ข้ามไปเนื้อหา

วิทยุสมัครเล่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Amateur radio)

วิทยุสมัครเล่น (อังกฤษ: Amateur radio หรือ Ham radio) คือ งานอดิเรกอย่างหนึ่งของผู้ที่มีความสนใจเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารด้วยการส่งคลื่นวิทยุ มีกิจกรรมประกอบด้วย การศึกษาเชิงเทคนิคเกี่ยวกับวิทยุและการติดต่อสื่อสาร และการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมเพื่อการศึกษา การทดลอง การให้ความช่วยเหลือระหว่างกัน การพักผ่อนหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักวิทยุสมัครเล่นด้วยกัน นักวิทยุสมัครเล่นมักเรียกตัวเองว่า ham[1]

กิจกรรมต่าง ๆ ของนักวิทยุสมัครเล่น

[แก้]
เครื่องส่งที่ทันสมัยของนักวิทยุสมัครเล่นต่างประเทศ

นักวิทยุสมัครเล่นติดต่อสื่อสารกันในหลายรูปแบบ โดยทั่วไปนิยมติดต่อสื่อสารกันด้วยเสียงพูด ซึ่งถ้าใช้การผสมคลื่นความถี่แบบการกล้ำความถี่ (Frequency Modulation: FM) จะได้คุณภาพของเสียงที่ดีมาก แต่หากต้องการติดต่อสื่อสารเป็นระยะทางไกลๆ โดยใช้แถบความถี่น้อยหรือมีแถบความถี่ค่อนข้างจำกัดก็จะใช้การผสมคลื่นแบบ Single Sideband (SSB) ได้ การติดต่อสื่อสารด้วยรหัสมอร์ส (Morse's code) ยังคงได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับนักวิทยุสมัครเล่นทั่วโลก[ต้องการอ้างอิง] โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านความถี่สูง (HF-High Frequency) ซึ่งจากการทดลองก็พบว่าเป็นการติดต่อสื่อสารที่ดีมากหากเทียบอัตราส่วนระหว่างสัญญาณรบกวนและสัญญาณข้อมูล[ต้องการอ้างอิง]

การติดต่อด้วยรหัสมอร์สนั้นเป็นส่วนช่วยให้นักวิทยุสมัครเล่นที่อยู่คนละประเทศ พูดคนละภาษา แต่สามารถใช้รหัสมอร์สพูดคุยหรือสื่อสารกันได้ด้วยรูปแบบที่เป็นสากล และที่สำคัญเครื่องรับ-ส่ง CW นั้นสามารถสร้างได้ง่ายอีกด้วย สำหรับการติดต่อสื่อสารในปัจจุบันที่ทันสมัยของนักวิทยุสมัคเล่นโดยอาศัยคอมพิวเตอร์เข้ามาเป็นส่วนเสริมให้การติดต่อสื่อสารแบบดิจิตอลได้รับความนิยมขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งหากเป็นสมัยก่อนจะต้องใช้เครื่องมือมากมายในการติดต่อสื่อสารที่เป็นดิจิตอล ที่ผ่านมานักวิทยุสมัครเล่นเป็นผู้ริเริ่มนำระบบ Packet Radio เข้ามาใช้งาน ซึ่งต่อมาได้มีหลายๆ องค์กรนำไปพัฒนาและใช้งานให้เกิดประโยชน์มากมาย อีกทั้งนักวิทยุสมัครเล่นยังได้พัฒนาการติดต่อสื่อสารดิจิตอลอีกหลายรูปแบบ เช่น PSK31 ที่ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารแบบทันทีและใช้กำลังส่งที่น้อยในความถี่คลื่นสั้น (HF) WSJT ซึ่งนิยมใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารที่สัญญาณอ่อนมากๆ โดยเฉพาะการติดต่อสื่อสารสะท้อนพื้นผิวดวงจันทร์ การติดต่อสื่อสารด้วยภาพคล้ายการส่งสัญญาณโทรทัศน์นักวิทยุสมัครเล่นก็สามารถพัฒนาขึ้นมาใช้งานได้เช่นกัน[2]

การจับกลุ่มคุยกัน

[แก้]

นักวิทยุสมัครเล่นจำนวนไม่น้อยชอบที่จะพูดคุยกับนักวิทยุสมัครเล่นคนอื่น ๆ บนความถี่วิทยุเป็นประจำ โดยการคุยกันเป็นกลุ่มหลาย ๆ คน เรียกการจับกลุ่มคุยแบบนี้ว่า "Rag Chew" การคุยกันแบบนี้นับได้ว่ามีมาตั้งแต่เริ่มแรกของวิทยุสมัครเล่นเลยก็ว่าได้[ต้องการอ้างอิง]

เรื่องที่พูดคุยกันนั้นก็เป็นเรื่องทั่วๆ ไป หรือเรื่องราวเกี่ยวกับวิทยุสมัครเล่น เช่น ความรู้สายอากาศ การซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ อีกกลุ่มหนึ่งที่มีการรวมตัวกันทำกิจกรรมเกี่ยวกับวิทยุสมัครเล่น คือ กลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมตัวกันเป็นกลุ่มเรียกว่า "ชมรมนักวิทยุสมัครเล่น" ประจำสถาบันต่างๆ

บัตรยืนยันการติดต่อ

[แก้]

อ่านเพิ่มเติมหัวข้อ : บัตรยืนยันการติดต่อ

โดยทั่วไปนักวิทยุสมัครเล่นมักนิยมแลกเปลี่ยนบัตรยืนยันการติดต่อ หรือ QSL card ระหว่างกัน เพื่อที่จดบันทึกการติดต่อสื่อสารครั้งนั้นไว้ ซึ่งรางวัลต่าง ๆ ในกิจการวิทยุสมัครเล่น หลายรางวัลจำเป็นต้องใช้บัตรยืนยันการติดต่อนี้เพื่อรับรางวัล นักวิทยุสมัครเล่นบางคนก็นิยมเก็บสะสม เพราะมีความสวยงาม นอกจากการยืนยันโดยบัตรยืนยันการติดต่อแล้ว ปัจจุบันมีการยืนยันแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Logbook of the World (LoTW) จัดทำโดยสมาคมวิทยุสมัครเล่นอเมริกา (ARRL) การยืนยันแบบนี้สามารถแลกรางวัล (ที่จัดโดยสมาคม) ได้เช่นกัน

การติดต่อทางไกล (DX)

[แก้]

นักวิทยุสมัครเล่นหลายคนก็นิยมติดต่อกับสถานีที่อยู่ไกลออกไปจากที่อยู่ของตนเอง เช่น ติดต่อกันผ่านความถี่ย่าน HF ซึ่งสามารถติดต่อระหว่างประเทศ ระหว่างทวีปได้ทั่วโลก หรือแม้กระทั่งพยายามใช้ความถี่ย่าน VHF สามารถติดต่อได้ไกลๆ โดยเทคนิคด้านการสื่อสารแบบต่าง เช่น การติดต่อสื่อสารโดยการสะท้อนคลื่นวิทยุจากผิวพื้นดวงจันทร์ การติดต่อแบบสะท้อนฝนดาวตก เป็นต้น

การเดินทางไปติดต่อตามสถานที่ต่างๆ (DX-peditions)

[แก้]

มีหลายประเทศหรือหลายสถานที่ ที่มีนักวิทยุสมัครเล่นอยู่น้อยหรือไม่มีเลย ซึ่งเป็นที่ต้องการของนักวิทยุสมัครเล่นจากส่วนต่างๆ ของโลกที่ต้องการติดต่อกับสถานีวิทยุสมัครเล่นในสถานที่เหล่านี้ ซึ่งอาจมีการวมตัวกันเดินทางไปตั้งสถานีชั่วคราว เพื่อทำการติดต่อออกมาจากสถานที่เหล่านี้ ซึ่งการเดินทางไปเช่นนี้เรียกว่า DX-peditions ซึ่งถ้าเป็นการเดินทางไปยังสถานที่ที่ยากลำบากหรือมีความต้องการติดต่อกับสถานที่นั้นมาก จะสามารถติดต่อได้เป็นแสนสถานีจากทั่วทุกประเทศ ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์

รางวัล

[แก้]

มีรางวัลสำหรับนักวิทยุสมัครเล่นที่สามารถติดต่อ (มักนิยมเรียกว่า "Work") กับสถานีวิทยุสมัครเล่นในส่วนต่างๆ ของโลก มากมายหลายรางวัล รางวัลที่เป็นที่นิยมได้แก่ รางวัล DX Century Club (DXCC) คือรางวัลที่ให้กับผู้ที่สามารถติดต่อและยืนยันด้วยบัตรยืนยันการติดต่อได้ 100 ประเทศขึ้นไป จากทั้งหมด 335 ประเทศ ซึ่งเป็นรางวัลที่นิยมมากที่สุด ถ้าใครได้รับรางวัลนี้ก็เป็นการพิสูจน์ว่าเป็นผู้มีทักษะและความพยายาม ในการใช้ความสามารถในการติดต่อได้หลายประเทศ (หลังจากประกาศใช้ระเบียบ กบถ.2530 แล้วผู้ได้รับรางวัลคนแรกของไทยคือ HS1CDX ในรูปแบบการสือสารผ่านสัญญาณรหัสมอร์ส (CW) เป็นลำดับที่ 6054 ของโลก 26-aug-1993) นอกจากนี้ยังมี รางวัล Work All States (WAS)สำหรับผู้ที่สามารถติดต่อครบทุกรัฐของสหรัฐอเมริกา รางวัล Work All Continents (WAC) ให้กับผู้ที่สามารถติดต่อได้ครบ 6 ทวีปของโลก (หลังจากประกาศใช้ระเบียบ กบถ.2530 แล้วผู้ได้รับรางวัลคนแรกของไทยคือ HS1CDX ในรูปแบบการสือสารผ่านสัญญาณรหัสมอร์ส (CW) 9-jun-1992) รางวัล Work All Zones (WAZ) มอบให้ผู้ที่ติดต่อได้ครบทุก Zone

การแข่งขัน

[แก้]

การแข่งขัน หรือ Contesting หรือ Radiosport คือ กิจกรรมการแข่งขันของนักวิทยุสมัครเล่นที่จัดและดำเนินการโดยนักวิทยุสมัครเล่น ซึ่งในการแข่งขันนั้น สถานีวิทยุสมัครเล่น อาจออกอากาศด้วยนักวิทยุสมัครเล่นเพียงคนเดียวหรือรวมกลุ่มกัน เพื่อจะพยายามติดต่อสถานีวิทยุสมัครเล่นอื่นๆ ให้ได้มากที่สุดภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยในการติดต่อกันนั้นจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันด้วย ซึ่งกติกาการแข่งขันนั้นก็จะกำหนดความถี่ที่ใช้ในการติดต่อและข้อมูลที่ต้องแลกเปลี่ยนกันในแต่ละครั้ง ซึ่งการติดต่อแต่ละสถานีจะถูกคำนวณออกมาเป็นคะแนน ซึ่งจะนำมาจัดลำดับหลังจากจบการแข่งขัน การแข่งขันแต่ละรายการจะมีผู้สนับสนุนและกติกาแตกต่างกันออกไป ส่วนมากผลการแข่งขันจะประกาศในนิตยสารวิทยุสมัครเล่นที่เป็นที่รู้จักหรือตามเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับวิทยุสมัครเล่น นับวันจะมีจำนวนการแข่งขันเพิ่มขึ้น รวมทั้งนักวิทยุสมัครเล่นที่เข้าร่วมแข่งขันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และนักวิทยุสมัครเล่นหลายๆ คน มักเข้าร่วมแข่งขันเป็นประจำทุกรายการ เหมือนกับว่าเป็นกิจกรรมหลักของนักวิทยุสมัครเล่นนั้น ๆ ก็ว่าได้[3]

การตั้งสถานีติดต่อชั่วคราว (Portable)

[แก้]

นักวิทยุสมัครเล่นมักจะนำอุปกรณ์วิทยุสื่อสารของตนเองติดตัวไปด้วยเวลาไปเที่ยวยังสถานที่ท่องเที่ยวต่าง และจะออกอากาศหรือทำการติดต่อจากสถานที่เหล่านั้น (ต้องได้รับอนุญาตสำหรับการออกอากาศในสถานที่นอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต) ด้วยกำลังส่งต่ำ และสายอากาศที่สามารถติดตั้งได้ง่าย ซึ่งก็มีบ่อยครั้งที่ตั้งใจเดินทางไปยังสถานที่ที่ห่างไกลและไม่มีนักวิทยุสมัครเล่นไปออกอากาศ เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิทยุสมัครเล่นจากที่ต่าง ๆ ได้ติดต่อเข้ามาเพื่อแลกบัตรยืนยันการติดต่อ แม้กระทั่ง นักวิทยุที่ชอบเดินทางด้วยเรือหรือเครื่องบินก็สามารถใช้เครื่องมือสื่อสารติดต่อกับนักวิทยุสมัครเล่นอื่น ๆ ได้เช่นกัน

การติดต่อด้วยกำลังส่งต่ำ (QRP)

[แก้]

มีนักวิทยุสมัครเล่นบางคนที่ชอบสร้างเครื่องวิทยุ รับ-ส่ง ด้วยตนเอง แบบง่าย ๆ ด้วยงบประมาณที่ไม่สูงมาก และเครื่องวิทยุ รับ - ส่ง เหล่านี้มักจะมีกำลังส่งที่ต่ำ หรือที่เรียกกันว่า QRP ซึ่งย่อมาจาก Q code ที่มีความหมายว่า "ลดกำลังส่ง" การออกอากาศด้วย QRP ใช้กำลังส่งไม่เกิน 5 วัตต์ สำหรับการติดต่อแบบ รหัสมอร์ส และไม่เกิน 10 วัตต์สำหรับการติดต่อแบบ เสียงพูด

วิทยุสมัครเล่นกับอวกาศ

[แก้]
ภาพจากการส่งสัญญาณภาพ SSTV จากสถานีอวกาศนานาชาติ ในกิจกรรม Expedition 66 - ARISS Series 19 Lunar Exploration

ที่ผ่านมานักวิทยุสมัครเล่นได้ส่งดาวเทียมสำหรับการติดต่อสื่อสารหรือการทดลองของนักวิทยุสมัครเล่นมากกว่า 70 ดวงแล้ว ในโครงการที่ชื่อว่า Orbiting Satellite Carrying Amateur Radio หรือ OSCAR ซึ่งบางดวงก็สามารถใช้งานด้วยการใช้เครื่องวิทยุรับ-ส่งชนิดมือถือ และสายอากาศชนิดติดกับตัวเครื่อง หรือ "rubber duck" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง AO-51 หรือ AMSAT Echo นักวิทยุสมัครเล่นยังสามารถใช้ "ดาวเทียมธรรมชาติ" ได้แก่ ดวงจันทร์ และ ดาวตก สำหรับการสะท้อนคลื่นเพื่อการติดต่อสื่อสาร นักวิทยุสมัครเล่นยังสามารถติดต่อสื่อสารกับสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station หรือ ISS) ซึ่งนักบินอวกาศเกือบทุกคนที่ประจำอยู่จะได้รับใบอนุญาตการเป็นนักวิทยุสมัครเล่นเช่นกัน [4]โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีโครงการให้นักเรียนได้ติดต่อพูดคุยกับนักบินอวกาศผ่านความถี่วิทยุสมัครเล่น อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นความถี่สำรองสำหรับสถานีอวกาศนานาชาติอีกด้วย

ระบบรายงานพิกัดอัตโนมัติผ่านวิทยุสมัครเล่น

[แก้]

นักวิทยุสมัครเล่น ได้ชื่อว่าเป็นนักค้นคว้าและทดลอง จนได้มีการพัฒนาระบบรายงานพิกัดอัตโนมัติผ่านวิทยุสมัครเล่น (Automatic Packet Reporting System (APRS)) ขึ้น โดยเป็นการประยุกต์ใช้อุปกรณ์ระบุพิกัดสัญญาณดาวเทียม GPS และทำการส่งพิกัดที่อยู่หรือที่ตั้งสถานีของนักวิทยุสมัครเล่น ยานพาหนะ ทั้งรถยนต์ เรือ หรือเครื่องบิน ผ่านเครือข่ายวิทยุสมัครเล่น โดยมีสถานีรับสัญญาณที่เป็นสถานีที่นักวิทยุสมัครเล่นจัดตั้งขึ้นและกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศรับสัญญาณและส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต และสามารถเรียนดูพิกัดดังกล่าวได้ทั่วโลก

กีฬาการค้นหาแหล่งกำเนิดสัญญาณวิทยุ (ARDF)

[แก้]

ARDF (Amateur radio direction finding) เป็นกีฬาการแข่งขันค้นหาสัญญาณวิทยุจากแหล่งกำเนิดสัญญาณวิทยุ ซึ่งจะต้องเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งเพื่อค้นหาตัวส่งสัญญาณวิทยุให้ได้มากที่สุดภายในระยะเวลาที่กำหนด สามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัยและความพร้อมของร่างกาย โดยจำเป็นจะต้องใช้ทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับการแพร่กระจายของคลื่นวิทยุจากสายอากาศชนิดต่างๆ ทักษะการอ่านแผนที่ การใช้เข็มทิศ และเครื่องรับสัญญาณวิทยุในการรับสัญญาณจากเครื่องส่งสัญญาณ[5]

ข้อห้ามสำหรับกิจการวิทยุสมัครเล่น

[แก้]
  • ติดต่อกับสถานีวิทยุสมัครเล่นที่ไม่อนุญาตให้มีกิจการวิทยุสมัครเล่นในประเทศนั้น
  • ใช้รหัสลับในการติดต่อสื่อสาร
  • รับ - ส่งข่าวสารนอกเหนือไปจากกิจการวิทยุสมัครเล่น
  • จ้างวาน รับ - ส่งข่าวสารไปยังบุคคลที่สาม
  • ใช้ถ้อยคำหยาบคายในการติดต่อสื่อสาร
  • รับ - ส่ง ข่าวสารอันมีเนื้อหาละเมิดกฎหมายบ้านเมือง
  • ส่งเสียงดนตรี รายการบันเทิง หรือรายการโฆษณาทุกประเภท
  • การกระทำให้เกิดการรบกวนต่อการสื่อสารของสถานีอื่นโดยเจตนา เช่น การส่งสัญญาณคลื่นรบกวนประเภทต่าง ๆ ใช้ช่องสัญญาณติดต่อสื่อสารทับซ้อนกัน
  • ติดต่อกับสถานีวิทยุคมนาคม ที่ไม่ได้รับอนุญาต
  • ใช้สัญญาณเรียกขานปลอม หรือแอบอ้างใช้สัญญาณเรียกขานผู้อื่น
  • แย่งใช้ช่องสัญญาณในการติดต่อสื่อสาร หรือใช้ช่องสัญญาณในลักษณะยึดครอบครองเฉพาะกลุ่มบุคคล
  • ยินยอมให้ผู้อื่นที่ไม่มีใบอนุญาตใช้สถานีวิทยุคมนาคมหรือเครื่องวิทยุคมนาคมกระทำผิดกฎหมายวิทยุคมนาคม หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • ไม่บันทึกการติดต่อสื่อสารในสมุดบันทึก (Log Book)

วันสำคัญ

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. http://life.itu.int/radioclub/ars.htm
  2. "การติดต่อสื่อสารด้วย Slow-scan TV ของนักวิทยุสมัครเล่น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-05. สืบค้นเมื่อ 2007-03-07.
  3. รายการแข่งขันวิทยุสมัครเล่น ของสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (ARRL)
  4. "วิทยุสมัครเล่นบนสถานีอวกาศนานาชาติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-16. สืบค้นเมื่อ 2007-03-07.
  5. กีฬา ARDF คืออะไร

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]