โอซีอานิดส์
ในประมวลเรื่องปรัมปรากรีก โอซีอานิดส์ (/oʊˈsiːənɪdz, ˈoʊʃənɪdz/; กรีกโบราณ: Ὠκεανίδες, อักษรโรมัน: Ōkeanídes, pl. of Ὠκεανίς, Ōkeanís) เป็นนิมฟ์จำนวน 3 พันตน (จำนวนนี้หมายถึง "นับไม่ถ้วน") เป็นธิดาของโอซีอานัสกับทีธิส สองเทพไททัน[1]
เนื้อหา
[แก้]ครอบครัวของโอซีอานิดส์ล้วนเกี่ยวข้องกับน้ำ โอซีอานัสเป็นบุคลาธิษฐานของแม่น้ำขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบโลก ทีธิสเป็นเทพีแห่งท้องทะเล ส่วนพี่น้องคือโพทามอย เทพแห่งแม่น้ำลำธารซึ่งมีจำนวน 3 พันตนเช่นกัน นอกจากนี้โอซีอานิดส์ยังเป็นบุคลาธิษฐานของฤดูใบไม้ผลิ[2] เฮสิโอดกล่าวว่าพวกนาง "กระจายไปไกลและกว้างขวาง" และ "รับใช้โลกและน้ำลึก"[3] ขณะที่ใน อาร์โกนอติกา ของอะพอลโลนีอัสแห่งโรดส์บรรยายว่าอาร์โกนอต (ชาวเรืออาร์โก) ซึ่งเรือเกยตื้นนอกชายฝั่งลิเบียอ้อนวอนให้ "นิมฟ์ผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งวงศ์โอชีอานัส" มอบ "น้ำพุจากก้อนหินหรือสายธารศักดิ์สิทธิ์ผุดจากผืนโลก"[4]
แต่กระนั้นโอซีอานิดส์ไม่สามารถจัดกลุ่มได้โดยง่ายหรือจำกัดเพียงหน้าที่เดียว[5] รวมถึงไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับน้ำเสมอไป[6] โอซีอานิดส์หลายตนมีความสำคัญในประมวลเรื่องปรัมปรากรีกแม้นิมฟ์ส่วนใหญ่จะถือเป็นเทพชั้นรอง เช่น มีทิส บุคลาธิษฐานของปัญญาผู้เป็นชายาองค์แรกของซูส และให้กำเนิดเทพีอะธีนา ก่อนที่ภายหลังจะถูกซูสกลืนกิน[7] ดอริส โอซีอานิดส์องค์หนึ่งเป็นเทพีแห่งทะเล[8] สติกซ์ ซึ่งเฮสิโอดบรรยายว่าเป็นโอซีอานิดส์ที่อาวุโสที่สุดและสำคัญที่สุดเป็นบุคลาธิษฐานของแม่น้ำสติกซ์ที่กั้นระหว่างโลกกับยมโลก อย่างไรก็ตามโอซีอานิดส์บางตนอย่างยูโรปาและเอเชียมีความสัมพันธ์กับพื้นดินมากกว่า[9]
โอซีอานิดส์ยังมีหน้าที่ดูแลเยาวชน[10] เฮสิโอดพรรณาว่าพวกนางเป็น "ธิดาผู้งดงามของมหาสมุทร บุตรีผู้เลอโฉมในหมู่เทพี" และเป็น "กลุ่มธิดาผู้ดูแลผู้เยาว์ร่วมกับเทพอะพอลโล ซึ่งซูสมอบหน้าที่นี้ให้"[11]
มีโอซีอานิดส์อีกหลายตนนอกเหนือจากมีทิสที่เป็นชายาหรือมารดาของเทพหลายองค์[12] เช่น ดอริสเป็นชายาของเนียรีอัสและมารดาของนิมฟ์ทะเล 50 ตนที่เรียกว่า เนียรีอิด[13] สติกซ์เป็นชายาของแพลลัสและมารดาของซีลุส ไนกี คราตอสและไบอา[14] ยูรีโนมีเป็นชายาของซูสองค์ที่สามและมารดาของคาริทีส[15] คลีมีนีเป็นชายาของไอแอพีทัสและมารดาของแอตลัส เมนีเทียส โพรมีเทียสและเอพิมีเทียส[16] อีเล็กตราเป็นชายาของธอมัสและมารดาของอีริสและฮาร์พี[17] เพอร์เซเป็นชายาของฮีลีออสและมารดาของเซอร์ซีและราชาอีอีทีสแห่งคอสคิส[18] ไอไดอาเป็นชายาของอีอีทีสและมารดาของมีดีอา[19] คัลลีโรอีเป็นชายาของไครเซออร์และมารดาของเกเรียน[20]
ชื่อ
[แก้]เฮสิโอดระบุชื่อโอซีอานิดส์ 41 ชื่อ ขณะที่หลักฐานโบราณอื่น ๆ ระบุมากกว่านั้น ชื่อโอซีอานิดส์บางตนมาจากแหล่งน้ำที่มีอยู่จริง ขณะที่บางตนประดิษฐ์ขึ้น[21] บางชื่อเกี่ยวข้องกับสิ่งที่บิดามารดาต้องการมอบให้บุตร ซึ่งตรงตามหน้าที่ของโอซีอานิดส์ที่ดูแลเยาวชน เช่น พลูโต (ความมั่งคั่ง) ไทคี (โชคดี) ไอไดอา (ความรู้) และมีทิส (ปัญญา)[22] โอซีอานิดส์บางตนมีชื่อสัมพันธ์กับสถานที่ เช่น ยูโรปา เอเชีย อีฟีรา (คอรินท์) และโรดอส (โรดส์)[23]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Hard, pp. 40–41; Tripp, s.v. Oceanids, p. 401; Grimal, s.v. Oceanus, p. 315.
- ↑ Fowler, p. 13; Most, p. 31 n. 21; Grimal, s.v. Oceanus, p. 315; West, p. 259.
- ↑ Hesiod, Theogony 365–366.
- ↑ Apollonius of Rhodes, Argonautica 9.1410–4118.
- ↑ Tripp, s.v. Oceanids, p. 401.
- ↑ Hard, p. 40; West, p. 260.
- ↑ Hesiod, Theogony 886–900; Apollodorus, 1.3.6.
- ↑ Tripp, s.v. Oceanids, p. 401.
- ↑ Fowler, pp. 13–14; Tripp, s.v. Oceanids, p. 401.
- ↑ Hard, p. 40; Larson, p. 30; Gantz, p. 28; Tripp, s.v. Oceanids, p. 401.
- ↑ Hesiod, Theogony 346–366.
- ↑ Grimal, s.v. Oceanus, p. 315. Larson, p. 7 says that the Oceanids "serve mainly as genealogical starting points".
- ↑ Hesiod, Theogony 240–264; Apollodorus, 1.2.7.
- ↑ Hesiod, Theogony 383–385; Apollodorus, 1.2.4.
- ↑ Hesiod, Theogony 907–909; Apollodorus, 1.3.1. Other sources give the Charites other parents, see Smith, s.v. Charis.
- ↑ Hesiod, Theogony 351, however according to Apollodorus, 1.2.3, another Oceanid, Asia was their mother by Iapetus.
- ↑ Hesiod, Theogony 266–269; Apollodorus, 1.2.6.
- ↑ Hesiod, Theogony 956–957; Apollodorus, 1.9.1.
- ↑ Hesiod, Theogony 958–962; Apollodorus, 1.9.23.
- ↑ Hesiod, Theogony 286–288; Apollodorus, 2.5.10.
- ↑ West, p. 260.
- ↑ Fowler, p. 13.
- ↑ Fowler, pp. 13–16.