ปลาแฟนซีคาร์ป
ปลาแฟนซีคาร์ป | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
สัตว์เลี้ยงหรือปศุสัตว์
| |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Cypriniformes |
วงศ์: | Cyprinidae |
สกุล: | Cyprinus |
สปีชีส์: | C. carpio |
สปีชีส์ย่อย: | C. c. haematopterus |
Trinomial name | |
Cyprinus carpio haematopterus[1] (Linnaeus, 1758) |
ปลาแฟนซีคาร์ป (อังกฤษ: Fancy carp, Mirror carp; ญี่ปุ่น: 鯉, 錦鯉; โรมะจิ: Koi, Nishikigoi-ปลาไน, ปลาไนหลากสี) เป็นปลาไน ชนิดย่อย Cyprinus carpio haematopterus
ประวัติ
[แก้]เป็นปลาคาร์ปที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาจากปลาคาร์ปธรรมดา ๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติหรือที่นำมารับประทานกันเป็นอาหาร เพื่อการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยเริ่มต้นขึ้นในราว ค.ศ. 200-ค.ศ. 300 โดยปลาคาร์ปต้นสายพันธุ์นั้นมีเพียง 3 สีเท่านั้น คือ แดง, ขาว และน้ำเงิน มีบันทึกว่าปลาคาร์ปบางตัวได้พัฒนาตัวเองมาเป็นสีส้ม ดังนั้นชาวจีนจึงนิยมนำมาเลี้ยงเพื่อเป็นความเป็นสิริมงคล
จากนั้นจึงได้เดินทางเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น บริเวณหมู่บ้านเชิงเขาที่ชื่อ ตาเกซาว่า, ฮิกาชิยามาโอตะ, ตาเนอุฮาร่า และกามากาชิมา โดยชาวบ้านที่หมู่บ้านเหล่านี้ได้นำปลาคาร์ปมาเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารในยามฤดูหนาวหรือช่วงที่อาหารขาดแคลน จากนั้นในศตวรรษที่ 18 ที่เมืองเอจิโกะ ในจังหวัดนีงะตะ ได้บังเอิญเกิดมีปลาคาร์ปตัวหนึ่งซึ่งเป็นสีขาวและสีแดงตลอดทั้งตัวเกิดขึ้นมา สันนิษฐานว่าเป็นการผ่าเหล่า เกิดจากการผสมพันธุ์กันเองภายในสายเลือดใกล้ชิดกัน ซึ่งนำไปสู่การเพาะพันธุ์จนมาได้ ปลาที่มีลักษณะสีขาวสลับแดงในสายพันธุ์ที่มีชื่อว่า "โคฮากุ" (紅白) ขึ้นมาจนถึงในปัจจุบัน
จากนั้นความนิยมในการเลี้ยงปลาคาร์ปในประเทญี่ปุ่นก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1870 มีศูนย์กลางการเพาะเลี้ยงปลาขึ้นบริเวณเชิงเขาเมืองโอจิยะ จังหวัดนีงาตะ และฮิโรชิมะ มีการทำฟาร์ม ประกวด และพัฒนาสายพันธุ์จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ในเทศกาลเด็กผู้ชาย ซึ่งตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่มีบุตรชายจะนำธงทิวที่มีสีสันหลากหลายรูปปลาคาร์ป ขึ้นแขวนไว้หน้าบ้าน เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ให้เด็กเติบโตมาอย่างสมบูรณ์แข็งแรง ประดุจปลาคาร์ปที่ว่ายทวนกระแสน้ำเชี่ยว
ในปี ค.ศ. 1914 ได้มีผู้นำปลาคาร์ปขึ้นทูลเกล้าฯ มงกุฎราชกุมารโชวะ ซึ่งนับเป็นจุดที่ทำให้ความนิยมในการเลี้ยงปลาคาร์ปเผยแพร่กว้างไกลยิ่งขึ้น ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดภาวะขาดแคลนอาหารภายในประเทศญี่ปุ่น ปลาคาร์ปจึงถูกใช้ทำเป็นอาหารอีกครั้ง เมื่อสงครามยุติลง ยังมีผู้ที่เลี้ยงปลาที่ได้รักษาสายพันธุ์ไว้ พยายามฟื้นฟูและสงวนสายพันธุ์ขึ้นมา ปลาคาร์ปจึงได้กลับมาอีกครั้งในฐานะปลาสวยงามในวัฒนธรรมญี่ปุ่น จนมาถึงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
แหล่งผลิตปลาคาร์ปสวยงามของญี่ปุ่นในปัจจุบัน ได้แก่ โอจิยะ, ฮามามัตสึ, ยามาโกชิ, นากาโอะ, โตชิโอะ และคิตะอุโอนุมา ซึ่งประชากรในเมืองเหล่านี้ส่วนมากจะประกอบเพาะพันธุ์ปลาคาร์ปจำหน่าย โดยอาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติ ตลอดจนภูมิอากาศและภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยที่อยู่บนเขาซึ่งเหมาะแก่การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง การเลี้ยงปลาคาร์ปในประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว ทุกปีจะมีการประกวดทั่วทั้งประเทศ ที่กรุงโตเกียว อันเป็นเมืองหลวง นอกจากนี้แล้วยังมีการประกวดในระดับภูมิภาคแยกย่อยอีก รวมถึงในระดับนานาชาติอีกด้วย
ในปี ค.ศ. 1966 สมาคมผู้เลี้ยงปลาคาร์ปแห่งญี่ปุ่น ได้ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์ปลาคาร์ปขึ้น โดยสลักคำว่า "แหล่งกำเนิดนิชิกอย" (錦鯉起源の新) ขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์ขึ้นที่หน้าโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง ในเมืองนิกาตะ เพื่อเป็นการระลึกถึงเมืองที่เป็นจุดกำเนิดปลาแฟนซีคาร์ป
ในประเทศไทย
[แก้]สำหรับประวัติการเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์ปในประเทศไทย ในรูปแบบปลาสวยงามนั้น เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2493 โดยการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในเวลานั้นถือเป็นปลาสวยงามที่มีราคาสูงมาก ในปี พ.ศ. 2498 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ทรงนำเข้าปลาชนิดนี้มาจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อเลี้ยงเป็นปลาพ่อแม่พันธุ์ และให้ชื่อเป็นภาษาไทยว่า "ปลาอัมรินทร์" ในขณะที่กรมประมงได้เรียกว่า "ปลาไนญี่ปุ่น" หรือ "ปลาไนสี" หรือ "ปลาไนแฟนซี" จากนั้นก็ได้มีผู้นำเข้ามาเลี้ยงกันมาอีกอย่างแพร่หลาย จนถึงในปัจจุบัน
นอกจากนี้แล้ว การเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์ปยังเชื่อกันว่าจะช่วยเสริมโชคลาภให้แก่ผู้เลี้ยงเช่นเดียวกับปลาทองหรือปลาอะโรวาน่าอีกด้วย[2]
สายพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์ป
[แก้](อาทิ)
- โคฮากุ (紅白) สีขาวสลับแดงตลอดทั้งตัว
- โชวะ (昭和) สีดำมีแต้มสีขาวและแดง และดำสลับกันจนถึงใต้ท้อง
- ตันโจ (丹頂) สีขาวตลอดทั้งตัว เว้นส่วนหัวที่มีแต้มสีแดงเป็นวงกลมใหญ่ คล้ายดวงอาทิตย์ในธงชาติญี่ปุ่น
- อะกะชิ (浅葱) สีฟ้าแต้มด้วยสีเหลืองแดง
- ชาโกย (茶鯉) สีเหมือนไข่มุกหรือเขียวมะกอก ตลอดจนสีน้ำตาลหรือทองแดง
- ไทโชซันเก้ (大正三色) คล้ายกับโคฮากุ แต่มีสีดำมาสลับ
- โอกอน (黄金) มีสีทองตลอดทั้งตัว
- อุตซูริโมนะ (写りもの) สีเหลืองอ่อน มีสีแดงเป็นหลักสลับดำตลอดทั้งตัว
- ฮิการิโมโยโมนะ (光り模様もの) สีเหลืองอ่อน มีสีแดงเป็นหลักสลับกันตลอดทั้งตัว
- เบคโกะ (べっ甲) มีลายเหมือนกระดองเต่า มีสีดำเป็นตาสลับเหมือนตาข่ายตลอดทั้งลำตัว เกล็ดสีขาว
- อาซากิ (浅黄) สีน้ำเงินอ่อนสลับเทา มีลายเหมือนตาข่ายคลุมอยู่ทั้งตัว
- ซูซุย (秋翠) มีเกล็ดขนาดใหญ่เห็นเด่นชัดที่สันหลังและข้างลำตัวยาวตั้งแต่หัวถึงหาง ผิวข้างลำตัวเรียบ
- คินกินริน (すすい) สีทองและเงินสลับกันทั้งตัว กลางลำตัวและส่วนท้ายมีสีแดงปะปน
- โคะโระโมะ (衣) เป็นชนิดโคฮากุผสมกับอะซะกิ จึงมีเกล็ดสีน้ำเงินเหลือบผสมตลอดทั้งตัว[3] [4]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Pictures available for Cyprinus carpio haematopterus". www.fishbase.org. สืบค้นเมื่อ 2010-10-31.
- ↑ "กระจกหกด้าน: มัจฉาเสริมโชค". ช่อง 7. 15 September 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-07. สืบค้นเมื่อ 15 September 2014.
{{cite web}}
: ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ สถาพร ชื่นใจ, ปลาคาร์ฟครับ คอลัมน์ Colorful Cyprinus หน้า 34-37 นิตยสาร Aquaium Biz ฉบับที่ 17 ปีที่ 2: พฤศจิกายน 2011
- ↑ "87021- มาเลี้ยงปลาคาร์ฟ กันเถอะ (ไทย)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-24. สืบค้นเมื่อ 2012-01-18.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Cyprinus carpio haematopterus ที่วิกิสปีชีส์