ข้ามไปเนื้อหา

ปลาการ์ตูนเพอร์คูล่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Amphiprion percula)
ปลาการ์ตูนเพอร์คูล่า
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Pomacentridae
วงศ์ย่อย: Amphiprioninae
สกุล: Amphiprion
สปีชีส์: A.  percula
ชื่อทวินาม
Amphiprion percula
(Lacépède, 1802)
ชื่อพ้อง[1]
  • Lutjanus percula Lacépède, 1802

ปลาการ์ตูนเพอร์คูล่า หรือ ปลาการ์ตูนส้ม (อังกฤษ: Orange clownfish, Blackfin clownfish, Percula anemonefish; ชื่อวิทยาศาสตร์: Amphiprion percula[1])

เป็นปลาการ์ตูนที่มีลักษณะคล้ายกับปลาการ์ตูนส้มขาว (A. ocellaris) มากที่สุด แต่มีความแตกต่างจากปลาการ์ตูนส้มขาวตรงที่ ลวดลายบนลำตัวจะมีความหลากหลายกว่ามาก และพื้นลำตัวจะมีสีดำปรากฏมากกว่า บางตัวอาจมีสีดำกินพื้นที่ลำตัวจนเต็มเหลือเพียงครีบ, ปาก และหางเท่านั้นที่เป็นสีส้ม อีกประการ คือ ปลาการ์ตูนเพอร์คูล่านั้นจะมีซี่กระดูกบนครีบหลัง 9-10 ชิ้น ส่วนปลาการ์ตูนส้มขาวจะมี 11 ชิ้น, ซี่กระดูกที่ครีบหู 16-18 ชิ้น ขณะที่ปลาการ์ตูนส้มขาวมีน้อยกว่า คือ 15-17 ชิ้น

มีขนาดโตเต็มที่ 11 เซนติเมตร ซึ่งก็ใกล้เคียงกับปลาการ์ตูนส้มขาว พบกระจายพันธุ์ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก, หมู่เกาะโซโลมอน, เมลานีเซีย, นิวแคลิโดเนีย, วานูอาตู, เกรตแบร์ริเออร์รีฟ และไม่พบในน่านน้ำไทย

ปลาการ์ตูนเพอร์คูล่า นับเป็นปลาการ์ตูนชนิดที่ได้รับความนิยมสูงสุดในแง่ของการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม อันเนื่องจากลวดลายและสีสันที่สวยงามที่มากกว่า ยิ่งโดยเฉพาะตัวที่มีลวดลายหรือสีสันที่แปลกไปจากปกติ มักถูกตั้งชื่อทางการค้าไปต่าง ๆ เช่น "ปลาการ์ตูนปิกัสโซ่" คือ ปลาการ์ตูนเพอร์คูล่า ตัวที่มีลวดลายเชื่อมต่อกันคล้ายไม้กางเขน หรือ "ปลาการ์ตูนพลาตินั่ม" คือ ปลาการ์ตูนเพอร์คูล่า ที่มีสีขาวเป็นปื้นไปตลอดทั้งลำตัว เป็นต้น ซึ่งชนิดหลังนี้มีราคาขายที่สูงมากถึงคู่ละ 60,000 บาท

ปัจจุบัน ปลาการ์ตูนเพอร์คูล่า นับเป็นปลาการ์ตูนอีกชนิดหนึ่งที่สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ โดยลวดลายของปลาการ์ตูนเพอร์คูล่าที่เพาะออกมานั้น จะมีลวดลายและสีสันที่เป็นเอกลักษณะเฉพาะตัว ไม่เหมือนกัน ซึ่งต่างจากปลาการ์ตูนส้มขาว ที่ลวดลายจะเหมือนกันทั้งหมด ถึงแม้จะใช้พ่อแม่ปลาที่มีลวดลายและสีสันที่สวยงาม แปลกตาแล้ว แต่ลูกปลาที่ออกมาก็จะมีที่เหมือนกับพ่อแม่ปลาเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 จาก itis.gov (อังกฤษ)
  2. นันทวัฒน์ โชติสุวรรณ, ปลาทะเลสวยงาม ที่เพาะพันธุ์ได้ ในประเทศไทย คอลัมน์ Blue Planet หน้า 131 และ 132 นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 2 ฉบับที่ 21: มีนาคม 2012

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]