ข้ามไปเนื้อหา

จีโรลาโม ซาโวนาโรลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จิโรลาโม ซาโวนาโรลา
Girolamo Savonarola
จิโรลาโม ซาโวนาโรลา โดยฟราบาร์โทโลเมโอ
เกิด21 กันยายน ค.ศ. 1452
เฟอร์รารา, อิตาลี
เสียชีวิต23 พฤษภาคม ค.ศ. 1498
ฟลอเรนซ์, อิตาลี
สัญชาติชาวอิตาลี
อาชีพนักบวช
ผลงานเด่นจัด “พระเพลิงเผากิเลส
ตำแหน่งนักบวช
นักบวช

จิโรลาโม ซาโวนาโรลา (อังกฤษ: Girolamo Savonarola) (21 กันยายน ค.ศ. 1452 - 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1498) จิโรลาโม ซาโวนาโรลาเป็นนักบวชลัทธิโดมินิกันชาวอิตาลีและผู้นำของฟลอเรนซ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1494 จนกระทั่งถูกประหารชีวิตในปี ค.ศ. 1498 ซาโวนาโรลามีชื่อเสียงจากการเผาหนังสือซึ่งเป็นการทำลายสิ่งที่ซาโวนาโรลาถือว่าศิลปะอันปราศจากจริยธรรม และการผู้นำในการเป็นปฏิปักษ์ต่อความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ซาโวนาโรลาเทศนาต่อต้านความฉ้อโกงทางจริยธรรมของนักบวชในสมัยนั้นอย่างรุนแรง คู่ปริปักษ์คนสำคัญของซาโวนาโรลาคือโรดริโก บอร์เจียที่ต่อมาเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ระหว่างปี ค.ศ. 1492 จนถึงปี ค.ศ. 1503

ประวัติ

[แก้]

เบื้องต้น

[แก้]

ซาโวนาโรลาเกิดที่เฟอร์ราราเมืองหลวงของอาณาจักรดยุคแห่งเฟอร์ราราในเอมิเลีย-โรมานยาทางตอนเหนือของอิตาลี ในครอบครัวที่เป็นที่น่านับถือและมีฐานะดีที่เดิมมาจากปาดัว

เมื่อยังเยาว์วัยซาโวนาโรลาได้รับการศึกษาเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล, นักบุญโทมัส อควีนาส และ อริสโตเติล และได้รับการศึกษาขั้นอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยเฟอร์ราราและดูเหมือนว่าจะได้รับปริญญาทางด้านศิลปะ ความคิดที่เกี่ยวกับความฉ้อโกงทางจริยธรรมของนักบวชเริ่มขึ้นในกวีนิพนธ์ที่ซาโวนาโรลาเขียนเมื่ออายุ 20 ปี ชื่อ “De Ruina Mundi” (ความเสื่อมสลายของโลก) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำลายล้างโลก ในช่วงนี้ซาโวนาโรลาก็เริ่มพัฒนาความคิดเห็นเกี่ยวกับสามัญสำนึกทางจริยธรรม ในปี ค.ศ. 1475 ในโคลง “De Ruina Ecclesiae” (ความเสื่อมสลายของโบสถ์) ซาโวนาโรลาแสดงความเหยียดหยามสำนักงานบริหารของศาสนจักร (Roman Curia) โดยใช้คำว่า “a false, proud whore” (ผู้เกาะกินกับศาสนาผู้ผยองตน)

นักบวช

[แก้]
อนุสาวรีย์ของซาโวนาโรลาที่เมืองเกิดเฟอร์ราราในอิตาลี

ซาโวนาโรลารับศีลเป็นนักบวชลัทธิโดมินิกันในปี ค.ศ. 1475 ระหว่างยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของอิตาลี และเข้าใช้ชีวิตในสำนักสงฆ์ซานโดเมนนิโคในโบโลนยา จากนั้นก็หมกมุ่นกับการศึกษาทางด้านคริสต์ศาสนปรัชญา ในปี ค.ศ. 1479 ซาโวนาโรลาก็ย้ายไปยังสำนักสงฆ์ซานตามาเรียเดกลิอันเจลี และในที่สุด ในปี ค.ศ. 1482 ทางลัทธิก็ส่งตัวไปฟลอเรนซ์ แต่ซาโวนาโรลายังคงเป็นนักเทศน์มือใหม่ผู้ไม่ค่อยมีฝีปากเท่าใดนัก เมื่อเดินทางไปถึงฟลอเรนซ์ ก็ไม่ได้สร้างความประทับใจเท่าใดนัก ในคริสต์ทศวรรษที่ 1480 ซาโวนาโรลาเดินทางกลับโบโลนยา และในปี ค.ศ. 1487 ก็ได้เป็น 'Master of studies’

ซาโวนาโรลากลับมายังฟลอเรนซ์อีกครั้งในปี ค.ศ. 1490 ก่อนหน้านักปรัชญาจิโอวานนิ พิโค เดลลา มิรานโดลา และเริ่มเทศนาอย่างกระตือรือร้นถึงวันแห่งความสิ้นสุด (End time) ที่เป็นบทเทศนาที่ประกอบกับคำให้การเกี่ยวกับมโนทัศน์ของตนเอง และการประกาศว่าตนเองเป็นผู้มีโอกาสได้ติดต่อกับพระเจ้าและนักบุญได้โดยตรง การเทศนาอันเต็มไปด้วยพลังชักจูงของซาโวนาโรลาไม่ใช่เป็นสิ่งที่พิเศษแต่อย่างใดในยุคนั้น แต่เหตุการณ์แวดล้อมหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นช่วยส่งเสริมให้ซาโวนาโรลากลายเป็นนักเทศน์ที่ได้รับความนิยมของประชาชนอย่างกว้างขวาง วิกฤติการณ์แรกที่สนับสนุนปรัชญาการสิ้นโลกของซาโวนาโรลาเกิดขึ้นเมื่อ อำนาจของตระกูลเมดิชิเริ่มอ่อนแอลงเพราะสงครามฝรั่งเศส-อิตาลี ความรุ่งเรืองของศิลปะอันมีค่าที่สร้างขึ้นในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาที่อุปถัมภ์โดยตระกูลผู้มั่งคั่งของอิตาลี ดูเหมือนจะเยาะเย้ยความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นทั่วไปในอิตาลี และเริ่มสร้างความไม่พึงพอใจให้แก่ประชาชนมากขึ้นทุกขณะ วิกฤติการณ์ที่สองคือการระบาดของซิฟิลิส (หรือที่เรียกกันว่า “ฝีดาษฝรั่งเศส”) และปี ค.ศ. 1500 ก็ใกล้เข้ามาทุกขณะซึ่งเป็นตัวเลขของคริสต์ศตวรรษที่ดูจะก่อให้เกิดความรู้สึกว่า ใกล้จะถึงเวลาที่พระเยซูจะเสด็จมาก่อนการตัดสินครั้งสุดท้าย (Millennialism) ซึ่งเป็นเรื่องที่พ้องกับเนื้อหาการเทศนาของซาโวนาโรลา[1]

หน้าชื่อของบทเทศนาของซาโวนาโรลาภาษาเช็กปี ค.ศ. 1576

สถานที่เทศน์ประจำของซาโวนาโรลา, คอนแวนต์ซานมาร์โค เมืองฟลอเรนซ์, จะแน่นล้นไปด้วยผู้ที่มารับศีลมหาสนิทและฟังเทศน์ ซาโวนาโรลาไม่ใช่ นักคริสต์ศาสนวิทยาและไม่ได้ประกาศทฤษฎีเทววิทยาใหม่หรือคำสั่งสอนที่ยากต่อการเข้าใจ แต่แทนที่ซาโวนาโรลาจะเทศนาถึงวิถีการดำรงชีวิตของผู้เป็นคริสเตียนโดยการเป็นคนดี, รักษาคุณธรรม แทนที่จะแสดงตนว่าเป็นผู้เคร่งศาสนาและประกาศตนอย่างออกนอกหน้าอย่างหรูหรา และไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันคริสต์ศาสนาในกรุงโรม ซาโวนาโรเพียงแต่ต้องการที่จะหันพระสันตะปาปาและคฤหัสน์ผู้เป็นสำนักงานบริหารของศาสนจักร ที่ซาโวนาโรเห็นว่าออกนอกทาง ให้กลับเข้ามาเป็นคริสเตียนที่ดี

ลอเรนโซ เดอ เมดิชิผู้นำคนก่อนของฟลอเรนซ์และผู้อุปถัมภ์จิตรกรยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาหลายคนเองก็เคยเป็นผู้อุปถัมภ์ซาโวนาโรลา แต่ต่อมาลอเรนโซและบุตรชายเปียโรก็กลายเป็นเป้าหมายในการเทศนาโจมตีของซาโวนาโรลา

ผู้นำของฟลอเรนซ์

[แก้]

หลังจากที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศสเดินทัพมารุกรานฟลอเรนซ์ในปี ค.ศ. 1494 ตระกูลเมดิชิผู้ปกครองฟลอเรนซ์ก็ถูกโค่นอำนาจ ซาโวนาโรลาจึงกลายมาเป็นผู้นำของฟลอเรนซ์โดยปริยายในบทบาทของผู้นำทางศาสนาและทางการเมือง ซาโวนาโรก่อตั้งสาธารณรัฐขึ้นในฟลอเรนซ์ ที่เป็นลักษณะที่เรียกว่า “สาธารณรัฐคริสเตียนและศาสนา” รัฐกฤษฎีกาฉบับแรกที่ออกคือการระบุว่าการสมสู่วัจมรรคที่เดิมเป็นความผิดที่มีโทษถูกปรับเป็นโทษถึงประหารชีวิต รักร่วมเพศที่เดิมเป็นพฤติกรรมที่พอจะเป็นที่ยอมรับก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้ผู้รักร่วมเพศที่มีฐานะดีหนีออกจากเมืองกันไปตามๆ กัน ศัตรูคนสำคัญของซาโวนาโรลาคือดยุคแห่งมิลาน และสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ผู้ออกประกาศจำกัดสิทธิต่อต้านซาโวนาโรลาหลายฉบับ ที่ซาโวนาโรลาทำเพิกเฉย

ภาพการประหารชีวิตของซาโวนาโรลาที่จตุรัสซินยอเรียในฟลอเรนซ์

ในปี ค.ศ. 1497 ซาโวนาโรลาและผู้ติดตามทำการก่อ “พระเพลิงเผากิเลส” (Bonfire of the Vanities) โดยการส่งเด็กไปตามบ้านเรือนเพื่อรวบรวมสิ่งถือว่าเป็นสิ่งก่อให้เกิดความหย่อนตัวทางจริยธรรมที่รวมทั้ง: กระจก, เครื่องสำอาง, ภาพลามก, หนังสือนอกศาสนา, ประติมากรรมที่ถือว่าขาดจริยธรรม, โต๊ะเล่นเกม, หมากรุก, เครื่องดนตรี, เสื้อผ้าหรูหรา, หมวกสตรี และงานที่ถือว่าขาดจริยธรรมของกวีโบราณ และนำมาเผาในกองเพลิงใหญ่กลางจตุรัสซินยอเรียในฟลอเรนซ์[2] งานจิตรกรรมของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาอันมีค่าหลายชิ้นเสียไปกับพระเพลิงของซาโวนาโรลาครั้งนี้ — รวมทั้งภาพเขียนหลายภาพโดยซานโดร บอตติเชลลีที่กล่าวกันว่าบอตติเชลลีโยนเข้าไปในกองเพลิงด้วยตนเอง[3]

แต่ไม่นานนักฟลอเรนซ์ก็หมดความนิยมในตัวของซาโวนาโรลาเพราะความผันผวนทางการเมืองและทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการเป็นปฏิปักษ์ต่อการค้าขายทำรายได้ของซาโวนาโรลาเอง พระเจ้าก็ดูเหมือนว่าไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือสถานการณ์ของเมืองฟลอเรนซ์ให้ดีขึ้น วันแห่งความสิ้นสุดที่กลัวกันว่าจะเกิดขึ้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นตามที่คาดกันไว้ เมื่อนักเทศน์ฟรานซิสคันท้าให้ทำการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ด้วยไฟซาโวนาโรลาก็ปฏิเสธซึ่งทำให้ผู้ติดตามเริ่มหันหลังให้

ระหว่างการเทศนาในโอกาสวันอัสสัมชัญของพระเยซูเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1497 ก็เกิดการก่อความไม่สงบโดยเด็กวัยรุ่นที่บานปลายเป็นการปฏิวัติ โรงร้องเพลงเต้นรำที่ถูกปิดไปก็เปิดขึ้นอีก และผู้คนก็กล้าที่จะเล่นการพนันกันอย่างไม่เป็นที่ปิดบัง

การคว่ำบาตรและการประหารชีวิต

[แก้]
แผ่นโลหะจารึกจุดที่ซาโวนาโรลาถูกประหารชีวิตที่จตุรัสซินยอเรียในฟลอเรนซ์

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1497 ซาโวนาโรลาถูกประกาศ คว่ำบาตรโดยสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 และในปี ค.ศ. 1498 พระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ก็ทรงเรียกร้องให้มีการจับกุมและลงโทษซาโวนาโรลา เมื่อวันที่ 8 เมษายนปีต่อมาฝูงชนก็เข้าโจมตีคอนแวนต์ซานมาร์โค, ฟลอเรนซ์ ตามด้วยการเสียเลือดเนื้อที่ทำให้ผู้รักษาความปลอดภัยและผู้สนับสนุนซาโวนาโรลาหลายคนถูกสังหาร ซาโวนาโรลายอมให้ถูกจับกุมพร้อมด้วยภราดรโดเมนนิโคดาเพสเชียและภราดรซิสเวสโทรผู้ใกล้ชิดสองคน ซาโวนาโรลาถูกกล่าวหาในข้อหาต่างๆ ที่รวมทั้งมีพฤติกรรมที่นอกรีต, กล่าวคำพยากรณ์, การปลุกระดมฝูงชนให้ต่อต้านรัฐบาล และ อาชญากรรมอื่นๆ

ระหว่างสองสามอาทิตย์ต่อมานักบวชทั้งสามองค์ก็ถูกทรมานบนตระแกรง ยกเว้นแต่แขนขวาของซาโวนาโรลาเพื่อเอาไว้ใช้ในการลงชื่อในคำสารภาพ ในที่สุดนักบวชทั้งสามก็ลงชื่อในคำสารภาพ ซาโวนาโรลาลงชื่อก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม ในวันเดียวกันซาโวนาโรลาก็เขียนบทวิปัสนา "Miserere mei" (บทขอขมาพระเจ้า -- เพลงสดุดี 50) ชื่อ "บทขอขมาพระเจ้าโดยซาโวนาโรลา" (Infelix ego) จบที่ซาโวนาโรลาขอความกรุณาจากพระเจ้าเพราะความอ่อนแอของตนเองในการไปสารภาพในสิ่งที่ตนไม่เห็นว่าผิด ในวันที่ถูกประหารชีวิต 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1498 ซาโวนาโรลาก็ยังคงดำเนินการเขียนบทวิปัสนา ครั้งนี้เป็นเพลงสดุดี 31 ชื่อ Tristitia obsedit me[4]

ในวันที่ถูกประหารชีวิตซาโวนาโรลาถูกนำตัวไปยังจตุรัสซินยอเรียพร้อมด้วยภราดรโดเมนนิโคดาเพสเชียและภราดรซิสเวสโทร เมื่อไปถึงนักบวชทั้งสามคนก็ถูกถอดเครื่องแต่งกายนักบวชออก และถูกหยามว่าเป็น "ผู้นอกรีตและผู้ก่อให้เกิดความแตกแยก" จากนั้นทางสถาบันศาสนาก็มอบตัวให้กับฝ่ายฆราวาสเพื่อให้ทำการเผา ทั้งสามคนถูกห้อยจากเสากางเขนเดียวกันเหนือกองไม้ใหญ่ จากนั้นก็ถูกเผาทั้งเป็น ฉะนั้นทั้งสามคนจึงถูกเผาในที่เดียวกับที่มีการจัด “พระเพลิงเผากิเลส” ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น เภสัชกรลูคา ลันดูชชิผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวว่าการเผาใช้เวลาหลายชั่วโมงก่อนที่จะเผาเสร็จ และสิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ก็ได้ทำการบดทำลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจนสิ้นเพื่อไม่ให้มีร่องรอยหลงเหลืออยู่ เพราะทางการไม่ต้องการให้ผู้เชื่อถือในตัวซาโวนาโรลามีโอกาสได้เก็บชิ้นส่วนไปเป็นองควัตถุสำหรับสักการะเพราะถือว่าเป็นนักบุญ ขี้เถ้าก็นำไปโยนลงในแม่น้ำอาร์โนข้างสะพานเวชชิโอ[5]

นิคโคโล มาเคียเวลลีผู้ประพันธ์ The Prince ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เห็นเหตุการณ์และเขียนบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นฟลอเรนซ์ก็ถูกปกครองแบบสาธารณรัฐจนกระทั่งตระกูลเมดิชิกลับมาปกครองอีกครั้งในปี ค.ศ. 1512

ลักษณะและอิทธิพล

[แก้]

พฤติกรรมของซาโวนาโรลาเปรียบได้กับลัทธิฌ็องเซ็น (Jansénisme) ที่เกิดขึ้นต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 และมีความต่างกันหลายอย่างทางด้านปรัชญา ซาโวนาโรลามิได้เสนอหลักปรัชญาเทววิทยาใหม่ แต่หลักการหันกลับไปยึดหลักจริยธรรมอย่างเที่ยงตรงคล้ายคลึงกับหลักของลัทธิฌ็องเซ็น และการตกนรกอันง่ายดายและจำนวนผู้ที่จะได้เลือกให้ขึ้นสวรรค์อันจำกัดเป็นอีกข้อหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน

หลังจากการเสียชีวิตของซาโวนาโรลาแล้วก็ได้มีกลุ่มโรมันคาทอลิกที่ก่อตัวกันขึ้นอย่างลับๆ ในฟลอเรนซ์ชื่อปิยาโนนิที่เป็นองค์การเชิงโรมันคาทอลิก โดยมีนักบวชฟรานซิสคันเป็นผู้นำในบรรดาคนสำคัญในกลุ่ม ในปี ค.ศ. 1527 ปิยาโนนิก็มีบทบาทในการโค่นอำนาจตระกูลเมดิชิ แต่ก็มาถูกปราบปรามด้วยความช่วยเหลือของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในปี ค.ศ. 1530 ในยุทธการกาวินานา ตระกูลเมดิชิจึงกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง

ซาโวนาโรลามีผู้ชื่นชมกันมากไปทั่วยุโรปโดยเฉพาะในบรรดานักมนุษยนิยมผู้เคร่งครัดทางศาสนาผู้ต้องการที่จะดำรงความเคร่งครัดทางศาสนาทางด้านจิตวิญญาณ กล่าวกันว่าอีราสมัสผู้ไม่ยอมเปลี่ยนไปเป็นโปรเตสแตนต์และยังยึดมั่นในการเป็นโรมันคาทอลิกหลังจากที่ได้อ่านงานเขียนของซาโวนาโรลา แต่ในขณะเดียวกันอีราสมัสก็ถือกันว่าเป็นผู้ปูทางให้แก่การปฏิรูปศาสนาที่เกิดขึ้นต่อมาเพราะการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระสันตะปาปา.

ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็ได้มีกลุ่มโรมันคาทอลิกทำการรณรงค์ที่จะยกซาโวนาโรลาขึ้นเป็นนักบุญโดยเฉพาะในบรรดาโดมินิคันโดยมีผู้ที่มีความเห็นว่าการคว่ำบาตรและการถูกเผาทั้งเป็นที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม แต่ลัทธิเยซูอิดค้านข้อเสนอนี้และถือว่าความขัดแย้งทางการเมืองต่อสถาบันพระสันตะปาปาที่ก่อขึ้นโดยซาโวนาโรลาเป็นอาชญากรรมที่ไม่ถูกต้อง[6]

ในนวนิยาย

[แก้]

ในเกม

[แก้]
  • ในเกม Assassin's Creed II มีซาโวนาโรลาเป็นหนึ่งในเป้าหมายสังหารของอิชิโอ ออดิทอเร่ ดา ฟิเรนเซ่ ตัวเอกของเกม

อ้างอิง

[แก้]
  1. See Gonzalez, p. 354.
  2. Macey, p. 75.
  3. PBS article on Botticelli
  4. Macey, p. 28.
  5. Macey, pp. 30–1.
  6. NCR Online.
  • Deeper Experiences of Famous Christians, James Lawson, Warner Press, 1911, pp. 73–84.
  • Bonfire Songs: Savonarola's Musical Legacy Patrick Macey, 1988, Clarendon Press, Oxford.
  • New York Times, Savonarola, Second Lecture of the Course by Dr. Lord at Association Hall, January 10, 1871, pp. 2–3.
  • The Story of Christianity, vol. 1, Justo L. Gonzalez, 1984, Harper & Row, San Francisco, pp. 353-56.

ดูเพิ่ม

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]
  • Life and Times of Girolamo Savonarola in IV volumes (1888) by Pasquale Villari
  • Fire in the City: Savonarola and the Struggle for the Soul of Renaissance Florence (2006) by Lauro Martines, ISBN 0224072528
  • Savonarola and Florence (1970) by Donald Weinstein
  • The Life of Girolamo Savonarola (1959) by Roberto Ridolfi
  • The Meddlesome Friar (1957) by Michael de la Bedoyere
  • Savonarola (1930) by Piero Misciattelli (trans. by M. Peters-Roberts)
  • Savonarola: A Biography in Dramatic Episodes (1927) by William Van Wyck. (A play.)
  • The Renaissance (1953) by Will Durant
  • The Florentine Monk เก็บถาวร 2007-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (1869) by Charles Spurgeon
  • The history of the popes, from the close of the Middle Ages : drawn from the secret archives of the Vatican and other original sources, 40 vols. (1891) by Ludwig von Pastor. See vol. V, 171ff., Corruption of the Italian Clergy of all Ranks, and 181ff., Fra Girolama Savonarola.
  • Savonarola: his Contest with Paganism (1851) by Orestes Brownson

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]