ข้ามไปเนื้อหา

ตรรกบทย่อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Enthymeme)

ตรรกบทย่อ (อังกฤษ: enthymeme) หรือปรัตถานุมานย่อเป็นตรรกบทเชิงวาทศิลป์ที่มีการใช้ในการพูดสุนทรพจน์ แต่เดิมแอริสตอเติลสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับชนิดของตรรกบทย่อไว้ว่ามีอยู่สี่ชนิด โดยมีคำอธิบายถึงอย่างน้อยสองชนิดในผลงานของเขา[1]

แอริสตอเติลเรียกตรรกบทย่อว่าเป็น "ร่างของการพิสูจน์" "การพิสูจน์ทางวาทศิลป์ที่ทรงพลังที่สุด...ตรรกบทชนิดหนึ่ง" (Rhetoric I, 1.3,11)[a] เขาถือว่าตรรกบทย่อเป็นหนึ่งในสองวิธีการพิสูจน์ วิธีการพิสูจน์อีกวิธีคือพาราดีกมา (paradeigma) หรือการยกตัวอย่าง แอริสตอเติลคิดว่าแม็กซิม (maxim) หรือคติบทเป็นสิ่งที่อนุพัทธ์มาจากตรรกบทย่อ (Rhetoric II.XX.1)

ตรรกบทที่มีข้อตั้งซึ่งไม่ถูกกล่าวถึง

[แก้]

ตรรกบทย่อชนิดแรกคือตรรกบทตัดสั้น (อังกฤษ: truncated syllogism) หรือตรรกบทที่มีข้อตั้งซึ่งไม่ถูกกล่าวถึง

ตัวอย่างต่อไปนี้คือตรรกบทย่อซึ่งถูกอนุพัทธ์มาจากตรรกบทบทหนึ่งด้วยการตัดให้สั้นลง:

ตรรกบทเต็มรูปที่สมบูรณ์คือ:
มนุษย์ทั้งหมดเป็นมรรตัย (ข้อตั้งหลัก – ไม่ถูกกล่าวถึง)
โสกราตีสเป็นมนุษย์ (ข้อตั้งรอง – ถูกกล่าวถึง)
ดังนั้น โสกราตีสเป็นมรรตัย (ข้อสรุป – ถูกกล่าวถึง)

ในขณะที่ตรรกบทวางเรียงข้อตั้งและข้อสรุปไว้อย่างชัดแจ้ง ตรรกบทย่อชนิดนี้จะไม่กล่าวถึงข้อตั้งข้อใดข้อหนึ่งหรือไม่กล่าวถึงข้อสรุปเลย

ตรรกบทอิงลาง

[แก้]

ในเรทอริก แอริสตอเติลกล่าวอ้างว่าตรรกบทย่อบางบทอนุพัทธ์มาจากตรรกบทที่อิงลาง (อังกฤษ: sign, semeia) มากกว่าข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ ในที่นี้ลางคือ "สิ่งบางสื่งที่เกี่ยวข้องกันมาก ขนาดที่การมีอยู่หรือขาดหายไปของสิ่งนั้นแสดงถึงการมีอยู่หรือขาดหายไปของอีกสิ่งหนึ่ง"[b][2] ตัวอย่างตามด้านล่าง

  • "เขาป่วย เพราะเขาไอ"
  • "ในเมื่อเธอมีลูก เธอคลอดลูกแล้ว"

ในตัวอย่าง 'ไอ' กับ 'มีลูก' เป็นลางของความป่วยและการที่ได้คลอดลูกแล้วตามลำดับ ตรรกบททั้งสองกรณีนี้เป็นได้แค่น่าจะจริงเพราะเหตุที่ทำให้ไอหรือมีลูกมีเหตุอื่นด้วยนอกจากเชื้อโรคและการให้กำเนิด เช่นภูมิแพ้และการรับบุตรบุญธรรม

ตรรกบทที่ผู้รับสารเป็นผู้กำหนดข้อตั้ง

[แก้]

ตรรกบทย่อชนิดที่สามประกอบขึ้นจากตรรกบทที่มีข้อตั้งซึ่งไม่ถูกกล่าวถึง และมีผู้รับสารเป็นผู้กำหนดหรือสมมติข้อตั้งซึ่งเข้าใจร่วมกันขึ้นมาเอง ตามนักวาทศิลป์ วิลเลียม เบนวา (William Benoit) ข้อตั้งที่หายไป "ถูกสมมติขึ้นมาโดยนักพูดเมื่อประดิษฐ์และโดยผู้รับสารเมื่อทำความเข้าใจการอ้างเหตุผล" [c][3]

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของตรรกบทชนิดนี้:

  • "ก็องดีดเป็นนวนิยายฝรั่งเศสทั่วไป ดังนั้นมันจึงหยาบคาย"

ในกรณีนี้ ข้อตั้งที่ไม่มีในตรรกบทคือ "นวนิยายฝรั่งเศสนั้นหยาบคาย" และอาจเป็นสมมติฐานที่ผู้รับสารมีซึ่งจะทำให้สามารถเข้าใจการให้เหตุผลของตรรกบทย่อนี้ได้ ข้อตั้งซึ่งไม่ถูกกล่าวถึงนี้สามารถอยู่ในระดับของสัจพจน์ (ข้อความที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นจริงโดยสากล)

ตรรกบทย่อทางภาพ

[แก้]

ตรรกบทย่ออีกชนิดคือตรรกบทย่อทางภาพ (อังกฤษ: Visual enthymemes) นักวิชาการได้มีการโต้เถียงกันว่าคำพูดไม่ใช่สิ่งเดียวที่สามารถนำมาใช้เพื่อแสดงการให้เหตุผลของตรรกบทย่อได้ แต่ภาพยังสามารถทำหน้าที่เป็นตรรกบทย่อได้เพราะต้องมีผู้รับสารเป็นผู้สร้างความหมายของภาพขึ้นมา[4][5] ตัวอย่างของตรรกบทย่อชนิดนี้คืออินเทอร์เน็ตมีม ความหมายของมันมาจากสิ่งที่ถูกป้อนเข้าและการดัดแปลงปรับใช้โดยกลุ่มผู้ใช้งานที่พบเห็น แชร์ หรือแม้กระทั่งเป็นผู้สรรค์สร้างขึ้นมาเอง

บทวิจารณ์

[แก้]

นักวิชาการบางคนกล่าวว่าความหมายของตรรกบทย่อที่เราเข้าใจได้วิวัฒน์เปลี่ยนไปจากเดิมและไม่ใช่ตัวแทนของตรรกบทย่อที่เดิมแอริสตอเติลได้นึกคิดขึ้นมาอีกต่อไป นี่เป็นจริงอย่างเห็นได้ชัดสำหรับตรรกบทย่อทางภาพ และก็อาจเป็นจริงสำหรับตรรกบทตัดสั้นเช่นเดียวกัน แครอล โพสเตอร์ (Carol Poster) อ้างว่าการตีความในภายหลังของตรรกบทย่อนั้นประดิษฐ์ขึ้นมาโดยนักวาทศิลป์ชาวบริเตนเช่น ริชาร์ด เวทลี (Richard Whately) ในคริสต์ศตวรรษที่สิบแปด[6]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. แปลจาก "the body of proof", "the strongest of rhetorical proofs...a kind of syllogism" (Rhetoric I, 1.3,11)
  2. แปลจาก "things [that] are so closely related that the presence or absence of one indicates the presence or absence of the other."
  3. แปลจาก "assumed by rhetor when inventing and by audience when understanding the argument."

อ้างอิง

[แก้]
  1. Benoit, William (Winter 1982). "The Most Significant Passage in Aristotle's Rhetoric". Rhetoric Society Quarterly. 12 (1): 2–9.
  2. "Reasoning". University of Pittsburgh. 2008-08-21. สืบค้นเมื่อ June 13, 2020.
  3. Benoit, William (1987). "On Aristotle's Example". Philosophy and Rhetoric. 20 (4): 261–267.
  4. Smith, Valerie (2007). "Aristotle's Classical Enthymeme and the Visual Argumentation of the Twenty First Century". Argumentation and Advocacy. 43: 114–123.
  5. Finegan, Cara (2001). "The Naturalistic Enthymeme and Visual Argument: Photographic Representation in the 'Skull Controversy.'". Argumentation and Advocacy. 37: 133–149.
  6. Poster, Carol (2003). "Theology, Canonicity, and Abbreviated Enthymemes". Rhetoric Society Quarterly. 33 (1): 67–103.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]