ไรเด็ง ทาเมเอมง
ไรเด็ง ทาเมเอมง | |
---|---|
雷電 爲右衞門 | |
เกิด | เซกิ ทาโรกิจิ มกราคม ค.ศ. 1767 เมืองโทมิ จังหวัดนางาโนะ ประเทศญี่ปุ่น |
เสียชีวิต | 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1825 | (58 ปี)
อาชีพ | นักมวยปล้ำซูโม่ |
ปีปฏิบัติงาน | พฤศจิกายน ค.ศ. 1789 - กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1811 |
ส่วนสูง | 197 เซนติเมตร (6 ฟุต 6 นิ้ว) |
ไรเด็ง ทาเมเอมง (ญี่ปุ่น: 雷電 爲右衞門; โรมาจิ: Raiden Tameemon; มกราคม ค.ศ. 1767 – 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1825) มีชื่อโดยกำเนิดว่า เซกิ ทาโรกิจิ (ญี่ปุ่น: 関 太郎吉; โรมาจิ: Seki Tarōkichi) เป็นนักมวยปล้ำซูโม่ชาวญี่ปุ่นจากเมืองโทมิ จังหวัดนางาโนะ ถือเป็นหนึ่งในริกิชิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ แม้ว่าจะไม่เคยได้รับการเลื่อนขั้นเป็นโยโกซูนะก็ตาม[1] จนถึงปัจจุบัน ไรเด็งยังคงรักษาสถิติอัตราการชนะสูงสุดในการแข่งขันระดับสูงตลอดกาล
ประวัติช่วงต้น
[แก้]ไรเด็งเกิดในครอบครัวเกษตรกรในหมู่บ้านชนบทของจังหวัดชินาโนะ (ปัจจุบันคือจังหวัดนางาโนะ) กล่าวกันว่าเขามีความแข็งแกร่งทางร่างกายอย่างมากตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก ฮาเนเอมงพ่อของไรเด็งผู้ชื่นชอบซูโม่พอ ๆ กับเหล้าสาเก ได้อนุญาตให้ไรเด็งในวัย 14 ปีเข้าเรียนซูโม่ที่หมู่บ้านนางาเซะ (ปัจจุบันเรียกว่ามูโรโกโจะ) ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้เคียง เมื่อไรเด็งอายุ 17 ปี ครูฝึกซูโม่ของโรงฝึกอูราคาเซะ-เบยะสังเกตเห็นไรเด็งขณะเดินทางผ่านพื้นนี่บริเวณนั้นขณะอยู่ในระหว่างจุงเงียว (การแข่งขันระดับภูมิภาค) กับนักมวยปล้ำซูโม่ของตน เขารู้สึกประทับใจเป็นพิเศษกับร่างกายของไรเด็งในวัยหนุ่มซึ่งไม่ธรรมดาในเวลานั้น ไรเด็งในวัยหนุ่มสูง 1.97 เมตร (6 ฟุต 5.6 นิ้ว) ซึ่งสูงกว่าคนรุ่นราวคราวเดียวกันเกือบสามศีรษะ นอกจากนี้ยังมีแขนที่ยาวและมือที่มีขนาดใหญ่ รอยประทับมือที่วัดโชฟูกูจิ ใกล้เมืองโอกาบามะซึ่งว่ากันว่าเป็นมือของไรเด็งนั้น วัดจากข้อมือถึงปลายนิ้วกลางได้ 24 เซนติเมตร (9.4 นิ้ว) เมื่อไรเด็งฝึกเป็นนักมวยปล้ำซูโม่ เขาก็มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 169 กิโลกรัม (373 ปอนด์)[2]
เมื่ออูรากาเซะ คาซูกิเชิญไรเด็งมาที่เอโดะและเริ่มฝึกฝนให้ไรเด็ง ปรากฏว่าไรเด็งไม่เพียงมีร่างกายใหญ่โต (ตามมาตรฐานญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 18) เท่านั้น แต่ยังมีพรสวรรค์ในมวยปล้ำซูโม่อีกด้วย เขามีพรสวรรค์เป็นพิเศษในเทคนิคโอชิ-ซูโม่ และสามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงเมื่อเทียบกับขนาดตัว ต่อมาไม่นานไรเด็งก็ออกจากโรงฝึกเดิมและเข้าร่วมกับโรงฝึกอิซโนอูมิ-เบยะอย่างไม่เป็นทางการ โดยที่โยโกซูนะ ทานิกาเซะ คาจิโนซูเกะได้เป็นครูฝึกของไรเด็ง[3]
การเล่นซูโม่อาชีพ
[แก้]ในปี ค.ศ. 1789 ชิโกนะ (ชื่อในวงการของนักมวยปล้ำซูโม่) "ไรเด็ง" ซึ่งมีความหมายว่า "สายฟ้าฟาด" ปรากฏในอันดับบันซูเกะ แม้ว่าไรเด็งจะยังไม่ได้เปิดตัวจนกระทั่งฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1790 ไรเด็งได้รับการจัดอันดับเป็นเซกิวาเกะ มีสถิติที่ดีที่สุดในบาโชะ (การแข่งขัน) โดยไม่เคยแพ้ หลังจากการเสียชีวิตของทานิกาเซะ ไรเด็งได้การเลื่อนอันดับเป็นโอเซกิในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1795 ซึ่งเป็นอันดับที่ไรเด็งรักษาไว้เป็นเวลาเกือบ 17 ปี ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1793 ถึงเมษายน ค.ศ. 1800 ไรเด็งทำสถิติดีที่สุดในทุกการแข่งขันที่เข้าร่วม นำหน้านักมวยปล้ำซูโม่ผู้ยิ่งใหญ่คนอื่น ๆ ในยุคนั้นอย่างทานิกาเซะ และโอโนงาวะ คิซาบูโร[2] หลังปี ค.ศ. 1800 ไรเด็งยังคงมีสถิติเหนือกว่า กรรมการซูโม่ถึงกับไม่อนุญาตให้ไรเด็งใช้ท่าถนัดที่ชอบใช้เพื่อให้การแข่งขันน่าติดตาม[3][4]
จากการแข่งขันทั้งหมด 35 รายการที่ไรเด็งเข้าร่วม (เวลานั้นมีเพียง 2 บาโชะต่อปี) ไรเด็งมีสถิติที่ดีที่สุดไม่ต่ำกว่า 28 รายการ มี 7 รายการที่ไรเด็งชนะโดยไม่พ่ายแพ้หรือเสมอแม้แต่ครั้งเดียว โดยรวมแล้วไรเด็งชนะทั้งหมด 254 ครั้ง และแพ้เพียง 10 ครั้ง อัตราการชนะอยู่ที่ร้อยละ 96.2 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดตลอดกาล[5] ช่วงเวลาที่ชนะติดต่อยาวนานที่สุดของเขาคือ 11 การแข่งขันติดต่อกัน หรือทั้งหมด 44 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ความชนะเลิศของไรเด็งได้รับการยกย่องอย่างไม่เป็นทางการจากสมาคมซูโม่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่ระบบยูโชในปัจจุบันจะก่อตั้งในปี ค.ศ. 1909 จึงไม่มีการมอบถ้วยรางวัลสำหรับสมรรถนะส่วนบุคคลในการแข่งขัน
ลาออกจากวงการซูโม่
[แก้]ท้ายที่สุด ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 1811 ไรเด็งลาออกจากวงการซูโม่เมื่ออายุได้ 43 ปี เขากลายเป็นประธานสมาคมซูโม่แห่งจังหวัดอิซูโมะ (ปัจจุบันคือจังหวัดชิมาเนะ) ซึ่งไดเมียวผู้สนับสนุนของเขาอาศัยอยู่ ในปี ค.ศ. 1816 ไรเด็งย้ายไปเอโดะและเขียนบันทึก โชโกกุ ซูโม ฮิกาเอะ-โจ ("บันทึกซูโม่ในภูมิภาคต่างๆ") ซึ่งกล่าวถึงถึงช่วงเวลาที่ตนเป็นนักมวยปล้ำซูโม่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1789
หลังจากไรเด็งเสียชีวิต ศพถูกฝังไว้ที่ย่านอากาซากะในเอโดะ ปอยผม 2 กลุ่มถูกฝังอยู่ในหลุมฝังศพอื่น ๆ ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านบ้านเกิดของเขาและในมัตสึเอะในจังหวัดชิมาเนะ
สมัยที่ไรเด็งยังเป็นนักมวยปล้ำซูโม่ ชาวบ้านในหมู่บ้านบ้านเกิดของเขาได้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นเกียรติแก่บิดามารดาของไรเด็ง ตัวไรเด็งเองก็ได้บริจาคถังสุราสาเกที่ทำจากหินเพื่อระลึกถึงบิดาของตน นับตั้งแต่ที่เขาเสียชีวิต ไรเด็งไม่เพียงแต่ปรากฏตัวในรูปแบบของรูปปั้นเท่านั้น แต่ยังปรากฏบนตราไปรษณียกร ฉลากเบียร์ และมังงะด้วย
ไม่ได้เลื่อนขั้นเป็นโยโกซูนะ
[แก้]แม้ว่าไรเด็งมีสถิติชนะสูงในการแข่งขัน แต่ก็ไม่เคยได้รับการเลื่อนขั้นให้เป็นโยโกซูนะ ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดของซูโม่ เหตุผลที่แน่ชัดยังคงเป็นปริศนาในประวัติศาสตร์
ผู้สื่อข่าวมาซาฮิโกะ โนมิ ตั้งทฤษฎีว่า โยชิดะ โออิกาเซ รุ่นที่ 19 ได้มอบขั้นโยโกซูนะให้กับนักมวยปล้ำซูโม่เพียง 2 คนคือทานิกาเซะ คาจิโนซูเกะ และโอโนงาวะ คิซาบูโร และไม่ได้ตั้งใจที่จะมอบเกียรตินี้อีกต่อไปในอนาคต หลายสิบปีต่อมา โยชิดะ โออิกาเซะรุ่นที่ 20 พยายามเอาชนะตระกูลโกโจ ซึ่งต้องการเลื่อนขั้นคาชิวาโดะ ริซูเกะและทามางากิ กากูโนซูเกะให้เป็นโยโกซูนะ โดยมอบขั้นโยโกซูนะให้แก่โอโนมัตสึ มิโดริโนซูเกะ[6] โอโนมัตสึจึงกลายเป็นโยโกซูนะคนใหม่คนแรกในรอบเกือบ 40 ปี
อีกทฤษฎีหนึ่งเสนอว่าสาเหตุของการกีดกันไม่ให้ไรเด็งเป็นโยโกซูนะอาจเกิดจากการเมืองระหว่างกลุ่มตระกูล ไดเมียวมัตสึไดระ ฮารูซาโตะ ผู้ให้การสนับสนุนไรเด็ง สืบเชื้อสายจากยูกิ ฮิเดยาซุซึ่งเป็นบุตรชายของโทกูงาวะ อิเอยาซุ ในขณะที่ตระกูลโยชิดะซึ่งได้รับสิทธิพิเศษในการมอบขั้นโยโกซูนะ เป็นผู้สนับสนุนของตระกูลโฮโซกาวะ ซึ่งมีประวัติการสนับสนุนอิชิดะ มิตสึนาริ
โยโกซูนะไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเป็นขั้นของบันซูเกะ จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อจิมมากุ คีวโงโรสร้างอนุสาวรีย์โยโกซูนะที่ศาลเจ้าโทมิโอกะฮาจิมัง ในปี ค.ศ. 1900 ได้รวมชื่อของไรเด็งว่าเป็น "ริกิชิไร้เทียมทาน"[7] แม้ว่าไรเด็งจะไม่เคยได้รับการเลื่อนขั้นอย่างเป็นทางการก็ตาม[8]
สถิติการแข่งขันระดับสูง
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Kuroda, Joe (February 2006). "Yokozuna Comparison". sumofanmag.com. สืบค้นเมื่อ 2007-06-25.
- ↑ 2.0 2.1 "Raiden Tamemon Rikishi Information". Sumo Reference.
- ↑ 3.0 3.1 R., Liam (2017-10-18). "Legends of the Dohyo #3: The Peerless One". Tachiai. สืบค้นเมื่อ 2020-03-21.
- ↑ Gunning, John (14 October 2020). "Once-fearsome ozeki rank no longer sport's 'great barrier'". Japan Times. 14 October 2020. สืบค้นเมื่อ 16 October 2020.
- ↑ "shigeno" (ภาษาญี่ปุ่น). Shinano Railway Line. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-10-28. สืบค้นเมื่อ 2008-06-21.
- ↑ 雷電の謎・横綱の「制度化」 (ภาษาญี่ปุ่น). Atsuo Tsubota. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-03-19. สืบค้นเมื่อ 2008-05-28.
- ↑ "英和辞書 - goo辞書". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-18. สืบค้นเมื่อ 2010-02-08.
- ↑ Kuroda, Joe (April 2006). "The First Yokozuna (Akashi Shiganosuke) and the history of sumo's ultimate rank". Sumo Fan Magazine. สืบค้นเมื่อ 2008-06-22.