โน กึม-ซ็อก
โน กึม-ซ็อก | |
---|---|
โน กึม-ซ็อก ค.ศ. 1953 | |
ชื่อเกิด | โน กึม-ซ็อก |
เกิด | 10 มกราคม ค.ศ. 1932 เทศมณฑลชิงโก มณฑลคังเกียวนัง อาณานิคมเกาหลี จักรวรรดิญี่ปุ่น (เทศมณฑลชินฮึง จังหวัดฮัมกย็องใต้ ประเทศเกาหลีเหนือในปัจจุบัน) |
เสียชีวิต | 26 ธันวาคม ค.ศ. 2022 เดย์โทนาบีช รัฐฟลอริดา สหรัฐ | (90 ปี)
แผนก/ | กองทัพอากาศประชาชนเกาหลี กองทัพเรือประชาชนเกาหลี |
ประจำการ | 1949–1953 |
ชั้นยศ | เรืออากาศเอก |
การยุทธ์ | สงครามเกาหลี |
โน กึม-ซ็อก | |
โชซ็อนกึล | 노금석 |
---|---|
ฮันจา | 盧今錫 |
อาร์อาร์ | No Geum-seok |
เอ็มอาร์ | No Kŭm-sŏk |
โน กึม-ซ็อก (เกาหลี: 노금석, 10 มกราคม ค.ศ. 1932 – 26 ธันวาคม ค.ศ. 2022)[1][2] เป็นวิศวกรและนักบินชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีผู้เกิดในเกาหลีเหนือและเป็นอดีตทหารอากาศในกองทัพอากาศประชาชนเกาหลีระหว่างสงครามเกาหลี[3][4] สมัยที่เกาหลีเป็นอาณานิคมญี่ปุ่น โนต้องใช้ชื่อภาษาญี่ปุ่นว่าโอกามูระ คิโยชิ[3] หลังสิ้นสุดสงครามเกาหลีได้ประมาณสองเดือน โนแปรพักตร์โดยขับเครื่องบินมิก-15 หนีไปเข้ากับเกาหลีใต้และต่อมาได้ขอลี้ภัยทางการเมืองไปยังสหรัฐ[5] และเปลี่ยนมาใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า เคนเน็ท เอช. โรว์ (อังกฤษ: Kenneth H. Rowe)
ชีวิตวัยเด็ก
[แก้]โนเกิดเมื่อวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1932 ในเทศมณฑลชิงโก มณฑลคังเกียวนัง อาณานิคมเกาหลี จักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศเกาหลีเหนือ
โนสนับสนุนญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สองและตั้งใจว่าอยากจะเป็นนักบินรบคามิกาเซะ แต่พ่อของโนคัดค้านอย่างรุนแรง ต่อมาแนวคิดของโนเปลี่ยนไป โดยเปลี่ยนจากสนับสนุนจักรวรรดิญี่ปุ่นไปสนับสนุนชาติตะวันตกแทน แม้ว่าโนจะต้องแอบซ่อนแนวคิดของเขาเอาไว้เพราะเกรงกลัวอันตราย
โนเล่าว่าขณะที่เขาเป็นวัยรุ่น ช่วงต้น ค.ศ. 1948 โนได้ไปฟังสุนทรพจน์โดยคิม อิล-ซ็อง และพบว่าคิม อิล-ซ็องเป็นนักพูดที่ดี แม้ว่าตัวโนเองจะต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ตาม[6] โนจำเป็นต้องซ่อนแนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์เพราะหวาดเกรงอันตรายถ้าเกิดว่าเจ้าหน้าที่ของเกาหลีเหนือรับรู้
อาชีพทางการทหาร
[แก้]สงครามเกาหลี
[แก้]สมัยสงครามเกาหลี โนสมัครเข้าประจำการในกองทัพเรือประชาชนเกาหลีและได้รับคัดเลือกหลังจากที่เขาโกหกระหว่างทดสอบคัดเลือก อาจารย์สอนประวัติศาสตร์ของเขาชื่นชอบเขามากและช่วยเหลือเขาให้ได้รับคัดเลือกเป็นนักบิน โนได้รับการฝึกหัดบินที่แมนจูเรีย โดยระหว่างสงครามเกาหลีโนได้ปฏิบัติหน้าที่กว่า 100 ภารกิจ[7]
การแปรพักตร์
[แก้]เช้าวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1953 โนขับเครื่องบินมิโคยัน-กูเรวิชค์ มิก-15 ออกจากสนามบินซูนันชานกรุงเปียงยางมุ่งหน้าไปยังฐานทัพอากาศคิมโพในเกาหลีใต้[8][9] เที่ยวบินของเขาจากเกาหลีเหนือสู่เกาหลีใต้ใช้เวลา 17 นาที เครื่องบินมิก-15 ทำความเร็วสูงสุดถึง 1,000 km/h (620 mph)[10] โดยที่เขาไม่ถูกเครื่องบินของเกาหลีเหนือไล่ตามเพราะว่าอยู่ไกลเกินไป และกองกำลังของสหรัฐทั้งทางอากาศและทางบกก็ไม่สามารถสกัดกั้นเขาได้[10] เรดาร์ของสหรัฐใกล้กับฐานทัพอากาศคิมโพขณะนั้นอยู่ระหว่างปิดซ่อมแซมตามวาระ[4] โนลงจอดผิดฝั่งและเกือบชนกับเครื่องบินนอร์ทอเมริกัน เอฟ-86 เซเบอร์ที่กำลังจะลงจอดจากอีกด้านหนึ่ง[9][10] เรืออากาศเอกเดฟ วิลเลียมหักเครื่องบินหลบและอุทานเสียงดังออกทางวิทยุว่า "นี่มันเครื่องบินมิก!"[10] เรืออากาศเอกจิม ซัตตัน นักบินอเมริกันอีกคนหนึ่งซึ่งกำลังขับเครื่องบินวนรอบสนามบินกล่าวว่าถ้าโนพยายามลงจอดฝั่งที่ถูกต้อง โนอาจจะถูกจับได้และยิงตก[10] โนขับเครื่องบินมิกเข้าสู่ช่องจอดระหว่างเครื่องบินเซเบอร์สองลำ ลงจากเครื่องบิน ฉีกภาพของคิม อิล-ซ็องซึ่งอยู่ในห้องนักบินทิ้ง และยกมือขึ้นแสดงอาการยอมจำนนต่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของฐานทัพอากาศ[10]
หลังจากถูกควบคุมตัวและสอบสวนโดย "แอนดี บราวน์" (ชื่อเกิด อาร์เซนี ยันคอฟสกี) เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของซีไอเอ โนได้รับเงิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (เท่ากับ $1,138,806 ในปี 2023) จากปฏิบัติการมูลาห์เนื่องจากเป็นนักบินคนแรกที่แปรพักตร์มาพร้อมกับเครื่องบินที่สามารถใช้การได้ โนกล่าวว่าไม่เคยได้ยินปฏิบัติการดังกล่าวมาก่อนที่จะแปรพักตร์[11] โนอธิบายว่านักบินเกาหลีเหนือไม่ได้รับอนุญาตให้ฟังวิทยุของเกาหลีใต้ ใบปลิวชวนเชื่อเกี่ยวกับปฏิบัติการนี้ไม่เคยถูกโปรยลงในแมนจูเรียซึ่งเป็นที่ที่นักบินประจำการ และแม้ว่านักบินจะทราบเรื่องนี้ นักบินก็ไม่เข้าใจมูลค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ เขากล่าวว่าปฏิบัติการนี้น่าจะได้ผลดีกว่านี้ถ้าจูงใจด้วยการเสนองานและที่พำนักในอเมริกาเหนือ ประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ก็ไม่เห็นด้วยกับการจ่ายเงินตอบแทนผู้แปรพักตร์[12]
เครื่องบินมิก-15 ของโน
[แก้]เครื่องบินมิก-15 ลำที่โนขับหนีออกมาถูกนำไปที่โอกินาวะ ถูกทำสีและลวดลายในแบบของกองทัพอากาศสหรัฐ เรืออากาศเอกเอช. อี. คอลลินส์ และนาวาอากาศตรีชัก เยเกอร์ได้รับมอบหมายให้นำเครื่องขึ้นบินทดสอบ เครื่องบินลำดังกล่าวถูกลำเลียงไปยังฐานทัพอากาศไรต์-แพตเทอร์สันหลังจากที่ทางสหรัฐประกาศให้เจ้าของมารับคืนแล้วไม่มีผู้ใดตอบ[8] เครื่องบินดังกล่าวจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกองทัพอากาศสหรัฐ
ชีวิตหลังแปรพักตร์
[แก้]โนอพยพสู่สหรัฐเมื่อ ค.ศ. 1954 และได้พบกับรองประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน โนเปลี่ยนชื่อหลังเข้าสู่สหรัฐเป็นภาษาอังกฤษว่า "เคนเน็ท เอช. โรว์" (อังกฤษ: Kenneth H. Rowe)[1] ต่อมาใน ค.ศ. 1957 เขาได้พบกับแม่ของเขาซึ่งแปรพักตร์เข้าสู่เกาหลีใต้ก่อนหน้านี้เมื่อ ค.ศ. 1951 เขาจบการศึกษาระดับปริญญาด้านวิศวกรรมเครื่องกลและไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยเดลาแวร์[4] สมรสกับผู้อพยพชาวเกาหลีเหนือจากแคซ็อง มีลูกชายสองคนและลูกสาวหนึ่งคน และต่อมาโนหรือโรว์ได้เป็นพลเมืองสหรัฐ[4] เขาทำงานเป็นวิศวกรการบินให้กับกรัมแมน โบอิง สายการบินแพนแอม เจเนรัลไดนามิกส์ เจเนรัลมอเตอร์ เจเนอรัลอิเล็กทริก ล็อกฮีด ดูปองต์ และเวสติงเฮาส์[4][11][13]
เรืออากาศเอกรี อึน-ย็อง ครูฝึกนักบินประจำกองทัพอากาศประชาชนเกาหลีผู้ซึ่งแปรพักตร์เข้าสู่เกาหลีใต้สองปีหลังจากโนกล่าวว่าพลเอกวัน-ย็อง ผู้บัญชาการในกองทัพอากาศประชาชนเกาหลีถูกปรับลดยศ เพื่อนและผู้บังคับบัญชาของโนห้าคนถูกประหารชีวิต หนึ่งในนั้นได้แก่เรืออากาศเอกคุน ซู-ซ็อง เพื่อนสนิทของโน พ่อแม่ของโนจะถูกลงโทษด้วย แต่ว่าพ่อของโนเสียชีวิตในสงครามเกาหลี ส่วนแม่ของโนแปรพักตร์เข้าสู่เกาหลีใต้ไปแล้วก่อนหน้านี้ ชะตากรรมของญาติพี่น้องคนอื่นของโนไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด[14]
นักบินประจำฝูงบินเดียวกันกับโนคนหนึ่งได้แก่ โอ กึก-รย็อล ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นพลเอกและถูกจับตาว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลอันดับสองในเกาหลีเหนือ[4][11]
ค.ศ. 1996 โนเขียนหนังสือชื่อ อะมิก-15 ทูฟรีดอม เล่าเรื่องราวการแปรพักตร์และชีวิตของเขาในเกาหลีเหนือ[1] โนดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศประจำมหาวิทยาลัยการบินและอวกาศเอมบรี–ริดเดิลเป็นเวลา 17 ปีก่อนจะเกษียณอายุเมื่อ ค.ศ. 2000[4][15] เบลน ฮาร์เดินเขียนหนังสือชีวประวัติของโนชื่อ เดอะเกรตลีดเดอร์แอนด์เดอะไฟเตอร์ไพลอต: เดอะทรูสตอรีออฟเดอะไทแรนต์ฮูครีเอตทิดนอร์ทโคเรียแอนด์เดอะยังลูเทแนนต์ฮูสโตลฮิสเวย์ทูฟรีดอม ออกตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2015[16] ฮาร์เดินสัมภาษณ์โนเพื่อทราบข้อมูลใหม่ด้วยตัวเอง[17]
ชีวิตส่วนตัว
[แก้]โนพูดได้สามภาษา ได้แก่อังกฤษ ญี่ปุ่น และเกาหลี เขาพักอาศัยอยู่ที่เดย์โทนาบีช รัฐฟลอริดา จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 2022 สิริอายุ 90 ปี[2] โนกล่าวว่าเขาไม่เคยนึกเสียดายเลยแม้แต่ครั้งเดียวที่เลือกแปรพักตร์จากเกาหลีเหนือมาใช้ชีวิตใหม่ในสหรัฐ[3] ขณะที่โนเสียชีวิตครอบครัวของเขาประกอบด้วยภรรยา ลูกสาว ลูกชายคนเล็ก และหลานชายหนึ่งคน[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 Rowe, Kenneth H. (No Kum-sok); Osterholm, J. Roger (1996). A MiG-15 to Freedom. McFarland & Company Inc. ISBN 0-7864-0210-5. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 24, 2023. สืบค้นเมื่อ 2013-09-22.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Goldstein, Richard (2023-01-05). "Kenneth Rowe, Who Defected From North Korea With His Jet, Dies at 90". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 6, 2023. สืบค้นเมื่อ 2023-01-06.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 "This Florida man escaped from North Korea in a MiG-15 fighter jet". Public Radio International (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 23, 2018. สืบค้นเมื่อ 2018-11-04.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 Lowery, John (July 2012). "Lt. No". Air Force Magazine. The Air Force Association. 95 (7). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 16, 2019. สืบค้นเมื่อ 2013-05-14.
- ↑ "America's $100,000 Deal with a North Korean Defector". POLITICO Magazine (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 5, 2018. สืบค้นเมื่อ 2018-11-04.
- ↑ "North Korean Defector No Kum Sok (Kenneth Rowe) & Author Blaine Harden". March 31, 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-12 – โดยทาง www.youtube.com.
- ↑ Richard Conn (2013-07-27). "Former MiG pilot remembers flight to freedom". The Daytona Beach News-Journal. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 13, 2017. สืบค้นเมื่อ December 13, 2017.
- ↑ 8.0 8.1 "The Story of the MiG-15 On Display". Factsheets. National Museum of the United States Air Force. 2015-05-12. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 7, 2016. สืบค้นเมื่อ 2016-06-06.
- ↑ 9.0 9.1 "The MiG-15's role during the Korean War". 2015-03-14. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 5, 2015. สืบค้นเมื่อ 2015-10-22.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 Harden (2015), Chapter 11, Part 3
- ↑ 11.0 11.1 11.2 "PsyWarrior.com "Operation Moolah - The Plot To Steal A MIG-15"". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-03. สืบค้นเมื่อ 2006-01-11.
- ↑ Harden (2015), Chapter 11, Part 5
- ↑ "Leadership". Red Star Aviation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-28.
- ↑ Harden (2015), Chapter 11, Part 4
- ↑ Zenobia, Keith (September 2004). "Ken Rowe, a.k.a. No Kum-Sok: A MiG-15 to Freedom" (PDF). Pine Mountain Lakes Aviation Association Newsletter. p. 1. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ March 4, 2016. สืบค้นเมื่อ 2013-09-22.
- ↑ Terry Hong (2015-03-19). "'The Great Leader and the Fighter Pilot' presents a riveting slice of North Korean history". Christian Science Monitor. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-12. สืบค้นเมื่อ 2015-03-21.
- ↑ "The Great Leader and the Fighter Pilot: The True Story of the Tyrant Who Created North Korea and the Young Lieutenant Who Stole His Way to Freedom". Publishers Weekly. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 2, 2015. สืบค้นเมื่อ 2015-03-21.
บรรณานุกรม
[แก้]- Blaine Harden (2015). The Great Leader and the Fighter Pilot: The True Story of the Tyrant Who Created North Korea and The Young Lieutenant Who Stole His Way to Freedom. Viking. ISBN 978-0670016570.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ No Kum-Sok