ตรรกบทย่อ
ตรรกบทย่อ (อังกฤษ: enthymeme) หรือปรัตถานุมานย่อเป็นตรรกบทเชิงวาทศิลป์ที่มีการใช้ในการพูดสุนทรพจน์ แต่เดิมแอริสตอเติลสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับชนิดของตรรกบทย่อไว้ว่ามีอยู่สี่ชนิด โดยมีคำอธิบายถึงอย่างน้อยสองชนิดในผลงานของเขา[1]
แอริสตอเติลเรียกตรรกบทย่อว่าเป็น "ร่างของการพิสูจน์" "การพิสูจน์ทางวาทศิลป์ที่ทรงพลังที่สุด...ตรรกบทชนิดหนึ่ง" (Rhetoric I, 1.3,11)[a] เขาถือว่าตรรกบทย่อเป็นหนึ่งในสองวิธีการพิสูจน์ วิธีการพิสูจน์อีกวิธีคือพาราดีกมา (paradeigma) หรือการยกตัวอย่าง แอริสตอเติลคิดว่าแม็กซิม (maxim) หรือคติบทเป็นสิ่งที่อนุพัทธ์มาจากตรรกบทย่อ (Rhetoric II.XX.1)
ตรรกบทที่มีข้อตั้งซึ่งไม่ถูกกล่าวถึง
[แก้]ตรรกบทย่อชนิดแรกคือตรรกบทตัดสั้น (อังกฤษ: truncated syllogism) หรือตรรกบทที่มีข้อตั้งซึ่งไม่ถูกกล่าวถึง
ตัวอย่างต่อไปนี้คือตรรกบทย่อซึ่งถูกอนุพัทธ์มาจากตรรกบทบทหนึ่งด้วยการตัดให้สั้นลง:
- "โสกราตีสเป็นมรรตัย เพราะเขาเป็นมนุษย์."
- ตรรกบทเต็มรูปที่สมบูรณ์คือ:
- มนุษย์ทั้งหมดเป็นมรรตัย (ข้อตั้งหลัก – ไม่ถูกกล่าวถึง)
- โสกราตีสเป็นมนุษย์ (ข้อตั้งรอง – ถูกกล่าวถึง)
- ดังนั้น โสกราตีสเป็นมรรตัย (ข้อสรุป – ถูกกล่าวถึง)
ในขณะที่ตรรกบทวางเรียงข้อตั้งและข้อสรุปไว้อย่างชัดแจ้ง ตรรกบทย่อชนิดนี้จะไม่กล่าวถึงข้อตั้งข้อใดข้อหนึ่งหรือไม่กล่าวถึงข้อสรุปเลย
ตรรกบทอิงลาง
[แก้]ในเรทอริก แอริสตอเติลกล่าวอ้างว่าตรรกบทย่อบางบทอนุพัทธ์มาจากตรรกบทที่อิงลาง (อังกฤษ: sign, semeia) มากกว่าข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ ในที่นี้ลางคือ "สิ่งบางสื่งที่เกี่ยวข้องกันมาก ขนาดที่การมีอยู่หรือขาดหายไปของสิ่งนั้นแสดงถึงการมีอยู่หรือขาดหายไปของอีกสิ่งหนึ่ง"[b][2] ตัวอย่างตามด้านล่าง
- "เขาป่วย เพราะเขาไอ"
- "ในเมื่อเธอมีลูก เธอคลอดลูกแล้ว"
ในตัวอย่าง 'ไอ' กับ 'มีลูก' เป็นลางของความป่วยและการที่ได้คลอดลูกแล้วตามลำดับ ตรรกบททั้งสองกรณีนี้เป็นได้แค่น่าจะจริงเพราะเหตุที่ทำให้ไอหรือมีลูกมีเหตุอื่นด้วยนอกจากเชื้อโรคและการให้กำเนิด เช่นภูมิแพ้และการรับบุตรบุญธรรม
ตรรกบทที่ผู้รับสารเป็นผู้กำหนดข้อตั้ง
[แก้]ตรรกบทย่อชนิดที่สามประกอบขึ้นจากตรรกบทที่มีข้อตั้งซึ่งไม่ถูกกล่าวถึง และมีผู้รับสารเป็นผู้กำหนดหรือสมมติข้อตั้งซึ่งเข้าใจร่วมกันขึ้นมาเอง ตามนักวาทศิลป์ วิลเลียม เบนวา (William Benoit) ข้อตั้งที่หายไป "ถูกสมมติขึ้นมาโดยนักพูดเมื่อประดิษฐ์และโดยผู้รับสารเมื่อทำความเข้าใจการอ้างเหตุผล" [c][3]
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของตรรกบทชนิดนี้:
- "ก็องดีดเป็นนวนิยายฝรั่งเศสทั่วไป ดังนั้นมันจึงหยาบคาย"
ในกรณีนี้ ข้อตั้งที่ไม่มีในตรรกบทคือ "นวนิยายฝรั่งเศสนั้นหยาบคาย" และอาจเป็นสมมติฐานที่ผู้รับสารมีซึ่งจะทำให้สามารถเข้าใจการให้เหตุผลของตรรกบทย่อนี้ได้ ข้อตั้งซึ่งไม่ถูกกล่าวถึงนี้สามารถอยู่ในระดับของสัจพจน์ (ข้อความที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นจริงโดยสากล)
ตรรกบทย่อทางภาพ
[แก้]ตรรกบทย่ออีกชนิดคือตรรกบทย่อทางภาพ (อังกฤษ: Visual enthymemes) นักวิชาการได้มีการโต้เถียงกันว่าคำพูดไม่ใช่สิ่งเดียวที่สามารถนำมาใช้เพื่อแสดงการให้เหตุผลของตรรกบทย่อได้ แต่ภาพยังสามารถทำหน้าที่เป็นตรรกบทย่อได้เพราะต้องมีผู้รับสารเป็นผู้สร้างความหมายของภาพขึ้นมา[4][5] ตัวอย่างของตรรกบทย่อชนิดนี้คืออินเทอร์เน็ตมีม ความหมายของมันมาจากสิ่งที่ถูกป้อนเข้าและการดัดแปลงปรับใช้โดยกลุ่มผู้ใช้งานที่พบเห็น แชร์ หรือแม้กระทั่งเป็นผู้สรรค์สร้างขึ้นมาเอง
บทวิจารณ์
[แก้]นักวิชาการบางคนกล่าวว่าความหมายของตรรกบทย่อที่เราเข้าใจได้วิวัฒน์เปลี่ยนไปจากเดิมและไม่ใช่ตัวแทนของตรรกบทย่อที่เดิมแอริสตอเติลได้นึกคิดขึ้นมาอีกต่อไป นี่เป็นจริงอย่างเห็นได้ชัดสำหรับตรรกบทย่อทางภาพ และก็อาจเป็นจริงสำหรับตรรกบทตัดสั้นเช่นเดียวกัน แครอล โพสเตอร์ (Carol Poster) อ้างว่าการตีความในภายหลังของตรรกบทย่อนั้นประดิษฐ์ขึ้นมาโดยนักวาทศิลป์ชาวบริเตนเช่น ริชาร์ด เวทลี (Richard Whately) ในคริสต์ศตวรรษที่สิบแปด[6]
ดูเพิ่ม
[แก้]- ข้อต่อสู้ชิวแบคคา (Chewbacca defense)
- เหตุผลวิบัติ
- กฎการแจงผลตามเหตุ (Modus ponens)
- พาราดีกมา (Paradeigma)
- วาทศาสตร์แบบโรเจอร์ส (Rogerian argument)
- Senator, you're no Jack Kennedy
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ แปลจาก "the body of proof", "the strongest of rhetorical proofs...a kind of syllogism" (Rhetoric I, 1.3,11)
- ↑ แปลจาก "things [that] are so closely related that the presence or absence of one indicates the presence or absence of the other."
- ↑ แปลจาก "assumed by rhetor when inventing and by audience when understanding the argument."
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Benoit, William (Winter 1982). "The Most Significant Passage in Aristotle's Rhetoric". Rhetoric Society Quarterly. 12 (1): 2–9.
- ↑ "Reasoning". University of Pittsburgh. 2008-08-21. สืบค้นเมื่อ June 13, 2020.
- ↑ Benoit, William (1987). "On Aristotle's Example". Philosophy and Rhetoric. 20 (4): 261–267.
- ↑ Smith, Valerie (2007). "Aristotle's Classical Enthymeme and the Visual Argumentation of the Twenty First Century". Argumentation and Advocacy. 43: 114–123.
- ↑ Finegan, Cara (2001). "The Naturalistic Enthymeme and Visual Argument: Photographic Representation in the 'Skull Controversy.'". Argumentation and Advocacy. 37: 133–149.
- ↑ Poster, Carol (2003). "Theology, Canonicity, and Abbreviated Enthymemes". Rhetoric Society Quarterly. 33 (1): 67–103.