ข้ามไปเนื้อหา

มีเกลันเจโล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ไมเคิลแองเจโล)
มีเกลันเจโล
ภาพมีเกลันเจโล โดยดานีเอเล ดา วอลแตร์รา
เกิดมีเกลันเจโล ดี โลโดวีโก บูโอนาร์โรตี ซีโมนี
6 มีนาคม ค.ศ. 1475
กาเปรเซ ใกล้กับอาเรซโซ ฟลอเรนซ์ (ปัจจุบันคือแคว้นตอสคานา อิตาลี)
เสียชีวิต18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1564(1564-02-18) (88 ปี)
โรม รัฐสันตะปาปา (ปัจจุบันคือประเทศอิตาลี)
มีชื่อเสียงจากประติมากรรม, จิตรกรรม, สถาปัตยกรรม และกวี
ผลงานเด่น
ขบวนการยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการตอนสูง
ลายมือชื่อ

มีเกลันเจโล หรือที่มักรู้จักกันในชื่อ ไมเคิลแองเจโล มีชื่อเต็มว่า มีเกลันเจโล ดี โลโดวีโก บูโอนาร์โรตี ซีโมนี (อิตาลี: Michelangelo di Lodovico Buonarroti Simoni, [mikeˈlandʒelo di lodoˈviːko ˌbwɔnarˈrɔːti siˈmoːni]; 6 มีนาคม ค.ศ. 1475 – 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1564) เป็นจิตรกร สถาปนิก และประติมากรชื่อดังในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance)

มีเกลันเจโลเกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1475 ในเมืองกาเปรเซ เขาเติบโตที่เมืองฟลอเรนซ์ หลังจากที่ไปอยู่ที่กรุงโรมเมื่ออายุ 21 ปี และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นถึง 5 ปี มีเกลันเจโลสร้างประติมากรรมรูปสลัก ดาวิด (มีเกลันเจโล) ขณะมีอายุ 26 ปี จากหินอ่อนก้อนมหึมาที่ถูกทิ้งไว้กลางเมืองฟลอเรนซ์เป็นเวลาหลายปี จึงกลายเป็นที่ฮือฮาของชาวเมือง ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีใครกล้าพอที่จะแตะต้องมัน ความสำเร็จหลังจากงานชิ้นนี้ ทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังไปทั่วอิตาลี มีเกลันเจโล เดิมทีเป็นคนที่เกลียดเลโอนาร์โด ดา วินชี ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะมีอายุห่างกันถึง 23 ปี และไม่ค่อยได้พบกันบ่อยนัก ในช่วงนี้ (ค.ศ. 1497–1500) เขาก็ได้สร้างประติมากรรมหินอ่อนอีกชิ้นหนึ่งที่มีชื่อว่า ปีเอตะ (Pietà) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในมหาวิหารนักบุญเปโตรที่กรุงโรม

ตอนอายุได้ 30 ปี เขาได้ถูกเชิญให้กลับมาที่กรุงโรม เพื่อออกแบบหลุมฝังศพให้กับสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 ซึ่งใช้เวลาประมาณ 40 ปี หลังจากแก้หลายครั้งหลายครา จนมาสำเร็จใน ค.ศ. 1545 ต่อมาใน ค.ศ. 1546 เขาเป็นสถาปนิกคนสำคัญในการสร้างมหาวิหารนักบุญเปโตรที่กรุงโรม ที่มีความยิ่งใหญ่และงดงามเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของโลก โดยเฉพาะส่วนที่เป็นโดม

เขาใช้ชีวิตในบั้นปลายอยู่ในกรุงโรม ตลอด 30 ปี ช่วงนี้นั้นเองที่เขาเขียนภาพระดับโลกไว้มากมาย โดยเฉพาะภาพ คำพิพากษาครั้งสุดท้าย (The Last Judgment) ซึ่งเขาใช้เวลาในการเขียนภาพขนาดยักษ์นี้นานถึง 6 ปี

มีเกลันเจโล บูโอนาร์โรตี เสียชีวิตที่โรมเมื่อ ค.ศ. 1564 รวมอายุได้ 88 ปี ซึ่งมีคำกล่าวจากสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 ว่า "ทรงยินดีบั่นทอนชีวิตของท่านลง เพื่อแลกกับชีวิตของมิเกลันเจโลให้ยืนยาวออกไปอีก"

ประวัติ

[แก้]

วัยเด็ก (ค.ศ. 1475 – ค.ศ. 1488)

[แก้]

ในเมืองกาเปรเซที่ ณ ปัจจุบัน เรียกกันว่า กาเปรเซมีเกลันเจโล เป็นเมืองเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ใน วัลติเบอริน่า ใกล้กับเมืองอาเรสโซ แคว้นตอสคานา[1] เขาเป็นบุตรของ ลูโดวิโค ดิ เลโอนาโด บัวนารอติ ซิโมนี กับ ฟรานเชสกา ดิ เนรีแห่งมินิอาโตแห่งเซียนา[2] ครอบครัวของเขาเคยเป็นพนักงานธนาคารขนาดเล็กในฟลอเรนซ์ แต่ธนาคารกลับไม่ประสบความสำเร็จ พ่อของเขาจึงรับตำแหน่งราชการในเมืองกาเปรเซ[3] ในขณะที่มีเกลันเกิด พ่อของเขาทำงานเป็นแมยิสเตร็ดและนายกเทศมนตรีของโกมูเนชิว ครอบครัวของเขาเชื่อว่าพวกเขาสืบเชื้อสายมาจากเคาน์เตส มาทิลดาแห่งคาโนสซาแห่งตอสคานาซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ แต่มีเกลันเจโลเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น[4]

หลายเดือนหลังจากที่มีเกลันเกิด ครอบครัวของเขาได้ย้ายกลับไปอยู่ในฟลอเรนซ์ เขาได้รับการเลี้ยงดูที่นั้น และหลังจากที่แม่ของเขาเสียชีวิตใน ค.ศ. 1481 (เมื่อเขาอายุได้ 6 ขวบ) เขาได้ไปอาศัยอยู่กับพี่เลี้ยงและสามีของเธอซึ่งเป็นคนตัดหินในเมืองเซตติญาโน เมืองที่พ่อของเขาเป็นเจ้าของเหมืองหินอ่อนและฟาร์มเล็ก ๆ[2]

การฝึกงาน (ค.ศ. 1488 – ค.ศ. 1492)

[แก้]

ขณะยังเป็นวัยรุ่น มีเกลันเจโลถูกส่งไปที่เมืองฟลอเรนซ์ เพื่อศึกษาไวยากรณ์ ภายใต้แนวคิดมนุษยนิยมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ฟรันเชสโก ดา อูร์บีโน[5][6] แต่เขาไม่แสดงความสนใจในการเรียน เลือกที่จะคัดลอกภาพวาดจากโบสถ์ และหาเพื่อนของจิตรกรคนอื่น[6]

พระแม่มารีแห่งบันได ผลงานชิ้นแรกที่มีหลักฐานของมีเกลันเจโล

เมืองฟลอเรนซ์ในเวลานั้นเป็นศูนย์กลางศิลปะและการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอิตาลี [7] โดยศิลปะในเมืองนี้ได้รับการสนับสนุนจากซินญอรีอา(สภาเมือง) สมาคมการค้า และเศรษฐีต่าง ๆ เช่น ตระกูลเมดีชี และพนักงานธนาคาร[8] ในยุคเรอแนซ็องส์ หรือยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาได้เกิดการพัฒนาครั้งแรกในเมืองฟลอเรนซ์ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 15[7] ฟีลิปโป บรูเนลเลสกี สถาปนิกชาวอิตาลี ได้ศึกษาซากของอาคารคลาสสิกในกรุงโรม และได้สร้างโบสถ์สองแห่งคือ ซาน ลอเรนโซ่ และ ซันโตสปีรีโต โลเรนโซ กีแบร์ตี นักประติมากร ได้ทำงานเป็นเวลาห้าสิบปีเพื่อสร้างประตูทองสัมฤทธิ์ของหอศีลจุ่มซันโจวันนี ซึ่งมีเกลันเจโลอธิบายว่าเป็น "ประตูแห่งสวรรค์" ในช่องภายนอกของโบสถ์ออร์ซันมีเกเล มีแกลเลอรีผลงานของประติมากรที่มีชื่อเสียงที่สุดของฟลอเรนซ์ เช่น อันเดรอา เดล แวร์รอกกีโอ โดนาเตลโล [8] การตกแต่งภายในของโบสถ์เก่าแก่เต็มไปด้วยภาพเฟรสโก (ส่วนใหญ่ในยุคกลางตอนปลาย แต่ยังอยู่ในสไตล์เรอเนซองส์ตอนต้นด้วย) เริ่มด้วยจอตโต ดี บอนโดเน แลัตามด้วย มาซัชโช ในโบสถ์น้อยบรันกัชชี ซึ่งผลงานทั้งสองชิ้น มีเกลันเจโลได้ศึกษาและคัดลอกเป็นภาพวาด[9]

ในช่วงวัยหนุ่ม คณะจิตรกรจากฟลอเรนซ์ไปยังวาติกัน เพื่อตกแต่งผนังโบสถ์น้อยซิสทีน ในคณะนั้นมีโดเมนีโก กีร์ลันดาโย ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพเฟรสโก การวาดภาพทิวทัศน์ ภาพเหมือนและภาพต่าง ๆ ที่มีห้องทำงานใหญ่ที่สุดในฟลอเรนซ์[8] ในค.ศ. 1488 เมื่อเขาอายุ 13 ปี มีเกลันเจโลได้ฝึกงานกับโดเมนีโก กีร์ลันดาโย ในค.ศ. 1499 พ่อของเขาเกลี้ยกล่อมให้กีร์ลันดาโย จ่ายเงินให้กับมีเกลันเจโลในฐานะศิลปิน ซึ่งพบได้ยากมากในผู้ที่อายุ 14 ปี[10] และในปีเดียวกันนั้นเอง โลเรนโซ เด เมดีชี ผู้ปกครองโดยพฤตินัยของเมืองฟลอเรนซ์ ได้ขอลูกศิษย์ที่เก่งที่สุด 2 จากกีร์ลันดาโย กีร์ลันดาโยจึงได้ส่งมีเกลันเจโลและฟรันเชสโก กรานัชชี่ไป[11]

ตั้งแต่ ค.ศ. 1490 ถึง ค.ศ. 1492 มีเกลันเจโลได้เข้าเรียนที่สถาบันของเพลโตในเมืองฟลอเรนซ์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านมนุษยนิยมที่ก่อตั้งโดยตระกูลเมดีชี ซึ่งทำให้การทำงานและมุมมองของเขาได้รับอิทธิพลจากหลายนักปรัชญาและนักเขียนส่วนใหญ่ที่มีความโดดเด่นทั้งมาร์ซีลีโอ ฟีชีโน, โจวันนี ปีโก เดลลา มีรันโดลา, โพลิเซียโน [12] ในช่วงเวลานี้เองที่มีเกลันเจโลได้แกะสลักรูปพระแม่มารีแห่งบันได (ค.ศ. 1490–1492) และการต่อสู้ของเซนทอร์ (ค.ศ. 1491–1492)[9] โดยในช่วงหลังมีการอิงตามคำแนะนำของโพลิเซียโน ซึ่งเป็นงานตามการมอบหมายของโลเรนโซ เด เมดีชี [13] มีเกลันเจโลได้ทำงานมาเป็นเวลาหนึ่งกับแบร์โตลโด ดิ โจวันนี เมื่อเขาอายุได้ 17 ปี ปิเอโตร ตอร์จิอานี ได้ตีเขาที่จมูกจนทำให้เขาจมูกเขาเสียรูปไปอย่างเห็นได้ชัดในรูปของเขา[14]

โบโลญญา ฟลอเรนซ์ และโรม (ค.ศ. 1492 – ค.ศ. 1499)

[แก้]
ปิเอตะมหาวิหารนักบุญเปโตร

โลเรนโซ เด เมดีชีได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1492 ทำให้ชีวิตของมีเกลันเจโลเกิดความผลิกผัน[15] เขาได้ออกจากคฤหาสน์ของตระกูลเมดีชี และกลับไปอยู่ที่บ้านของพ่อชองเขา และในเดือนถัดมาเขาได้แกะสลักไม้เป็นผลงานไม้กางเขนเพื่อเป็นของขวัญให้กับโบสถ์ซานโต สปิริโตแห่งฟลอเรนซ์ ซึ่งอนุญาตให้เขาทำการศึกษากายวิภาคของศพจากโรงพยาบาลของโบสถ์[16] ซึ่งถือเป็นการศึกษากายวิภาคครั้งแรกของมีเกลันเจโลที่ใช้การผ่าศพ

ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1492 ถึง ค.ศ. 1493 เขาได้ซื้อหินอ่อนมาเพื่อแกะสลักรูปปั้นเฮอร์คิวลีสที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวจริงซึ่งถูกส่งไปยังฝรั่งเศสและต่อมาก็หายไปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18[13] ในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1494 หลังจากมีหิมะตกอย่างหนัก ทายาทของโลเรนโซ เด เมดีชี ได้ว่าจ้างให้มีเกลันรูปปั้นหิมะ และมีเกลันเจโลเข้าไปอยู่ในคฤหาสน์ของเมดีชีอีกครั้ง[17]

ในปีเดียวกันนั้นเอง ตระกูลเมดีชีถูกขับไล่ออกจากเมืองฟลอเรนซ์จากการขึ้นมามีอำนาจของจีโรลาโม ซาโวนาโรลา เขาได้ย้ายออกจากเมืองก่อนที่จะสิ้นสุดของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปอยู่ที่เวนิส ก่อนที่จะย้ายต่อไปยังโบโลญญา[15] ในโบโลญญาเขาได้รับมอบหมายให้แกะหุ่นเล็ก ๆ หลายตัวสำหรับวิหารนักบุญโดมินิกเสร็จสมบูรณ์ในโบสถ์ที่อุทิศให้กับนักบุญองค์นั้น ในเวลานั้นเองศึกษาภาพนูนต่ำนูนสูงที่แกะสลักโดยจาโคโป เดลลา เควอร์เซียรอบประตูหลักของมหาวิหารเซนต์เปโตรเนียสรวมทั้งภาพของ The Creation of Eve ซึ่งต่อมาเป็นองค์ประกอบที่ปรากฏขึ้นอีกครั้งบนเพดานของโบสถ์น้อยซิสทีน[18] เนื่องจากในปลาย ค.ศ. 1495 สถานการณ์ทางการเมืองในฟลอเรนซ์เริ่มสงบลง เนื่องจากพระเจ้าชาร์ลที่ 8 แห่งฝรั่งเศสได้รับความพ่ายแพ้ มีเกลันเจโลจึงกลับไปยังฟลอเรนซ์แต่ไม่ได้รับงานใด ๆ จากทางราชการภายใต้การนำของซาโวนาโรลา[19] และเขาได้กลับไปทำงานให้กับตระกูลเมดีชี[20] ในช่วงครึ่งปีที่เขาอยู่ในฟลอเรนซ์ เขาได้ทำรูปปั้นเล็ก ๆ 2 ชิ้น ได้แก่ นักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมาในวัยเด็ก และ กามเทพนอนหลับ ตามที่อัสกานีโอ คอนดิวีเคยเขียนไว้ว่า โลเรนโซ ดิ ปิแอร์ฟรานเชสโก เด เมดีชี ซึ่งมีเกลันเจโลได้แกะสลักนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมา ได้บอกมีเกลันเจโลว่า"ให้แก้ไขจนเหมือนถูกฝัง" ทำให้มีเกลันเจโลสามารถ"ส่งมันไปยังกรุงโรม ... ส่งต่อมันเป็นงานโบราณ ... และขายได้ดีกว่ามาก" แต่ทั้งโลเรนโซและมีเกลันเจโลถูกพ่อค้าคนกลางโกงมูลค่าที่แท้จริงของชิ้นงานโดยไม่รู้ตัว พระคาร์ดินัลราฟฟาเอล รีอารีโอผู้ที่โลเรนโซขายรูปปั้นนั้นให้ พบว่าเป็นการหลอกลวง แต่ประทับใจในคุณภาพของประติมากรรมมากจนเชิญศิลปินมาที่กรุงโรม[21] ความสำเร็จที่ปรากฏในการขายประติมากรรมของเขาในต่างประเทศรวมถึงสถานการณ์อนุรักษ์นิยมในฟลอเรนซ์นี้เองที่อาจกระตุ้นให้มีเกลันเจโลยอมรับคำเชิญของพระคาร์ดินัลครั้งนี้[20] มีเกลันเจโลได้เดินทางมาถึงโรมเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1496[22] และในวันที่ 4 กรกฎาคม ปีเดียวกันนั้นเองเขาเริ่มงานที่ได้รับการว่าจ้างจากพระคาร์ดินัลราฟฟาเอล รีอารีโอคือรูปปั้นขนาดเท่าของจริงของเทพเจ้าไวน์โรมัน แบคัส แต่เมื่อเสร็จงานพระคาร์ดินัลก็ได้ปฏิเสธงานชิ้นนั้น และต่อมาก็เข้าไปในที่เก็บรวบรวมของนายธนาคารจาโคโป กัลลี สำหรับสวนของเขา

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1497 เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสันตะสำนัก พระคาร์ดินัล ฌ็อง เดอ บิลเฮเรส-ลากราอูลาส ได้มอบหมายให้เขาแกะสลักปิเอตะ ซึ่งเป็นรูปปั้นที่แสดงพระแม่มารีย์กำลังโศกเศร้าบนพระศพของพระเยซู เรื่อง ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการบรรยายเรื่องการตรึงกางเขนในพระคัมภีร์ไบเบิล แต่เป็นประติมากรรมทั่วไปทางศาสนาของยุโรปเหนือในยุคกลางและคงจะคุ้นเคยกับพระคาร์ดินัลมาก สัญญาตกลงกันในเดือนสิงหาคมของปีถัดไป โดยมีเกลันเจโล อายุ 24 ปีในขณะที่สร้างเสร็จ[23] ในไม่ช้าก็ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในงานประติมากรรมชิ้นเอกที่ยิ่งใหญ่ของโลก "การเปิดเผยศักยภาพและพลังของศิลปะประติมากรรม" ความคิดเห็นของคนในสมัยนั้นสรุปโดย จอร์โจ วาซารีว่า "เป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างแน่นอนที่ก้อนหินที่ไม่มีรูปร่างสามารถถูกลดขนาดจนสมบูรณ์แบบที่ธรรมชาติแทบจะไม่สามารถสร้างขึ้นในเนื้อหนังได้"[24] ปัจจุบันตั้งอยู่ในมหาวิหารนักบุญเปโตร

ฟลอเรนซ์ (ค.ศ. 1499 – ค.ศ. 1505)

[แก้]
รูปปั้นดาวิด เสร็จสมบูรณ์เมื่อปี ค.ศ. 1504 หนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา

มีเกลันเจโลกลับมายังฟลอเรนซ์ในปี 1499 ซึ่งเป็นช่วงที่สาธารณรัฐฟลอเรนซ์กำลังเปลี่ยนแปลงหลังจากการล่มสลายของผู้นำ จีโรลาโม ซาโวนาโรลา นักบวชผู้ต่อต้านยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ซึ่งถูกประหารชีวิตในปีค.ศ. 1498 และการมีอำนาจปิเอโร โซเดรินี ทางสมาคมขนสัตว์ ได้ขอให้มีเกลันเจโลทำงานที่ยังไม่เสร็จซึ่ง แอโกสทิโน ดิ ดุชโช เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 40 ปีก่อนโดย เป็นรูปปั้นขนาดมหึมาจากหินอ่อนคาราร่า ที่วาดภาพเดวิดว่าเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพในฟลอเรนซ์ที่จะนำมาวางไว้บนหน้าจั่วของอาสนวิหารฟลอเรนซ์ [25]มีเกลันเจโลตอบตกลงและได้ทำงานที่โด่งดังที่สุดของเขา นั่นคือรูปปั้นของเดวิดในปีค.ศ. 1504 ผลงานชิ้นเอกนี้ได้สร้างชื่อเสียงให้กับเขาในฐานะประติมากรที่มีทักษะทางเทคนิคที่ไม่ธรรมดาและความแข็งแกร่งของจินตนาการเชิงสัญลักษณ์ โดยคณะที่ปรึกษาของเขาอันได้แก่ ซันโดร บอตตีเชลลี , เลโอนาร์โด ดา วินชี , ฟีลิปปีโน ลิปปี , ปีเอโตร เปรูจีโน , โลเรนโซ ดิ เครดี , อันโตนิโอ ดา ซังกัลโล , จูลิอาโน ดา ซานกาลโล , อันเดรอา เดลลา รอบเบีย , โกซีโม รอสเซลลี , ดาวีเด กีร์ลันดาโย , ปีเอโร ดี โกซีโม , อันเดรอา ซานโซวิโน และเพื่อนรักของเขาอย่าง ฟรันเชสโก กรานัชชี่ ได้รับการเรียกตัวเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดวาง ท้ายที่สุดคือที่ ปิแอซซา เดลลา ซินญอรีอา บริเวณหน้า ปาลาซโซ เวคคิโอ ปัจจุบันตั้งอยู่ใน Academia ในขณะที่รูปปั้นที่อยู่ในจัตุรัสเป็นแบบจำลอง[26] ในช่วงเวลาเดียวกันของการจัดวางเดวิด สันนิษฐานว่ามีเกลันเจโลอาจมีส่วนร่วมในการสร้างประติมากรรมรูปหน้าของเขา ด้านหน้าของ ปาลาซโซ เวคคิโอ ที่รู้จักกันในชื่อ Importuno di Michelangelo โดยภาพนั้นมีความคล้ายคลึงอย่างมากกับรูปของเขาที่วาดโดยศิลปินในต้นศตวรรษที่ 16 ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์[27]

หลังจากรูปปั้นของเดวิดของเขาเสร็จสิ้นแล้ว เข้าก็ได้รับงานใหม่ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1504 เลโอนาร์โด ดา วินชีได้รับมอบหมายให้วาดภาพ ยุทธการอันเกียริ ในห้องประชุมสภาของปาลาซโซ เวคคิโอ ซึ่งแสดงภาพการต่อสู้ระหว่างฟลอเรนซ์และมิลานในปี ค.ศ. 1440 จากนั้นมีเกลันเจโลได้รับมอบหมายให้วาดภาพยุทธการคาสซินา โดยภาพวาดทั้งสองมีความแตกต่างกันมาก ภาพของเลโอนาร์โดจะเป็นภาพทหารต่อสู้บนหลังม้า ขณะที่ภาพของมีเกลันเจโลมีทหารถูกซุ่มโจมตีขณะอาบน้ำในแม่น้ำ ทั้งสองงานไม่มีงานใดเสร็จสมบูรณ์และทั้งสองก็สูญหายไป เมื่อห้องนี้ได้รับการตกแต่งใหม่ แต่สำเนายังคงอยู่ซึ่งผลงานของเลโอนาร์โดถูกคัดลอกโดยรือเบินส์ และผลงานของมีเกลันเจโลโดยบาสเตียโน ดา ซังกัลโล โดยทั้งสองชิ้นได้รับความชื่นชมอย่างมาก[28]

ในช่วงเวลานี้มีเกลันเจโลยังได้รับมอบหมายจากแองเจโล โดนีให้วาดภาพ "ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์" เพื่อเป็นของขวัญให้กับ ภรรยาของเขา แมดดาเลนา สโตรซซี่ โดยงานนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ พระแม่มารีในกรอบกลม (Doni Tondo) ปัจจุบันแขวนอยู่ใน หอศิลป์อุฟฟีซี ในกรอบอันเดิมซึ่งสันนิษฐานว่ามีเกลันเจโลได้ออกแบบด้วยตนเอง[29][30] และยังมีการสันนิษฐานว่าเขาอาจวาดภาพพระแม่มารีสโตคเล็ทกับยอห์นผู้ให้บัพติศมาหรือที่รู้จักในชื่อ แมนเชสเตอร์มาดอนน่า ปัจจุบันอยู่ในหอศิลป์แห่งชาติลอนดอน[31]

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

ความเชื่อ

[แก้]

มีเกลันเจโลเป็นคาทอลิกผู้เคร่งศาสนาซึ่งมีศรัทธาลึกซึ้งในบั้นปลายชีวิตของเขา[32] บทกวีของเขารวมถึงบรรทัดสุดท้ายต่อไปนี้จากบทกวีที่ 285 (เขียนใน ค.ศ. 1554); “ไม่ว่าภาพวาดหรือประติมากรรมก็ไม่สามารถทำให้จิตวิญญาณของฉันสงบได้อีกต่อไป ตอนนี้ฉันหันไปหาความรักจากสรวงสวรรค์ที่ได้เปิดแขนของพระองค์บนไม้กางเขนเพื่อนำเราเข้าไป” [33]

นิสัยส่วนตัว

[แก้]

มีเกลันเจโลเป็นคนไม่ค่อยใส่ใจในชีวิตส่วนตัว เขาเคยกล่าวกับอัสกานีโอ คอนดิวี เด็กฝึกงานของเขาว่า"ถึงฉันจะรวยแค่ไหน แต่เขาก็ใช้ชีวิตเหมือนคนจนมาโดยตลอด"[34] คอนดิวีกล่าวว่า เขามีความแตกต่างในการรับประทานสิ่งต่าง ๆ "ความจำเป็นมากกว่าความสุข"[34] และเขามักจะหลับขณะที่ยังใส่รองเท้าอยู่ ปาโอโล โจวีโอ ผู้เขียนชีวประวัติของเขากล่าวว่า "ธรรมชาติของเขาหยาบกระด้างมากจนนิสัยที่บ้านของเขาแย่มากอย่างน่าเหลือเชื่อ และเป็นการกีดกันลูกศิษย์ที่อาจตามเขาไป"[35] อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้อาจไม่ส่งผลกระทบต่อเขา เนื่องจากเขาเป็นคนโดดเดี่ยวและเศร้าโศกโดยธรรมชาติ[36]

ผลงานบางส่วน

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Weinberger, Martin; de Tolnay, Charles (March 1945). "The Youth of Michelangelo". The Art Bulletin. 27 (1): 69. doi:10.2307/3046983. ISSN 0004-3079.
  2. 2.0 2.1 C. Clément, Michelangelo, p. 5
  3. "Michelangelo | Biography, Sculptures, David, Pieta, Paintings, Facts, & Accomplishments". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  4. A. Condivi, The Life of Michelangelo, p. 5
  5. Weinberger, Martin; de Tolnay, Charles (March 1945). "The Youth of Michelangelo". The Art Bulletin. 27 (1): 69. doi:10.2307/3046983. ISSN 0004-3079.
  6. 6.0 6.1 A. Condivi, The Life of Michelangelo, p. 9
  7. 7.0 7.1 Coughlan, Robert; (1978), The World of Michelangelo, Time-Life; pp. 14–15
  8. 8.0 8.1 8.2 Coughlan, pp. 35–40
  9. 9.0 9.1 Coughlan, pp. 28–32
  10. C. Clément, Michelangelo, p. 7
  11. C. Clément, Michelangelo, p. 9
  12. J. de Tolnay, The Youth of Michelangelo, pp. 18–19
  13. 13.0 13.1 A. Condivi, The Life of Michelangelo, p. 15
  14. Coughlan, p. 42
  15. 15.0 15.1 J. de Tolnay, The Youth of Michelangelo, pp. 20–21
  16. A. Condivi, The Life of Michelangelo, p. 17
  17. Coughlan, Robert (1966). The World of Michelangelo, 1475-1564. Internet Archive. New York, Time, Inc.
  18. Bartz and König, p. 54
  19. Miles Unger, Michelangelo: a Life in Six Masterpieces, ch. 1
  20. 20.0 20.1 J. de Tolnay, The Youth of Michelangelo, pp. 24–25
  21. A. Condivi, The Life of Michelangelo, pp. 19–20
  22. J. de Tolnay, The Youth of Michelangelo, pp. 26–28
  23. Hirst and Dunkerton pp. 47–55
  24. Vasari, Lives of the painters: Michelangelo
  25. Paoletti and Radke, pp. 387–89
  26. Goldscheider, p. 10
  27. "Avant Banksy et Invader, Michel-Ange pionnier du street art dans les rues de Florence". LEFIGARO (ภาษาฝรั่งเศส).
  28. Paoletti and Radke, pp. 392–93
  29. Goldscheider, p. 11
  30. Hirst and Dunkerton, p. 127
  31. Hirst and Dunkerton, pp. 83–105, 336–46
  32. "British Museum - Crucifixion by Michelangelo, a drawing in black chalk". web.archive.org. October 15, 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 15, 2015. สืบค้นเมื่อ 2021-07-14.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  33. https://arthum.college.columbia.edu/sites/default/files/PDFs/arthum_michel_reader.pdf
  34. 34.0 34.1 Condivi, The Life of Michelangelo, p. 106.
  35. Paola Barocchi (ed.) Scritti d'arte del cinquecento, Milan, 1971; vol. I p. 10.
  36. Condivi, p. 102.

แหล่งข้อมูล

[แก้]
  • Bartz, Gabriele; Eberhard König (1998). Michelangelo. Könemann. ISBN 978-3-8290-0253-0.
  • Clément, Charles (1892). Michelangelo. Harvard University: S. Low, Marston, Searle, & Rivington, ltd.: London. michelangelo.
  • Condivi, Ascanio; Alice Sedgewick (1553). The Life of Michelangelo. Pennsylvania State University Press. ISBN 978-0-271-01853-9.
  • Goldscheider, Ludwig (1953). Michelangelo: Paintings, Sculptures, Architecture. Phaidon.
  • Goldscheider, Ludwig (1953). Michelangelo: Drawings. Phaidon.
  • Gardner, Helen; Fred S. Kleiner, Christin J. Mamiya, Gardner's Art through the Ages. Thomson Wadsworth, (2004) ISBN 0-15-505090-7.
  • Hirst, Michael and Jill Dunkerton. (1994) The Young Michelangelo: The Artist in Rome 1496–1501. London: National Gallery Publications, ISBN 1-85709-066-7
  • Liebert, Robert (1983). Michelangelo: A Psychoanalytic Study of his Life and Images. New Haven and London: Yale University Press. ISBN 978-0-300-02793-8.
  • Paoletti, John T. and Radke, Gary M., (2005) Art in Renaissance Italy, Laurence King, ISBN 1-85669-439-9
  • Tolnay, Charles (1947). The Youth of Michelangelo. Princeton, NJ: Princeton University Press.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]