ข้ามไปเนื้อหา

จังหวัดคานางาวะ

พิกัด: 35°26′51.03″N 139°38′32.44″E / 35.4475083°N 139.6423444°E / 35.4475083; 139.6423444
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Kanagawa Prefecture)
จังหวัดคานางาวะ

神奈川県
การถอดเสียงภาษาญี่ปุ่น
 • ญี่ปุ่น神奈川県
 • โรมาจิKanagawa-ken
ตามเข็มนาฬิกาจากด้านบน: มินาโตมิไร 21, ไชนาทาวน์โยโกฮามะ, เอโนชิมะ, ทะเลสาบอาชิ, โคโตกูอิง
ธงของจังหวัดคานางาวะ
ธง
โลโกอย่างเป็นทางการของจังหวัดคานางาวะ
สัญลักษณ์
ที่ตั้งของจังหวัดคานางาวะ
พิกัด: 35°26′51.03″N 139°38′32.44″E / 35.4475083°N 139.6423444°E / 35.4475083; 139.6423444
ประเทศญี่ปุ่น
ภูมิภาคคันโต
เกาะฮนชู
เมืองหลวงโยโกฮามะ
เขตการปกครองอำเภอ: 6, เทศบาล: 33
การปกครอง
 • ผู้ว่าราชการยูจิ คูโรอิวะ (黒岩祐治, ตั้งแต่เมษายน ค.ศ. 2011)
พื้นที่
 • ทั้งหมด2,415.83 ตร.กม. (932.76 ตร.ไมล์)
อันดับพื้นที่อันดับที่ 43 ของประเทศ
ประชากร
 (1 ตุลาคม ค.ศ. 2015)
 • ทั้งหมด9,058,094 คน
 • อันดับอันดับที่ 2 ของประเทศ
 • ความหนาแน่น3,770 คน/ตร.กม. (9,800 คน/ตร.ไมล์)
รหัส ISO 3166JP-14
สัญลักษณ์ 
• ต้นไม้แปะก๊วย (Ginkgo biloba)
• ดอกไม้Golden-rayed lily (Lilium auratum)
• สัตว์ปีกCommon gull (Larus canus)
เว็บไซต์www.pref.kanagawa.jp

จังหวัดคานางาวะ (ญี่ปุ่น: 神奈川県โรมาจิKanagawa-ken) เป็นจังหวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคคันโต บนเกาะฮนชูของประเทศญี่ปุ่น[1] จังหวัดคานางาวะเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของประเทศญี่ปุ่น (9,058,094 คน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2015) และมีพื้นที่ 2,415 ตารางกิโลเมตร (932 ตารางไมล์) จังหวัดคานางาวะติดกับโตเกียวทางทิศเหนือ จังหวัดยามานาชิทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และจังหวัดชิซูโอกะทางทิศตะวันตก

โยโกฮามะเป็นเมืองหลวง เมืองที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัด และเป็นนครที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ เมืองใหญ่อื่น ๆ ในจังหวัด เช่น คาวาซากิ ซางามิฮาระ และฟูจิซาวะ[2] จังหวัดคานางาวะตั้งอยู่บนชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตะวันออกของประเทศ ติดกับอ่าวโตเกียวและอ่าวซางามิ โดยมีคาบสมุทรมิอูระคั่นกลางอ่าวทั้งสอง ฝั่งตรงข้ามของอ่าวโตเกียวเป็นที่ตั้งของจังหวัดชิบะ อยู่บนคาบสมุทรโบโซ จังหวัดคานางาวะเป็นส่วนหนึ่งของเขตมหานครโตเกียวและปริมณฑล ซึ่งเป็นเขตมหานครและปริมณฑลที่มีประชากรมากที่สุดในโลก โดยมีโยโกฮามะและนครอีกหลายแห่งที่เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ และเป็นชานเมืองทางใต้ของโตเกียว จังหวัดคานางาวะเคยเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในยุคคามากูระ โดยเป็นช่วงที่คามากูระเป็นเมืองหลวงโดยพฤตินัย เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และเป็นที่ตั้งของรัฐบาลโชกุนคามากูระ ตั้งแต่ ค.ศ. 1185 ถึง 1333 จังหวัดคานางาวะเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในภูมิภาคโตเกียว โดยมีคามากูระและฮาโกเนะเป็นสองจุดหมายหลักที่เป็นที่นิยม

ประวัติศาสตร์

[แก้]
ภาพพิมพ์คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะ
วัดโคโตกุ ในคามากูระ

จังหวัดคานางาวะปรากฏเป็นที่รู้จักในประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ 800 ปีก่อน โดยนักรบซามูไรที่ชื่อ มินาโมโตะ โยริโตโมะ ได้เลือกเมืองคามากูระเป็นที่ตั้งกองกำลังของเขา และหลังจากนั้นต่อมาอีกประมาณ 150 ปี เมืองคามากูระได้เป็นฐานที่มั่นของรัฐบาลทหารมาตลอด ซึ่งก่อนหน้านี้ ศูนย์กลางทางการเมืองจะอยู่ที่ เคียวโตะ และ นาระ มาตลอด ในปี 1192 โยริโตโมะได้เป็นโชกุนคนแรก (ผู้ปกครองซึ่งมีอำนาจทางทหาร) และอำนาจในการปกครองต่าง ๆ ก็เปลี่ยนมือจากขุนนางมาเป็นซามูไร เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของสังคมศักดินาในประเทศญี่ปุ่น ช่วงเวลาถัดมานั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่น คือ เริ่มต้นมีการเผยแพร่ศาสนาเซ็น และศาสนาพุทธนิกายอื่น ๆ ขึ้น และมีวิวัฒนาการด้านศิลปะและวรรณคดี

ในศตวรรษที่ 17 เมืองหลวงย้ายไปยังเมืองเอโดะแทน (เมืองโตเกียวในปัจจุบัน) ที่ซึ่งโชกุนตระกูลโทกูงาวะได้ตั้งรัฐบาลทหารของตนขึ้น และมีนโยบายเรื่องการปิดประเทศอย่างเข้มงวด ระหว่างสมัยเอโดะ ได้สร้างทางด่วนสายโทไกโด (เชื่อมเส้นทางระหว่างเมืองเอโดะกับเกียวโต) ขึ้น ทำให้คานางาวะเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างตะวันออก-ตะวันตกของญี่ปุ่น โชกุนตระกูลโทกูงาวะปกครองประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 300 ปี

โยโกฮามะเป็นเมืองที่มีบทบาทสำคัญในการเปิดประเทศอีกครั้ง เมื่อปี 1853 กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาปรากฏตัวขึ้นที่หมู่บ้านอูรางะ พลเรือจัตวา แมทธิว เพอร์รี ได้กดดันให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศ และตามมาด้วยการลงนามสนธิสัญญาสัมพันธไมตรีและการค้าระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ท่าเรือโยโกฮามะเปิดขึ้นเมื่อปี 1859 ได้เปลี่ยนจากหมู่บ้านชาวเลเล็ก ๆ มาเป็นจุดกำเนิดของญี่ปุ่นสมัยใหม่ ในทันทีที่เปิดท่าเรือได้เปิดทำการ บริษัทต่างชาติมากกว่า 100 แห่งได้เข้ามาเปิดทำการในโยโกฮามะ ทำให้จำนวนชาวต่างชาติในโยโกฮามะเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี จนสามารถนับได้ว่ามีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ที่โยโกฮามะเกินกว่าครึ่งหนึ่งของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น วิวัฒนาการและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ของตะวันตกจะส่งผ่านเข้ามายังญี่ปุ่นโดยผ่านโยโกฮามะเป็นด่านแรก ทั้งโทรเลขและรถไฟก็มีจุดกำเนิดมาจากโยโกฮามะ และแม้แต่ไอศกรีม เบียร์ และหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกก็ได้รับการกล่าวขานว่าเกิดขึ้นที่โยโกฮามะด้วย

ใน ค.ศ. 1923 ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้นที่ภูมิภาคคันโต รวมทั้งคานางาวะและโตเกียว แมกนิจูด 7.9 เฉพาะในจังหวัดคานางาวะมีผู้เสียชีวิต 30,000 คน และมีบ้านเรือนถูกทำลายถึง 230,700 ครัวเรือน หรือเทียบได้ถึง 86 % ของทั้งหมด

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่คันโตก็ได้ทำลายพื้นที่อุตสาหกรรมรอบ ๆ อ่าวโตเกียวในคาวาซากิและโยโกฮามะ ที่ได้ก่อตั้งขึ้นในช่วงปี 1900 ด้วย อย่างไรก็ตาม ภายหลังแผ่นดินไหว อุตสาหกรรมในโยโกฮามะก็ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง แม้ว่าเมืองโยโกฮามะจะรุ่งเรือง แต่ว่าก็ถูกกระทบกระเทือนอีกครั้งจากการโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผู้เสียชีวิต มากกว่า 6,000 คน และผู้บาดเจ็บเกือบ 580,000 คน จากการโจมตีทางอากาศที่ โตเกียว คาวาซากิ โยโกฮามะ และบริเวณรอบนอกเมืองเหล่านั้น ภายหลังสงครามเสร็จสิ้นลง การปฏิรูปประชาธิปไตยต่าง ๆ ก็ได้เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์หลังสงครามที่ยังไม่มั่นคง เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเสรี การปฏิรูปการครอบครองที่ดิน การสลายตัวของกลุ่มบริษัททางการเงิน การเริ่มต้นระบบการศึกษาภาคบังคับ แบบ 6-3 ปี เป็นต้น ในช่วงนี้ มีการเติบโตอย่างฉับพลันในด้านเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ รวมทั้งทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการถางทางมาสู่พัฒนาการปัจจุบันของญี่ปุ่น แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแรง ซึ่งตามมาพร้อมกับปัญหามลภาวะทางอากาศและน้ำ จะเกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่ก็ได้มีการพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ ขึ้นมามากมายเพื่อรองรับปัญหาเหล่านี้แล้ว

ภูมิศาสตร์

[แก้]
มินาโตมิไร 21 ในโยโกฮามะ

จังหวัดคานางาวะเป็นจังหวัดที่ค่อนข้างเล็ก ตั้งอยู่บนขอบทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่ราบคันโต[3] กั้นระหว่างโตเกียวที่อยู่ทางทิศเหนือ เชิงเขาภูเขาไฟฟูจิทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ อ่าวซางามิทางทิศใต้[3] และอ่าวโตเกียวทางทิศตะวันออก พื้นที่ด้านตะวันออกของจังหวัดค่อนข้างราบเรียบและมีความเป็นเมืองสูง เช่น เมืองท่าขนาดใหญ่อย่างโยโกฮามะและคาวาซากิ

พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้บริเวณคาบสมุทรมิอูระมีความเป็นเมืองน้อย โดยมีเมืองโบราณคามากูระ ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวอย่างวัดและศาลเจ้าตั้งอยู่หลายแห่ง ส่วนพื้นที่ทางตะวันตกที่ติดกับจังหวัดยามานาชิและจังหวัดชิซูโอกะนั้น[4] มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขา ประกอบด้วยสถานที่พักตากอากาศหลายแห่ง เช่น ที่เมืองโอดาวาระ และฮาโกเนะ ขนาดจังหวัดคานางาวะ มีความยาวจากเหนือจรดใต้ 60 กิโลเมตร และมีความยาวจากตะวันออกจรดตะวันตก 80 กิโลเมตร มีพื้นที่บนบกประมาณ 2,400 ตารางกิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นพื้นที่เพียงแค่ 0.64% ของพื้นที่บนบกของประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด[4] ดังนั้นคานางาวะจึงจัดได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กเป็นอันดับที่ 5 ของญี่ปุ่น

จากข้อมูลเมื่อ 1 เมษายน ค.ศ. 2012 ร้อยละ 23 ของพื้นที่บนบกของจังหวัดถูกกำหนดให้เป็นอุทยานธรรมชาติ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติฟูจิ-ฮาโกเนะ-อิซุ, กึ่งอุทยานแห่งชาติทันซาวะ-โอยามะ, และอุทยานธรรมชาติของจังหวัด ได้แก่ จินบะซางามิโกะ มานาซูรุฮันโต โอกูยูงาวาระ และทันซาวะ-โอยามะ[5]

ภูมิประเทศของจังหวัดประกอบไปด้วยพื้นที่ที่แตกต่างกันสามส่วน พื้นที่ทางตะวันตกมีลักษณะเป็นภูเขา ประกอบด้วยเทือกเขาทันซาวะและภูเขาไฟฮาโกเนะ พื้นที่ทางตะวันออกเป็นเนินเขา ประกอบด้วยเนินเขาทามะและคาบสมุทรมิอูระ พื้นที่ตอนกลาง ซึ่งล้อมรอบเนินเขาทามะและคาบสมุทรมิอูระ ประกอบด้วยพื้นที่ต่ำรอบ ๆ แม่น้ำสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำซางามิ แม่น้ำซาไก แม่น้ำสึรูมิ และแม่น้ำทามะ[4]

จังหวัดคานางาวะตั้งอยู่ทางทิศใต้ของภูมิภาคคันโต และมีอากาศกำลังสบายเนื่องจากมีกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกไหลผ่าน ในเมืองโยโกฮามะซึ่งเป็นเมืองหลวงของจังหวัดมีอุณหภูมิเฉลี่ย 16 องศาเซลเซียส และมีปริมาณน้ำฝนรวม 1,440 มิลลิเมตร

โดยแม่น้ำทามะเป็นแนวแบ่งอาณาเขตบางส่วนระหว่างคานางาวะและโตเกียว แม่น้ำซางามิไหลผ่านตอนกลางของจังหวัด และแม่น้ำซากาวะไหลผ่านบริเวณที่ราบเล็ก ๆ ทางด้านตะวันตกของจังหวัด เรียกว่า ที่ราบซากาวะ ซึ่งอยู่ระหว่างภูเขาไฟฮาโกเนะทางทิศตะวันตก และเนินเขาโออิโซะทางทิศตะวันออก และไหลลงสู่อ่าวซางามิ[3]

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]
แผนที่จังหวัดคานางาวะ
     นครใหญ่โดยข้อบัญญัติรัฐบาล      นคร      เมือง      หมู่บ้าน

จังหวัดคานางาวะประกอบด้วยเขตการปกครองต่าง ๆ ได้แก่ 19 นคร 6 อำเภอ 13 เมือง และ 1 หมู่บ้าน ดังนี้

นคร

[แก้]

เมืองและหมู่บ้าน

[แก้]

เมืองและหมู่บ้านแบ่งตามอำเภอ ดังนี้

สภาพแวดล้อมและการดำรงชีวิต

[แก้]
ศาลากลางจังหวัดคานางาวะในโยโกฮามะ

จำนวนประชากรของจังหวัดคานางาวะได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีเป็นจำนวนมาก เนื่องมาจากการไหลเข้าของผู้คนที่อาศัยอยู่ในโตเกียวและผู้ที่ต้องการหาที่พักอาศัย เป็นผลทำให้จังหวัดคานางาวะเติบโตขึ้นเป็นเมืองใหญ่อย่างฉับพลัน และขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ มีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขนาดใหญ่ขึ้นมากมาย เช่น ถนน และสาธารณูปโภคต่าง ๆ ดังนั้น สภาพการดำรงชีวิตของชาวคานางาวะจึงสะดวกสบายขึ้น อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกัน ปัญหาสังคมที่เพิ่มขึ้นก็เป็นปัญหาสำคัญสำหรับชาวคานางาวะด้วย เช่น ปัญหาจราจรที่รุนแรง และการเสื่อมของสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงดูเด็ก นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีมานี้ยังมีการตรวจวัดแผ่นดินไหวอ่อน ๆ ได้ และมีการคาดการณ์กันว่าอาจจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้นได้ในแถบภาคโทไก

เนื่องจากการลดลงของจำนวนประชากรเด็กและประชากรที่ย้ายที่อยู่อาศัยมายังเขตปริมณฑลลดน้อยลง ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าภายหลังจากจำนวนประชากรขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้วจะถึงยุคของผู้สูงอายุ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่คาดการณ์กันว่าการขยายตัวและการเจริญเติบโตของเขตเมืองจะค่อย ๆ ลดลง เป็นผลให้ทางจังหวัดได้หันมาให้ความสำคัญกับการสร้างเมืองให้มีคุณภาพแทน ดังนั้น แผนพัฒนาเมืองคานางาวะจึงให้ความสนใจกับโครงการหลายโครงการ เช่น การพัฒนาตัวเมืองโยโกฮามะใหม่ เป็นต้น

ประชากร

[แก้]

จากการตรวจสอบเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2010 จังหวัดคานางาวะมีประชากร 9,029,996 คน คิดเป็น 6.6% จังหวัดคานางาวะเป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กแต่มีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น ทำให้มีความหนาแน่นของจำนวนประชากรต่อพื้นที่ถึง 3,437 คน ต่อ 1 ตารางกิโลเมตร จัดว่ามากเป็นอันดับ 2 รองจากโตเกียว

จำนวนประชากรของจังหวัดคานางาวะเติบโตขึ้นมากในช่วงก่อนและหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้ลดลงในช่วงทศวรรษที่ 70 ในขณะที่จำนวนประชากรในช่วงอายุ 0 - 14 ปี ลดลง กลับปรากฏว่าจำนวนประชากรในช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไปได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

เนื่องจากจังหวัดคานางาวะตั้งอยู่ติดกับมหานครโตเกียวที่มีโครงสร้างทางธุรกิจขนาดมหึมา ทำให้อัตราส่วนจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองในช่วงกลางวันมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในช่วงกลางคืน

การขนส่ง

[แก้]

จังหวัดคานางาวะ มีเครือข่ายการขนส่งจากการเดินทางทางอากาศส่วนมากไปสู่ จังหวัดคานางาวะ ไปผ่านที่ โตเกียว สนามบินระหว่างประเทศคือสนามบินนานาชาตินาริตะและสนามบินโทไกโด และยังมีรถไฟชิงกันเซ็ง รถไฟความเร็วสูงไปยัง โตเกียว นาโงยะ โอซากะ และเมืองหลักอื่น ๆ

การศึกษาและวัฒนธรรม

[แก้]

เนื่องจากการก้าวหน้าของวิวัฒนาการและสังคมข้อมูลข่าวสาร ทำให้ความสนใจของชาวคานางาวะเกิดความแตกต่างกัน ทางจังหวัดคานางาวะเองก็เห็นว่าการเคารพต่อความสนใจ สังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เช่นเดียวกับการเคารพสิทธิมนุษยชน ในขณะเดียวกัน เพื่อที่จะอนุรักษ์ขนบประเพณีดั้งเดิมของคานางาวะเอาไว้ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องสอนเด็ก ๆ ให้โตขึ้นมาอย่างมีความสามารถเฉพาะตัว และมีความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้สังคมปัจจุบันยังมีแนวโน้มว่า ผู้คนจะมีโอกาสที่จะศึกษาหาความรู้และทำความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมพื้นบ้านของตนไปตลอดชีวิตได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

การรับรองนักท่องเที่ยว

[แก้]

เมืองคามากูระ มีชื่อเสียงซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดพุทธศาสนิกชนมากมายและศาลเจ้าชินโต โยโกฮามะยังเป็นเขตที่มีคนจีนอาศัยอยู่กันมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น (ใหญ่กว่าบริเวณที่คนจีนอยู่กันมาก ๆ ทั้งในโคเบะ และ นางาซากิ)

อ้างอิง

[แก้]
  1. Nussbaum, Louis-Frédéric. (2005). "Kanagawa" in Japan Encyclopedia, p. 466, p. 466, ที่กูเกิล หนังสือ; "Kantō" in p. 479, p. 479, ที่กูเกิล หนังสือ.
  2. Nussbaum, "Yokohama" in pp. 1054–1055, p. 154, ที่กูเกิล หนังสือ.
  3. 3.0 3.1 3.2 Kanagawa terrain (ญี่ปุ่น)
  4. 4.0 4.1 4.2 Overview of the prefectural geography (ญี่ปุ่น)
  5. "General overview of area figures for Natural Parks by prefecture" (PDF). Ministry of the Environment. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 21 April 2012. สืบค้นเมื่อ 16 August 2012.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]