โรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอซิส
โรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอซิส (Infectious mononucleosis) | |
---|---|
ชื่ออื่น | Glandular fever, Pfeiffer's disease, Filatov's disease,[1] kissing disease |
ผู้ป่วยโรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอซิสมีต่อมน้ำเหลืองโตที่คอ | |
สาขาวิชา | Infectious disease |
อาการ | ไข้, เจ็บคอ, ต่อมน้ำเหลืองโตที่คอ, อ่อนเพลีย[2] |
ภาวะแทรกซ้อน | ตับโตหรือม้ามโต[3] |
ระยะดำเนินโรค | 2–4 สัปดาห์[2] |
สาเหตุ | ไวรัสเอ็ปสไตน์-บาร์, ส่วนใหญ่ติดทางน้ำลาย[2] |
วิธีวินิจฉัย | วินิจฉัยจากอาการและการตรวจเลือด[3] |
การรักษา | ดื่มน้ำมากๆ, พักผ่อน, ใช้ยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอล และ ไอบูโปรเฟน[2][4] |
ความชุก | 45 ต่อ 100,000 ต่อปี (สหรัฐอเมริกา)[5] |
โรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอซิส (อังกฤษ: infectious mononucleosis, IM) หรือ โมโน เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอ็ปสไตน์-บาร์หรืออีบีวี[2] ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเด็ก ซึ่งมักมีอาการไม่รุนแรง[2] หากผู้ป่วยเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ตอนต้น มักมีอาการไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต และอ่อนเพลีย[2] อาการมักดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์ แต่อาจอ่อนเพลียต่อได้หลายเดือน[2] บางรายมีตับโตหรือม้ามโตร่วมด้วย[3] อาจพบการฉีดขาดของม้ามได้ แต่พบน้อย ไม่ถึง 1%[6]
เชื้อทีเป็นสาเหตุหลักของโรคนี้คือเชื้อไวรัสเอ็ปสไตน์-บาร์หรืออีบีวี มีอีกชื่อว่าไวรัสเฮอร์ปีส์ในมนุษย์ ชนิดที่ 4 ซึ่งอยู่ในแฟมิลีไวรัสเฮอร์ปีส์[3] นอกจากนี้ยังมีเชื้ออื่นอีกแต่พบไม่บ่อย[3] ส่วนใหญ่ติดต่อผ่านทางน้ำลาย ช่องทางอื่นที่พบได้น้อยคือทางน้ำอสุจิและทางเลือด[2] ผู้ป่วยอาจติดเชื้อผ่านการสัมผัสวัตถุที่ปนเปื้อน เช่น แก้วน้ำ แปรงสีฟัน[2] ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 สัปดาห์ ก่อนเริ่มแสดงอาการ[2] การวินิจฉัยทำได้โดยดูจากอาการเป็นหลัก บางครั้งอาจจำเป็นต้องตรวจยืนยันโดยการตรวจหาแอนติบอดีในเลือด[3] ผลการตรวจนับเม็ดเลือดมักพบว่ามีเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟซัยต์สูงกว่าปกติ โดยเป็นลิมโฟซัยต์แบบผิดปกติ (atypical) มากกว่า 10%[3][7] ในสมัยก่อนเคยมีชุดตรวจสำเร็จรูปเช่น monospot แต่ปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้แล้ว เนื่องจากมีความแม่นยำต่ำ[8]
ยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันเชื้อนี้[2] การป้องกันโรคยังคงเน้นไปที่การงดใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน และงดจูบกับผู้ป่วย[2] ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นได้เอง[2] การรักษาเป็นการบรรเทาอาการและการรักษาประคับประคองโดยทั่วไป ได้แก่ การดื่มน้ำ พักผ่อนให้เพียงพอ ใช้ยาแก้ปวดลดไข้เพื่อบรรเทาอาการไข้และอาการปวด เช่น พาราเซตามอล หรือไอบูโปรเฟน[2][4]
ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นอายุประมาณ 15-24 ปี[7] ส่วนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเล็ก ซึ่งมักมีอาการไม่รุนแรง[9] หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยอายุ 16-20 ปี ที่มีอาการเจ็บคอ จะพบว่ามีสาเหตุจากโรคนี้ราว 8%[7] ในสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 45 ต่อประชากรแสนคน[5] คนทั่วไปราว 95% จะเคยมีการติดเชื้ออีบีวีมาก่อน[5] โรคนี้พบได้ตลอดปี[7] ได้รับการบรรยายรายละเอียดของโรคเป็นครั้งแรกเมื่อช่วงปี ค.ศ. 1920s และเป็นที่รู้จักในหมู่คนทั่วไปว่า "โรคจูบ" จากการที่สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสน้ำลาย[10]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Filatov's disease ใน Who Named It?
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 "About Epstein-Barr Virus (EBV)". CDC. January 7, 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 8, 2016. สืบค้นเมื่อ Aug 10, 2016.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 "About Infectious Mononucleosis". CDC. January 7, 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 August 2016. สืบค้นเมื่อ 10 August 2016.
- ↑ 4.0 4.1 Ebell, MH (12 April 2016). "JAMA PATIENT PAGE. Infectious Mononucleosis". JAMA. 315 (14): 1532. doi:10.1001/jama.2016.2474. PMID 27115282.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 Tyring, Stephen; Moore, Angela Yen; Lupi, Omar (2016). Mucocutaneous Manifestations of Viral Diseases: An Illustrated Guide to Diagnosis and Management (ภาษาอังกฤษ) (2 ed.). CRC Press. p. 123. ISBN 9781420073133. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-11.
- ↑ Handin, Robert I.; Lux, Samuel E.; Stossel, Thomas P. (2003). Blood: Principles and Practice of Hematology (ภาษาอังกฤษ). Lippincott Williams & Wilkins. p. 641. ISBN 9780781719933. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-11.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 Ebell, MH; Call, M; Shinholser, J; Gardner, J (12 April 2016). "Does This Patient Have Infectious Mononucleosis?: The Rational Clinical Examination Systematic Review". JAMA. 315 (14): 1502–9. doi:10.1001/jama.2016.2111. PMID 27115266.
- ↑ "Epstein-Barr Virus and Infectious Mononucleosis Laboratory Testing". CDC. January 7, 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 August 2016. สืบค้นเมื่อ 10 August 2016.
- ↑ Marx, John; Walls, Ron; Hockberger, Robert (2013). Rosen's Emergency Medicine - Concepts and Clinical Practice (ภาษาอังกฤษ) (8 ed.). Elsevier Health Sciences. p. 1731. ISBN 1455749877. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-11.
- ↑ Smart, Paul (1998). Everything You Need to Know about Mononucleosis (ภาษาอังกฤษ). The Rosen Publishing Group. p. 11. ISBN 9780823925506.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]การจำแนกโรค | |
---|---|
ทรัพยากรภายนอก |
- โรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอซิส ที่เว็บไซต์ Curlie