แรดอินเดีย
แรดอินเดีย ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: Early Pleistocene–Recent | |
---|---|
แรดอินเดียในอุทยานแห่งชาติกาซีรังคา รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอตา Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม Mammalia |
อันดับ: | อันดับสัตว์กีบคี่ |
วงศ์: | แรด |
สกุล: | Rhinoceros Linnaeus, 1758 |
สปีชีส์: | Rhinoceros unicornis |
ชื่อทวินาม | |
Rhinoceros unicornis Linnaeus, 1758 | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของแรดอินเดีย |
แรดอินเดีย จัดเป็นแรด 1 ใน 3 สายพันธุ์ที่พบได้ในทวีปเอเชีย และเป็นสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดที่พบในทวีปแห่งนี้
อนุกรมวิธาน
[แก้]Rhinoceros unicornis เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ที่คาร์ล ลินเนียสใช้ใน ค.ศ. 1758 โดยเป็นผู้อธิบายแรดที่มีเขาเดียว เขาระบุแรดสองชนิดในอินเดีย โดยอีกชนิดหนึ่งมีชื่อว่า Rhinoceros bicornis และระบุว่าชนิดในอินเดียมีสองเขา ส่วนชนิดในแอฟริกามีเขาเดียว[2]
แรดอินเดียเป็นสัตว์ที่มีชนิดเดียว มีการระบุตัวอย่างชนิดตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ด้วยชื่อวิทยาศาสตร์ที่ต่างกัน แต่ทั้งหมดถือเป็นชื่อพ้องของ Rhinoceros unicornis ในปัจจุบัน:[3]
- R. indicus โดย Cuvier, 1817
- R. asiaticus โดย Blumenbach, 1830
- R. stenocephalus โดย Gray, 1867
- R. jamrachi โดย Sclater, 1876
- R. bengalensis โดย Kourist, 1970[4]
ศัพทมูลวิทยา
[แก้]ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ rhinoceros มีที่มาจากภาษาละตินจากกรีกโบราณ: ῥινόκερως ซึ่งประกอบด้วยคำว่า ῥινο- (rhino-, "ของจมูก") กับ κέρας (keras, "เขา")[5] โดยมีการใช้ชื่อนี้มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14[6][7] ส่วน ūnicornis ศัพท์ภาษาละติน หมายถึง "เขาเดียว"[8]
วิวัฒนาการ
[แก้]ลักษณะ
[แก้]แรดอินเดียมีขนาดพอ ๆ กับแรดขาวในแอฟริกาซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาแรดทั้งหมด เมื่อโตเต็มที่เพศผู้จะตัวใหญ่กว่าเพศเมีย เพศผู้หนัก 2,200-3,000 กิโลกรัม เพศเมียหนัก 1,600 กิโลกรัม สูง 1.7-2 เมตร อาจยาวถึง 4 เมตร ตัวอย่างที่มีการบันทึกไว้หนักประมาณ 3,500 กิโลกรัม ในสถานที่เลี้ยงมีแรดอินเดีย 4 ตัวเท่าที่ทราบมีอายุมากกว่า 40 ปี แก่สุดมีอายุ 47 ปี[9]
แรดอินเดียมีนอเดียวไม่ว่าเพศผู้หรือเพศเมียแต่แรดแรกเกิดจะไม่มีนอ นอจะเริ่มงอเมื่ออายุ 6 ปี ทั่วไปแล้วนอยาว 25 เซนติเมตร[10] แต่มีบันทึกว่ามีนอยาวถึง 57.2 เซนติเมตร นอโค้งไปด้านหลัง ปกติมีสีดำ ในสถานที่เลี้ยงนอมักหลุดไปเหลือเพียงปุ่มหนาบ่อย ๆ[9]
แรดอินเดียมีหนังหนา ลำตัวแลดูเหมือนมีเกราะหุ้ม หนังมีสีน้ำตาลเงินและเปลี่ยนเป็นสีอมชมพูเมื่อเข้าใกล้รอยพับ มีหนังพับข้ามหลัง 2 แห่ง คือ ที่ด้านหลังของไหล่ และด้านหน้าของสะโพก เพศผู้มีรอยพับหนาที่คอ ด้านบนขาและไหล่ปกคลุมด้วยปุ่มนูน ลำตัวมีขนเล็กน้อย นอกเหนือไปจากขนตา ขนหู และขนหาง[9]
แรดอินเดีย เป็นแรดนอเดียว มีลักษณะเด่นที่แตกต่างไปจากแรดสายพันธุ์อื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด คือ ตามลำตัวแลดูเหมือนมีเกราะหุ้มลำตัวไว้ถึง 2 ชั้น บางส่วนหนาถึง 5 เซนติเมตร เพื่อช่วยในการป้องกันตัวในการต่อสู้และป้องกันแมลง หนังเป็นปุ่มนูนเห็นได้ชัด ง่ามก้นเป็นร่อง มีหนังพับข้ามหลัง 2 แห่ง คือ ที่ด้านหลังของไหล่ และด้านหน้าของสะโพก แต่ไม่มีพับหนังข้ามคอ มีหางสั้น มีสีลำตัวน้ำตาลเทา มีริมฝีปากพิเศษที่ใช้สำหรับจับและฉีกพืชที่เป็นอาหาร
สาเหตุที่แรดอินเดีย มีหนังที่พับเห็นได้ชัดเจน เพื่อช่วยในการขยายเนื้อที่ของผิวหนัง และควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย เนื่องจากเนื้อเยื่อรอบ ๆ เต็มไปด้วยเส้นเลือดที่ส่งความร้อนไปยังแผ่นพับของหนังที่ขยายใหญ่ขึ้นเหมือนเป็นเครื่องทำความเย็น อีกทั้งยังสามารถกักเก็บน้ำเมื่อแรดลงแช่น้ำและถึงแม้จะขึ้นมาบนบกแล้วก็ตาม น้ำก็ยังอยู่ในหนังพับนั้นได้
มีการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียใต้ ที่ประเทศอินเดีย, เชิงเทือกเขาหิมาลัย, ปากีสถาน, เนปาล, ภูฏาน จนถึงชายแดนที่ติดกับพม่า
แรดอินเดีย เชื่อว่าปรากฏขึ้นในดินแดนยูเรเชียครั้งแรกในช่วงปลายยุคอีโอซีน (33.5-37 ล้านปีก่อน) และแพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ในยุคเพลอิสโตซีน (1-2 ล้านปีก่อน) หลังจากที่สัตว์กลุ่มแรดมีวิวัฒนาการขึ้นเมื่อประมาณ 60-65 ล้านปีก่อน หรือในยุคอีโอซีนจากกลุ่มสัตว์เท้ากีบคี่
พฤติกรรม
[แก้]แรดอินเดีย ชอบอาศัยอยู่ตามป่าทุ่งหญ้าและที่ราบลุ่มที่มีน้ำท่วมถึง เพราะมักหากินพืชจำพวกหญ้าและพืชน้ำต่าง ๆ ในปริมาณที่มากนับร้อยกิโลกรัมต่อวัน มักชอบหากินอยู่ตามลำพัง ยกเว้นแม่แรดที่ต้องมีลูกอยู่เคียงข้าง ซึ่งแรดตัวเมียเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์พร้อมมีลูกได้เมื่ออายุ 4 ปี ตั้งท้องนาน 474-488 วัน และออกลูกครั้งละ 1 ตัว ส่วนตัวผู้จะพร้อมผสมพันธุ์นานกว่านั้นคือ เมื่ออายุ 9 ปี มีอายุโดยเฉลี่ย 30-40 ปี ลูกแรดจะกินนมแม่ไปจนอายุ 2 ขวบ
แรดอินเดียมีสายตาสั้น แต่มีประสาทดมกลิ่นได้ดี หูก็สามารถฟังเสียงได้ดีมาก แม้จะแลดูตัวใหญ่เทอะทะแต่ก็สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว โดยเฉพาะในเวลากลางคืนไปจนถึงรุ่งเช้า วิ่งได้เร็วถึง 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ชอบแช่น้ำและยังว่ายน้ำได้เก่งอีกด้วย มีอุปนิสัยดุร้าย ขี้หงุดหงิดเช่นเดียวกับแรดสายพันธุ์ที่พบในทวีปแอฟริกา เมื่อดุร้ายหรือหงุดหงิดขึ้นมา สามารถวิ่งเข้าชนหรือสู้กับสัตว์ได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหน ไม่เว้นแม้กระทั่งช้าง[11]
ปัจจุบัน แรดอินเดียมีจำนวนเพิ่มขึ้นคือ ประมาณ 2,400 ตัว (ข้อมูล ค.ศ. 2005) แต่ยังคงถูกจัดเป็นสัตว์เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์เพราะตัวใหญ่แต่อ่อนแอ จากการติดโรคต่าง ๆ และการล่าจากมนุษย์
แรดอินเดียในประเทศไทยในปัจจุบัน มีการเลี้ยงอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ เป็นต้น[12]
การกระจายพันธุ์
[แก้]แรดอินเดียพบได้ทั่วทั้งประเทศอินเดียไปยังประเทศพม่าและประเทศบังกลาเทศและอาจมีร่อนเร่ไปในประเทศจีน เพราะอิทธิพลจากมนุษย์ทำให้การกระจายพันธุ์หดลง ปัจจุบันเหลือเพียงกลุ่มประชากรเล็ก ๆ ในทางตะวันออกเฉียงเหนือประเทศอินเดียและประเทศเนปาล ประชากรแรดในประเทศภูฏานดูเหมือนจะสูญพันธุ์ไปแล้ว และในประเทศปากีสถานมีแรดอินเดีย 2 ตัวอยู่ในอุทยานแห่งชาติลาลสุฮานรา ในปัญจาบ เมื่อปี ค.ศ. 1983 แต่ไม่มีการขยายพันธุ์เพิ่มอีก
ในประเทศไทย
[แก้]ในประเทศไทยมีการจัดแสดงแรดอินเดียอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ มีชื่อว่า กาลิ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งเนปาลได้ถวายแก่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และได้พระราชทานให้แก่องค์กรสวนสัตว์เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2529 ขณะมีอายุได้เพียง 1 ปี
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Ellis, S. & Talukdar, B. (2019). "Rhinoceros unicornis". IUCN Red List of Threatened Species. 2019: e.T19496A18494149. doi:10.2305/IUCN.UK.2019-3.RLTS.T19496A18494149.en. สืบค้นเมื่อ 16 January 2022.}
- ↑ Linnæus, C. (1758). "Rhinoceros unicornis". Caroli Linnæi Systema naturæ per regna tria naturæ, secundum classes, ordines, genera, species, cum characteribus, differentiis, synonymis, locis. Holmiae: Salvius. p. 56.
- ↑ Srinivasulu, C., Srinivasulu, B. (2012). "Chapter 3: Checklist of South Asian Mammals" เก็บถาวร 21 พฤษภาคม 2013 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน in: South Asian Mammals: Their Diversity, Distribution, and Status. Springer, New York, Heidelberg, London.
- ↑ Grubb, P. (2005). "Order Perissodactyla". ใน Wilson, D.E.; Reeder, D.M (บ.ก.). Mammal Species of the World: A Taxonomic and Geographic Reference (3rd ed.). Johns Hopkins University Press. p. 636. ISBN 978-0-8018-8221-0. OCLC 62265494.
- ↑ "Definition of RHINOCEROS". merriam-webster.com (ภาษาอังกฤษ). 2024-02-04. สืบค้นเมื่อ 2024-02-12.
- ↑ Liddell, H. G. & Scott, R. (1940). "ῥίς". A Greek-English Lexicon (Revised and augmented ed.). Oxford: Clarendon Press. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 June 2023. สืบค้นเมื่อ 20 February 2021.
- ↑ Liddell, H. G. & Scott, R. (1940). "κέρᾳ". A Greek-English Lexicon (Revised and augmented ed.). Oxford: Clarendon Press. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 October 2012. สืบค้นเมื่อ 20 February 2021.
- ↑ Partridge, E. (1983). "ūnicornis". Origins: a Short Etymological Dictionary of Modern English. New York: Greenwich House. p. 296. ISBN 0-517-41425-2.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 Laurie, W.A.; E.m. Lang; C.P. Groves (1983). "Rhinoceros unicornis". Mammalian Species (211): 1–6. doi:10.2307/3504002.
- ↑ Dinerstein, E. (2003). The Return of the Unicorns: The Natural History and Conservation of the Greater One-Horned Rhinoceros. New York: Columbia University Press. ISBN 0-231-08450-1.
- ↑ "เรื่องเล่าข้ามโลก: ช้างเอเซีย". NOW26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-22. สืบค้นเมื่อ 2015-01-18.
- ↑ ผอ.สวนสัตว์เชียงใหม่เผยเหตุแรดอินเดียตายเพราะแผลในกระเพาะอาหาร
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- "Rhino Resource Center". Rhino Resource Center.
- "Greater One-Horned Rhino (Rhinoceros unicornis)". International Rhino Foundation.
- TheBigZoo.com: Greater Indian Rhinoceros
- Indian Rhino page at AnimalInfo.org
- Indian Rhinoceros page at UltimateUngulate.com