โซตัส
โซตัส เป็นระบบการรับน้องในสถาบันอุดมศึกษาอย่างหนึ่ง ชื่อมาจากคำภาษาอังกฤษ 5 คำ ได้แก่ Seniority (ความอาวุโส) Order (ระเบียบ) Tradition (ประเพณี) Unity (ความสามัคคี) และ Spirit (จิตวิญญาณ หรืออาจจะแปลได้ว่าความมีน้ำใจ)[1] อย่างไรก็ดี รุ่นพี่ในสถาบันเหล่านั้นมักตีความอย่างเดียวว่า รุ่นพี่ถูกเสมอ เป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่การใช้อำนาจของรุ่นพี่[1] ระบบดังกล่าวก่อให้เกิดเหตุการณ์อื้อฉาวถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตทุกปี[2] ปัจจุบันโซตัสลามไปถึงระดับโรงเรียนมัธยมศึกษา[3] ระบบโซตัสในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปโดยลดส่วนที่เป็นความรุนแรงลง แต่ยังปรากฏการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์อยู่[4]
นักวิชาการหลายคนเขียนว่า โซตัสเป็นระบบที่ตอกย้ำเรื่องลำดับชั้นทางสังคม ระบบอุปถัมภ์ การทำให้เชื่องและห้ามแตกต่าง คาดว่าโซตัสเข้าสู่สยามจากโรงเรียนกินนอนในประเทศอังกฤษ แล้วมีการสถาปนาระบบอาวุโสในโรงเรียนฝึกข้าราชการโดยให้นักเรียนจำนวนหนึ่งช่วยครูในการดูแลนักเรียนด้วยกัน ต่อมามีการนำการว้ากเข้ามาผสม โดยมาจากบุคลากรที่ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ แม้มีหยุดไปช่วงสั้น ๆ ในพุทธทศวรรษ 2510 แต่กลับมาแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน
ประวัติศาสตร์
[แก้]สันนิษฐานว่า ระบบโซตัสนำเข้ามาจากระบบอาวุโสของโรงเรียนกินนอนในประเทศอังกฤษ และเข้าสู่สยาม ราวปี พ.ศ. 2440 อันเป็นช่วงที่ประเทศกำลังเกิดการปฏิรูปการปกครอง คือ รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง (Centralization) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบบอาวุโสถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปและถูกใช้ครั้งแรกเมื่อมีการก่อตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกหัดข้าราชการฝ่ายพลเรือน โดยมีการตั้งตำแหน่ง "ดรุณาณัติ" (Fagging System) โดยจะมีการนำนักเรียนชั้นปีที่สูงกว่าจำนวนหนึ่งมาเป็นผู้ช่วยครู ในการอบรมสั่งสอนและดูแลนักเรียน ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกคนเหล่านี้ว่า Fag–master หรือ Prefect[5]
คำว่าโซตัส (SOTUS) ประกอบด้วยคำว่า 1. Seniority หมายถึง การเคารพความอาวุโสซึ่งหมายความถึงวัยวุฒิและอาวุโสในตำแหน่งหน้าที่ นับเป็นหัวใจของระบบโซตัส 2. Order หมายถึง ความมีระเบียบวินัย ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม 3. Tradition หมายถึง การปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณีเพื่อสืบทอดต่อไป 4. Unity หมายถึง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สมานสามัคคีของคนในสังคม 5. Spirit หมายถึง ความเสียสละ ความมีน้ำใจ[5] ใจความของระบบโซตัสถูกยกย่องว่าเป็นสิ่งที่ดี กระทั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยึดถือเป็นคำขวัญประจำสถาบัน และถ่ายทอดอุดมการณ์ดังกล่าวผ่านบทเพลง "เกียรติภูมิจุฬาฯ"[5]
ในช่วงแรกนั้นยังไม่ได้เกิดการ "ว้าก" หากแต่การว้ากได้เกิดในยุคต่อมาในโรงเรียนป่าไม้แพร่ทางภาคเหนือ สันนิษฐานว่านักเรียนที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ สหรัฐ ซึ่งเป็นต้นฉบับของการรับน้องรุนแรงเป็นผู้รับเอาวัฒนธรรมการว้ากมาใช้ในโรงเรียนป่าไม้แพร่ (ภายหลังก่อตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแม่โจ้) การตีความของความหมายเริ่มเปลี่ยนแปลงโดยให้ค่ากับการกดดันรุ่นน้องโดยอ้างว่าเพื่อละลายพฤติกรรม แต่ที่จริงเป็นการสร้างความอุปถัมภ์โดยใช้ระบบโซตัสกับการกล่อมเกลาทางสังคม (Socialization) ในเรื่องของการเคารพอาวุโสอย่างไม่มีเหตุผล[5]
ความนิยมของโซตัสหายไปช่วงหนึ่งในช่วงประมาณพุทธทศวรรษ 2510 เมื่อกระแสประชาธิปไตยขยายวงในหมู่นักศึกษา ต่อมาเกิดการปราบนักศึกษาครั้งใหญ่ในปี 2519 ด้วยเหตุนี้รัฐอาจกังวลต่อความมั่งคงทางสถาบันจึงมีการนำระบบการรับน้องด้วยโซตัสแบบมีการว้ากเข้ามาใช้อีกครั้ง เพื่อสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ให้นักศึกษาอยู่ในกรอบ[5]
บทวิเคราะห์
[แก้]ธงชัย วินิจจะกูล ระบุว่า โซตัสเฟื่องฟูในประเทศไทยเพราะถ่ายทอดความเป็นไทย ในประเด็นลำดับชั้นทางสังคมและการอิงตัวบุคคล เป็นผลมาจากกระแสอนุรักษนิยมที่เติบโตขึ้นในช่วงทศวรรษหลัง ๆ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาต่อโลกาภิวัฒน์และภัยคุกคามจากตะวันตก[2]
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของโซตัสคือการสร้างความสัมพันธ์รุ่นพี่-รุ่นน้อง และความรักพวกพ้องที่เหนียวแน่น เพื่อประโยชน์ต่อการสร้างระบบอุปถัมภ์ในชีวิตการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบราชการ ส่วนอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ได้ประโยชน์จากโซตัส คือ เป็นการใช้อำนาจควบคุมนักศึกษาผ่านรุ่นพี่ทำให้เชื่อง พวกเขารู้ทุกขั้นตอนของการรับน้องและเป็นผู้อนุมัติเอง[1]
นักศึกษาผู้ดูแลกิจกรรมการรับน้องที่ขอไม่เปิดเผยชื่อคนหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ว่า หลักการทั้ง 5 ข้อของโซตัสอย่างมากก็สร้างได้เพียงเปลือกในขั้นตอนการรับน้อง เช่น การยกมือไหว้รุ่นพี่ แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าไม่ได้เป็นการไหว้เพราะกลัวถูกลงโทษ
กฎหมาย
[แก้]สำหรับกฎหมายที่ใช้บังคับได้ในกรณีรับน้อง เช่น
- การพูดในที่ประชุมเชียร์เพื่อให้รุ่นน้องคนใดคนหนึ่งเป็นที่ดูหมิ่นเกลียดชัง หรือเสื่อมเสียชื่อเสียง อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท มีโทษสูงสุดจำคุก 1 ปี ปรับสูงสุด 20,000 บาท (มาตรา 326 ประมวลกฎหมายอาญา)
- ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย มีโทษสูงสุดจำคุก 2 ปี ปรับสูงสุด 4,000 บาท (มาตรา 295 ประมวลกฎหมายอาญา)
- การข่มขืนใจให้รุ่นน้องทำกิจกรรม และมีการบังคับโดยการใช้กำลังประทุษร้าย หรือทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน อาจเป็นความผิดฐานข่มขู่ มีโทษสูงสุดจำคุก 3 ปี ปรับสูงสุด 6,000 บาท (มาตรา 309 ประมวลกฎหมายอาญา)
- การกักบริเวณรุ่นน้อง (เช่น ไม่ยอมให้กลับบ้าน) อาจเป็นความผิดฐานกักขังหน่วงเหนี่ยว มีโทษสูงสุดจำคุก 3 ปี ปรับสูงสุด 6,000 บาท (มาตรา 310 ประมวลกฎหมายอาญา)
- การทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส เช่น เวลาหายเกิน 20 วัน หรือจิตพิการอย่างติดตัว มีโทษสูงสุดจำคุก 10 ปี (มาตรา 297 ประมวลกฎหมายอาญา)
- การทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตาย มีโทษสูงสุดจำคุก 15 ปี (มาตรา 290 ประมวลกฎหมายอาญา)[6]
ปฏิกิริยา
[แก้]สุภาพรสรุปการศึกษาระบบโซตัสว่า เป็นระบบที่เกิดประโยชน์สูงสุดในองค์กรหรือสถาบันที่มุ่งประสงค์ฝึกความแข็งแกร่งทางร่างกายและจิตใจ เช่น ทหาร ตำรวจ เป็นต้น แต่ในสถาบันศึกษาจะเกิดโทษมากกว่า อาจกล่าวได้เลยว่าโซตัสมุ่งหวังให้รุ่นน้องเชื่อง เพื่อยอมรับการจำกัดสิทธิของตน ผู้ใช้ระบบนี้มีการบิดเบือนเพื่อเป็นข้ออ้างในการใช้ใช้อำนาจอย่างบ้าคลั่ง อยากควบคุมบุคคลให้คลายสงสัย ให้นิยามผู้ที่เชื่อฟังและคล้อยตามว่าเป็นประชาชนที่ดี และกล่าวโทษผู้เห็นต่างว่าเป็นผู้ไม่ดี ไม่มีความรักชาติ เป็นบ่อเกิดของความแตกแยก[7]
กระแสต่อต้าน
[แก้]ในปัจจุบัน กระแสต่อต้านโซตัสมีความสำเร็จระดับหนึ่ง โดยสามารถสร้างภาพลักษณ์ในแง่ลบให้กับโซตัสจนไม่มีใครกล้าอ้างเต็มปากว่าตนนิยมโซตัส ต้องพยายามหาเหตุผลมารองรับการกระทำของตนเอง และแก้ไขประเด็นที่ถูกโจมตีนั้น อย่างไรก็ตาม ในแง่ของความท้าทาย กระบวนการต่อต้านโซตัสยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าทางกลุ่มต่อสู้กับอะไร และต่อสู้เพื่ออะไรอย่างชัดเจน จนบางทีอาจเหมารวมกลุ่มที่นิยมการรับน้อง แต่ไม่นิยมโซตัส และอาจทำให้เสียการสนับสนุนจากกลุ่มดังกล่าว[1] นอกจากนี้ กระบวนการต่อต้านโซตัสที่ผ่านมายังไม่เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรม ทำให้เกิดความคิดเห็นหนึ่งว่า น่าจะมีการเรียกร้องให้รุ่นน้องลุกขึ้นมาต่อต้านระบบโซตัสบ้าง[1]
นักศึกษานายกสโมสรนิสิตของคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ว่า คิดว่าการหากโซตัสมีความรุนแรงอย่างที่ทางกลุ่มแอนตีโซตัสกล่าวหาจริง ๆ ก็ควรจะยกเลิก แต่การที่ทางกลุ่มมีอคติและเหมารวมว่าทุกกิจกรรมรับน้องเป็นโซตัสเช่นนี้ มันทำให้คนที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงพลอยโดนหางเลขไปด้วย หากจะเคลื่อนไหวจริงจังก็ควรระบุให้ชัดเจนไปเลยว่าใครใช้ความรุนแรง และว่า "อยากให้มองกิจรรมการรับน้องเหมือนอาหารหนึ่งจาน หากมีคนบอกเราว่ามันไม่อร่อย ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุป ทำไมเราไม่ลองชิมดูก่อน จะได้รู้ว่ามันไม่อร่อยจริงหรือไม่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราต้องกินมันให้หมดจาน เราแค่ลองให้รู้ว่ามันเหมาะกับเราไหม"[1]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
เหตุการณ์
[แก้]- ปี 2561 นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ถูกนักศึกษารุ่นพี่ทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัส ซึ่งยอมรับว่าก่อเหตุเพื่อสั่งสอนที่ปกครองนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ได้ไม่ดีตามระบบโซตัส[8]
- มีนักศึกษาคนหนึ่งเปิดเผยว่า ตนที่ได้รับบาดเจ็บที่ข้อเท้าแต่ถูกบังคับผ่านเพื่อนให้เข้าร่วมกิจกรรมรับน้อง จนต้องตัดสินใจย้ายที่เรียน[8]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 รายงาน: ทำไม “โซตัส” ยังไม่ตาย
- ↑ 2.0 2.1 ธงชัย วินิจจะกูล: โซตัสสะท้อนปัญหาใหญ่ของสถาบันทางสังคมของไทย
- ↑ SOTUS 2018: Hazing Hits High Schools
- ↑ ‘โซตัส’ สร้างความสัมพันธ์พี่น้อง หรือแค่ ‘รอยด่าง’ ทางสังคม?
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 SOTUS: ประดิษฐกรรมทางความคิดและวัฒนธรรม
- ↑ กฎหมายน่ารู้ว่าด้วยเรื่องรับน้อง
- ↑ ระบบโซตัสกับการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ: ศึกษากรณีการรับน้องใหม่ในสถาบันการศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ↑ 8.0 8.1 รับน้อง: เมื่อนักศึกษารุ่นใหม่กล้าปฏิเสธระบบโซตัส และกิจกรรมไม่เหมาะสม