ข้ามไปเนื้อหา

หมาจิ้งจอกแดง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Red fox)
หมาจิ้งจอกแดง
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: เพลสโตซีนยุคกลาง-ปัจจุบัน
เสียงร้อง
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Carnivora
วงศ์: Canidae
เผ่า: Vulpini
สกุล: Vulpes
สปีชีส์: V.  vulpes
ชื่อทวินาม
Vulpes vulpes
Linnaeus, 1758
ชนิดย่อย
45 ชนิดย่อย (ดูในเนื้อหา)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของจิ้งจอกแดง
(สีเขียว-ถิ่นกำเนิด สีม่วง-ถูกนำเข้าไป สีส้ม-ข้อมูลไม่เป็นที่ยืนยัน)
ชื่อพ้อง
  • Canis vulpes Linnaeus, 1758
  • Vulpes fulva Linnaeus, 1758
  • Vulpes fulvus Linnaeus, 1758

หมาจิ้งจอกแดง (อังกฤษ: red fox; ชื่อวิทยาศาสตร์: Vulpes vulpes) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อันดับสัตว์กินเนื้อ ซึ่งอยู่ในวงศ์สุนัข (Canidae) จัดได้ว่าเป็นหมาจิ้งจอกแท้ชนิดหนึ่ง

ลักษณะและพฤติกรรม

[แก้]

มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับหมาทั่วไป แต่มีขนาดเล็กกว่า ขนตามลำตัว มีสีเทาแดงหรือสีน้ำตาลแดง บางตัวอาจมีสีน้ำตาลส้ม สีขนบริเวณปลายหูและขามีสีดำ สีขนอาจมีเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพอากาศ กล่าวคือ สีขนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงในช่วงที่อากาศมีความชื้นสูง และอาจจะมีสีขนที่แตกต่างหลากหลายออกไป เช่น สีเงิน, สีขาวล้วน

มีความยาวลำตัวและหัว 49–65 เซนติเมตร ความยาวหาง 20–40 เซนติเมตร มีการกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวาง จึงทำให้มีชนิดย่อย มากมายถึง 45 ชนิด พบทั้งในทวีปอเมริกาเหนือ, ทวีปยุโรป, ตะวันออกกลาง, ปากีสถาน ภาคเหนือของอินเดีย, เนปาล, ภูฏาน, ภาคเหนือของพม่า, จีน, ภาคเหนือของลาวและเวียดนาม

ในออสเตรเลียราว 150 ปีก่อน ได้มีการนำเข้าหมาจิ้งจอกแดงเข้าไปในออสเตรเลีย เพื่อให้ชาวอังกฤษที่มาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ได้มีการล่าหมาจิ้งจอกแดงเหมือนที่เคยทำมา แต่บางส่วนที่รอดชีวิตก็ได้แพร่ขยายพันธุ์จากจำนวนเพียงไม่กี่สิบตัว และกระจายไปในทุกที่ และได้ออกล่าสัตว์พื้นเมืองหลายชนิดของออสเตรเลียเป็นอาหาร เช่น สัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องขนาดเล็กจนสูญพันธุ์ไปในที่สุด ปัจจุบันคาดว่ามีประชากรหมาจิ้งจอกแดงในออสเตรเลียประมาณ 10 ล้านตัว[2]

หมาจิ้งจอกแดง สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้อาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่หลากหลายได้ ป่าสนหรือป่าเบญจพรรณ, พื้นที่แห้งแล้งแบบทะเลทราย และพื้นที่เกษตรกรรม กินอาหารได้หลากหลายประเภทตั้งแต่สิ่งมีชีวิต เช่น หนู กระต่าย, นก, แมลง หรือแม้แต่หนอนชนิดต่าง ๆ ในบางครั้งอาจกินผักและผลไม้ด้วย เช่น กะหล่ำปลี โดยจะกินอาหารมากถึงวันละ 1 กิโลกรัม[3] มักอาศัยและหากินอยู่เป็นคู่ หมาจิ้งจอกแดงที่อาศัยอยู่ในทวีปเอเชียสามารถผสมพันธุ์ได้เกือบตลอดทั้งปี ใช้เวลาตั้งท้อง 49–55 วัน โดยที่ตัวพ่อและแม่จะช่วยกันเลี้ยงดูลูกในรังช่วง 3 เดือนแรก เมื่อลูกมีอายุครบปีแล้ว ก็จะแยกตัวออกไปสร้างครอบครัวของตัวเอง และจากการศึกษานานกว่า 40 ปี ของนักวิจัยพบว่า หมาจิ้งจอกแดงสามารถส่งเสียงร้องได้หลากหลายมากถึง 40 เสียง สำหรับการสื่อสารกันเอง, การหาคู่ หรือการสื่อสารกันเฉพาะในฝูงหรือครอบครัว[4]

ชนิดย่อย

[แก้]
  • Vulpes vulpes abietorum Merriam, 1900
  • Vulpes vulpes alascensis Merriam, 1900
  • Vulpes vulpes alpherakyi Satunin, 1906
  • Vulpes vulpes anatolica Thomas, 1920
  • Vulpes vulpes arabica Thomas, 1902
  • Vulpes vulpes atlantica (Wagner, 1841)
  • Vulpes vulpes bangsi Merriam, 1900
  • Vulpes vulpes barbara (Shaw, 1800)
  • Vulpes vulpes beringiana (Middendorff, 1875)
  • Vulpes vulpes cascadensis Merriam, 1900
  • Vulpes vulpes caucasica Dinnik, 1914
  • Vulpes vulpes crucigera (Bechstein, 1789)
  • Vulpes vulpes daurica Ognev, 1931
  • Vulpes vulpes deletrix Bangs, 1898
  • Vulpes vulpes dolichocrania Ognev, 1926
  • Vulpes vulpes dorsalis (Gray, 1838)
  • Vulpes vulpes flavescens Gray, 1843
  • Vulpes vulpes fulvus (Desmarest, 1820)
  • Vulpes vulpes griffithi Blyth, 1854
  • Vulpes vulpes harrimani Merriam, 1900
  • Vulpes vulpes hoole Swinhoe, 1870
  • Vulpes vulpes ichnusae Miller, 1907
  • Vulpes vulpes indutus Miller, 1907
  • Vulpes vulpes jakutensis Ognev, 1923
  • Vulpes vulpes japonica Gray, 1868
  • Vulpes vulpes karagan (Erxleben, 1777)
  • Vulpes vulpes kenaiensis Merriam, 1900
  • Vulpes vulpes kurdistanica Satunin, 1906
  • Vulpes vulpes macroura Baird, 1852
  • Vulpes vulpes montana (Pearson, 1836)
  • Vulpes vulpes necator Merriam, 1900
  • Vulpes vulpes niloticus (Geoffroy Saint-Hilaire, 1803)
  • Vulpes vulpes ochroxantha Ognev, 1926
  • Vulpes vulpes palaestina Thomas, 1920
  • Vulpes vulpes peculiosa Kishida, 1924
  • Vulpes vulpes pusilla Blyth, 1854
  • Vulpes vulpes regalis Merriam, 1900
  • Vulpes vulpes rubricosa Bangs, 1898
  • Vulpes vulpes schrencki Kishida, 1924
  • Vulpes vulpes silacea Miller, 1907
  • Vulpes vulpes splendidissima Kishida, 1924
  • Vulpes vulpes stepensis Brauner, 1914
  • Vulpes vulpes tobolica Ognev, 1926
  • Vulpes vulpes tschiliensis Matschie, 1907
  • Vulpes vulpes vulpes (Linnaeus, 1758)

ในวัฒนธรรม

[แก้]

หมาจิ้งจอกแดง นับเป็นหมาจิ้งจอกชนิดที่มีการกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางที่สุด และนับเป็นต้นแบบของหมาจิ้งจอกทั้งหมด[5] ดังนั้น จึงปรากฏในวัฒนธรรมและความเชื่อของชนชาติต่าง ๆ มาแต่โบราณ โดยชาวตะวันตก หมาจิ้งจอกจะเป็นสัญลักษณ์ของความเจ้าเล่ห์ และปรากฏในนิทานพื้นบ้าน และนิทานอีสปหลายเรื่อง อาทิ องุ่นเปรี้ยว, หมาหางด้วน และหมาจิ้งจอกกับสิงโต เป็นต้น สำหรับชาวเอเชียตะวันออก เช่น ชาวจีน หรือชาวญี่ปุ่น เชื่อว่า หมาจิ้งจอกแดงสามารถแปลงร่างเป็นปีศาจเพื่อหลอกลวงมนุษย์ได้ เช่น ปีศาจจิ้งจอก, ปีศาจจิ้งจอกเก้าหาง เป็นต้น[6] ขณะเดียวกันในศาสนาชินโตก็เชื่อว่า หมาจิ้งจอกแดงเป็นตัวแทนของเทพเจ้าอินะริ ที่ถูกมอบหมายให้ลงมาบนโลกมนุษย์ เพื่อดลบันดาลให้เกิดความอุมสมบูรณ์ขึ้น ที่หน้าศาลเจ้าฟุชิมิ อินะริ ที่จังหวัดเกียวโต จึงมีรูปปั้นหมาจิ้งจอกแดงประดับอยู่ เสมือนเป็นยามหรือทวารบาลรักษาทางเข้า โดยบางตัวจะคาบสิ่งที่มีลักษณะคล้ายสาสน์ อันหมายถึง เป็นตัวแทนหรือสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า หรือบางตัวคาบรวงข้าว หมายถึง การเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์[7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Macdonald, D.W. & Reynolds, J.C. (2004). Vulpes vulpes. 2006 IUCN Red List of Threatened Species. IUCN 2006. Retrieved on 2006-08-09. Database entry includes justification for why this species is of least concern
  2. "สารคดี BBC : อัศจรรย์แดนจิงโจ้ ตอนที่ 11 คลิป 2/2". ช่อง 7. 10 November 2014. สืบค้นเมื่อ 10 November 2014.
  3. Mouse: A Secret Life, "Animal Planet Showcase" สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต. ทางทรูวิชั่นส์: พฤหัสบดีที่ 10 มกราคม 2556
  4. "ใครรู้บ้าง "จิ้งจอก" มีเสียงร้องแบบไหน? จากผู้จัดการออนไลน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-15. สืบค้นเมื่อ 2013-09-11.
  5. Wozencraft, W. Christopher (16 November 2005). "Order Carnivora (pp. 532-628)". In Wilson, Don E., and Reeder, DeeAnn M., eds. Mammal Species of the World: A Taxonomic and Geographic Reference (3rd ed.). Baltimore: Johns Hopkins University Press, 2 vols. (2142 pp.). ISBN 978-0-8018-8221-0. OCLC 62265494. http://www.bucknell.edu/msw3/browse.asp?id=14000865 เก็บถาวร 2012-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. Katherine Berrin & Larco Museum (1997). The Spirit of Ancient Peru:Treasures from the Museo Arqueológico Rafael Larco Herrera. New York: Thames and Hudson.
  7. หน้า 2 การเมือง, 'เชื่อแล้วดี'ถึงยุคล้ำ ๆ 'สัตว์เทพเจ้า' ตำนานญี่ปุ่นยัง'ขลัง' . "สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์ ต่อจากหน้า 1". เดลินิวส์ฉบับที่ 24,117: วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 11 ปีมะแม

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Vulpes vulpes ที่วิกิสปีชีส์