ข้ามไปเนื้อหา

วงศ์เม่นโลกเก่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Hystricidae)
วงศ์เม่นโลกเก่า
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไมโอซีนยุคก่อน-ปัจจุบัน
เม่นใหญ่แผงคอยาว (Hystrix brachyura)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Rodentia
อันดับย่อย: Hystricomorpha
อันดับฐาน: Hystricognathi
วงศ์: Hystricidae
Fischer de Waldheim, 1817
สกุล

เม่นโลกเก่า (อังกฤษ: Old world porcupine) เป็นวงศ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์ฟันแทะ (Rodentia) จำพวกเม่นวงศ์หนึ่ง ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hystricidae

มีลักษณะทั่วไปตัวยาวเต็มที่ประมาณ 2 ฟุต หรือ 2 ฟุตครึ่ง ขาสั้น มีลักษณะเด่น คือ มีขนที่บริเวณหลังและช่วงท้ายลำตัวแข็งยาวเป็นหนามมีลายสลับสีขาวดำ บางอันอาจยาวได้ถึง 1 ฟุต ปลายแหลมเหมือนปลายหอกหรือลูกศร ซึ่งเอาไว้ป้องกันตัวจากศัตรูที่รุกราน ซึ่งทำให้แผลอักเสบติดเชื้อได้

เม่น เป็นสัตว์ที่หากินและอยู่อาศัยเพียงลำพังตัวเดียวหรือไม่ก็อยู่เป็นคู่ หากินในเวลากลางคืน กลางวันจะนอนหลับพักผ่อนในโพรงดินที่ขุดขึ้นมาเอง หากินรากพืชหรือผลไม้ เป็นอาหารหลัก ถ้าถูกคุกคาม เม่นจะวิ่งหนี ถ้าหากจวนตัวเมื่อไหร่จะหยุดและพองขน พร้อมกับสั่นขนให้เกิดเสียงสั่นซ่า พร้อมกับกระทืบเท้าลงพื้นดินเป็นการขู่ หากยังไม่หยุดคุกคาม เม่นจะหยุดกะทันหันหรือบางครั้งอาจจะถอยหลังวิ่งเข้าหา ซึ่งขนแหลมเหล่านี้จะปักลงไปในเนื้อของผู้รุกราน ทำให้เกิดความเจ็บปวดมาก ซึ่งแม้แต่สัตว์ใหญ่อย่าง สิงโต หากโดนขนหนามเหล่านี้แทงเข้าถูกอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ หรือปอด ทำให้ถึงแก่ความตายได้

เม่น เป็นสัตว์ที่มีกรงเล็บแหลมคมและฟันแทะที่แข็งแรงมาก ซึ่งเขียนเป็นสูตรได้ว่า ใช้สำหรับขุดโพรงดินเพื่อเป็นรังที่อยู่อาศัยและเลี้ยงดูลูกอ่อน ซึ่งในโพรง ๆ หนึ่งอาจอยู่รวมกันหลายตัว ฟันของเม่นนอกจากจะใช้กัดแทะพืชแล้ว ยังใช้แทะเขาสัตว์, โครงกระดูกสัตว์อื่นที่ตายแล้ว หรืองาช้าง เพื่อเสริมแคลเซี่ยมให้แก่ร่างกายได้ด้วย ที่แอฟริกาตะวันตกเคยมีผู้จับเม่นไปขังไว้ในหีบไม้ ปรากฏว่าพอรุ่งเช้า เม่นสามารถแทะหีบไม้นั้นทะลุเป็นรูโหว่หนีไปได้

ขนของเม่นสามารถที่จะผลัดใหม่ได้ เมื่อขนเก่าหลวม จะสลัดขนทิ้งโดยการสั่นตัว ซึ่งอาจจะพุ่งไกลไปข้างหลังได้หลายฟุต ซึ่งจากพฤติกรรมตรงนี้เองที่ทำให้เกิดความเชื่อว่า เม่นสามารถสะบัดขนใส่ศัตรู ซึ่งความเป็นจริงแล้วไม่ใช่

ขนของเม่นนั้นเมื่อปักติดกับเนื้อของผู้ที่ถูกแทงเข้าแล้ว จะเจ็บปวดมากและดึงออกยาก เนื่องจากในเส้นขนนั้นจะมีเงี่ยงเล็ก ๆ แหลมคมจำนวนมากเหมือนตะขออยู่ด้านข้าง เมื่อปักลงเนื้อแล้วจึงถอนออกได้ยาก เพราะจะสวนทางกับเงี่ยงแหลมที่เกี่ยวติดกับเนื้อ[1]

เม่นออกลูกเป็นตัว คราวละ 2-3 ตัว เมื่อเกิดมาแล้วลูกเม่นจะสามารถลืมตาและเกือบจะเดินได้เลย แต่ขนตามลำตัวยังไม่แข็งเหมือนตัวเต็มวัย จนรอให้ถึงอายุประมาณ 90 วันเสียก่อน[2]

เม่นโลกเก่า กระจายพันธุ์อยู่ในซีกโลกที่เรียกว่า โลกเก่า คือ ทวีปเอเชีย, แอฟริกา และบางส่วนของยุโรป ในประเทศไทย พบ 2 ชนิด คือ เม่นใหญ่แผงคอยาว (Hystrix brachyura) และเม่นหางพวง (Atherurus macrourus) ซึ่งแต่เดิมเคยจัดให้ เม่นใหญ่แผงคอสั้น (Hystrix hodgsoni) มีอยู่ด้วย แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นชนิดย่อยของเม่นใหญ่แผงคอยาวไป[3]

การจำแนก

[แก้]
ขนของเม่นโลกเก่า

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ท่องโลกกว้าง : เจาะความลับของธรรมชาติ ตอน สัตว์ใส่เสื้อเกราะ และ ชีวิตในความมืด". ไทยพีบีเอส. 6 January 2015. สืบค้นเมื่อ 7 January 2015.[ลิงก์เสีย]
  2. หน้า 152-154, สัตว์สวยป่างาม โดย ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (สิงหาคม, 2518)
  3. เม่น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
  4. Woods, Charles A.; Kilpatrick, C. William (16 November 2005). "Infraorder Hystricognathi (pp. 1538-1600)". In Wilson, Don E., and Reeder, DeeAnn M., eds. Mammal Species of the World: A Taxonomic and Geographic Reference (3rd ed.). Baltimore: Johns Hopkins University Press, 2 vols. (2142 pp.). ISBN 978-0-8018-8221-0. OCLC 62265494. http://www.bucknell.edu/msw3/browse.asp?id=13400042 เก็บถาวร 2011-05-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  5. วงศ์ Hystricidae

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]