ข้ามไปเนื้อหา

ปลาม้าลาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Danio rerio)
ปลาม้าลาย
ปลาม้าลายในแบบธรรมดาตามธรรมชาติ (ไวลด์ไทป์)
ปลาม้าลายที่มีเครื่องครีบยาว
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Cypriniformes
วงศ์: Cyprinidae
สกุล: Danio
สปีชีส์: D.  rerio
ชื่อทวินาม
Danio rerio
(Hamilton, 1822)
ชื่อพ้อง[2]
  • Brachydanio rerio (Hamilton, 1822)
  • Cyprinus rerio Hamilton, 1822

ปลาม้าลาย (อังกฤษ: Zebra danio, Zebrafish; ชื่อวิทยาศาสตร์: Danio rerio) เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง จำพวกปลาซิว ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae)

มีลำตัวเรียวยาว มีสีที่ลำตัวเป็นสีเหลือบน้ำเงิน สลับด้วยสีเขียวมะกอกดำจำนวน 3 เส้น เป็นแนวยาวตลอดลำตัวจนถึงส่วนหางทำให้มองเห็นลักษณะลวดลายคล้ายม้าลาย อันเป็นลักษณะเด่น อันเป็นที่มาของชื่อเรียก บริเวณใต้ปากมีหนวดอยู่จำนวน 2 เส้น

มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 5 เซนติเมตร

มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดียทางทิศตะวันออก มีพฤติกรรมอยู่รวมตัวกันเป็นฝูง ว่ายหากินและอาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำ มีความว่องไว ปราดเปรียวมาก มักจะว่ายน้ำอยู่ตลอดเวลา ตัวเมียมีลำตัวป้อมและสั้นกว่าตัวผู้และปลาม้าลายจะอาคัยอยู่ในน้ำที่มีค่าpHอยู่ที่7

เป็นปลาที่สวยงามชนิดหนึ่ง จึงนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยเฉพาะในตู้ไม้น้ำเช่นเดียวกับปลาซิวชนิดอื่น ๆ มีการเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว โดยไข่ใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 2-3 วัน ปัจจุบันมีการเพาะขยายพันธุ์อย่างหลากหลาย มีการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีเครื่องครีบยาวกว่าปกติ และมีการศึกษาด้านพันธุกรรมของปลา จนสามารถผลิตออกมาเป็นปลาเรืองแสงได้ โดยใช้เป็นต้นแบบในการศึกษาพัฒนาการของตัวอ่อนสัตว์มีกระดูกสันหลังและลักษณะต่าง ๆ อีกทั้งยังใช้เป็นดัชนีชี้วัดมลพิษต่าง ๆ ในแหล่งน้ำอีกด้วย[3] [4]

นอกจากนี้แล้ว ปลาม้าลายยังมีความสำคัญในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวคือ ด้วยความที่ขณะที่เป็นตัวอ่อนหรือเอมบริโอ ปลาม้าลายจะมีลำตัวใส นักวิทยาศาสตร์ทางด้านชีววิทยาเซลล์จึงใช้ในการศึกษาและทดลองแทนมนุษย์ เนื่องจากจากการศึกษาพบว่า ปลาม้าลายมีระบบอวัยวะภายในต่าง ๆ คล้ายกับมนุษย์ เช่น สมอง, หัวใจ, ตับและไต และลำดับจีโนมแสดงให้เห็นว่าภายในลำตัวมียีนที่ก่อให้เกิดในมนุษย์มากถึงร้อยละ 84 โดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ในออสเตรเลีย ได้ทำการศึกษาวิจัยมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 ทั้งนี้เพราะปลาม้าลายมีข้อได้เปรียบมากกว่าสัตว์ทดลองอย่างอื่น เช่น หนู คือ เอมบริโอมีลักษณะโปร่งแสงและมีพัฒนาการภายนอกร่างกายแม่ จึงสามารถสร้างยีนเพื่อสร้างแบบจำลองของโรคต่าง ๆ ที่เกิดในมนุษย์ได้และสังเกตความเปลี่ยนแปลงโรคเหล่านี้ได้โดยตรง

ด้วยความที่มีลำตัวโปร่งใสพอที่จะศึกษาระบอบหลอดเลือดและระบบอื่น ๆ โดยใช้ฟลูออเรสเซนต์ฉีดเข้าไปในสมองเพื่อให้เกิดการเรืองแสง สำหรับศึกษาโรคเกี่ยวกับสมอง เช่น โรคสมองเสื่อม, โรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงโรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น มะเร็ง, เบาหวาน, โรคกล้ามเนื้อ และพยาธิสภาพต่าง ๆ อีกทั้งขณะที่ยังเป็นเอมบริโอร่างกายของปลาม้าลายจะดูดซึมตัวยาที่หยดลงในน้ำ เพื่อทดลองยารักษามะเร็งขนานต่าง ๆ ด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นการทดลองทางคลินิกแล้ว[5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. จาก IUCN
  2. "Danio rerio". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  3. "ปลาม้าลาย จากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จังหวัดสระบุรี". กรมประมง.
  4. สร้างปลาม้าลายเรืองแสงเพื่อประโยชน์อะไร[ลิงก์เสีย]
  5. หน้า 17, คุณูปการของปลาลูกดก. สำรวจโลก | สัตว์ก็มีหัวใจ โดย แพทริเซีย เอดมันตส์: นิตยสาร National Geographic ฉบับที่ 194 กันยายน 2560

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Danio rerio ที่วิกิสปีชีส์