โยชิโอะ ทาจิบานะ
โยชิโอะ ทาจิบานะ | |
---|---|
ทาจิบานะขณะลงนามในหนังสือยอมจำนนที่หมู่เกาะโองาซาวาระเมื่อ ค.ศ. 1945 | |
เกิด | 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1890 จังหวัดเอฮิเมะ จักรวรรดิญี่ปุ่น |
เสียชีวิต | 24 กันยายน ค.ศ. 1947 กวม | (57 ปี)
สถานะทางคดี | ประหารชีวิตแล้ว |
พิพากษาลงโทษฐาน | อาชญากรรมสงคราม |
บทลงโทษ | ประหารชีวิต |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | ญี่ปุ่น |
แผนก/ | กองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่น |
ประจำการ | 1913–1945 |
ชั้นยศ | พลโท |
บังคับบัญชา | กองพลผสมอิสระที่ 1 กองพลทหารราบที่ 109 |
การยุทธ์ | สงครามโลกครั้งที่สอง |
โยชิโอะ ทาจิบานะ (ญี่ปุ่น: 立花 芳夫; โรมาจิ: Tachibana Yoshio; 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1890 – 24 กันยายน ค.ศ. 1947) เป็นนายทหารยศพลโทในกองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บังคับบัญชากองทหารที่รักษาเกาะชิจิจิมะ หมู่เกาะโองาซาวาระ ภายหลังเกิดอุบัติการณ์ชิจิจิมะ จึงถูกไต่สวนและพิพากษาประหารชีวิตด้วยข้อหาอาชญากรรมสงครามซึ่งมีการทรมาน วิสามัญฆาตกรรม และการกินเนื้อมนุษย์อันกระทำต่อเชลยศึกชาวอเมริกัน
ประวัติ
[แก้]ชีวิตช่วงต้นและราชการทหาร
[แก้]ทาจิบานะเป็นชาวจังหวัดเอฮิเมะ หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกจักรวรรดิญี่ปุ่น รุ่นที่ 25 จนสำเร็จใน ค.ศ. 1913 ช่วงแรกที่รับราชการทหารนั้นไม่มีผลงานโดดเด่นนัก ครั้นเดือนกันยายน ค.ศ. 1916 ถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 1917 เขาเข้าเรียนพลศึกษาที่โรงเรียนทหารบกโทยามะ ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1923 เขาได้รับเลื่อนยศเป็นร้อยเอก และในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1924 ได้บัญชาการกองพันกองหนึ่งในกรมทหารราบที่ 12 กองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่น ภายหลัง เขาได้ปฏิบัติงานในหน่วยเสนาธิการของกองพลที่ 11 กองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่น และได้เป็นผู้แทนกองทัพบกในวิทยาลัยพณิชยการทากามัตสึ ครั้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1930 เขาได้ยศพันตรี และในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1935 ได้ยศพันโท ในกลางคริสต์ทศวรรษ 1930 เขาเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานอยู่ในกองทัพบกจักรวรรดิหมั่นโจวกั๋ว จนเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1939 เขาได้บังคับบัญชากรมทหารราบที่ 65 กองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่น และได้รบในยุทธการจ้าวหยาง–อี๋ชางในระหว่างสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง
ใน ค.ศ. 1942 ทาจิบานะได้เข้าประจำในหน่วยเสนาธิการของกองบัญชาการรักษาภูมิภาคฮิโรชิมะ และในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1943 เขาได้รับเลื่อนยศเป็นพลตรี ครั้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1944 เขาได้บังคับบัญชากองพลผสมอิสระที่ 1 กองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งมีภารกิจเป็นการรักษาหมู่เกาะโองาซาวาระมิให้ถูกกองทัพอเมริกันรุกรานในช่วงเตรียมปฏิบัติการดาวน์ฟอลเบื้องต้น ครั้นวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1945 เขาได้รับเลื่อนยศเป็นพลโท และไดับังคับบัญชากองพลทหารราบที่ 109 กองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่น
สงครามโลกครั้งที่สอง
[แก้]กลาง ค.ศ. 1945 ฝ่ายสัมพันธมิตรปิดกั้นน่านน้ำ ทำให้กองทหารญี่ปุ่น 25,000 กองบนเกาะชิจิจิมะขาดเสบียง แต่ไม่ถึงกับอดอยาก แม้จะต้องลดอัตราส่วนข้าวรายบุคคลในแต่ละวันลงจาก 400 กรัมเป็น 240 กรัมก็ตาม กระทั่งปลายปีนั้น เกิดเหตุการณ์ซึ่งภายหลังเรียกว่า อุบัติการณ์ชิจิจิมะ อันเป็นเหตุให้หน่วยเสนาธิการของทาจิบานะเริ่มกินเนื้อมนุษย์[1][2] ในเหตุการณ์นั้น ทหารอากาศอเมริกัน 9 คนถูกยิงเครื่องบินตกขณะเข้าทิ้งระเบิดที่เกาะชิจิจิมะ 8 คนถูกจับ ส่วนคนที่ 9 หนีรอดไปได้ คือ จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช นักบินอายุ 20 ปี ซึ่งภายหลังได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ[3][4] ในช่วงเวลาหลายเดือน มีการทยอยประหารทหารที่ถูกจับ โดยอ้างว่า เป็นคำสั่งของทาจิบานะ ซึ่งเป็นที่รับรู้ของหน่วยเสนาธิการของเขาว่า เป็นผู้บังคับบัญชาที่เหี้ยมโหดและติดสุรา เมื่อประหารแล้ว มีการส่งศพไปให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายแพทย์ชำแหละ แล้วส่งตับกับอวัยวะอื่น ๆ ไปให้ทหารเสนาธิการชั้นผู้ใหญ่บริโภค[5]
เมื่อสิ้นสงครามใน ค.ศ. 1945 ทาจิบานะกับหน่วยเสนาธิการของเขาถูกเจ้าหน้าที่อเมริกันจับกุมและเนรเทศไปยังกวมเพื่อรับการไต่สวนฐานกระทำอาชญากรรมสงครามอันเกี่ยวเนื่องกับอุบัติการณ์ชิชิจิมะ การไต่สวนมีในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1946[6] แต่การกินเนื้อมนุษย์ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศในครั้งนั้น และทาจิบานะถูกตั้งข้อหา "ขัดขวางไม่ให้มีการปลงศพอย่างสมเกียรติ" แทน[5] ที่สุดแล้ว ทาจิบานะ กับจำเลยคนอื่น ๆ อีก 4 คน ถูกพิพากษาให้ประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ[7] ทั้ง 5 คนถูกประหารและฝังศพไว้ที่กวมโดยไม่ระบุชื่อหลุมศพไว้
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- ค.ศ. 1945 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์ซุยโฮ ชั้นที่ 2[8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Japanese War Crimes Index
- ↑ list of 7 of 8 POWs killed
- ↑ Laurence, Charles (26 October 2003). "George Bush's comrades eaten by their Japanese PoW guards". The Telegraph. สืบค้นเมื่อ 15 November 2014.
- ↑ Hearn, Sorties into Hell
- ↑ 5.0 5.1 Time, Unthinkable Crime, September 16, 1946.
- ↑ Maga. Judgment at Tokyo
- ↑ Laurence, Charles (26 October 2003). "George Bush's comrades eaten by their Japanese PoW guards". The Telegraph. London. สืบค้นเมื่อ 5 April 2016.
- ↑ 『官報』第5427号「叙任及辞令」February 19, 1945
บรรณานุกรม
[แก้]- Hearn, Chester (2005). Sorties Into Hell: The Hidden War on Chichi Jima. The Lyons Press. ISBN 1-59228-687-9.
- Maga, Timothy P. (2001). Judgment at Tokyo: The Japanese War Crimes Trials. University Press of Kentucky. ISBN 0-8131-2177-9.
- Fukagawa, Hideki (1981). (陸海軍将官人事総覧 (陸軍篇)) Army and Navy General Personnel Directory (Army). Tokyo: Fuyo Shobo. ISBN 4829500026.
- Hata, Ikuhiko (2005). (日本陸海軍総合事典) Japanese Army and Navy General Encyclopedia. Tokyo: St. Martin's Press. ISBN 4130301357.