ไฟวิ่ง
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/3/3c/Johnson_Counter_Chase_Lights_Pattern_Demonstration.gif)
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/e/e7/%22Penny_Arcade%22_Neon_Lit_Family_Leisure_%281128788988%29.jpg/170px-%22Penny_Arcade%22_Neon_Lit_Family_Leisure_%281128788988%29.jpg)
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/e/e2/Colortran_Cyc_Light.jpg/170px-Colortran_Cyc_Light.jpg)
ไฟวิ่ง (อังกฤษ: chase lights) เป็นเทคนิคการสร้างภาพเคลื่อนไหว โดยการไล่เปิด/ปิดหลอดไฟซึ่งเรียงเป็นแนวยาวต่อๆ กันอย่างรวดเร็ว จนทำให้เห็นเป็นเหมือนดวงไฟที่วิ่งไปมา หรือเป็นเส้นแสงซึ่งเคลื่อนที่
ไฟวิ่งมักจะติดตั้งไว้เป็นส่วนหนึ่งของป้ายไฟ หรือหน้าร้านเพื่อให้ดูสะดุดตาและเรียกความสนใจ โดยเฉพาะในเวลากลางคืน, นอกจากนั้นยังนิยมติดตั้งไว้ที่เครื่องเล่นสวนสนุก ในงานวัด บนเวทีคอนเสิร์ต หรือในรายการเกมโชว์ทางโทรทัศน์ เพื่อใช้กระตุ้นความตื่นเต้นด้วย
ในสมัยแรกๆ ไฟวิ่งมักจะถูกควบคุมโดยใช้แผ่นกระจายไฟ ซึ่งเป็นแป้นหมุนพร้อมแถบหน้าสัมผัสต่อวงจรด้านบน และมีขั้วไฟฟ้าซึ่งต่อกับหลอดไฟแต่ละดวง ตั้งไว้ติดๆ กันเรียงรอบวงของแป้น โดยหน้าสัมผัสบนแป้นหมุนจะเชื่อมต่อไว้กับแหล่งจ่ายไฟ, เมื่อแป้นหมุน (โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้า) หน้าสัมผัสบนแป้นก็จะหมุนไปแตะกับขั้วที่ต่อกับไฟดวงหนึ่ง ทำให้ไฟดวงนั้นสว่าง, และเมื่อแป้นหมุนต่อไป หน้าสัมผัสก็จะพ้นจากขั้วเดิม ไปแตะกับขั้วใหม่ ทำให้ไฟดวงเดิมดับและดวงถัดไปสว่าง, ไล่ไปเรื่อยๆ จนครบรอบหมุน แล้วจึงเริ่มใหม่อีกครั้ง
ในปัจจุบัน ไฟวิ่งมักจะถูกควบคุมด้วยวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หรือคอมพิวเตอร์แทน ทำให้สามารถกำหนดรูปแบบการวิ่งได้ซับซ้อนขึ้น และลดปัญหาเรื่องการสึกหรอของอุปกรณ์ลงไป