11-13.
  30. 30.0 30.1 LeMay, Harding (1960-07-10). "Children Play; Adults Betray". New York Herald Tribune.
  31. Hicks, Granville (1960-07-23). "Three at the Outset". Saturday Review. XLIII (30).
  32. 32.0 32.1 Tavernier-Courbin, Jacqueline (2007). "Humor and Humanity in To Kill a Mockingbird". ใน Alice Petry (บ.ก.). On Harper Lee: Essays and Reflections. University of Tennessee Press. ISBN 9781572335783.
  33. Lee, p. 46.
  34. Lee, p. 19.
  35. Boerman-Cornell, William (1999). "The Five Humors". English Journal. 88 (4): 66. doi:10.2307/822422.
  36. Lee, p. 133.
  37. Lee, p. 297.
  38. Johnson, Boundaries p. 20.
  39. Metress, Christopher (September 2003). "The Rise and Fall of Atticus Finch". The Chattahoochee Review. 24 (1).
  40. "Harper Lee Twits School Board In Virginia for Ban on Her Novel". The New York Times. 1966-01-16. p. 82.
  41. Johnson, Boundaries p. 20–24
  42. 42.0 42.1 Erisman, Fred (April 1973). "The Romantic Regionalism of ฮาร์เปอร์ ลี". The Alabama Review. XXVI (2).
  43. Henderson, R (1960-05-15). "To Kill a Mockingbird". Library Journal.
  44. Johnson, Claudia (1991). "The Secret Courts of Men's Hearts". Studies in American Fiction. 19 (2).
  45. Hovet, Theodore and Grace-Ann (2001). "'Fine Fancy Gentlemen' and 'Yappy Folk': Contending Voices in To Kill a Mockingbird". Southern Quarterly: A Journal of the Arts in the South. 40.
  46. Flora, Joseph (2006). "Harper Lee". Southern Writers: A New Biographical Dictionary. Louisiana State University Press.
  47. Johnson, Boundaries p. xi–xiv
  48. Bloom, Harold (1999). Modern Critical Interpretations: 'To Kill a Mockingbird'. Philadelphia: Chelsea House Publishers.
  49. Shields, p. 219–220, 223, 233–235
  50. Siegel, Roslyn (1976). "The Black Man and the Macabre in American Literature". Black American Literature Forum. Indiana State University. 10: 133. doi:10.2307/3041614.
  51. Lee, p. 107–113.
  52. 52.0 52.1 Jones, Carolyn (1996). "Atticus Finch and the Mad Dog". Southern Quarterly: A Journal of the Arts in the South. 34 (4).
  53. Baecker, Diane (1998). "Telling It In Black and White: The Importance of the Africanist Presence in To Kill a Mockingbird". Southern Quarterly: A Journal of the Arts in the South. 36 (3): 124–32.
  54. Banfield, Beryle (1998). "Commitment to Change: The Council on Interracial Books for Children and the World of Children's Books". African American Review. Indiana State University. 32: 17. doi:10.2307/3042264.
  55. Suhor, Charles; Bell, Larry (1997). "Preparing to teach To Kill a Mockingbird". English Journal. National Council of Teachers of English. 86 (4): 1–16.
  56. Martelle, Scott (2000-06-28). "A Different Read on 'Mockingbird'; Long a classroom starting point for lessons about intolerance, the Harper Lee classic is being reexamined by some who find its perspective limited". Los Angeles Times. p. 6.
  57. Blackall, Jean (2007). "Valorizing the Commonplace: Harper Lee's Response to Jane Austen". ใน Alice Petry (บ.ก.). On Harper Lee: Essays and Reflections. University of Tennessee Press. ISBN 9781572335783.
  58. Lee, p. 27.
  59. Lee, p. 155.
  60. Nichols, Peter (1998-02-27). "Time Can't Kill 'Mockingbird' [Review]". The New York Times. p. E.1.
  61. "To Kill a Mockingbird (film)". Academy of Motion Picture Arts and Sciences. สืบค้นเมื่อ 2008-03-29.
  62. Jones, Carolyn "Harper Lee", in The History of Southern Women's Literature, Carolyn Perry (ed.): Louisiana State University Press (2002). ISBN 978-0-8071-2753-7
  63. Bobbin, Jay (December 21, 1997). "Gregory Peck is Atticus Finch in Harper Lee's To Kill a Mockingbird", The Birmingham News (Alabama), p. 1.F
  64. King, Susan (December 22, 1997). "How the Finch Stole Christmas; Q & A With Gregory Peck" , Los Angeles Times, p. 1
  65. King, Susan(October 18, 1999). "Q&A; Film Honors Peck, 'Perfectly Happy' in a Busy Retirement", Los Angeles Times, p. 4