ข้ามไปเนื้อหา

รอเบิร์ต มูกาบี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โรเบิร์ต มูกาเบ)
รอเบิร์ต มูกาบี
ภาพถ่ายของรอเบิร์ต มูกาบี
มูกาบี เมื่อ ค.ศ. 1979
ประธานาธิบดีซิมบับเว คนที่ 2
ดำรงตำแหน่ง
31 ธันวาคม ค.ศ. 1987 – 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 2017
นายกรัฐมนตรีมอร์แกน แชงกิราย (ค.ศ. 2009–2013)
รองประธานาธิบดี
ดูรายชื่อ
ก่อนหน้าเคนัน บานานา
ถัดไปเอ็มเมอร์สัน อึมนังกากวา
นายกรัฐมนตรีซิมบับเว คนที่ 1
ดำรงตำแหน่ง
18 เมษายน ค.ศ. 1980 – 31 ธันวาคม ค.ศ. 1987
ประธานาธิบดีเคนัน บานานา
รองไซมอน มูเซนดา
ก่อนหน้าอาเบล มูโซเรวา (ซิมบับเวโรดีเชีย)
ถัดไปมอร์แกน แชงกิราย (ค.ศ. 2009)
หัวหน้าและเลขาธิการสหภาพแห่งชาติแอฟริกาแห่งซิมบับเว (แนวร่วมรักชาติ)
สหภาพแห่งชาติแอฟริกาแห่งซิมบับเว (ค.ศ. 1975–1987)
ดำรงตำแหน่ง
18 มีนาคม ค.ศ. 1975 – 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 2017
ประธาน
เลขาธิการอันดับสอง
  • โจเซฟ อึมซีกา
  • จอห์น อึงโกโม
  • จอยส์ มูจูรู
  • เอ็มเมอร์สัน อึมนังกากวา
ก่อนหน้าเฮอร์เบิร์ต ชีเตโป
ถัดไปเอ็มเมอร์สัน อึมนังกากวา
ประธานสหภาพแอฟริกา คนที่ 13
ดำรงตำแหน่ง
30 มกราคม ค.ศ. 2015 – 30 มกราคม ค.ศ. 2016
ผู้นำอึงโกซาซานา ดลามีนี-ซูมา
ก่อนหน้ามุฮัมมัด วะลัด อัลฆ็อซวานี
ถัดไปอีดริส เดบี
เลขาธิการขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด คนที่ 10
ดำรงตำแหน่ง
6 กันยายน ค.ศ. 1986 – 7 กันยายน ค.ศ. 1989
ก่อนหน้าไซล สิงห์
ถัดไปยาแนซ เดอร์นอว์แชก
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
รอเบิร์ต กาเบรียล มูกาบี

21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1924(1924-02-21)
กูตามา เซาเทิร์นโรดีเชีย (ปัจจุบันคือประเทศซิมบับเว)
เสียชีวิต6 กันยายน ค.ศ. 2019(2019-09-06) (95 ปี)
โรพยาบาลเกล์นีเกิลส์ ประเทศสิงคโปร์
ที่ไว้ศพกูตามา ประเทศซิมบับเว
พรรคการเมือง
คู่สมรส
บุตร4 คน
ศิษย์เก่า
ลายมือชื่อ

รอเบิร์ต กาเบรียล มูกาบี (อังกฤษ: Robert Gabriel Mugabe; 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1924 – 6 กันยายน ค.ศ. 2019) เป็นนักปฏิวัติและนักการเมืองชาวซิมบับเว ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซิมบับเวตั้งแต่ ค.ศ. 1980 ถึง ค.ศ. 1987 และต่อมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ ค.ศ. 1987 ถึง ค.ศ. 2017 เขาเป็นเลขาธิการสหภาพแห่งชาติแอฟริกาแห่งซิมบับเว (ZANU) ตั้งแต่ ค.ศ. 1975 ถึง ค.ศ. 1980 ซึ่งต่อมากลายเป็นผู้นำแนวร่วมรักชาติ (ZANU–PF) ตั้งแต่ ค.ศ. 1980 ถึง ค.ศ. 2017 มูกาบียึดถืออุดมการณ์ชาตินิยมแอฟริกา โดยในช่วงทศวรรษ 1970 ถึง 1980 เขาได้แสดงตนว่าเป็นพวกลัทธิมากซ์–เลนิน และต่อมาในทศวรรษ 1990 เขาจึงแสดงตนว่าเป็นนักสังคมนิยมตลอดช่วงที่เหลือของการดำรงตำแหน่งของเขา

มูกาบีเกิดในครอบครัวชาวโชนาที่ยากจนในเมืองกูตามา เซาเทิร์นโรดีเชีย เขาได้รับการศึกษาที่วิทยาลัยกูตามาและมหาวิทยาลัยฟอร์ตแฮร์ในประเทศแอฟริกาใต้ จากนั้นทำงานเป็นครูในเซาเทิร์นโรดีเชีย นอร์เทิร์นโรดีเชีย และกานา ด้วยความไม่พอใจต่อการปกครองของชนกลุ่มน้อยผิวขาวในดินแดนบ้านเกิดภายใต้จักรวรรดิบริติช มูกาบีจึงหันมาเชื่อมั่นในลัทธิมากซ์และเข้าร่วมกลุ่มชาตินิยมแอฟริกาที่เรียกร้องให้มีรัฐอิสระที่ควบคุมโดยประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นชนผิวดำ หลังจากแสดงความคิดเห็นต่อต้านรัฐบาล เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง และถูกจำคุกในระหว่าง ค.ศ. 1964 ถึง ค.ศ. 1974 หลังจากพ้นโทษ เขาได้หลบหนีไปยังประเทศโมซัมบิกและก้าวขึ้นเป็นผู้นำของสหภาพแห่งชาติแอฟริกาแห่งซิมบับเว พร้อมทั้งนำกลุ่มในการทำสงครามโรดีเชียเพื่อต่อต้านรัฐบาลชนผิวขาวของเอียน สมิธ เขาจำใจเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพในสหราชอาณาจักรซึ่งนำไปสู่ความตกลงแลนแคสเตอร์เฮาส์เพื่อยุติสงคราม มูกาบีนำพรรคแนวร่วมรักชาติไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 1980 และเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อประเทศที่ในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นซิมบับเว ได้รับเอกราชและได้รับการรับรองในระดับนานาชาติ รัฐบาลของเขาดำเนินการขยายระบบสาธารณสุขและการศึกษา และแม้เขาจะแสดงความปรารถนาที่จะสร้างสังคมตามแบบสังคมนิยม แต่ก็ยึดถือแนวทางเศรษฐกิจกระแสหลักเป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องให้มีการปรองดองทางเชื้อชาติของมูกาบีไม่สามารถหยุดยั้งการอพยพของชนผิวขาวที่เพิ่มขึ้นได้ ในขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์กับโจชัว อึงโกโม และสหภาพประชาชนแอฟริกาแห่งซิมบับเว (ZAPU) ก็เลวร้ายลง ในเหตุการณ์กูคูราฮุนดี (Gukurahundi) ที่เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1982–1987 กองพลน้อยที่ 5 ของมูกาบีทำการปราบปรามฝ่ายต่อต้านที่เกี่ยวข้องกับสหภาพประชาชนในมาตาเบเลแลนด์ (Matabeleland) ซึ่งคร่าชีวิตพลเรือนชาวอึงเดเบเลกว่า 20,000 คน ในระดับนานาชาติ เขาส่งกองกำลังเข้าร่วมสงครามคองโกครั้งที่สอง และดำรงตำแหน่งเลขาธิการขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (ค.ศ. 1986–1989), ประธานองค์การเอกภาพแอฟริกา (ค.ศ. 1997–1998) และประธานสหภาพแอฟริกา (ค.ศ. 2015–2016) ด้วยความมุ่งมั่นต่อการปลดปล่อยอาณานิคม มูกาบีจึงให้ความสำคัญกับการกระจายที่ดินของชาวไร่ชาวนาผิวขาวให้แก่ชนผิวดำที่ไม่มีที่ดิน โดยเริ่มจากการซื้อขายที่ดินตามความสมัครใจ แต่ด้วยความไม่พอใจกับความล่าช้าในการกระจายที่ดิน เขาจึงสนับสนุนให้ชาวซิมบับเวผิวดำยึดไร่นาของชนผิวขาวด้วยความรุนแรงนับตั้งแต่ ค.ศ. 2000 การผลิตอาหารลดลงอย่างรุนแรง นำไปสู่ความอดอยาก เศรษฐกิจตกต่ำ และการถูกบีบบังคับจากต่างประเทศ กระแสต่อต้านมูกาบีมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่เขายังคงชนะการเลือกตั้งใน ค.ศ. 2002, ค.ศ. 2008, และ ค.ศ. 2013 ผ่านการรณรงค์ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง การโกงเลือกตั้ง และการดึงฐานเสียงชนบทชาวโชนา จนกระทั่งใน ค.ศ. 2017 สมาชิกพรรคของเขาเองได้รัฐประหารโค่นล้มเขา และแต่งตั้งเอ็มเมอร์สัน อึมนังกากวา อดีตรองประธานาธิบดีขึ้นเป็นผู้นำแทน

มูกาบีผู้ซึ่งครอบงำการเมืองซิมบับเวมาเกือบสี่ทศวรรษกลายเป็นที่ถกเถียงกันในหลายแง่มุม แง่มุมหนึ่งได้ยกย่องเขาว่าเป็นวีรบุรุษปฏิวัติของการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยแอฟริกาที่ช่วยปลดปล่อยซิมบับเวจากลัทธิอาณานิคมบริเตน จักรวรรดินิยม และการปกครองภายใต้ชนกลุ่มน้อยผิวขาว แต่ขณะเดียวกันก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเผด็จการที่ต้องรับผิดชอบต่อการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาด การทุจริตในวงกว้าง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการเหยียดชนผิวขาว อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ตำแหน่งประธานาธิบดี

[แก้]

มูกาบีเป็นผู้นำที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อเข้ารับตำแหน่งใน ค.ศ. 1987 ผลจากการเปลี่ยนนโยบายเป็นสังคมนิยมอย่างกะทันหัน ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของซิมบับเวลดลงอย่างมาก ประกอบกับการเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ในปี ค.ศ. 2008 อันเป็นผลเนื่องมาจากมาตราคว่ำบาตรจากนานาชาติ อย่างไรก็ตามจากรายงานของธนาคารโลก ยังมีมุมมองในแง่ดีของพัฒนาการทางสังคมในแง่อัตราการถือครองที่ดินของเกษตรกรรายย่อยที่ขยายตัวขึ้นอย่างมากในช่วงปี ค.ศ. 1980 ถึง ค.ศ. 1990[1]

รัฐประหารในประเทศซิมบับเว ค.ศ. 2017

[แก้]

ในวันที่ 6 พฤศจิกายน ประธานาธิบดีมูกาบีวัย 93 ปี ปลดรองประธานาธิบดีเอ็มเมอร์สัน มนังกากวา หลังการแย่งชิงอำนาจเพื่อเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างมนังกากวากับเกรซ มูกาบี ภรรยาของรอเบิร์ต มูกาบี[2] กองทัพซิมบับเวเริ่มก่อการรัฐประหารในวันที่ 14 พฤศจิกายน กักขังมูกาบีไว้ในบ้านพักในวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2017 และประกาศว่าเป็นการกระทำเพื่อจัดการกับอาชญากรรอบตัวมูกาบี[3][4][5]

ในวันที่ 19 พฤศจิกายน มูกาบีถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้นำพรรค ZANU-PF และพรรคได้แต่งตั้งมนังกากวาขึ้นเป็นผู้นำพรรคแทน[6] เกรซ มูกาบีถูกขับออกจากพรรค[7] พรรคขีดเส้นตายให้มูกาบีลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีภายในเที่ยงของวันรุ่งขึ้นหรือไม่ก็จะถูกดำเนินการถอดถอน[8]

หลังเลยกำหนดเส้นตายและรัฐสภาเตรียมดำเนินการถอดถอน ในที่สุดมูกาบีก็ประกาศลาออกในวันที่ 21 พฤศจิกายน[9]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Zimbabwe Achieving Shared Growth" (PDF). World Bank. สืบค้นเมื่อ 28 June 2008.
  2. "Grace Mugabe warns of coup plot" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). Additional political analysis by Shingai Nyoka of BBC News Harare. BBC News. 6 October 2017. สืบค้นเมื่อ 14 November 2017.{{cite news}}: CS1 maint: others (ลิงก์)
  3. CNN, David McKenzie, Brent Swails and Angela Dewan,. "Zimbabwe in turmoil after apparent coup". CNN. สืบค้นเมื่อ 15 November 2017.{{cite news}}: CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์)
  4. "Zimbabwe's Robert Mugabe confined to home as army takes control". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 15 November 2017.
  5. "Stunned Zimbabweans face uncertain future without Mugabe". สืบค้นเมื่อ 21 November 2017.
  6. "Ruling party sacks Mugabe as leader". BBC. 19 November 2017. สืบค้นเมื่อ 19 November 2017.
  7. correspondent, Jason Burke Africa; Graham-Harrison, Emma (20 November 2017). "Chaos in Zimbabwe after Mugabe fails to announce expected resignation". Theguardian.com. สืบค้นเมื่อ 20 November 2017.
  8. "Robert Mugabe, in Speech to Zimbabwe, Refuses to Say if He Will Resign". The New York Times. 19 November 2017. สืบค้นเมื่อ 20 November 2017.
  9. "Zimbabwe's President Mugabe 'resigns'" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). BBC News. 21 November 2017. สืบค้นเมื่อ 21 November 2017.