พิพิธภัณฑ์ออร์แซ
ภายในพิพิธภัณฑ์ออร์แซ | |
ก่อตั้ง | ค.ศ. 1986 |
---|---|
ที่ตั้ง | ปารีส |
พิกัดภูมิศาสตร์ | 48°51′36″N 2°19′37″E / 48.86000°N 2.32694°E |
จำนวนผู้เยี่ยมชม | ราว 2.5 ล้านคน[1]
|
ผู้อำนวยการ | แซร์ฌ เลอมวน |
เว็บไซต์ | พิพิธภัณฑ์ออร์แซ |
พิพิธภัณฑ์ออร์แซ หรือ มูว์เซดอร์แซ (ฝรั่งเศส: Musée d'Orsay) เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ พิพิธภัณฑ์การออกแบบ/สิ่งทอ และสถานที่ทางประวัติศาสตร์[2] ที่ตั้งอยู่ในกรุงปารีสในประเทศฝรั่งเศส พิพิธภัณฑ์ออร์แซก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1986 บนฝั่งซ้ายแม่น้ำเซนในสถานที่ที่เดิม เคยเป็นสถานีรถไฟออร์แซ ที่สร้างในแบบสถาปัตยกรรมแบบโบซาร์โดยสถานีรถไฟแห่งนี้ถูกสร้างระหว่างปี ค.ศ. 1898 ถึง ค.ศ. 1900 เพื่อให้เสร็จทันงาน Exposition Universelle เพื่อใช้เป็นชุมทางรถไฟสายตะวันตกเฉียงใต้ จนถึงปีค.ศ. 1939 ได้เลิกกิจการเนื่องจากขนาดของชานชลาไม่กว้างพอสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางจำนวนมาก สถานีรถไฟออร์แซ จึงลดความสำคัญลงเป็นสถานีรถไฟสำหรับเดินทางในระยะใกล้ ในปัจจุบันใต้ดินส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ยังคงใช้เป็นสถานีรถไฟชานเมืองด่วนพิเศษ หรือ RER โดยใช้ชื่อสถานีเดียวกัน
ในปีค.ศ. 1970 ในขณะที่กำลังจะมีการรื้อถอนสถานีออร์แซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้โต้แย้งโดยเสนอให้ปรับปรุงเป็นโรงแรมขึ้นแทน และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในปีค.ศ.1978 และภายหลังได้มีการเสนอแผนการปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อผสานความแตกต่างระหว่างสองพิพิธภัณฑ์หลักในขณะนั้น คือ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ ที่ตั้งอยู่ที่ศูนย์ฌอร์ฌ ปงปีดู โดยได้รับการสนับสนุนโดยประธานาธิบดีฌอร์ฌ ปงปีดู ในปีค.ศ. 1978 ทีมสถาปนิกผู้ชนะการแข่งขันเพื่อการออกแบบพิพิธภัณฑ์ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นทางการโดยปรับพื้นที่แสดงผลงานบนพื้นที่ 4 ชั้น รวมกว่า 20,000 ตารางเมตร และสถาปนิกชาวอิตาลี นายกาเอ โอเลนตี ได้รับเลือกเพื่อรับผิดชอบการตกแต่งภายใน ซึ่งรวมถึงการจัดสรรพื้นที่แสดงผลงาน การตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์ เพื่อใช้ในพิพิธภัณฑ์ และได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม ปีค.ศ. 1986 โดยประธานาธิบดีฟร็องซัว มีแตร็อง พร้อมกับภาพเขียนกว่า 2,000 ชิ้น รูปปั้นและประติมากรรมกว่า 600 ชิ้น
งานสะสมของพิพิธภัณฑ์ออร์แซเป็นศิลปะฝรั่งเศสที่สร้างระหว่างปี ค.ศ. 1848 ถึง ค.ศ. 1915 ที่รวมทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม เฟอร์นิเจอร์ และภาพถ่าย แต่ที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดคืองานชิ้นเอกจากลัทธิประทับใจและลัทธิประทับใจยุคหลัง ซึ่งได้แก่งานของโกลด มอแน, เอดัวร์ มาแน, แอดการ์ เดอกา, ปีแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์, ปอล เซซาน, ฌอร์ฌ-ปีแยร์ เซอรา, ปอล โกแก็ง และฟินเซนต์ ฟัน โคค เป็นต้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Musée d'Orsay เก็บถาวร 2009-11-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Yahoo Travel
- ↑ Musée d'Orsay: About, ARTINFO, 2008, สืบค้นเมื่อ 2008-07-30
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ภาพเขียนของพิพิธภัณฑ์ออร์แซ