ข้ามไปเนื้อหา

เริม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โรคเริม)
เริม
(Herpes simplex)
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10A60, B00, G05.1, P35.2
ICD-9054.0, 054.1, 054.2, 054.3, 771.2
DiseasesDB5841 33021
eMedicinemed/1006
MeSHD006561
โรคเริมบริเวณริมฝีปากล่าง

โรคเริม (อังกฤษ: Herpes simplex) โรคเริมเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อ "Herpes simplex" ซึ่งเชื้อไวรัสตัวนี้มีอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดที่ทำให้เกิดแผล (cold sore) ที่พบบริเวณริมฝีปาก ทั้งบนและล่าง หรือมุมปาก พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และชนิดที่มักจะพบเริมบริเวณอวัยวะเพศ พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ลักษณะอาการแบ่งได้เป็นหลายระยะ โดยจะเริ่มจากความรู้สึกคันหรือเจ็บยิบๆบริเวณที่จะเกิดแผล แล้วจะมีผื่น กลายเป็นกลุ่มของตุ่มน้ำใสซึ่งภายหลังจะรวมตัวกันอยู่บนผิวหนังประมาณ 1-2 วัน จากนั้นตุ่มน้ำใสนี้ จะแตกออก และตกสะเก็ดแต่บางรายอาจเป็นนานกว่านั้นเกือบถึง 1 สัปดาห์ ทั้งนี้เราไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสเริมได้เด็ดขาด แต่เชื้อจะมีระยะพักตัว ซึ่งมักพักตัวอยู่ในเส้นประสาท และก่อให้เกิดตุ่มใสขึ้นอีกได้เสมอๆ ซึ่งขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น ภูมิคุ้มกันลดลง ความเครียดทางกายหรือจิตใจ ช่วงประจำเดือน เป็นต้น[1]

ชนิดของไวรัสเริม

[แก้]

ในทางการแพทย์สามารถแยกเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคเริมเป็น 2 ชนิดคือ

  • 1. Herpes simplex virus type I : HSV-I มักทำให้กิดแผลบริเวณริมฝีปาก หรือ ในช่องปาก หรือบริเวณใดก็ได้เหนือสะดือ
  • 2. Herpes simplex virus type II : HSV-II ทำให้เกิดโรคเริมบริเวณอวัยวะเพศของทั้งชายและหญิง
  • ทั้งนี้ ไวรัสทั้งสองชนิดสามารถติดต่อในบริเวณที่ต่างจากปกติได้ เช่น HSV-I ก่อให้เกิดแผลที่อวัยวะเพศ

การติดต่อ

[แก้]

เริมทั้ง 2 ชนิดนี้ ติดต่อกันได้ทางการสัมผัสโดยตรง เช่น การใช้แก้วน้ำร่วมกัน การจูบกันและติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโดยการสัมผัสสิ่งของที่ผู้มีเชื้อใช้ เช่น ผ้าเช็ดตัว ช้อน เป็นต้น[2]

การเกิดโรคซ้ำ

[แก้]

อาการแผลของเริมนี้อาจเกิดเป็นซ้ำได้อีก เนื่องจากเชื้อไวรัสเริมนี้จะเข้าไปหลบซ่อนตัวอยู่ในปมประสาท (ganglion) และมักจะทำให้เป็นเริมซ้ำที่บริเวณเดิม หรือใกล้เคียงกับตำแหน่งเดิมเสมอ ปัจจัยที่ทำให้เป็นเริมซ้ำได้อีกมีดังนี้

  1. การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
  2. ความเครียด วิตกกังวล เช่น ทำงานหนัก ใกล้สอบ เป็นต้น
  3. ความเจ็บป่วย ช่วงที่สุขภาพอ่อนแอ ทรุดโทรม ไม่ค่อยสบาย จะกลับเป็นเริมได้อีก
  4. อากาศร้อน แสงแดด
  5. ภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ระหว่างมีประจำเดือน

ลักษณะของโรคเริม

[แก้]

เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายประมาณ 6-8 วัน จะทำให้ผิวบริเวณนั้นเกิดตุ่มน้ำพองใสเป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มละ 2-10 เม็ด ซึ่งเป็นช่วงที่สามารถติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้ ผู้ป่วยจะมีอาการคันหรือแสบร้อนรอบ ๆ ตุ่มใสนี้ ซึ่งต่อมาจะแตกออกเป็นแผลตื้น ๆ หลายแผลติดกัน ตกเสก็ด และหายไปในที่สุด ซึ่งมักจะไม่ก่อให้เกิดแผลเป็น

เริมอวัยวะเพศ

[แก้]

โรคเริมอวัยวะเพศนี้ มีอัตราการติดต่อสูง ซึ่งโดยมากมักจะเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่ การใช้ถุงยางอนามัยก็ไม่สามารถป้องกันได้ทีเดียว

อาการของเริมอวัยวะเพศ

[แก้]

มักจะเป็นรุนแรงในช่วงการติดเชื้อครั้งแรกโดยเริ่มปรากฏขึ้นประมาณ 2-3 วัน ถึง 3 อาทิตย์ หลังจากได้รับเชื้อ คือ มีอาการปวดแสบปวดร้อน ระคายเคืองบริเวณที่จะเกิดตุ่มแผล และอาจมีอาการปวดศีรษะ เป็นไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อก่อน เมื่อเวลาผ่านไปอีกประมาณ 10 วัน จะปรากฏมีตุ่มใส ๆ เกิดขึ้นและมีอาการเจ็บปวดมาก โดยเฉพาะในผู้ป่วยหญิงอาการของโรคจะเกิดขึ้นนาน 3-6 อาทิตย์ หลังจากนั้นไวรัสอาจจะยังอาศัยและซ่อนตัวอยู่ในร่างกายอีกในสภาวะพักตัว และทำให้เกิดเป็น ๆ หาย ๆ มากหรือน้อยแล้วแต่บุคคล เช่น เมื่อมีอารมณ์เครียด มีประจำเดือน หรือมีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น

ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคเริมอวัยวะเพศ

[แก้]
  1. งดเพศสัมพันธ์ หรือสัมผัสโดยตรงกับแผลจนกระทั่งแผลหายดีแล้ว พยายามละเว้นการแตะต้องกับบริเวณแผล เพราะอาจจะแพร่ไปสู่บริเวณร่างกายได้
  2. สวมชั้นในชนิดฝ้าย ละเว้นการสวมเครื่องนุ่งห่มหรือกางเกงที่คับหรือยีนส์ สตรีควรงดสวมกางเกงชนิดทำจากไนล่อนหรือลินิน
  3. สตรีที่เป็นเริมอวัยวะเพศ โอกาสเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อการตรวจ PAP SMEAR 1-2 ครั้งทุกเดือน
  4. ทุกครั้งที่เปลี่ยนแพทย์ ให้เล่าประวัติการเกิดโรคเริมของตนเองกับแพทย์ที่ท่านมารักษาใหม่
  5. สตรีตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจเกี่ยวกับเริมเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงใกล้คลอด ถ้าสงสัยว่าจะเป็นโรคเริมควรรีบปรึกษาแพทย์

วิธีการรักษา

[แก้]
  • สามารถใช้ยาระงับความเจ็บปวดได้ เช่น พาราเซตตามอล ไอบูโปรเฟน ทั้งนี้ ห้ามใช้ แอสไพริน ในเด็ก เพราะอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการเรย์ ที่ทำให้ถึงแก่ความตายได้
  • การใช้ยาต้านไวรัสนี้ ปัจจุบันมี 3 ชนิด คือ
  1. Acyclovir
  2. Famciclovir
  3. Valaciclovir

ซึ่งเป็นยากลุ่มที่ฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ โดยควรใช้ให้เร็วที่สุดก่อนที่ไวรัสจะเพิ่มจำนวน คือ ช่วงที่เริ่มรู้สึกคันๆ เจ็บๆ ที่บริเวณที่น่าจะเป็น หรือเคยเป็นมาก่อน (ช่วงที่ตุ่มน้ำใสแตกออกเป็นแผลคือ ช่วงที่ไวรัสหยุดเพิ่มจำนวน) และถ้านอนหลับพักผ่อนเพียงพอ อาจหายเองได้ใน 2-3 วัน

สรุปข้อแตกต่างของโรคเริมและโรคงูสวัด

[แก้]

เปรียบเทียบความแตกต่างของโรคเริมและโรคงูสวัด

โรคเริม โรคงูสวัด
1. เกิดจากเชื้อไวรัส H. simplex 1. เกิดจากเชื้อไวรัส Varicella-zoster virus
2. กลุ่มของตุ่มน้ำใส ไม่เรียงตามแนวเส้นประสาท 2. กลุ่มของตุ่มน้ำใส เรียงตัวตามแนวประสาท (dermatome)
3. กลับเป็นซ้ำได้อีก 3. เป็นครั้งเดียว มักไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก
4. อาการเจ็บแสบเล็กน้อยกว่ามาก 4. อาการปวดแสบร้อนรุนแรงกว่ามาก
5. ไม่มีอาการปวดดังกล่าว 5. อาจมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาท ในภายหลังได้ (post herpetic neuralgia)

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  1. วิธีการตรวจหาเริมและการปฏิบัติตัวหลังทราบผลตรวจ