ข้ามไปเนื้อหา

จักรพรรดิเถี่ยว จิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Thiệu Trị)
จักรพรรดิเถี่ยว จิ
จักรพรรดิแห่งเวียดนาม
ครองราชย์ค.ศ. 1841 – ค.ศ. 1847
ก่อนหน้าจักรพรรดิมิญ หมั่ง
ถัดไปจักรพรรดิตึ ดึ๊ก
ประสูติ16 มิถุนายน ค.ศ. 1807
ฟู้ซวน อาณาจักรดั่ยนาม
สวรรคต4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1847(1847-11-04) (40 ปี)
ฟู้ซวน อาณาจักรดั่ยนาม
ฝังพระศพสุสานหลวงเซืองลัง
คู่อภิเษกจักรพรรดินีงี เทียน
พระราชบุตรเหงียน ฟุก ห่ง เหญิ่ม
เหงียน ฟุก ห่ง เสิ่ต
และพระราชโอรสอีก 27 พระองค์และพระราชธิดาอีก 35 พระองค์
ราชวงศ์ราชวงศ์เหงียน
พระราชบิดาจักรพรรดิมิญ หมั่ง
พระราชมารดาจักรพรรดินีต๊า เทียน
ศาสนาขงจื๊อ

เถี่ยว จิ (เวียดนาม: Thiệu Trị, 紹治 ; 6 มิถุนายน ค.ศ. 1807 - 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1847) พงศาวดารไทยเรียก เทียวตรี[1][2] หรือพระนามาภิไธยเดิม เหงียน ฟุก เมียน ตง (Nguyễn Phúc Miên Tông, 阮福綿宗) พงศาวดารไทยเรียก เตืองคันชือมินตง[1] เป็นจักรพรรดิเวียดนามแห่งราชวงศ์เหงียนพระองค์ที่ 3 ทรงครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1841 จนเสด็จสวรรคตในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1847[3]

พระประวัติ

[แก้]

ทรงพระเยาว์

[แก้]

จักรพรรดิเถี่ยว จิ มีพระนามเดิมว่า เหงียน ฟุก เมียน ตง (Nguyễn Phúc Miên Tông, 阮福綿宗) ประสูติเมื่อ ค.ศ. 1807 เป็นพระราชโอรสองค์โตของเหงียน ฟุก ด๋าม (Nguyễn Phúc Đảm, 阮福膽) ที่ประสูติแต่โห่ ถิ ฮวา (Hồ Thị Hoa, 胡氏華) หลังจากที่เจ้าชายเหงียนฟุกเมียงตงประสูติได้สิบสามวัน พระนางโห่ถิฮวาพระมารดาประชวรสิ้นพระชนม์ เจ้าชายเหงียนฟุกด๋ามพระราชบิดาขึ้นครองราชสมบัติเป็นจักรพรรดิมิญ หมั่ง ใน ค.ศ. 1820

ใน ค.ศ. 1830 เหงียน ฟุก เมียน ตงทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น เจ้าชายเจื่องคั๊ญกง (Trường Khánh Công, 長慶公) เมื่อพระราชบิดาพระจักรพรรดิมิญหมั่งเสด็จสวรรคตเมื่อค.ศ. 1841 เจ้าชายเจื่องคั๊ญกงเหงียนฟุกเมียนตงในฐานะที่ทรงเป็นพระโอรสองค์โตจึงขึ้นครองราชสมบัติต่อมา ขณะนั้นพระชนมายุ 34 ชันษา ประกาศใช้รัชศก "เถี่ยว จิ" (Thiệu Trị, 紹治) แปลว่า "การปกครองที่ต่อเนื่อง" (พงศาวดารไทยว่า พระเจ้าเวียดนามเทียวตรี)

รัชสมัย

[แก้]

อานามสยามยุทธ

[แก้]

พระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงรับช่วงต่อสงครามอานามสยามยุทธมาจากรัชสมัยของพระราชบิดาพระจักรพรรดิมิญหมั่ง เวียดนามเข้าครอบครองอาณาจักรกัมพูชาไว้ตั้งแต่ปีค.ศ. 1834 โดยตั้งนักองค์มี ขึ้นเป็นกษัตรีองค์มีเป็นกษัตริย์หุ่นเชิดของราชสำนักเวียดนามในการปกครองกัมพูชา ผนวกกัมพูชาเข้าเป็นมณฑลหนึ่งของเวียดนามมีชื่อว่า เจิ๊นเต็ย (Trấn Tây, 鎮西) และมีเจืองมิญสาง (Trương Minh Giảng, 張明講) หรือที่รู้จักในพงศาวดารไทยว่า องเตียนกุน เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระจักรพรรดิมีอำนาจเหนือกัมพูชา นโยบายการกลืนชาติของพระจักรพรรดิมิญหมั่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวเขมร ชาวเขมรถูกบังคับให้นับถือลัทธิขงจื้อและแต่งกายแบบเวียดนาม ในค.ศ. 1841 พระจักรพรรดิมิญหมั่งทรงปลดกษัตรีองค์มีออกจากราชบัลลังก์เขมร ทำให้อาณาจักรเขมรปราศจากเจ้าปกครอง บรรดาขุนนางเขมรต่างตั้งตนเป็นอิสระ

หลังจากที่พระจักรพรรดิมิญหมั่งเสด็จสวรรคต ชาวกัมพูชาก่อการกบฎต่อต้านการปกครองของเวียดนาม สังหารข้าราชการชาวเวียดนามไปจำนวนมาก องเตียนกุนเจืองมิญสางจึงพยายามที่จะแก้ไขปัญหาโดยการนำกษัตรีองค์มีกลับมาครองกัมพูชาอีกครั้ง แต่ทว่าไม่ทันการฝ่ายกองทัพและฝ่ายการปกครองของเวียดนามไม่อาจตั้งอยู่ในกัมพูชาได้อีกต่อไป ในค.ศ. 1841 เจืองมิญสางจึงนำกองทัพเวียดนามพร้อมทั้งนักองค์มีล่าถอยกลับมายังเมืองโจฏก หรือ เจิวด๊ก (Châu Đốc) ในเวียดนามภาคใต้ เจืองมิญสางเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ที่ไม่อาจรักษากัมพูชาไว้ได้ จึงกระทำการอัตวินิบาตกรรมดื่มยาพิษเสียชีวิตไปในที่สุด ในโอกาสนี้ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ยกทัพฝ่ายสยามเข้าครองนครอุดงมีชัยและนครพนมเปญได้อย่างรวดเร็ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงเป็นแม่ทัพเรือนำทัพเรือสยามเข้าโจมตีเมืองบันทายมาศ และโปรดฯให้เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) พร้อมทั้งนักองค์ด้วงนำทัพบกยกไปทางเมืองโจฏก พระจักรพรรดิเถี่ยวจิมีพระราชโองการให้ เหงียนจิเฟือง (Nguyễn Tri Phương, 阮知方) ยกทัพจากเมืองไซ่ง่อนเข้าช่วยเหลือและป้องกันเองบันทายมาศจากการโจมตีของทัพเรือสยาม ฝ่ายทัพเรือสยามเมื่อทราบว่าฝ่ายเวียดนามกำลังจะยกทัพใหญ่มาช่วยเมืองบันทายมาศ และลมมรสุมไม่เอื้ออำนวย จึงยกทัพเรือถอยออกจากเมืองบันทายมาศ[4] เหงียนจิเฟืองเมื่อเห็นว่าทัพเรือสยามยกกลับไปแล้ว จึงยกทัพเข้าโจมตีทัพสยามของเจ้าพระยายมราชและนักองค์ด้วงที่เมืองโจฏกแตกพ่ายไป

ในค.ศ. 1845 กองทัพฝ่ายเวียดนามยกทัพมายึดเมืองพนมเปญจากสยามกลับไปได้สำเร็จอีกครั้ง และยกทัพเข้ารุกรานเมืองอุดงมีชัย แต่ยังไม่ทันที่กองทัพจะถึงเมืองอุดง เจ้าพระยาบดินทรเดชานำทัพสยามเข้าโจมตีทัพเวียดนามอย่างไม่ทันรู้ตัวจนแตกพ่ายไป[5] ฝ่ายเวียดนามจึงตั้งมั่นอยู่ที่นครพนมเปญ เมื่อสงครามระหว่างเวียดนามและสยามดำเนินมาเป็นเวลาสิบกว่าปีอย่างไม่ประสบผล ทั้งฝ่ายต่างคุมเชิงกันไม่สามารถเอาชนะซึ่งกันและกันได้ สูญเสียกำลังคนและทรัพยากร การเจรจาจึงเริ่มขึ้นด้วยการราชสำนักเวียดนามมีพระราชสาสน์ไปถึงนักองค์ด้วงว่า หากยอมสวามิภักดิ์ต่อเมืองเว้จะมอบเชื้อพระวงศ์เขมรที่เคยถูกจับไปเป็นองค์ประกันที่เมืองเว้กลับคืนให่แก่นักองค์ด้วง[6] ทางฝ่ายสยามส่งราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรียังเมืองเว้ในค.ศ. 1846 แม้ว่าทางราชสำนักเวียดนามจะต้อนรับทูตสยามอย่างเย็นชาและพระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงไม่ตรัสปราศรัยกับคณะทูตสยามแต่ประการใดเลยก็ตาม[7]

การรุกรานของฝรั่งเศส

[แก้]

พระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงยืดถือหลักการลัทธิขงจื้อให้เป็นศาสนาประจำชาติเวียดนาม เฉกเช่นเดียวกับพระจักรพรรดิมิญหมั่งพระราชชนก นับตั้งแต่รัชสมัยของพระจักรพรรดิมิญหมั่ง มิชชันนารีชาวตะวันตกได้เข้ามาเผยแพร่หลักคำสอนของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ราชสำนักเวียดนามมองว่าศาสนาคริสต์เป็นลัทธินอกรีต พระจักรพรรดิมิญหมั่งทรงมีพระราชโองการห้ามมิให้มิชชันนารีชาวตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ตั้งแต่ค.ศ. 1825 แต่ทว่าพระราชโองการนั้นถูกบังคับใช้อย่างไม่เต็มที่และยังคงมีมิชชันนารีชาวตะวันตกเข้ามาในเวียดนามอยู่เป็นจำนวนมาก ในช่วงปลายรัชสมัยมิญหมั่งจึงมีการกดขี่เข่มเหงประหารชาวคริสเตียนจำนวนมาก การประทุษร้ายชาวคริสเตียนในเวียดนามทั้งชาวตะวันตกและชาวเวียดนามนั้น เปิดโอกาสให้มหาอำนาจตะวันตกคือฝรั่งเศสใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ายึดดินแดนเวียดนาม มิชชันนารีดอมีนิก เลอแฟบฟวร์ (Dominique Lefèbvre) ได้ลักลอบเดินทางเข้ามายังอาณาจักรดั่ยเหวียดเพื่อเผยแพร่ศาสนาในค.ศ. 1838 รัชกาลพระเจ้ามิญหมั่ง

เหรียญที่ใช้ในรัชสมัยของพระองค์

ในค.ศ. 1843 ฝรั่งเศสได้นำเรือรบชื่อว่า เอรวน (Héroine) มาปิดล้องเมืองท่าดานัง หรือที่ฝรั่งเศสเรียกว่าตูราน (Tourane) เพื่อกดดันให้ราชสำนักเวียดนามปล่อยตัวมิชชันนารีห้าคนซึ่งถูกจองจำไว้ในเมืองเว้ ทางราชสำนักเวียดนามจึงยอมปล่อยตัวมิชชันนารีทั้งห้าคนโดยดี[8][9] ในค.ศ. 1845 มิชชันนารี ดอมีนิก เลอแฟบฟวร์ ถูกจับตัวได้และได้รับการตัดสินโทษประหารชีวิต ทางการฝรั่งเศสจึงร้องขอต่อราชสำนักเมืองเว้ ผ่านทางเรือรบของสหรัฐอเมริกาที่ชื่อว่า ยูเอสเอส คอนสติทิวชั่น (USS Constitution) ซึ่งนำโดยกัปตันจอห์น เพอร์ซิวัล (John Percival) การเจรจาของนายจอห์นเพอร์ซิวัลกับราชสำนักเวียดนามในการปล่อยตัวมิชชันนารีไม่เป็นผล ประกอบกับการที่สหราชอาณาจักรเพิ่งจะได้รับชัยชนะเหนือจักรวรรดิจีนราชวงศ์ชิงในสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่ง รัฐบาลฝรั่งเศสเกรงว่าสหราชอาณาจักรจะแผ่ขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกแต่เพียงผู้เดียว จึงส่งแม่ทัพเรือ ฌ็อง- บาติสต์ เซซีย์ (Jean-Baptiste Cécille) นำทัพเรือฝรั่งเศสเข้ามาในทะเลจีนใต้เพื่อจัดการเรื่องจีนและเวียดนาม ราชสำนักเมืองเว้ยินยอมปล่อยตัวมิชชันนารีเลอแฟบฟวร์แต่โดยดี

แต่ทว่ามิชชันนารีเลอแฟบฟวร์ได้ลักลอบเดินทางเข้าไปในเวียดนามอีกครั้งในค.ศ. 1847 และถูกจับได้พร้อมกับมิชชันนารีอีคนหนึ่งชื่อว่าดูโกล (Duclos) ฝ่ายแม่ทัพฝรั่งเศสเซซีย์เมื่อทราบว่ามิชชันนารีเลอแฟบฟวร์ถูกทางการเวียดนามจับกุมตัวอีกครั้ง จึงนำเรือรบสองลำชื่อว่า กลัวร์ (Gloire) และ วิกโตรืส (Victorieuse) เข้าปิดล้อมเมืองท่าดานังในวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1847 เพื่อกดดันให้ทางการเวียดนามปล่อยตัวมิชชันนารีทั้งสองคน และเรียกร้องให้พระจักรพรรดิเถี่ยวจิพระราชทานเสรีภาพในการนับถือศาสนาให้แก่ชาวคริสเตียนในเวียดนาม แต่ทว่าราชสำนักเวียดนามปฏิเสธการเจรจาใดๆ และส่งเรือรบเวียดนามหกลำเข้าโจมตีเรือกลัวร์และวิกโตรืส เรือทั้งสองฝรั่งเศสจึงตอบโต้ด้วยการยิงปืนใหญ่เข้าทำลายเรือรบของเวียดนามไปสี่ลำ และสังหารทหารเวียดนามไปประมาณหนึ่งพันสองร้อยคน เมื่อเสร็จสิ้นการโจมตีแล้วแม่ทัพเซซีย์ได้นำเรืองฝรั่งเศสทั้งสองออกไปจากดานังทันที เมื่อประสบกับความพ่ายแพ้ราชสำนักเวียดนามจึงยินยอมปล่อยตัวมิชชันนารีทั้งสองแต่โดยดี

พระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงประกาศว่ามิชชันนารีทั้งหมดเป็นสายลับของศัตรูและมีรับสั่งให้ประหารชีวิตผู้นับถือศาสนาคริสต์ทั้งหมดในทันที แต่เสนาอำมาตย์ก็ไม่ได้ทำตามพระราชโองการ และพระองค์ก็สวรรคตในเวลาไม่นาน ไม่มีมิชชันนารีคนใดถูกประหารในรัชสมัยของพระองค์[10] การต่อสู้ปะทะกันระหว่างราชสำนักเวียดนามและราชสำนักฝรั่งเศสในค.ศ. 1847 เป็นครั้งแรก และจะยังมีความขัดแย้งอีกในอนาคตเนื่องจากราชสำนักเวียดนามยังคงยึดมั่นในนโยบายการข่มเหงชาวคริสเตียน จนนำไปสู่การสูญเสียดินแดนและการสูญเสียเอกราชของประเทศเวียดนามในที่สุด

ปลายรัชสมัย

[แก้]

ในค.ศ. 1846 พระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงแต่งตั้งให้นักองค์ด้วงเป็น กาวเมียนโกว๊กเวือง (Cao Miên Quốc vương , 高棉國王) หรือ "กษัตริย์แห่งเขมร" พร้อมทั้งพระราชทานตราตั้งและเสื้อผ้าอาภรณ์เครื่องประกอบยศต่างๆ[11] ในฐานะเจ้าประเทศราชของอาณาจักรดั่ยเหวิยด ส่งบรรณาการให้แก่ทั้งราชสำนักเวียดนามเมืองเว้และฝ่ายสยามกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการสิ้นสุดความขัดแย้งเหนืออาณาจักรกัมพูชาระหว่างเวียดนามและสยามที่ยืดเยื้อกินเวลามากกว่าสิบปี

ในรัชกาลของพระจักรพรรดิเถี่ยวจินั้นไม่มีการแต่งตั้งท้ายตื๋อ หรือ เจ้าชายรัชทายาท ตามหลักการของลัทธิขงจื้อ ซึ่งให้ความสำคัญแก่บุตรชายคนโตมากที่สุด ทำให้เป็นที่คาดการณ์ว่า พระโอรสองค์โตของจักรพรรดิเถี่ยวจิคือ เจ้าชายอันเฟิงกง (An Phong công, 安豐公) เหงียนฟุกห่งบ๋าว (Nguyễn Phúc Hồng Bảo, 阮福洪保) จะได้ครองราชสมบัติต่อจากพระชนกาธิราช แต่ทว่าหลังจากที่พระจักรพรรดิเถี่ยวจิเสด็จสวรรคตเมื่อค.ศ. 1847 นั้น เมื่อเปิดพระราชโองการออกดูปรากฏว่า พระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงยกราชสมบัติให้แก่พระโอรสองค์รองคือ เจ้าชายฟุกตวีกง (Phúc Tuy công, 福隆公) เหงียนฟุกห่งเหญิ่ม (Nguyễn Phúc Hồng Nhậm, 阮福洪任) จักรพรรดิเถี่ยวจิโปรดพระโอรสองค์รองเจ้าชายฟุกตวีกงเหงียนฟุกห่งเหญิ่มมากกว่า เนื่องเจ้าชายเหงียนฟุกห่งเหญิ่มทรงมีนโยบายต่อต้านการขยายอำนาจของชาติตะวันตก[12] เจ้าชายเหงียนฟุกห่งเหญิ่มจึงขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระจักรพรรดิเถี่ยวจิ เป็น พระจักรพรรดิตึ ดึ๊ก (Tự Đức, 嗣德)

พระจักรพรรดิเถี่ยวจิเสด็จสวรรคตเมื่อค.ศ. 1847 พระชนมายุได้ 46 ชันษา ทรงได้รับพระนามที่ศาลบรรพกษัตริย์ว่า พระจักรพรรดิเฮี้ยนโต๋ (Hiến Tổ, 憲祖) พระสุสานพระนามว่า เซืองลัง (Xương Lăng, 昌陵)

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560, หน้า 234
  2. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560, หน้า 306
  3. Erica J. Peters - Appetites and Aspirations in Vietnam: 2011 -Page 32 "Tự Đức (1847–1883) Minh Mạng's eldest son, Thiệu Trị, ruled from his father's death in 1841 until his own demise in 1847. Thiệu Trị passed over his eldest son to leave the throne to his second son, who ruled from 1847 to 1883"
  4. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). "๑๘๒. หนังสือบอกจมื่นไวยวรนารถถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชาเรื่องถอยทัพเรือ". พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
  5. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). "๒๑๔. เจ้าพระยาบดินทรเดชาตีทัพญวนแตกถอยไป". พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
  6. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). "๒๑๘. ญวนพูดกับเจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นทางไมตรี". พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
  7. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). "๒๓๑. ราชทูตที่ไปเมืองเว้เฝ้าเจ้าเวียดนาม". พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
  8. Jacob Ramsay Mandarins and Martyrs: The Church and the Nguyen Dynasty 2008 "The start of Thiệu Trị's reign saw, for example, an immediate revival of Buddhism at court. A devout Buddhist, Thiệu Trị ordered elaborate mourning rites for his father's funeral."
  9. Nghia M. Vo Saigon: A History -2011 Page 59 "In March 1843, the Heroine arrived in Đà Nẳng harbor, asking for the release of five imprisoned missionaries. King Thiệu Trị complied."
  10. Charles Keith - Catholic Vietnam: A Church from Empire to Nation -2012 Page 46 "The French raids at Đà nẵng in 1847 ended Thiệu Trị's more relaxed policies toward Catholics, and his successor the Tự Đức emperor, who came to power shortly thereafter, issued in the late 1840s and early 1850s a new wave of edicts ..."
  11. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). "๒๓๒. เจ้าเวียดนามให้พระองค์ด้วงเป็นเกามันกวัดเวือง". พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
  12. Bunbury, Turtle. 1847: A Chronicle of Genius, Generosity & Savagery. Gill & Macmillan Ltd, 23 ก.ย. 2559.
ก่อนหน้า จักรพรรดิเถี่ยว จิ ถัดไป
จักรพรรดิมิญ หมั่ง จักรพรรดิแห่งเวียดนาม
(เหงียน)

(ค.ศ. 1841 – ค.ศ. 1847)
จักรพรรดิตึ ดึ๊ก