ข้ามไปเนื้อหา

การข่มขืนสตรีชาวซาบีน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก The Rape of the Sabine Women)
“การข่มขืนสตรีชาวซาบีน” โดยจามโบโลนยา ภาพแกะเดียวกับประติมากรรมที่ลอจเจียเดอิลันซิในฟลอเรนซ์
“การข่มขืนสตรีชาวซาบีน” โดยโยฮันน์ ไฮน์ริค เชินเฟลด์ (Johann Heinrich Schönfeld)

การข่มขืนสตรีชาวซาบีน (อังกฤษ: The Rape of the Sabine Women) เป็นส่วนหนึ่งของตำนานประวัติศาสตร์โรมที่กล่าวว่าชาวโรมันรุ่นแรกไปเอาภรรยามาจากซาบีนที่อยู่ไม่ไกลนัก (ในบริบทนี้ “การข่มขืน” หมายถึง “การลักพา” หรือ “Rape” ที่มีรากมาจากคำว่า “raptio” ไม่ใช่ในความหมายของการข่มขืนที่เข้าใจกันในสมัยปัจจุบัน) จากคำบอกเล่าของนักประวัติศาสตร์โรมันลิวี และพลูทาร์ค (ในหนังสือ “Parallel Lives” II, 15 และ 19) หัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่นิยมกันในการสร้างงานศิลปะในยุคเรอเนสซองซ์และต่อมา ซึ่งเป็นการใช้หัวเรื่องในการสื่อความหมายที่ส่งเสริมให้เกิดแรงบันดาลใจในทางความกล้าหาญของชาวโรมันโบราณและสำหรับศิลปินก็เป็นโอกาสที่จะสร้างภาพที่ประกอบด้วยคนหลายคนที่รวมทั้งร่างสตรีที่กำลังต่อสู้ดิ้นรน หัวเรื่องในทำนองเดียวกันจากสมัยโรมันโบราณก็ได้แก่ยุทธการระหว่างลาพิธและเซนทอร์ (Lapith) และหัวเรื่อง สงครามอะเมซอน (Amazonomachy) ซึ่งเป็นยุทธการระหว่างเธเซียสและนักรบอะเมซอน หรือเทียบได้กับตำนานคริสต์ศาสนาในหัวข้อการสังหารเด็กบริสุทธิ์ (Massacre of the Innocents)

เนื้อหาของเรื่อง

[แก้]

การข่มขืนกล่าวกันว่าเกิดขึ้นในระยะแรกของประวัติศาสตร์โรมันไม่นานหลังจากการก่อตั้งโรมโดยรอมิวลุสและสหาย หลังจากก่อสร้างเมืองแล้วชายชาวโรมันก็ไปต่อรองเจรจากับชาวซาบีนที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันพื่อจะหาภรรยามาสร้างครอบครัว แต่ความที่ชาวซาบีนกลัวอำนาจของโรมที่กำลังจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจึงปฏิเสธไม่ให้สตรีชาวซาบีนไปแต่งงานกับชาวโรมัน ชาวโรมันจึงวางแผนลักตัวสตรีชาวซาบีน โดยการที่รอมิวลุสเชิญครอบครัวชาวซาบีนมาร่วมในงานฉลองเทพเนปจูน เมื่อมาถึงรอมิวลุสก็ให้สัญญาณต่อชายชาวโรมันให้ลักตัวสตรีชาวซาบีน ผู้ที่ถูกลักพามาก็มาถูกเกลี้ยกล่อมโดยรอมิวลุสให้ยอมรับชาวโรมันเป็นสามี

ลิวียืนยันว่าการข่มขืนมิได้เกิดขึ้น และตรงกันข้ามรอมิวลุสเปิดโอกาสให้สตรีมีสิทธิเลือกได้ตามแต่ใจและสัญญาว่าจะมอบสิทธิถ้ายอมเป็นภรรยาก็จะได้รับสิทธิพลเมืองและสิทธิในทรัพย์สิน ตามบันทึกของลิวี รอมิวลุสเกลี้ยกล่อมสตรีเป็นคน ๆ ไป โดยชี้ให้เห็นว่าการที่บิดามารดาของสตรีเหล่านั้นห้ามมิให้แต่งงานกับชาวโรมันก็เพราะความต้องการรักษาศักดิ์ศรี และถ้ายอมเป็นภรรยาก็จะได้มีชีวิตอย่างมีเกียรติและได้รับสิทธิในทรัพย์สินและการเป็นพลเมืองซึ่งเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนต้องการ และจะได้เป็นมารดาของผู้มีเสรีภาพ[1]

สตรีชาวซาบีนจึงตกลงแต่งงานกับชาวโรมัน แต่ชาวซาบีนก็ยกทัพตามมาทำสงครามกับชาวโรมัน ความขัดแย้งยุติลงเมื่อสตรีชาวซาบีนหลังจากมีลูกให้สามีชาวโรมันแล้วเข้าช่วยประนีประนอมทั้งสองฝ่ายให้สองฝ่ายได้คิด

สตรีชาวซาบีนฝ่าเข้าไปในสนามรบท่ามกลางอาวุธที่ปลิวว่อนที่ทำให้เผ้าผมกระเจิดกระเจิงและเครื่องแต่งกายหลุดลุ่ยอย่างกล้าหาญ เธอทั้งหลายวิ่งฝ่าเข้าไประหว่างกองทัพทั้งสองกองทัพ พยายามที่จะหยุดยั้งการต่อสู้และพยายามหยุดยั้งความรู้สึกเร่าร้อน โดยร้องขอให้ทั้งฝ่ายกองทัพซาบีนและกองทัพโรมของสามีให้หยุดยั้งการพยายามเข่นฆ่าอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นลูกเขยและพ่อตา เพื่อจะหยุดยั้งการฆ่าพี่น้องกันเอง
และแล้วสตรีชาวซาบีนก็ร้องว่า “ถ้าท่านทั้งหลายไม่ต้องการการแต่งงานที่เกิดขึ้น ท่านก็ควรจะหันมาเอาโทษกับพวกข้า เพราะพวกข้าเองที่เป็นต้นเหตุของสงคราม เพราะตัวข้าเองคือสาเหตุของการบาดเจ็บและเสียชีวิตของพ่อและสามี ให้พวกข้าตายเสียดีกว่าที่จะถูกทิ้งให้ขาดพ่อและสามีให้เป็นแม่หม้ายและลูกกำพร้า”[1]

งานศิลปะ

[แก้]
“การข่มขืนสตรีชาวซาบีน” โดย นิโคลาส์ ปูแซน ค.ศ. 1634-1635 (พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิตัน)
“การข่มขืนสตรีชาวซาบีน” โดย นิโคลาส์ ปูแซน ค.ศ. 1637–1638 (พิพิธภัณฑ์ลูฟร์)

ในยุคเรอเนสซองซ์หัวเรื่องนี้เป็นที่นิยมกันในการใช้สร้างงานศิลปะเพราะเป็นเรื่องที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของการสมรสเพื่อการดำรงความต่อเนื่องของตระกูลและวัฒนธรรม และมักจะเป็นภาพที่มักจะวาดบนหีบคัสโซเน (Cassone) ซึ่งเป็นหีบของมีค่าของผู้มีฐานะที่มักจะมอบให้เป็นของขวัญแก่เจ้าสาวในยุคกลาง ตัวอย่างงานชิ้นสำคัญ ๆ ของหัวเรื่องนี้ก็ได้แก่งานของ:

จามโบโลนยา

[แก้]

ประติมากรรม “การข่มขืนสตรีชาวซาบีน” โดย จามโบโลนยา (Giambologna) ประกอบด้วยบุคคลสามคนเป็นชายยกสตรีลอยขึ้นและชายอีกคนหนึ่งหมอบอยู่ข้างล่าง เป็นงานที่แกะจากหินอ่อนชิ้นเดียว และถือว่าเป็นงานชิ้นเอกของจามโบโลนยา[2] จุดประสงค์ของการสร้างงานครั้งแรกก็เพื่อเป็นการแสดงความสามารถของประติมากรในการสร้างงานที่ซับซ้อนของการแกะกลุ่มคน หลังจากนั้นฟรานเชสโคที่ 1 เดอ เมดิชิก็ประกาศให้นำประติมากรรมชิ้นนี้ตั้งแสดงที่ลอจเจียเดอิลันซิ (Loggia dei Lanzi) ที่จตุรัสเดลลาซินยอเรีย (Piazza della Signoria) ในฟลอเรนซ์ ลักษณะของประติมากรรมเป็นแบบแมนเนอริสม์แท้ที่เป็นประติมกรรมของกลุ่มคนที่แน่นและเกี่ยวพันกันที่แสดงสื่ออารมณ์หลายอารมณ์อันรุนแรง การวางรูปก็สามารถมองได้จากหลายมุมมอง เมื่อเทียบกับกับความรู้สึกสงบที่กำจายมาจากประติมากรรมเดวิดโดยไมเคิล แอนเจโลที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกันนักที่แกะเสร็จเกือบ 80 ปีก่อนหน้านั้น งานชิ้นนี้เต็มไปด้วยไดนามิคของความเคลื่อนไหวที่มีแนวโน้มไปทางศิลปะบาโรก แต่ถูกรัดอยู่ในกรอบทางดิ่งที่แคบและแน่น เพราะความจำกัดด้วยขนาดของหินที่แกะที่เป็นก้อนเดียวโดด ๆ ขาดการกระจายตามแนวนอนที่จานโลเรนโซ แบร์นินีสามารถทำได้ในงานประติมากรรม “การข่มขืนพรอสเซอร์พินา” และ “อพอลโลและดาฟนี” (Apollo and Daphne) ที่แกะสี่สิบปีต่อมา (งานทั้งสองชิ้นนี้ตั้งแสดงอยู่ที่ หอศิลป์บอร์เกเซ ในกรุงโรม)

ก่อนที่จะแกะสลักก็เสนอกันว่าจะเป็นรูปที่ตั้งตรงข้ามกับประติมากรรมรูปเพอร์ซิอุสโดยเบ็นเวนุโต เชลลินิ (Benvenuto Cellini) จึงทำให้เสนอกันว่าน่าจะแกะเป็นรูปที่มีหัวเรื่องที่คล้องจองกับภาพที่ตั้งอยู่แล้ว เช่นอาจจะเป็นรูปการข่มขืนของอันโดรเมดาโดยฟิเนอุส นอกจากนั้นก็ยังมีการแนะนำหัวเรื่องการข่มขืนของพรอสเซอร์พินา (Proserpina) หรือของเฮเลน แต่ในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่าให้เป็นสตรีซาบีน

งานแกะสลักลงชื่อว่า “OPVS IOANNIS BOLONII FLANDRI MDLXXXII” (“งานโดยโยฮันน์ส แห่งบูลอยน์แห่งฟลานเดอร์ส, 1582”) งานที่สร้างเตรียมก่อนแกะเป็นงานสำริดที่ประกอบด้วยตัวแบบเพียงสองตัวที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งคาโปดิมอนเตที่เนเปิลส์ จามโบโลนยาเปลี่ยนจากงานร่างมาเป็นสามตัวแบบในงานขี้ผึ้งที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วิคตอเรียและอัลเบิร์ตในกรุงลอนดอน งานแกะจริงทำในปี ค.ศ. 1582 และตั้งแสดงอยู่ที่สถาบันแห่งศิลปะแห่งการออกแบบ (Accademia dell'Arte del Disegno) ในฟลอเรนซ์

งานจำลองย่อส่วนที่ทำด้วยสำริดที่ทำโดยห้องแกะสลักของจามโบโลนยาเองที่ได้รับการเลียนแบบโดยผู้อื่นเป็นงานที่นักสะสมศิลปะนิยมสะสมกันมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19

นิโคลาส์ ปูแซน

[แก้]

นิโคลาส์ ปูแซนสร้างงานในหัวข้อนี้สองภาพซึ่งเป็นการทำให้ทราบถึงความรู้และความสามารถของปูแซนในการเขียนหัวเรื่องคลาสสิกที่ไม่มีใครเทียมได้ และเป็นภาพที่แสดงความซับซ้อนในการผูกความสัมพันธ์อันซับซ้อนของตัวแบบภายในภาพที่มีจำนวนมากมาย ภาพแรกที่เขียนตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิตันในนครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นภาพที่เขียนที่โรมระหว่างปี ค.ศ. 1634 ถึงปี ค.ศ. 1635 ในภาพรอมิวลุสยืนอยู่ทางซ้ายของภาพให้สัญญาณในการลักพาสตรีชาวซาบีน

และอีกภาพหนึ่งเขียนระหว่างปี ค.ศ. 1637 ถึงปี ค.ศ. 1638 ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ แม้ว่าจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับภาพแรกแต่เพิ่มรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมเข้าไปมากกว่าภาพแรก

ปีเตอร์ พอล รูเบนส์

[แก้]

“การข่มขืนสตรีชาวซาบีน” โดย ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ เขียนราวปี ค.ศ. 1635ถึงปี ค.ศ. 1640 ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์แห่งชาติ (ลอนดอน)

ฌาคส์-หลุยส์ ดาวิด

[แก้]
“การขัดขวางความขัดแย้งโดยสตรีชาวซาบีน”

ฌาคส์-ลุยส์ ดาวิดเขียนหัวเรื่องนี้จากเนื้อเรื่องต่อมาเมื่อสตรีชาวซาบีนพยายามยุติสงครามระหว่างซาบีนกับโรม เป็นงานที่เขียนเสร็จในปี ค.ศ. 1799 ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์

ดาวิดเริ่มเขียนงานชิ้นนี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1796 ขณะที่ฝรั่งเศสมีสงครามกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรปหลังจากสมัยที่มีความขัดแย้งที่นำไปสู่ยุคแห่งความเหี้ยมโหด ที่นำไปสู่การโต้ตอบเดือนสิบเอ็ด ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวิดถูกจำคุกในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนมักซีมีเลียง โรแบสปีแยร์ หลังจากที่ภรรยาที่ไม่ลงรอยกับดาวิดมาเยี่ยมในคุกดาวิดก็เกิดความคิดที่จะเขียนภาพบรรยายเหตุการณ์เพื่อเป็นเกียรติแก่ภรรยาที่หัวใจของเรื่องคือความรักที่มีอานุภาพเหนือความขัดแย้ง นอกจากนั้นก็ยังเป็นภาพที่สื่อความหมายในการร้องขอให้ประชาชนโดยทั่วไปหยุดยั้งการนองเลือดจากการปฏิวัติ

ภาพเขียนเป็นเหตุการณ์ภายหลังจากการลักพาเมื่อเฮอร์ซิเลียภรรยาของรอมิวลุส — บุตรสาวของไททัส ทาเทียส (Titus Tatius) ผู้นำของชาวซาบีน — วิ่งฝ่าเข้าไประหว่างสามีและพ่อโดยเอาลูกวางไว้ตรงกลางระหว่างคนทั้งสอง รอมิวลุสพร้อมที่จะพุ่งหอกเข้าใส่ไททัสผู้กำลังถอยแต่ชะงักไว้ได้ ขณะที่ทหารคนอื่นก็เอาดาบใส่ฝักกันแล้ว

ผาหินที่ยื่นออกมาในฉากหลังคือผาทาเปเอีย (Tarpeian Rock) ในกรุงโรม ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงความขัดแย้งโดยที่ชาวโรมันจะโยนผู้มีโทษในการกบฏลงมาจากผา ตามตำนานแล้วเมื่อไททัสโจมตีโรม ไททัสก็เกือบจะยึดเมืองได้เพราะความทรยศของพรหมจารีเวสตา (Vestal Virgin) ทาเปเอียลูกสาวของสปิวเรียส ทาร์เปเอียส (Spurius Tarpeius) ผู้ครองเนินคาปิโตลิเน ทาเปเอียเปิดประตูเมืองให้ชาวซาบีนเป็นการแลกเปลี่ยนกับ “สิ่งที่อยู่บนแขน” ของชาวซาบีน ทาเปเอียเชื่อว่าจะได้รับกำไลทองแต่กลับถูกชาวซาบีนเบียดด้วยโล่จนเสียชีวิต ร่างของทาเปเอียถูกโยนลงมาจากผาซึ่งทำให้หน้าผาได้รับนาม “ทาเปเอีย”

จอห์น ลีช

[แก้]
งานล้อเลียน “การข่มขืนสตรีชาวซาบีน” ของ จอห์น ลีช

ในอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 19 จิตรกรล้อเลียนจอห์น ลีช (John Leech) เขียนภาพ “การข่มขืนสตรีชาวซาบีน” เป็นหนึ่งในชุด “ประวัติศาสตร์ชวนขันของโรม” (Comic History of Rome) ที่สตรีชาวซาบีนในภาพเป็นสตรีในเครื่องแต่งกายสมัยวิคตอเรียถูกอุ้มไปจาก “Corona et Ancora” (“มงกุฏกับสมอ” ซึ่งเป็นชื่อผับ (pub) ที่นิยมกันในเมืองที่เป็นเมืองของนักเดินเรือทะเล)

ปาโบล ปีกัสโซ

[แก้]

ปาโบล ปีกัสโซ เขียนภาพนี้หลายภาพระหว่างปี ค.ศ. 1962 ถึงปี ค.ศ. 1963 ที่ภาพหนึ่งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ในบอสตันซึ่งเป็นภาพที่เขียนจากภาพของดาวิด ที่ปิกัสโซเขียนภาพรอมิวลุสและไททัสไม่สนใจกับการร้องของเฮอร์ซิเลียและเดินเหยียบย่ำร่างของเฮอร์ซิเลียและลูก[3]

วรรณคดีและนาฏกรรม

[แก้]

สตีเฟน วินเซนต์ เบเนท์ (Stephen Vincent Benét) เขียนเรื่องสั้นชื่อ “The Sobbin' Women” (หญิงสะอื้น เล่นคำว่า “Sobbin” กับคำว่า “Sabine”) ที่เขียนเป็นวรรณกรรมล้อตำนานที่ต่อมาแปลงเป็นละครร้องเรื่อง “Seven Brides for Seven Brothers”

ในปี ค.ศ. 1961 ก็มีภาพยนตร์สเปนเรื่อง “Sword and sandal” ที่เป็นเรื่องทีมีพื้นฐานมาจากหัวเรื่องนี้ที่สร้างโดยอัลเบิร์ต เก้าท์ (Albert Gout)[4]

การแปลงเรื่องครั้งล่าสุดทำในภาพยนตร์เรื่อง “การข่มขืนสตรีชาวซาบีน” โดยไม่มีบทพูดที่สร้างใน ค.ศ. 2005 โดยอีฟ ซัสแมนน์ (Eve Sussman) และรูฟัสคอร์ปอเรชั่น[5]

วัฒนธรรม

[แก้]

เมื่อเปรียบเทียบการลักพาตัวของผู้หญิงที่เกิดในสมัยเดียวกัน ในพระธรรมผู้วินิจฉัย (Book of Judges) กล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างวงศ์วานเบ็นจามิน (Tribe of Benjamin) กับวงศ์วานแห่งอิสราเอลวงศ์อื่น ที่กล่าวว่าวงศ์อื่นเข่นฆ่าเด็กและชายชาวเบ็นจามินด้วยดาบและเผาเมืองของเบ็นจามินทุกเมืองที่พบ หลังจากนั้นก็ตั้งคำสาบานว่าไม่ให้ใครยกลูกสาวให้เป็นภรรยาของวงศ์วานเบ็นจามิน

ซึ่งถ้าปฏิบัติตามคำสาบานก็จะทำให้ชายชาวเบ็นจามินสูญพันธ์ฉะนั้น:

21:20 เขาจึงบัญชาสั่งคนเบนยามินว่า "จงไปซุ่มอยู่ในสวนองุ่น

21:21 คอยเฝ้าดูอยู่ และดูเถิด ถ้าบุตรสาวชาวชีโลห์ออกมาเต้นรำในพิธีเต้นรำ จงออกมาจากสวนองุ่น ฉุดเอาบุตรสาวชาวชีโลห์คนละคนไปเป็นภรรยาของตน แล้วให้กลับไปแผ่นดินเบนยามินเสีย
21:22 ถ้าบิดาหรือพี่น้องของหญิงเหล่านั้นมาร้องทุกข์ต่อเรา เราจะบอกเขาว่า `ขอโปรดยินยอมเพราะเห็นแก่เราเถิด ในเวลาสงครามเราไม่ได้ผู้หญิงให้พอแก่ทุกคน ทั้งท่านทั้งหลายเองก็ไม่ได้ให้แก่เขา ถ้ามิฉะนั้นบัดนี้พวกท่านก็จะมีโทษ'"
21:23 คนเบนยามินก็กระทำตาม ต่างก็ได้ภรรยาไปตามจำนวน คือได้หญิงเต้นรำที่เขาไปฉุดมา เขาก็กลับไปอยู่ในที่ดินมรดกของเขา สร้างเมืองขึ้นใหม่และอาศัยอยู่ในนั้น
21:24 ครั้งนั้นประชาชนอิสราเอลก็กลับจากที่นั่นไปยังตระกูลและครอบครัวของตน ต่างก็ยกกลับไปสู่ดินแดนมรดกของตน

21:25 ในสมัยนั้นไม่มีกษัตริย์ในอิสราเอล ทุกคนทำตามอะไรก็ตามที่ถูกต้องในสายตาของตนเอง
ผู้วินิจฉัย 21:20-21:25[6]

ไม่เป็นที่ทราบกันว่าเรื่องพระธรรมผู้วินิจฉัยเขียนขึ้นเมื่อใดแต่ที่ทราบคือเป็นตำนานที่มีมาก่อนตำนานของชาวโรมัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Livy: The Rape of the Sabines เก็บถาวร 2008-03-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  2. Liam E. Semler, The English Mannerist Poets and the Visual Arts 1998, ISBN 978-0-8386-3759-3, page 34.
  3. La tomba del principe sabino — Glossario เก็บถาวร 2011-01-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  4. “การข่มขืนสตรีชาวซาบีน” Women video เก็บถาวร 2006-11-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  5. Roberta Smith (February 21, 2007). "The Rape of the Sabine Women: Present at an Empire's Corrupted Birth". New York Times.
  6. Holy Zone for Christ, ผู้วินิจฉัย 21

ดูเพิ่ม

[แก้]