ข้ามไปเนื้อหา

หนังสือพิมพ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Newspaper)
ร้านจำหน่ายหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ในเมืองแพดดิงตัน กรุงลอนดอน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548

หนังสือพิมพ์ คือสิ่งพิมพ์ที่เสนอข่าว การเคลื่อนไหวใหม่ ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ มีกำหนดการออกที่แน่นอนตายตัว โดยส่วนใหญ่จะออกเป็นรายวัน นอกจากนี้แล้วยังมีหนังสือพิมพ์รายสามวัน รายสัปดาห์ รายปักษ์ และรายเดือน หนังสือพิมพ์มักจะพิมพ์ลงในกระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์โดยเฉพาะ ซึ่งมีราคาถูก

เนื้อหาหลักของหนังสือพิมพ์ คือข่าวสารบ้านเมืองและเหตุการณ์ปัจจุบันในด้านต่าง ๆ อาทิ ข่าวการเมือง ข่าวอาชญากรรม ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวกีฬา และข่าวบันเทิง มีการใช้รูปภาพประกอบเนื้อหา ทำให้เนื้อหาชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้แล้วอาจมีส่วนต่าง ๆ เพิ่มเติมเป็นพิเศษ เช่น พยากรณ์อากาศ

ประวัติ

[แก้]
กองตั้งหนังสือพิมพ์

ประมาณ 60 ปีก่อนคริสต์ศักราช ยุคอาณาจักรโรมันที่อารยธรรมเจริญยิ่ง จักรพรรดิจูเลียส ซีซาร์บัญชาให้อาลักษณ์คัดลอกแถลงการณ์ของพระองค์ รวมถึงข่าวประจำวันของราชการ แล้วนำไปปิดไว้ตามกำแพงในที่ชุมชนเพื่อประชาชนได้อ่านทั่วถึง ใบประกาศนั้นเรียก "แอ็กตา ดิอูนา" (Acta diuna) นับว่าเป็นต้นแบบหนังสือพิมพ์ ขณะที่ทางตะวันออก ในประเทศจีนก็ได้กำเนิดหนังสือพิมพ์ ซิงเป้า (Tsing Pao) ตีพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับราชการสำนักมาตั้งแต่ พ.ศ. 1043

จากแผ่นประกาศข่าว วิวัฒนาการเป็นจดหมายข่าว และหนังสือข่าว รายงานข่าวสารทางการค้า การเมือง แล้วพัฒนาเป็นหนังสือพิมพ์ซึ่งเกิดขึ้นหลังจาก พ.ศ. 1997 ที่ โจฮัน กูเต็นเบิร์ก ชาวเยอรมัน ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์และตัวพิมพ์ขึ้น และวิลเลียมส์ แซกส์ตัน นำเครื่องพิมพ์ไปใช้ในประเทศอังกฤษ

การพัฒนาแท่นพิมพ์ดีขึ้นเป็นลำดับ ที่สุดหนังสือพิมพ์ฉบับแรกก็เกิดขึ้น คือ Avisa Relation Order Zeitung พิมพ์ขึ้นในประเทศเยอรมนีเมื่อ พ.ศ. 2152 แต่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์รายวัน กระทั่ง พ.ศ. 2165 อังกฤษรวบรวมข่าวรายวันมาพิมพ์ออกจำหน่ายเป็นรายสัปดาห์ ในชื่อ A Weekly News London ถือเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของโลก โดยเสนอข่าวที่เกิดขึ้นในภูมิภาคยุโรป เป็นของใหม่ที่ได้รับความสนใจมากพอควร แต่ออกเป็นรายสัปดาห์ ต่อมา ได้มีผู้ริเริ่มออกหนังสือพิมพ์เป็นรายวันคนแรกของโลกคือ เอ็ดวาร์ด มอลเลต หนังสือชื่อ The Daily Courant ฉบับแรกออกเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2245 เปิดโลกใหม่ด้วยการเสนอบทความ บทวิจารณ์สังคม คอลัมนิสต์ชื่อดังคือ ดาเนียล เดอโฟ

บทวิจารณ์เขาโจมตีรัฐบาลและวิธีการปฏิบัติศาสนกิจของคริสต์ ถูกใจประชาชน แต่เป็นที่ขัดใจของกษัตริย์และพระสันตะปาปา เขาถูกจับตัวคุมขัง แต่มีเพื่อนดีจัดหาอุปกรณ์เครื่องเขียนให้ เดอโฟจึงคิดออกหนังสือพิมพ์ วิธีการคือเขาเป็นผู้เขียนข่าวหรือบทความจากข้อเท็จจริงที่เพื่อนส่งมาให้จากภายนอก เสร็จแล้วส่งออกไปพิมพ์ นั่นเป็นจุดกำเนิดของหลักการ "เขียนข่าวใหม่" หรือเรียบเรียงข่าว หรือ Rewriting

ส่วนในสหรัฐอเมริกาหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรก ออกที่ในรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อ พ.ศ. 2326 มีชื่อว่า เพนซิลเวเนียอีฟนิงโพสต์แอนด์เดลีแอดเวอร์ไทเซอร์ (Pennsylvania Evening post and Daily Advertiser)

หนังสือพิมพ์ในประเทศไทย

[แก้]
หนังสือ​พิมพ์​ไทยรัฐ​ หนังสือพิมพ์​ที่จำหน่าย​มากที่สุด​ในประเทศ​ไทย

วิวัฒนาการของหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีกลุ่มมิชชันนารีชาวอเมริกัน เป็นเจ้าของ และบรรณาธิการ ซึ่งหมอบรัดเลย์ได้ออก หนังสือพิมพ์ข่าวรายปักษ์ฉบับแรกในประเทศไทย ชื่อ หนังสือจดหมายเหตุ (บางกอกรีคอเดอ - อังกฤษ: The Bangkok Recorder) พิมพ์ด้วยภาษาไทย และภาษาอังกฤษ แต่มีอายุได้ไม่ถึง 2 ปี ก็ต้องปิดกิจการลง

หลังจากนั้น ก็มีหนังสือพิมพ์ออกมาอีกหลายฉบับ ทั้งรายสัปดาห์ รายปักษ์ และรายปี อาทิ บางกอกคาเลนดาร์ ต่อมาพัฒนาเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน เช่น บางกอก เดลี่ แอดเวอไทเซอ (อังกฤษ: Bangkok Daily Advertiser) และ สยาม เดลี่ แอดเวอไทเซอ (อังกฤษ: Siam Daily Advertiser)

ต่อมา สมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเป็นผู้จัดทำ หนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทย ชื่อ ราชกิจจานุเบกษา เพื่อชี้แจงข่าวคลาดเคลื่อน ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ และเพื่อแจ้งข่าวการบริหารพระราชภารกิจทางการเมือง

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรก ที่เผยแพร่สู่ประชาชน ชื่อ ดรุโณวาท และมีหนังสือพิมพ์ที่ยอดจำหน่ายสูงมาก จนกระทั่งต้องมีระบบจัดส่งหนังสือ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของกิจการไปรษณีย์ไทย คือ ข่าวราชการ (อังกฤษ: Court - ค็อต) ในยุคนี้ วงการหนังสือพิมพ์ตื่นตัวมาก โดยมีการออกหนังสือพิมพ์ถึง 59 ฉบับ

สมัยรัชกาลที่ 6 กิจการหนังสือพิมพ์ก้าวหน้ามาก หนังสือพิมพ์สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและเสนอแนะความคิดเห็นได้อย่างเสรีในเรื่องการบริหารประเทศด้านต่าง ๆ มีทั้งหนังสือพิมพ์ภาษาไทย เช่น จีนโนสยามวารศัพท์ กรุงเทพเดลิเมล์ หนังสือพิมพ์ไทย ฯลฯ หรือหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ เช่น The Bangkok Times ต่อเนื่องมาถึงรัชกาลที่ 7 มีหนังสือพิมพ์ 55 ฉบับ โดยฉบับที่มีชื่อเสียง และน่าเชื่อถือที่สุดคือ ประชาชาติรายวัน ซึ่งมีอิทธิพลต่อผู้อ่านอย่างสูง โดยเฉพาะปัญญาชน ที่ตื่นตัวทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

สมัยรัชกาลที่ 8 ต่อเนื่องถึงรัชกาลที่ 9 หนังสือพิมพ์เริ่มถูกควบคุมโดยรัฐบาล และเมื่อปี พ.ศ. 2501 เกิดรัฐประหาร นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หนังสือพิมพ์ตกไปอยู่ภายใต้การควบคุมของประกาศคณะปฏิวัติ ในยุคนี้มีหนังสือพิมพ์ 33 ฉบับ เช่น เกียรติศักดิ์ (2495-2513), เดลินิวส์ (2507-ปัจจุบัน),เดลิเมล์ (2493-2501), ไทยรัฐ (2492-ปัจจุบัน), เสียงอ่างทอง (2500-2507), ไทยเดลี่ (2512-), แนวหน้า (2495-ปัจจุบัน), ประชาธิปไตย (2502-2519), พิมพ์ไทย (2489-2561), สยามนิกร (2481-2512), สารเสรี (2497-2508), สยามรัฐ (2493-ปัจจุบัน), อาณาจักรไทย (2501-2504), ผู้จัดการรายวัน 360 องศา (2551-ปัจจุบัน), ผู้จัดการรายวัน (2533-2551), มติชน (2521-ปัจจุบัน), คมชัดลึก (2544-2563) ฯลฯ

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]