เครื่องทวนสัญญาณเพื่อการค้นหาและช่วยเหลือผ่านระบบระบุบ่งชี้อัตโนมัติ
เครื่องทวนสัญญาณเพื่อการค้นหาและช่วยเหลือผ่านระบบระบุบ่งชี้อัตโนมัติ (อังกฤษ: AIS-Search and Rescue Transmitter (Transponder): AIS-SART) เป็นอุปกรณ์วิทยุแบบครบวงจรที่ใช้ในการระบุตำแหน่งของยานช่วยชีวิตหรือเรือที่ได้รับความเสียหาย และส่งรายงานตำแหน่งอย่างต่อเนื่องโดยใช้มาตรฐานระบบระบุบ่งชี้อัตโนมัติ (AIS) คลาส A โดยตำแหน่งและเวลาจะได้รับการผสานข้อมูลในเครื่อง AIS-SART ซึ่งใช้ข้อมูลจากเครื่องรับระบบนำทางด้วยดาวเทียม (GNSS) (เช่นระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก)[1]
ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินและเพื่อความปลอดภัยทางทะเลทั่วโลก (GMDSS) บนเรือนั้นจะประกอบไปด้วยอุปกรณ์ค้นหาและช่วยเหลือในการระบุตำแหน่งอย่างน้อย 1 เครื่อง โดยอุปกรณ์นี้อาจจะเป็น AIS-SART (ตามข้อบังคับตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553) หรือเครื่องทวนสัญญาณเพื่อการค้นหาและช่วยเหลือ (radar-SART, Search and Rescue Transponder)
เครื่อง AIS-SART ได้รับการประสานข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งและเวลาจากเครื่องรับ GNSS แบบติดตั้งในเครื่อง โดยในเวลา 1 นาที ตำแหน่งจะถูกส่งเป็นชุดข้อความที่เหมือนกันจำนวนแปดข้อความ (สี่ข้อความบนความถี่ 161.975 MHz และสี่ข้อความบน 162.025 MHz) ซึ่งรูปแบบการส่งนี้สร้างความเป็นไปได้สูงที่ข้อความอย่างน้อยหนึ่งข้อความจะถูกส่งไปยังระยะสูงสุดของคลื่นสัญญาณที่ถูกส่งออกไป
โดยทั่วไป เครื่อง AIS-SART นั้นจะมีรูปทรงกระบอกและมีสีสันที่สดใส มักจะมีขนาดความสูง 151 มิลลิเมตร (ประมาณ 10 นิ้ว) และหนัก 450 กรัม (ประมาณ 1 ปอนด์)[2]
ข้อมูลจำเพาะ (IEC 61097-14 Ed 1.0) ของ AIS-SART นั้นได้รับการกำหนดและพัฒนาโดยคณะทำงาน TC80 AIS ของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์ (IEC) ซึ่งเครื่อง AIS-SART นั้นได้ถูกเพิ่มเข้าไปในข้อกำหนดของระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินและเพื่อความปลอดภัยทางทะเลทั่วโลก (GMDSS) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553[3]
ดูเพิ่ม
[แก้]- เครื่องวิทยุคมนาคมบอกตำแหน่งผ่านดาวเทียมในกรณีฉุกเฉิน (EPIRB)
- ระบบติดตามข้อมูลเรือระยะไกล (LRIT)
- วิทยุทางทะเล ย่านความถี่วีเอชเอฟ
- ระบบระบุบ่งชี้อัตโนมัติ (AIS)
- ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินและเพื่อความปลอดภัยทางทะเลทั่วโลก (GMDSS)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Robert Connolly (June 2010). "A new AIS SART, Coastwatch and Irish airshows". Radio User. 5 (6): 40–41. ISSN 1748-8117.
- ↑ "SART / AIS-SART". JOTRON. สืบค้นเมื่อ 2012-04-27.
- ↑ IEC Technical Committee 80. "Maritime Navigation and Radiocommunication Equipment and Systems" (PDF). IEC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-10-03. สืบค้นเมื่อ 2012-04-25.