โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ
อาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ | |
ที่ตั้ง | ถนนบำรุงเมือง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร |
---|---|
พิกัด | 13°45′07″N 100°29′54″E / 13.7518750°N 100.4984662°E |
ความเป็นมา | |
สร้าง | พ.ศ. 2438 |
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่ | |
ผู้บริหารจัดการ | บริษัทรัจนากรพร็อบเพอร์ตี้ |
การเปิดให้เข้าชม | จำกัด |
สถาปัตยกรรม | |
รูปแบบสถาปัตยกรรม | สถาปัตยกรรมคลาสสิกและสถาปัตยกรรมวิกตอเรีย |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | อาคารบำรุงนุกูลกิจ |
ขึ้นเมื่อ | 17 มีนาคม พ.ศ. 2542 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | โบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร |
เลขอ้างอิง | 0000056 |
โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจเป็นอดีตโรงพิมพ์ในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2438 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือกันว่าเป็นเป็นโรงพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย[1][2][3] โรงพิมพ์ก่อตั้งขึ้นโดยหลวงดำรงธรรมสาร (มี ธรรมาชีวะ) ปลัดกรมอัยการ ก่อนที่จะออกจากราชการมาทำธุรกิจโรงพิมพ์เต็มตัว[4] โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจเป็นธุรกิจรับพิมพ์หนังสือแบบเรียน[5] หนังสือธรรมะ หนังสือที่ระลึกงานศพ และหนังสือราชการ รวมถึงราชกิจจานุเบกษาซึ่งเคยตีพิมพ์อยู่จนถึงปี พ.ศ 2504 หลังรัฐบาลได้จัดตั้งสำนักพิมพ์ของราชการขึ้นเอง[1] โรงพิมพ์ดำเนินการโดยลูกหลานของผู้ก่อตั้งเรื่อยมาจนถึงรุ่นที่สี่ก่อนจะปิดตัวลงไปเมื่อราว พ.ศ. 2530[4]
โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจถือเป็นหนึ่งในบรรดาโรงพิมพ์ที่มีเจ้าของเป็นชาวไทยที่เปิดตัวขึ้นภายหลังการชยายตัวของตลาดหนังสือในสยามจากนโยบายการเผยแพร่ความรู้ของหอพระสมุดวชิรญาณที่ส่งเสริมการนำต้นฉบับหนังสือไทยบนใบลานให้กับโรงพิมพ์เอกชนไปจัดพิมพ์เอง[5]
ในปี พ.ศ.2442 โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจตีพิมพ์ หนังสือแบบเรียนเร็ว พระนิพนธ์ในกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 10 ซึ่งเป็นหนังสือเรียนภาษาไทยเล่มแรกที่มีมีการกำกับชื่อประกอบตัวอักษรไทย ก ถึง ฮ ครบทั้ง 44[6] ในช่วงวิกฤตการณ์กบฏบวรเดช โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจเป็นหนึ่งในโรงพิมพ์เอกชนที่อาสาพิมพ์คําแถลงการณ์ของรัฐบาลเพื่อต่อต้านการก่อกบฏแจกจ่ายประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย[7]
อาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ
[แก้]อาคารโรงพิมพ์ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2438 ตั้งอยู่บนถนนบำรุงเมือง และเป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากรในชื่อ "อาคารบำรุงนุกูลกิจ" นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542[8] ปัจจุบันอาคารอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทรัจนากรพร็อบเพอร์ตี้ และใช้งานเป็นโกดังของร้านสังฆภัณฑ์และพระพุทธรูปในพื้นที่[1] และด้านหน้าของอาคารเป็นที่จอดรถ กระทั่งในปี พ.ศ. 2565 ได้เปลี่ยนมาเป็นร้านกาแฟชั่วคราวของ Craftsman Roastery ซึ่งอดีตเคยทำการอยู่ที่บ้านอาจารย์ฝรั่ง อดีตบ้านพักของศิลป์ พีระศรี และจะเปิดให้บริการเป็นเวลา 8 เดือนนับตั้งแต่ 5 กุมภาพันธ์[2]
อาคารโรงพิมพ์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนมีความสูงสองชั้น หลังคาทรงปั้นหยา ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมเป็นแบบผสมผสานสถาปัตยกรรมคลาสสิกและสถาปัตยกรรมวิกตอเรีย[1] ตกแต่งด้วยไม้และปูนเป็นลวดลายเหนือหน้าต่างและประตู ปัจจุบันอาคารตั้งอยู่ในพื้นที่ปิดที่ล้อมรอบด้วยอาคารพาณิชย์อื่นและมีพื้นที่ทางเข้าที่คับแคบ[3]
ระเบียงภาพ
[แก้]-
รายละเอียดบานประตู-หน้าต่าง
-
รายละเอียดบานประตู-หน้าต่าง
-
พื้นที่ร้าน Craftsman Roastery
-
ภายนอกขณะแสดงไฟยามค่ำคืนเป็นพิเศษใน Bangkok Design Week 2022
-
ภายในอาคารขณะจัดแสดงชิ้นงานใน Bangkok Design Week 2022
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 โลจน์ นันทิวัชรินทร์ (2022-02-04). "Craftsman at Bamrungmueng Pop-up Café ป๊อปอัพคาเฟ่ในอาคารโบราณยุค ร.5 แห่งถนนบำรุงเมือง ปลุกกลิ่นอายมาเฟียสำอางในสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกและวิกตอเรียน". The Cloud. สืบค้นเมื่อ 2022-02-05.
- ↑ 2.0 2.1 Ruaytanapanich, Kenika (2022-02-05). "พาชมไฮไลท์ในงาน Bangkok Design Week 2022 ปีนี้จะมีอะไรห้ามพลาดอีกต้องมาดู". Timeout Bangkok. สืบค้นเมื่อ 2022-02-05.
- ↑ 3.0 3.1 "กู้ชีพมรดกสถาปัตยกรรม โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ". มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ. สืบค้นเมื่อ 2022-02-05.
- ↑ 4.0 4.1 ราเมศ พรหมเย็น, บ.ก. (2021). ติดเกาะกับตึกเก่า (PDF). กรุงเทพมหานคร: มิวเซียมสยาม. ISBN 9786168162118.
- ↑ 5.0 5.1 ประชา สุวีรานนท์ (September 2002). "๑๐ ตัวพิมพ์ กับ ๑๐ ยุคสังคมไทย". นิตยสารสารคดี. สืบค้นเมื่อ 2022-02-05.
- ↑ "แกะรอยอักษรไทย "ฌ" จาก "จินดามณี" ถึงรัตนโกสินทร์". ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน (Matichon Academy). สืบค้นเมื่อ 2022-02-05.
- ↑ พรภิรมณ์ เอี่ยมธรรม (2020-06-21). "หนังสือพิมพ์และการต่อสู้ ภายหลังรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476". สถาบันปรีดี พนมยงค์. สืบค้นเมื่อ 2022-02-05.
- ↑ "ประกาศกรมศิลปากร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 1999-03-17. สืบค้นเมื่อ 2022-02-05.