ในยามแห่งอาวุธ กฎหมายทรุดเงียบลง
"ในยามแห่งอาวุธ กฎหมายทรุดเงียบลง" (ละติน: inter arma enim silent leges) เป็นภาษิตละติน เอ่ยขึ้นครั้งแรกโดยกิแกโร นักกฎหมายชาวโรมันโบราณ โดยปรากฏในสุนทรพจน์ของเขาที่ชื่อ แด่มีโล (Pro Milone) ซึ่งต้นฉบับใช้คำว่า Silent enim lēgēs inter arma เนื่องขากในยุคของกิแกโรมีการใช้ความรุนแรงปราบปรามฝูงชนอยู่เสมอ และกลุ่มผู้ใช้อาวุธนี้ก็มักได้รับเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญต่างๆ[1][2]
ในสหรัฐ
[แก้]ในสหรัฐอเมริกา ช่วงสงครามกลางเมืองเมื่อ ค.ศ. 1861 อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา สั่งระงับสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลในอันที่จะได้รับการปล่อยจากการคุมขังที่มิชอบ และ โรเจอร์ บี. แทนีย์ (Roger B. Taney) ประธานศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา ออกนั่งบัลลังก์เป็นตุลาการศาลเคลื่อนที่ประจำรัฐเมเรอเลินด์ (Circuit Court of Maryland) มีคำวินิจฉัยใน คดีฝ่ายเดียวของแมรีแมน (Ex parte Merryman) ว่า "1. ว่า ประธานาธิบดี...มิอาจระงับเอกสิทธิ์ในอันที่จะได้รับการปล่อยจากการคุมขังที่มิชอบ และไม่อาจให้อำนาจเจ้าพนักงานทหารระงับเอกสิทธิ์เช่นนั้นด้วย 2. ว่า เจ้าพนักงานทหารหามีสิทธิจับกุมและคุมขังบุคคลผู้มิได้อยู่ในบังคับแห่งระเบียบและข้อบังคับทางการยุทธได้...เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตุลาการ และต้องอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานตุลาการด้วย"[3] [4] [5]
อย่างไรก็ดี ใน คดีฝ่ายเดียวของมิลลิแกน (Ex parte Milligan) เมื่อ ค.ศ. 1866 ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาวินิจฉัยว่า กฎหมายเรื่องสิทธิของพลเมืองจำจะต้องเงียบลงในยามสงคราม โดยกล่าวว่า "[บัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง] เหล่านี้นั้น อันที่จริงแล้ว ก็เป็นบทรัฐธรรมนูญอันใฝ่สันติ และก็เป็นดุจเดียวกับกฎหมาย [ทั้งหลาย]...ที่จำจะต้องสงบปากสงบคำลงเมื่อเผชิญหน้ากับอาวุธ..."[6] [7]
นอกจากนี้ ใน คดีระหว่างฮิระบะยะชิ กับสหรัฐอเมริกา (Hirabayashi v. United States) ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อ ค.ศ. 1943 ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกายังรับรองว่า การห้ามชนกลุ่มน้อยออกจากเคหสถานในยามวิกาลนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะประเทศชาติกำลังทำสงครามกับรัฐแม่ของชนเหล่านี้[8] ในวันนั้น ศาลดังกล่าวยังมีคำวินิจฉัยทำนองเดียวกันใน คดีระหว่างยะซุอิ กับสหรัฐอเมริกา (Yasui v. United States) ด้วย[9]
ใน ค.ศ. 1998 วิลเลียม เรห์นควิสต์ (William Rehnquist) ประธานศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวในบทความ กฎหมายมีทุกอย่าง ยกเว้นอย่างเดียว คือ เสรีภาพของพลเมืองในยามสงคราม (All the Laws but One: Civil Liberties in Wartime) ว่า ในอนาคต ศาลไม่ควรยอมรับการบั่นทอนเสรีภาพของพลเมืองในภาวะสงครามอีก เขาเน้นย้ำว่า "เป็นไปไม่ได้ และไม่มีทางจะเป็นได้เลย ที่เสรีภาพของพลเมืองจะยังให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในยามรบ ดุจเดียวกับในยามสงบ แต่ควรอย่างยิ่ง และเป็นไปได้ ที่ศาลจะใฝ่ใจให้มากขึ้นในข้อที่รัฐบาลอ้างว่าจำเป็นต้องลดทอนสิทธิของพลเมือง" เขาว่า "ถ้าทำเช่นนี้ได้ กฎหมายก็จะไม่เงียบงัน เมื่อต้องประชันกับอาวุธอีก แต่กฎหมายจะได้เปล่งสำเนียงที่ต่างออกไป"[10] [11]
ไม่ช้าไม่นานมานี้ ใน ค.ศ. 2004 แอนโทนิน สกาเลีย (Antonin Scalia) ตุลาการศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา มีคำวินิจฉัยใน คดีระหว่างแฮมดี กับรัมส์ฟิลด์ (Hamdi v. Rumsfeld) ว่า รัฐบาลสามารถกักขังพลเมืองของตนในฐานะพลรบของปัจจามิตรได้ แต่ต้องไม่ระงับสิทธิของเขาในอันจะได้รับการปล่อยจากการคุมขังที่มิชอบ สกาเลียว่า[12] [13]
"หลาย ๆ คนคงเห็นว่า เป็นการสมควร ไม่ใช่แค่เลี่ยงไม่ได้ แต่สมควรอย่างยิ่ง ที่ในยามวิกฤติของชาติอันตั้งอยู่บนจุดสุดยอดแห่งความฉุกเฉินทางการทหารนั้น เสรีภาพจักต้องเปิดทางให้แก่ความมั่นคง...และไม่ว่ารูปคดีจะเป็นเช่นไร อาจมีคนมองว่า กฎหมายควรหุบปากหรือเบาเสียงลงหน่อยในยามสงคราม แต่ไม่มีที่สำหรับมุมมองเช่นนี้ในการตีความหรือใช้บังคับซึ่งรัฐธรรมนูญอันออกแบบมาอย่างแยบคายเพื่อประเชิญหน้าและรับมือกับสงครามในประการที่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย"
เชิงอรรถและอ้างอิง
[แก้]- ↑ MacKendrick, P. The Speeches of Cicero, London, 1995
- ↑ Clark, M.E. & Ruebel, J.S. Philosophy & Rhetoric in Cicero's Pro Milone, RhM 128, 1985 (article: pp. 57–72)
- ↑ "1. That the president [...] cannot suspend the privilege of the writ of habeas corpus, nor authorize a military officer to do it. 2. That a military officer has no right to arrest and detain a person not subject to the rules and articles of war [...] except in aid of the judicial authority, and subject to its control."
- ↑ William H. Rehnquist, All the Laws But One (New York: Knopf, 1998), 27–39.
- ↑ Amnesty to Political or State Prisoners.
- ↑ "these [amendments of the Bill of Rights], in truth, are all peace provisions of the Constitution and, like all other conventional and legislative laws and enactments, are silent amidst arms, and when the safety of the people becomes the supreme law."
- ↑ Klaus, Samuel. The Milligan Case. New York: Da Capo Press, 1970.
- ↑ Hirabayashi v. United States
- ↑ "Transcript of Executive Order 9066: Resulting in the Relocation of Japanese (1942)". Our Documents. สืบค้นเมื่อ 2007-11-19.
- ↑ "It is neither desirable nor is it remotely likely that civil liberty will occupy as favored a position in wartime as it does in peacetime. But it is both desirable and likely that more careful attention will be paid by the courts to the basis for the government's claims of necessity as a basis for curtailing civil liberty," the chief justice wrote. "The laws will thus not be silent in time of war, but they will speak with a somewhat different voice."
- ↑ "All the Laws but One: Civil Liberties in Wartime". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-28. สืบค้นเมื่อ 2011-08-25.
- ↑ "Many think it not only inevitable but entirely proper that liberty give way to security in times of national crisis that, at the extremes of military exigency, inter arma silent leges. Whatever the general merits of the view that war silences law or modulates its voice, that view has no place in the interpretation and application of a Constitution designed precisely to confront war and, in a manner that accords with democratic principles, to accommodate it."
- ↑ ackson A., Niday, II (2008). "The War against Terror as War against the Constitution". Canadian Review of American Studies 38 (1): 101–117.