ซากาโมโตะ เรียวมะ
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
ซากาโมโตะ เรียวมะ 坂本龍馬 | |
---|---|
เกิด | 3 มกราคม ค.ศ. 1836 โคจิ แคว้นศักดินาโทซะ ประเทศญี่ปุ่น |
เสียชีวิต | 10 ธันวาคม ค.ศ. 1867 เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น | (31 ปี)
สาเหตุเสียชีวิต | ถูกลอบสังหาร |
สัญชาติ | ญี่ปุ่น |
ชื่ออื่น | ไซดานิ อูเมตาโร (才谷 梅太郎) อิมินะ: นาโอกาเงะ, นาโอนาริ |
อาชีพ | ซามูไร นักการเมือง |
คู่สมรส | นาราซากิ เรียว |
บิดามารดา | ซากาโมโตะ ฮาจิเฮ (บิดา) ซากาโมโตะ ซาจิ (มารดา) |
ซากาโมโตะ เรียวมะ | |||||
ชื่อภาษาญี่ปุ่น | |||||
---|---|---|---|---|---|
ชินจิไต | 坂本 竜馬 | ||||
คีวจิไต | 坂本 龍馬 | ||||
ฮิรางานะ | さかもと りょうま | ||||
|
ซากาโมโตะ เรียวมะ (ญี่ปุ่น: 坂本龍馬; โรมาจิ: Sakamoto Ryōma; 3 มกราคม ค.ศ. 1836 – 10 ธันวาคม ค.ศ. 1867) เป็นซามูไรผู้มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวล้มล้างระบอบการปกครองของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะในช่วงยุคบากูมัตสึ (ปลายยุคเอโดะ) เพื่อสร้างความเสมอภาคในสังคมญี่ปุ่น และปฏิรูปประเทศให้ไปสู่ความทันสมัยตามอย่างชาติยุโรปตะวันตก เขายังเป็นผู้ก่อตั้งไคเอ็นไตซึ่งเป็นบริษัทพาณิชย์นาวีแห่งแรกของประเทศญี่ปุ่นและเป็นลูกศิษย์ของคัตสึ ไคชู ผู้วางรากฐานแห่งกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น
ปฐมวัย
[แก้]ซากาโมโตะ เรียวมะเกิดในปี ค.ศ. 1836 ตรงกับศักราชเท็มโป ปีที่ 6 ณ เมืองโคจิ แคว้นโทซะ (ปัจจุบันแคว้นนี้ได้แก่พื้นที่จังหวัดโคจิ บนเกาะชิโกกุ) เขาเป็นบุตรของครอบครัวตระกูลซามูไรชั้นโกชิ ซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นชนชั้นพ่อค้าทำอาชีพกลั่นสาเกขาย และได้เลื่อนขึ้นเป็นซามูไรโดยการซื้อตำแหน่ง (ซามูไรประเภทนี้นับเป็นซามูไรระดับต่ำที่สุดในระบบศักดินาญี่ปุ่น) มีพี่สาวชื่อ ซากาโมโตะ โอโตเมะ ในวัยเด็กนั้นเรียวมะมักถูกรังแกเวลาอยู่ที่โรงเรียน พี่สาวคนหนึ่งของเรียวมะจึงย้ายให้เขาไปเรียนอยู่ในสำนักดาบแทน จนกระทั่งเมื่อเจริญวัยขึ้น เขาก็ได้เป็นครูดาบอยู่ในแคว้นโทซะแห่งนั้น
ต่อมาในปี ค.ศ. 1853 เรียวมะได้เดินทางไปที่นครเอะโดะเพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ของจิบะ ซาดากิจิ เจ้าสำนักดาบสายโฮคุชินอิตโตริว อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พลเรือจัตวาแมทธิว ซี. เพร์รี แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำกองเรือรบมาเยือนประเทศญี่ปุ่น เพื่อบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศค้าขายกับชาวตะวันตกอีกครั้งหลังจากโดดเดี่ยวตนเองมานานหลายร้อยปี ในระยะดังกล่าวเรียวมะได้ถูกชักจูงให้เกิดความรู้สึกรักชาติจากสำนักเรียนของซามูไรซึ่งสนับสนุนแนวคิดทางการเมืองกลุ่มซนโนโจอิ หรือ "เทิดทูนจักรพรรดิ ขับไล่คนเถื่อน" (คนเถื่อนในที่นี้คือ ชาวตะวันตก)
เมื่อเรียวมะสำเร็จวิชาดาบและเดินทางกลับมาที่โทซะ เขาถูกชักชวนให้เข้าร่วมกลุ่มโทซะคินโนโท ซึ่งเป็นกลุ่มซามูไรระดับล่างหัวรุนแรงในแคว้นโทซะภายใต้การนำของทาเกจิ ซูอิซัง (มีอีกชื่อหนึ่งว่า "ทาเกจิ ฮัมเปตะ") ผู้ยึดมั่นในแนวคิดเทิดทูนพระจักรพรรดิและต่อต้านรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ ทว่าเมื่อสถานการณ์บีบคั้นมากขึ้น เนื่องจากแนวทางการขับไล่ต่างชาติของซามูไรระดับล่างไม่ได้รับการตอบสนองจากชนชั้นปกครองในแคว้น ประกอบกับความขัดแย้งทางความคิดของเรียวมะซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวทางใช้ความรุนแรงของทาเกจิ เขาจึงตัดสินใจหนีออกจากแคว้นโทซะ และใช้ชีวิตร่อนเร่ไปยังที่ต่างๆ ในฐานะโรนินหรือซามูไรไร้นาย แล้วเนื่องจากในยุคนั้น การเดินทางออกจากแคว้นบ้านเกิดของตนโดยไม่มีหนังสืออนุญาตถือเป็นเรื่องผิดกฏหมาย เรียวมะจึงกลายเป็นผู้ร้ายที่มีค่าหัวไป[1]
ศิษย์ของคัตสึ ไคชู
[แก้]ในช่วงที่ใช้ชีวิตแบบโรนินอยู่นั้น ซากาโมโตะ เรียวมะได้เดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ในหมู่เกาะญี่ปุ่น และเมื่อเดินทางมาถึงเอโดะ เขาก็ได้พบกับคัตสึ ไคชู ขุนนางระดับสูงของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะผู้มีหัวคิดก้าวหน้าและกำลังดำเนินการจัดตั้งกองทัพเรือขึ้นในเวลานั้น
เรื่องราวการพบกันระหว่างเรียวมะกับคัตสึที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายกล่าวว่า เรียวมะซึ่งเป็นโรนินที่มีความคิดแบบซนโนโจอิ ได้ตัดสินใจที่จะฆ่าคัตสึเพราะเห็นว่าสนับสนุนให้ชาวต่างชาติเข้ามาย่ำยีประเทศ แต่ในวันที่เขาลอบเข้าไปในจวนของคัตสึนั้น คัตสึได้ขอให้เรียวมะฟังแนวคิดที่เขามีต่อประเทศญี่ปุ่นเสียก่อนแล้วจึงค่อยฆ่าเขา ซึ่งนั่นก็คือแนวคิดการเรียนรู้วิทยาการและอารยธรรมให้เท่าเทียมกับตะวันตก แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับญี่ปุ่น เพื่อเสริมสร้างกำลังอำนาจของญี่ปุ่นระยะยาวด้วยกองทัพเรือที่เข้มแข็ง อันจะเป็นหลักประกันให้แก่เอกราชของญี่ปุ่นได้ เรียวมะเมื่อได้ฟังดังนี้แล้ว จึงกลับใจขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ และทำงานเป็นทั้งผู้ช่วยและผู้คุ้มกันของคัตสึ ไคชู[2]
อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานในอีกทางหนึ่งที่กล่าวถึงการพบกันระหว่างเรียวมะกับคัตสึที่แตกต่างออกไป ซึ่งระบุว่า ในวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1862 เรียวมะกับพรรคพวกได้ขอเข้าพบมัตสึไดระ ชุงงากุ ไดเมียวแห่งแคว้นเอจิเซ็ง (ปัจจุบันแคว้นนี้คือจังหวัดฟูกูอิ) ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาลโชกุน โดยผ่านการแนะนำจากจิบะ จูตาโร บุตรชายของจิบะ ซาดากิจิ ผู้เป็นครูดาบของเรียวมะ เพื่อหาทางให้เรียวมะได้พบกับคัตสึ[3][4] หลังจากนั้นในวันที่ 9 ธันวาคม ปีเดียวกัน เรียวมะพร้อมด้วยเพื่อน 2 คน คือ คาโดตะ ทาเมโนซูเกะ และคนโด โจจิโร จึงได้เข้าพบคัตสึพร้อมกับจดหมายแนะนำตัวจากมัตสึไดระ และได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของคัตสึในคราวนั้น เพียงแต่ตำนานเรื่องที่เรียวมะเข้าพบคัตสึเพื่อจะสังหารเป็นเรื่องที่โด่งดังและตราตรึงผู้คนมากกว่า[5][6]
จะอย่างไรก็ตาม ในที่สุดเรียวมะก็ได้ติดตามคัตสึ ไคชู และเข้ารับการฝึกหัดการเดินเรือที่ศูนย์ฝึกทหารเรือในหมู่บ้านโคเบะ (ปัจจุบันคือเมืองโคเบะ จังหวัดเฮียวโงะ) ซึ่งคัตสึได้จัดตั้งขึ้นตามแนวคิดการสร้างกองทัพเรือแบบชาติตะวันตก
สู่สนามการค้าและการเมือง
[แก้]ปี ค.ศ. 1864 รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะเริ่มดำเนินนโยบายการปกครองไปในทางที่แข็งกร้าวมากขึ้น คัตสึ ไคชู ถูกปลดจากตำแหน่งเจ้ากรมทหารเรือ และศูนย์ฝึกทหารเรือที่โคเบะได้ถูกรัฐบาลสั่งปิดเนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าที่นี่เป็นแหล่งซ่องสุมของกลุ่มซามูไรหัวรุนแรงที่นิยมแนวทางซนโนโจอิ[ต้องการอ้างอิง] เรียวมะจึงย้ายจากโคเบะไปยังเมืองคะโงชิมะในความปกครองของแคว้นซัตสึมะ ซึ่งที่นั่นได้พัฒนาขึ้นจนกลายเป็นศูนย์กลางของขบวนการต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐบาลโชกุน
เรียวมะได้กลายเป็นตัวกลางในการเจรจาลับให้แคว้นซัตสึมะและแคว้นโจชูร่วมมือกันเป็นพันธมิตรต่อต้านรัฐบาลโชกุน ทั้งนี้เนื่องจากว่าทั้งสองแคว้นนั้นต่างเป็นศัตรูกันมาตลอดตั้งแต่อดีต ในขณะนั้นนับได้ว่าเรียวมะมีฐานะเป็นคนนอกที่เป็นกลางไม่เข้าข้างทั้งสองฝ่าย อันเป็นสิ่งจำเป็นในการทำลายช่องว่างทางความคิดและความรู้สึกของทั้งสองแคว้น นอกจากนี้เขายังได้ก่อตั้งกองเรือเอกชนและบริษัทการค้าชื่อ คาเมยามะชาจู (亀山社中) ที่เมืองนางาซากิเพื่อบุกเบิกการค้าขายทางทะเลกับชาวต่างประเทศโดยมีคนญี่ปุ่นดำเนินการเอง โดยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากแคว้นซัตสึมะ (ต่อมาบริษัทนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นไคเอ็นไตหรือกองหนุนทางทะเล) และส่งเสริมการเปิดประเทศด้วยการเรียนรู้ภาษา แนวคิด เทคโนโลยีใหม่ ๆ จากต่างประเทศ มุ่งสร้างญี่ปุ่นให้เข้มแข็งด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ แทนการจับดาบขับไล่ชาวต่างชาติดังเช่นที่ซามูไรยุคนั้นกระทำอยู่ บทบาทความเป็นนักปฏิรูปทางความคิดและการเมืองเช่นนี้ทำให้เรียวมะถูกจับตามองจากหลายฝ่าย รวมถึงถูกหมายหัวจากฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะซึ่งมีแนวคิดทางการเมืองที่สวนทางกัน เช่น กลุ่มชินเซ็งงูมิ กลุ่มมิมาวาริงูมิ เป็นต้น
แคว้นโจชูได้ชัยชนะต่อรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะต่อเนื่องมาเป็นลำดับในปี ค.ศ. 1866 การล่มสลายของระบอบโชกุนที่ใกล้เข้ามาได้ทำให้เรียวมะกลายเป็นบุคคลที่แคว้นโทซะเริ่มจับตามองถึงบทบาทและความสำคัญของเขา เขาได้ถูกเรียกตัวให้กลับไปที่โทซะอย่างมีเกียรติ เนื่องจากในเวลานั้นทางแคว้นโทซะวิตกกังวลถึงผลสำเร็จของการเจรจาระหว่างรัฐบาลโชกุนกับราชสำนักของพระจักรพรรดิ ซึ่งขัดขวางการล้มล้างรัฐบาลโชกุนโดยการใช้กำลังของพันธมิตรซัตโจ เรียวมะได้แสดงบทบาทอย่างสำคัญยิ่งในการเจรจาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นลำดับ โดยการหว่านล้อมผู้ใหญ่ในรัฐบาลให้เล็งเห็นถึงผลดีในการล้มเลิกการปกครองระบอบรัฐบาลทหารของโชกุน และจัดตั้งสภาบริหารการปกครองโดยให้ไดเมียวจากแคว้นต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการปกครอง[ต้องการอ้างอิง] กระทั่งนำไปสู่การยอมสละตำแหน่งและถวายคืนพระราชอำนาจแก่พระจักรพรรดิของโชกุนโทกูงาวะ โยชิโนบุ ในปี ค.ศ. 1867 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปเมจิในระยะต่อมา
มรณกรรม
[แก้]ซากาโมโตะ เรียวมะ เสียชีวิตจากการถูกลอบสังหารเมื่อ ค.ศ. 1867 ที่ ร้านโอมิยะ (近江屋) ในกรุงเกียวโต พร้อมกันกับนากาโอกะ ชินตาโร ผู้เป็นพี่น้องร่วมสาบาน เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนหน้าการปฏิรูปเมจิจะเกิดขึ้นไม่นานนัก รายงานการสอบสวนในชั้นต้นกล่าวหาว่า เหตุฆาตกรรมดังกล่าวเป็นฝีมือของกลุ่มชินเซ็งงูมิ (ภายหลังคนโด อิซามิ ผู้นำของชินเซ็งงูมิซึ่งพ่ายแพ้แก่ฝ่ายซัตสึมะและโจชูในนามกองทัพของพระจักรพรรดิและถูกจับเป็นเชลย ได้ถูกประหารชีวิตด้วยข้อกล่าวหาข้างต้น) ทว่ากลุ่มที่สนับสนุนโชกุนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มมิมาวาริงูมิของอิมาอิ โนบูโอะ ได้สารภาพในปี ค.ศ. 1870 ว่าเป็นผู้ลงมือก่อเหตุดังกล่าว แม้ว่าซาซากิ ทาดาซาบูโร และอิมาอิ โนบูโอะ จะเป็นผู้ที่ถูกประณามจากเรื่องนี้ แต่ไม่มีการพิสูจน์สอบสวนในกระบวนการยุติธรรมว่าฆาตกรตัวจริงเป็นใครแต่อย่างใด[7]
สำหรับอายุของเรียวมะขณะที่เสียชีวิตนั้น หากคำนวณตามปฏิทินจันทรคติเก่าของญี่ปุ่น เรียวมะจะมีอายุได้ 33 ปี (เกิดในวันที่ 15 เดือน 11 ค.ศ. 1835 เสียชีวิตในวันคล้ายวันเกิดในปี ค.ศ. 1867) แต่เมื่อนับตามปฏิทินสุริยคติระบบปฏิทินเกรกอเรียน เขาจะมีอายุเพียง 31 ปีเท่านั้น
มรดกจากเรียวมะ
[แก้]เรียวมะนับเป็นนักคิดผู้มองการณ์ไกลด้วยทัศนะที่ว่าญี่ปุ่นไม่ควรย่ำอยู่กับที่ในระบบศักดินาใด ๆ อีกต่อไป เขาได้อ่านและได้แรงบันดาลใจจากวลีแรกของคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาที่กล่าวว่า "All men are created equal" หรือ "มนุษย์ทุกคนล้วนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน" (แรงบันดาลใจอีกส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากประสบการณ์การถูกกดขี่อย่างเลวร้ายจากซามูไรระดับสูงในโทซะ ซึ่งตนเองได้พบเห็นและถูกกระทำมาตั้งแต่วัยเด็ก) เขาตระหนักว่า หากจะต้องแข่งขันด้านความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีกับโลกภายนอกแล้ว ชาวญี่ปุ่นจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้ทันสมัยเยี่ยงชาวตะวันตกให้มากขึ้น สิ่งที่น่าสนใจจากการทำตัวที่แตกต่างจากบุคคลร่วมสมัยของเรียวมะก็คือ ในรูปถ่ายของเรียวมะที่ปรากฏแพร่หลายนั้น จะเห็นได้ว่าเขาแต่งตัวตามแบบธรรมเนียมของซามูไร แต่ใส่รองเท้าตามแบบชาวตะวันตกด้วย
มุตสึ มูเนมิตสึ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นในยุคเมจิ ซึ่งเป็นเพื่อนของเรียวมะมาตั้งแต่สมัยเรียนวิชาการเดินเรือที่โคเบะ ได้ให้ทัศนะส่วนหนึ่งเกี่ยวกับเรียวมะไว้ดังนี้
ซากาโมโตะเป็นบุคคลที่มีความสามารถเป็นเลิศที่สุดในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการยืดหยุ่นปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์หรือจะเป็นความสามารถในการใช้วิจารณญาณของตนนำมาใช้โต้แย้งชักจูงให้ผู้อื่นคล้อยตาม...ข้ารู้สึกยินดีจริง ๆ ที่ได้เกิดมาในยุคเดียวกับเขาและได้มายืนอยู่เคียงข้างเขา[ต้องการอ้างอิง]
ปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เรียวมะที่จังหวัดโคจิ และที่เมืองฮาโกดาเตะ จังหวัดฮกไกโด
นอกจากนี้ ชื่อของเรียวมะได้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา เช่น
- ท่าอากาศยานโคจิ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ท่าอากาศยานโคจิเรียวมะ" เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2003
- ดาวเคราะห์น้อย 2835 เรียวมะ (Asteroid 2835 Ryoma) และดาวเคราะห์น้อย 5823 โอเรียว (Asteroid 5823 Oryo) ได้ถูกตั้งชื่อโดยนักดาราศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ตามชื่อของเรียวมะและโอเรียวผู้เป็นภรรยา ตามลำดับ เป็นต้น
ครอบครัว
[แก้]- บิดามารดา
- พ่อ: ซากาโมโตะ ฮาจิเฮ (อิมินะ: นาโอตาริ)
- แม่: : ซากาโมโตะ ซาจิ
- แม่เลี้ยง: ซากาโมโตะ อิโยะ
- พี่น้อง
- ซากาโมโตะ กมเป (พี่ชาย)
- ซากาโมโตะ จิซึ (พี่สาวคนใหญ่)
- ซากาโมโตะ เออิ (พี่สาวคนรอง)
- ซากาโมโตะ โทเมะ (พี่สาวคนที่สาม)
- ภรรยา
- นาราซากิ เรียว (โดยทั่วไปนิยมเรียก "โอเรียว")
- บุตร
- ทากามัตสึ ทาโร (ลูกบุญธรรม, ลูกชายของซากาโมโตะ จิซึ)
-
ตราประจำตระกูลซากาโมโตะ
-
ซากาโมโตะ กมเป
-
ซากาโมโตะ โทะเมะ
-
ทากามัตสึ ทาโร
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Hongo, Jun, "Sakamoto, the man and the myth", Japan Times, April 27, 2010, p. 3.
- ↑ 『坂本龍馬と海援隊』(新・歴史群像シリーズ 20)(学研パブリッシング、2009年)p.80
- ↑ 福井藩記録『続再夢紀事』
- ↑ 亀山社中設立、薩長同盟成立, 翔天隊.com
- ↑ 『枢密備忘』
- ↑ 『海舟日記』
- ↑ Gombrich, Marius, "Crime scene investigation: Edo: Samurai Sakamoto Ryoma's murder scene makes a grisly but fascinating show", The Japan Times, May 7, 2010, p. 15.
- Beasley, W. G. (1972). The Meiji Restoration. Stanford: Stanford University Press. 10-ISBN 0-8047-0815-0; 13-ISBN 978-0-8047-0815-9 (cloth)
- Jansen, Marius B. and Gilbert Rozman, eds. (1986). Japan in Transition: from Tokugawa to Meiji. Princeton: Princeton University Press. 10-ISBN 0-691-05459-2; 13-ISBN 978-0-691-05459-9 (cloth) ... 10-ISBN 0-691-10245-7; 13-ISBN 978-0-691-10245-0 (paper)
- Jansen, Marius B. (1995). Sakamoto Ryoma and the Meiji Restoration. New York: Columbia University Press, 10-ISBN 0-231-10173-2; 13-ISBN 978-0-231-10173-8 (paper)
- _____. (1972). Sakamoto Ryoma and the Meiji Restoration. Stanford: Stanford University Press. 10-ISBN 0-8047-0785-5
- _____. (1961). Sakamoto Ryoma and the Meiji Restoration. Princeton: Princeton University Press.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Kōchi Sakamoto Ryōma Memorial Museum เก็บถาวร 2014-05-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Hokkaidō Sakamoto Ryōma Memorial Museum (Japanese)
- Nagasaki Kameyamashachū Memorial Museum เก็บถาวร 2011-07-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Japanese)
- Kyōto National Museum 2005 - Sakamoto Ryōma exhibitions เก็บถาวร 2013-01-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- 2010 NHK Taiga drama exhibitions "Ryōmaden" เก็บถาวร 2010-05-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Japanese)
- Edo-Tokyo Museum 2010 NHK Taiga drama exhibitions "Ryōmaden"
- The Museum of Kyoto 2010 NHK Taiga drama exhibitions "Ryōmaden" เก็บถาวร 2011-01-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Kōchi Prefectural Museum of History 2010 NHK Taiga drama exhibitions "Ryōmaden" เก็บถาวร 2010-05-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Nagasaki Museum of History and Culture 2010 NHK Taiga drama exhibitions "Ryōmaden"
- Nagasaki Museum of History and Culture "Ryōmaden Kan 2010" (Japanese)
- NHK "Ryōmaden" website เก็บถาวร 2009-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Japanese)
- National Diet Library electronic library"Kanketsu senri no koma" เก็บถาวร 2012-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Japanese)
- National Diet Library biography & photo
- National Diet Library Shin seifu koryō hassaku
- Japan Mint: Sakamoto Ryōma 2007 Proof Coin Set เก็บถาวร 2009-03-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Japan Mint: Sakamoto Ryōma featured on 2010 Kochi Prefecture coin เก็บถาวร 2012-01-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ซาคาโมโต้ เรียวมะ ผู้พลิกโฉมหน้าการปกครองญี่ปุ่น มองเมืองเขาย้อนดูเมืองเรา เก็บถาวร 2011-08-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ซากาโมโต เรียวมะที่ผมรู้จัก เรื่องโดย : Bix Mouth เก็บถาวร 2011-03-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน