ไนต์สแลชเชอส์
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ไนต์สแลชเชอส์ | |
---|---|
ใบปลิวอาร์เคดเวอร์ชันญี่ปุ่นของไนต์สแลชเชอส์ | |
ผู้พัฒนา | เดทาอีสต์ |
ผู้จัดจำหน่าย | เดทาอีสต์ |
ออกแบบ | โทรุ คิกูจิ ชิงโงะ มิตสึอิ และทากาโนริ ฮาซูมิ (ฮาร์ดแวร์) |
โปรแกรมเมอร์ | โซอิจิ อากิยามะ ยาซูฮิโระ มัตสึโมโตะ อากิตสึ มัตสึดะ |
ศิลปิน | มาซายูกิ อิโนชิตะ ฮิโตมิ ฮาชิโมโตะ มาโกโตะ โนซุ จิโร อิชิอิ อาซามิ คาเนโกะ โทโมยูกิ อารากาวะ ฟูจิมิ โอนิชิ โยชินาริ ไคโฮ ฮิโรชิ ทามาวาชิ ยูโกะ นากางาวะ มาริโอ วาตานาเบะ |
แต่งเพลง | โทโมโยชิ ซาโต |
เครื่องเล่น | อาร์เคด นินเท็นโด สวิตช์ |
วางจำหน่าย | ค.ศ. 1993 ค.ศ. 2018 (พอร์ตนินเท็นโด สวิตช์) |
แนว | บีตเอ็มอัป |
รูปแบบ | ผู้เล่นเดี่ยว, หลายผู้เล่นสูงสุด 3 คน |
ไนต์สแลชเชอส์ (ญี่ปุ่น: ナイトスラッシャーズ; อังกฤษ: Night Slashers) เป็นเกมอาร์เคดแนวบีตเอ็มอัป ค.ศ. 1993 ที่พัฒนาและเผยแพร่โดยเดทาอีสต์ ซึ่งเกมนี้มีการวางแผนสร้างใหม่อีกครั้งสำหรับแพลตฟอร์มหลักที่ได้รับอนุญาตลิขสิทธิ์โดยฟอร์เอเวอร์เอนเตอร์เทนเมนต์[1]
ส่วนพอร์ตนินเท็นโด สวิตช์ เคยเปิดให้เล่นภายใต้จอห์นนีเทอร์โบส์อาร์เคดตั้งแต่ ค.ศ. 2018 ถึง ค.ศ. 2023[2][3]
รูปแบบการเล่น
[แก้]ไนต์สแลชเชอส์นั้นคล้ายกับซีรีส์ไฟนอลไฟต์ของแคปคอม และสตรีตส์ออฟเรจของเซกา ซึ่งเป็นเกมแนวบีตเอ็มอัปเลื่อนด้านข้างตามแบบฉบับ ผู้เล่น/ตัวละครจำนวนหนึ่ง, สอง หรือสามคนจะเคลื่อนที่จากซ้ายไปขวาผ่านแต่ละด่าน (ส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็นสามฉากขึ้นไป) โดยต่อสู้กับตัวละครศัตรูที่ปรากฏตัว จนกว่าพวกเขาจะเผชิญหน้ากับตัวละครบอสที่แข็งแกร่งกว่าในตอนท้ายของด่าน เมื่อชนะบอสแล้ว ผู้เล่นจะไปยังด่านต่อไปโดยอัตโนมัติ ศัตรูจะปรากฏขึ้นจากทั้งสองด้านของหน้าจอและจากนอกประตูหรือทางเข้าที่ตั้งอยู่ตรงฉากหลัง และผู้เล่นจะต้องเอาชนะพวกเขาทั้งหมดเพื่อเดินต่อไป หากผู้เล่นพยายามเดินทางผ่านด่านโดยไม่ต้องต่อสู้ หน้าจอจะหยุดเลื่อนจนกว่าศัตรูในปัจจุบันทั้งหมดจะพ่ายแพ้ ก่อนที่จะให้ผู้เล่นดำเนินการต่อ ศัตรูอาจเคลื่อนที่ออกไปจากหน้าจอ แต่ผู้เล่นไม่สามารถทำได้ และเกมนี้มีกำหนดเวลาในแต่ละด่าน
ซึ่งแตกต่างจากเกมไฟนอลไฟต์ ไนต์สแลชเชอส์มีตัวละครสามตัวที่มีชุดท่าโจมตีที่ใหญ่กว่า (รวมถึงท่าโจมตีประเภท "ระเบิดรุนแรง" หรือ "ทำลายศัตรูทั่วจอ") และธีมสยองขวัญ ในระหว่างเกม ผู้เล่นจะต้องต่อสู้กับฝูงซอมบีที่โจมตี และมนุษย์กลายพันธุ์ รวมทั้งสัตว์ประหลาดอื่น ๆ เช่น มนุษย์หมาป่าและอสูรประจำธาตุ บอสยังรวมถึงมอนสเตอร์ในภาพรวม เช่น มัมมี่, โกเลม, นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง และผู้ที่ดูคล้ายกับเคานต์แดรกคูลา, เดธเดอะกริมรีพเพอร์ และอสูรกายของแฟรงเกนสไตน์ ผู้เล่นต่อสู้กับศัตรูและบอสเหล่านี้เพื่อหยุดแผนการชั่วร้ายของคิงซารัตซ์จากการเปลี่ยนโลกของเราให้กลายเป็นอาณาจักรแห่งความตายทั่วโลก สิ่งที่แยกเกมนี้ออกจากเกมแนวบีตเอ็มอัปอื่น ๆ ก็คือชื่อของศัตรูจะไม่ปรากฏในแถบพลังชีวิตเมื่อต่อสู้กับพวกมัน
ในเวอร์ชันภาษาญี่ปุ่น เลือดและคราบเลือดจะไม่ถูกเซ็นเซอร์ (เลือดสีแดงแทนที่จะเป็นสีเขียว แต่ในเวอร์ชันต่างประเทศมีตัวเลือกในการปรับสีเลือดและระดับความรุนแรง) ในตอนท้ายของการโจมตีระยะประชิด คริสโตเฟอร์จะถือไม้กางเขนแทนจินดามณีสีน้ำเงิน อีกทั้งมีลูกศร "ไป" ที่จะพลิกเพื่ออ่านข้อความ "สู่นรก!" ในเลือด รวมถึงมีรูปภาพและบทสนทนาเพิ่มเติมในฉากตัด
ตัวละคร
[แก้]ผู้เล่นสวมบทบาทเป็นหนึ่งในสามตัวละครเอก โดยแต่ละตัวมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกันรวมถึงพลังธาตุที่ต่างกัน และเกมนี้ยังมีตอนจบสามแบบที่แตกต่างกันสำหรับตัวละครแต่ละตัว
- เจค ไวต์ (Jake White; ジェーク・ハンター) - เป็นมอนสเตอร์ฮันเตอร์ชายชาวอเมริกันที่มีแขนไซเบอร์เนติกฝ่ายรบ เจ้าของฉายา "ไซคิกไซบอร์ก" โดยเป็นตัวละครที่ทรงพลังที่สุด ธาตุประจำตัวของเขาคือสายฟ้า บางครั้งเจคสวมเสื้อแจ็คเก็ตสีแดงเมื่อเดินทาง และเขาปรากฏในสองตอนจบของเกม
- คริสโตเฟอร์ สมิธ (Christopher Smith; クリストファー・スミス) - เป็นทั้งแวมไพร์ฮันเตอร์และนักศิลปะการต่อสู้ชายชาวยุโรป เขาเป็นตัวละครที่สมดุลที่สุดโดยมีความเร็วและกำลังในระดับค่าเฉลี่ย ธาตุประจำตัวของเขาของเขาคือน้ำและน้ำแข็ง บางครั้งคริสโตเฟอร์สวมเสื้อคลุมสีน้ำตาลและหมวกเมื่อเดินทาง และเช่นเดียวกับเจคที่ปรากฏตัวในสองตอนจบของเกม
- จ้าว หงหัว (Zhao Hong Hua; 趙.紅華) - เป็นนักศิลปะการต่อสู้หญิงชาวเอเชียที่มีความเชี่ยวชาญในศิลปะลึกลับ แม้ว่าจะมีร่างขนาดเล็กเมื่อเทียบกับตัวละครอื่น ๆ แต่เธอก็คล่องตัวที่สุด ธาตุประจำตัวของเธอคือไฟ บางครั้งหงหัวสวมเสื้อคลุมสีเหลืองแบบตะวันออกเมื่อเดินทาง เธอปรากฏตัวในทั้งสามตอนจบ เนื่องจากตอนจบของเธอมีเพียงเธอและน้องสาวของเธอ ในขณะที่ฉากจบคนอื่น ๆ มีตัวละครที่เล่นได้ทั้งสามตัวปรากฏอยู่
การตอบรับ
[แก้]ในประเทศญี่ปุ่น เกมแมชชีนได้จัดอันดับไนต์สแลชเชอส์ในฉบับวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1993 ว่าเป็นหน่วยเกมอาร์เคดบนโต๊ะที่ประสบความสำเร็จสูงสุดอันดับที่เก้าของปี[4]
เกมนี้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสุดยอดวิดีโอเกมแนวบีตเอ็มอัปในอันดับที่ 20 ตลอดกาลโดยเฮฟวี.คอมใน ค.ศ. 2013[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Night Slashers remake". Nintendo Life. 14 September 2021. สืบค้นเมื่อ 26 January 2022.
- ↑ "[Beyond PlayStation] Johnny Turbo's Arcade: Night Slashers Review". 12 November 2018.
- ↑ "A Bunch of Data East Games Have Vanished from the Switch eShop". 14 December 2023.
- ↑ "Game Machine's Best Hit Games 25 - テーブル型TVゲーム機 (Table Videos)". Game Machine (ภาษาญี่ปุ่น). No. 459. Amusement Press, Inc. 15 October 1993. p. 29.
- ↑ The Top 25 Beat 'Em Up Video Games - Part 1 | HEAVY
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Night Slashers at arcade-history
- Night Slashers at VazComics