ข้ามไปเนื้อหา

นกกะปูด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Centropus)
นกกะปูด
นกกะปูดใหญ่ (Centropus sinensis)
เสียงร้องของนกกะปูด
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Cuculiformes
วงศ์: Cuculidae
วงศ์ย่อย: Centropodinae
Horsfield, 1823
สกุล: Centropus
Illiger, 1811
ชนิดต้นแบบ
Centropus senegalensis
L. (1766)
ชนิด
30 ชนิด (ดูในเนื้อหา)
ชื่อพ้อง[1]
  • Centropodidae

นกกะปูด (อังกฤษ: Coucals, Crow pheasants[2]) เป็นนกสกุลหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์ย่อย Centropodinae ในวงศ์นกคัคคู (Cuculidae) โดยใช้ชื่อสกุลว่า Centropus แต่มิใช่นกปรสิตเหมือนนกชนิดอื่น ๆ ในวงศ์เดียวกัน โดยเป็นนกเพียงวงศ์เดียวและสกุลเดียว[1]

นกกะปูด จัดเป็นนกขนาดกลาง มีลำตัวเพรียวยาว ลักษณะคล้ายกา มีความยาวประมาณ 35.50 เซนติเมตร ปากสีดำแหลมสั้นหนาแข็งแรง ตาสีแดง หัวและคอ และลำตัวสีดำ ปีกสั้นสีน้ำตาลแดง ขายาวสีดำ นิ้วตีนและเล็บยาวแข็งแรง สามารถจับเหยื่อ เกาะยึดเหนียวไต่แทรกไปตามพงหญ้า, ต้นไม้ หรือ พุ่มไม้หนาทึบได้อย่างคล่องแคล่ว หางยาวประมาณ 15–25 เซนติเมตร หนังหนาเหนียวสีดำ

นกกะปูด ได้ชื่อมาจากเสียงร้อง "ปูด ๆ ๆ ๆ ๆ" อันเป็นเอกลักษณ์ มักอาศัยอยู่ในพุ่มไม้ใกล้ชายน้ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำต่าง ๆ มีพฤติกรรมออกกินในตอนเช้าและตอนเย็น เมื่อตกใจแทนที่จะบินหนีเหมือนนกชนิดอื่น แต่กลับวิ่งหัวซุกหัวซุนเข้าซ่อนเร้นอยู่ในพุ่มไม้รกใกล้ ๆ บริเวณนั้น เมื่อจวนตัวจึงบินหนี นกกะปูดกินอาหารได้แก่ กบ, เขียด, หนู, อึ่งอ่าง, ปู, กุ้ง, หอย และปลา โดยหากินตามท้องนาหรือชายน้ำ แต่อาหารที่ชอบที่สุด คือ งู ทำรังอยู่ตามพงหญ้ารกตามริมน้ำ เช่น อ้อ หรือแขม วางไข่ครั้งหนึ่งราว 2 ถึง 6 ฟอง ตัวผู้กับตัวเมียจะผลัดเปลี่ยนกันฟักไข่[3]

นกกะปูด กระจายพันธุ์ในเขตร้อนทั่วไปทั้งทวีปเอเชียและแอฟริกา แบ่งออกเป็น 30 ชนิด ได้แก่[1]

การจำแนก

[แก้]

สำหรับในประเทศไทย พบ 2 ชนิด คือ นกกะปูดใหญ่ และนกกะปูดเล็ก ซึ่งพบได้ทุกจังหวัด และอาจจะพบนกกะปูดนิ้วสั้น ที่เป็นนกพลัดหลง หายากได้อีกด้วย[3][4]

ในวัฒนธรรม

[แก้]

นกกะปูด ในวัฒนธรรมความเป็นอยู่พื้นบ้านของชาวไทย เมื่อนกกะปูดร้องในเวลาเช้าและเวลาเย็น อีกทั้งร้องเป็นเวลาคล้ายบอกโมงยาม ซึ่งตรงกับเวลาน้ำขึ้น ผู้คนในสมัยโบราณ จึงฟังเสียงนกกะปูดเป็นสัญญาณบอกเวลา เรียกกันว่า "ยามนกกะปูด" ได้แก่ ร้องครั้งที่ 1 เรียกว่า ยามหนึ่ง (ราว 01.00 น.) ร้องครั้งที่ 2 เรียกว่า ยามสอง (ราว 02.00 น.) ร้องครั้งที่ 3 เรียกว่า ยามสาม (ราว 03.00 น.) ร้องครั้งที่ 4 เรียกว่า ยามสี่ (ราว 04.00 น.)[3]

นอกจากนี้แล้วจากเสียงร้อง คำว่า "นกกะปูด" ยังเป็นภาษาปากในภาษาไทย หมายถึง คนที่เก็บรักษาความลับไว้ไม่อยู่[5] และยังถูกอ้างอิงถึงในเพลง น้ำลงนกร้อง ซึ่งเป็นเพลงลูกทุ่งประกอบภาพยนตร์ไทยเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2513 ที่มีเนื้อร้องว่า

นกกะปูดตาแดง น้ำแห้งก็ตาย

[6]

นอกจากนี้แล้ว นกกะปูด ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกเช่น "นกปูด", "นกกดปูด" หรือ "นกกด"[7] เป็นต้น[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "Centropus". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  2. 2.0 2.1 ปูด จากสนุกดอตคอม
  3. 3.0 3.1 3.2 กะปูด คำแปล2 จากสนุกดอตคอม
  4. Walters, Michael P. (1980). Complete Birds of the World. David & Charles PLC. ISBN 0715376667.
  5. นกกะปูด (ปาก) น.ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
  6. ตอบ Tag เพลงลูกทุ่งต้อนรับเดือนแห่งความรัก ด้วย"นกกะปูดตาแดงน้ำแห้งก็ตาย"...ปูด ปูด ปูด
  7. "วิเคราะห์คอลัมนิสต์ 19 02 58". ฟ้าวันใหม่. 19 February 2015. สืบค้นเมื่อ 20 February 2015.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Centropus ที่วิกิสปีชีส์