ข้ามไปเนื้อหา

การลักพาพรอสเซอร์พินา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การลักพาพรอสเซอร์พินา
จัน โลเรนโซ แบร์นีนี, ค.ศ. 1621–1622
หินอ่อน
โรม, Galleria Borghese
รายละเอียดด้านขวาของรูปสลัก แสดงนิ้วมือของพลูโตกดลึกลงบนผิวเนื้อของ Proserpina

การลักพาพรอสเซอร์พินา (อิตาลี: Ratto di Proserpina) เป็นรูปสลักหินอ่อนขนาดใหญ่ ผลงานของจัน โลเรนโซ แบร์นีนี แสดงเหตุการณ์ขณะที่เทพพลูโตเจ้าแห่งยมโลก กำลังลักพาพรอสเซอร์พินา (Proserpina) ธิดาของเทพี Ceres ต่อมาหลังจากที่เทพจูปิเตอร์เข้าไกล่เกลี่ย มารดาของนางจึงได้รับอนุญาตให้พาธิดากลับคืนสู่พื้นโลกเป็นเวลาครึ่งปี และอีกครึ่งปีต้องใช้ชีวิตอยู่ในยมโลก ดังนั้นทุกฤดูใบไม้ผลิ พื้นโลกจึงเต็มไปด้วยมวลไม้ดอกเพื่อต้อนรับนาง

รูปสลักนี้ดำเนินการสร้างระหว่าง ค.ศ. 1621–1622 ต่อมาพระคาร์ดินัล Scipione ได้มอบให้แก่พระคาร์ดินัล Ludovisi เมื่อ ค.ศ. 1622 และตั้งอยู่ทีบ้านพักของ Ludovisi จนกระทั่ง ค.ศ. 1908 ทางการอิตาลีได้ซื้อไปและนำกลับไปตั้งแสดงที่ Galleria Borghese โดยเป็นส่วนหนึ่งของ Borghese Collection โดยแบร์นีนีได้สร้างรูปสลักนี้ด้วยรูปแบบ twisted contrapposto or figura serpentinata pose ซึ่งระลึกถึงแนวคิดจริตนิยม ผสานกับความประทับใจในพลังชีวิตอันแรงกล้า (จากอาการที่พรอสเซอร์พินาใช้มือผลักใบหน้าของพลูโตจนผิวใบหน้ายับย่น และนิ้วมือของพลูโตกดลึกลงไปบนผิวเนื้อของพรอสเซอร์พินา)

เมื่อมองจากด้านซ้าย รูปสลักแสดงท่าทางของพลูโตขณะกำลังกอดรัดพรอสเซอร์พินาพร้อมกับก้าวเดินอย่างรวดเร็วและทรงพลัง ด้านหน้าของรูปสลักแสดงพลูโตโอบอุ้มเหยื่อด้วยความภาคภูมิในชัยชนะ ทางด้านขวาเห็นหยดน้ำตาของพรอสเซอร์พินาขณะนางกำลังสวดอ้อนวอนต่อสวรรค์ สายลมพัดเรือนผมของนางปลิวไสว มีสุนัข 3 หัวซึ่งเป็นผู้เฝ้ายามแห่งนรกกำลังเห่า อาการต่าง ๆ เหล่านี้จากเหตุการณ์นำมาแสดงรวมอยู่ในรูปสลักเพียงรูปเดียว