โดมความร้อน
โดมความร้อน หรือ ปรากฏการณ์โดมความร้อน (อังกฤษ: heat dome หรือ heat dome phenomena) เป็นปรากฏการณ์ทางภูมิอากาศในบริเวณหนึ่งซึ่งกำลังประสบกับความร้อนที่อบอ้าว ซึ่งมวลอากาศร้อนถูกกักและกดไว้ราวกับถูกกดทับด้วยฝาครอบขนาดมหึมา การกักมวลอากาศร้อนให้ปกคลุมบริเวณเป็นเวลานานเกิดจาก มวลอากาศแรงดันสูงในชั้นบรรยากาศ (ความกดอากาศสูง) ดันอากาศร้อนลงมาสู่ระดับพื้นดินด้านล่าง และจากการถูกปิดล้อมทำให้มวลอากาศร้อนนั้นไม่สามารถไหลเวียนระบายออกตามปกติ โดยเฉพาะที่เกิดจากการเปลี่ยนทิศทางขนานใหญ่ของกระแสลมกรด เช่น วกอ้อมขี้นไปทางขั้วโลก รูปแบบของการไหลคดงอจนโอบล้อมเกือบเป็นวงรอบกว้างขึ้นเรื่อย ๆ สร้างความกดอากาศสูงภายในและทำให้มวลอากาศร้อนเดิมในบริเวณ "ติด" อยู่กับที่และสะสมความร้อนเพิ่มมากขึ้น จนก่อตัวเป็นโดมความร้อน[1]
โดมความร้อนยังอาจเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อน[2][3] โดมความร้อนต่างจากปรากฏการณ์เกาะความร้อนซึ่งเป็นภูมิอากาศจุลภาคที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวของแผ่นดิน (การเปลี่ยนแปลงทางภูมิประเทศและการพัฒนาเมือง) ที่ปิดกั้นการระบายอากาศร้อน และกักความร้อนไว้ในเขตเมือง
การก่อตัว
[แก้]ในสภาวะอากาศที่แห้งแล้งในฤดูร้อน มวลของอากาศร้อนส่วนมากก่อตัวขึ้น (ทั้งจากการดูดซับและคายความร้อนของพื้นผิวดินในยามกลางวันในฤดูร้อนตามปกติ และมวลอากาศร้อนจากมหาสมุทร) ตามภาวะปกติอากาศร้อนจะลอยตัวขึ้น แต่ในกรณีนี้มวลอากาศที่มีแรงดันสูงชั้นบรรยากาศ (ที่เรียก ความกดอากาศสูง) กดดันให้มวลอากาศร้อนที่พยายามลอยตัวเหล่านี้ลงสู่พื้นด้านล่าง ทำให้อุณหภูมิร้อนขึ้นและหนาแน่นขึ้นอีก ความกดอากาศสูงทำหน้าที่เป็นเสมือนโดม (ฝาครอบ) ทำให้ทุกสิ่งที่อยู่ด้านล่างร้อนขึ้นเรื่อย ๆ[1]
โดยทั่วไปความกดอากาศสูงจากชั้นบรรยากาศที่ก่อให้เกิดโดมความร้อน เกิดขี้นจากการปิดกั้นกระแสลมบริเวณหนี่งไม่ไหลเวียนตามปกติ (บล็อก) โดยเฉพาะที่เกิดจากการเปลี่ยนทิศทางขนานใหญ่ของกระแสลมกรด[4] ให้พัดอ้อมไปทางขั้วโลก (poleward shift) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะก่อตัวขึ้นในช่วงปีลานีญา การเปลี่ยนทิศทางของการไหลของกระแสลมกรดให้คดงอ บิดเบี้ยวเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ จนกระแสลมกรดพัดเกือบเป็นวงรอบ โอบล้อม และกักมวลอากาศไว้ แนวกระแสลมกรดที่โอบล้อมนี้สร้างความกดอากาศสูงภายในและทำให้มวลอากาศร้อนเดิมในบริเวณ ติดนิ่งอยู่กับที่ก่อตัวเป็นโดมความร้อน[1]
บล็อก
[แก้]การคงสภาพอากาศอยู่ในบริเวณเดิมนานหลายวัน หรือแม้แต่หลายสัปดาห์ และกีดกันระบบสภาพอากาศอื่น ๆ ไม่ให้เคลื่อนผ่านบริเวณนี้ (กระแสอากาศที่เคลื่อนมาบริเวณนี้ต้องไหลอ้อมไปทางอื่น) จึงเรียกสภาวะอากาศเช่นนี้ว่า "บล็อก" (block) กระแสลมกรดที่ไหลคดงอมีรูปร่างคล้ายตัวอักษรกรีก Ω (Omega) จึงถูกเรียกว่า โอเมก้าบล็อก (Omega block)
คลื่นความร้อน
[แก้]โดยปกติที่อากาศที่ร้อนจะลอยตัวสูงหรือถูกพัดไปบริเวณอื่นด้วยกระแสลม แต่ที่บริเวณใจกลางของโอเมก้าบล็อกมีความกดอากาศสูงจากการปิดล้อม ซึ่งทำให้อากาศระดับสูงกดอัดอากาศที่อยู่ต่ำกว่าลงไป มวลอากาศร้อนที่ถูกกดลงไปทำให้อากาศใกล้ผิวพื้นร้อนขึ้น สิ่งมีชีวิตที่อยู่บนพื้นจะรับรู้ความร้อนนี้และเรียกว่า “คลื่นความร้อน”
ภาวะโลกร้อนและความถี่ในการก่อตัว
[แก้]โดมความร้อนอาจเกิดบ่อยขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามโดมความร้อนนี้เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางภูมิอากาศที่เกิดขึ้นได้ยากที่สุด และการวัดคำนวนความถี่จากสถิติการบันทึกข้อมูลอุณหภูมิในอดีตเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากเช่นกัน โดยจากสภาพอากาศในปัจจุบันคาดว่าความเป็นไปได้ที่จะเกิดโดมความร้อนประมาณ 1 ครั้งในทุก 1,000 ปี[5] เจฟ เบราร์เดลลี (Jeff Berardelli) นักอุตุนิยมวิทยาของช่องซีบีเอส ให้ความเห็นว่าโอกาสที่จะประสบโดมความร้อนนี้มีโอกาส 1 ครั้งใน 10,000 ปี[6]
แนวโน้มในโลกอนาคต จากการสันนิษฐานเมื่อโลกที่มีภาวะโลกร้อน 2 องศาเซลเซียส (คือ ร้อนกว่าปัจจุบัน 0.8 องศาเซลเซียส และมีการคงระดับการปล่อยมลพิษเท่ากับระดับปัจจุบันไปถึงช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 2040) คาดว่าอุณหภูมิในโดมความร้อนจะร้อนขึ้น และโดมความร้อนอาจเกิดขึ้นประมาณทุก ๆ 5–10 ปี[5]
ผลกระทบ
[แก้]คลื่นความร้อนภายในโดมความร้อนมีผลกระทบด้านสุขภาพโดยตรงและโดยอ้อม อุณหภูมิที่สูงจะเพิ่มโความเสี่ยงให้ร่างกายอ่อนเพลียจากความร้อนและเป็นลมแดด อาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น อาจทำให้ยาบางชนิดมีประสิทธิภาพน้อยลง และอาจทำให้สภาพทางระบบประสาทแย่ลง เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง[3] ภาวะมลพิษทางอากาศยังเลวร้ายลงเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งเพิ่มอัตราการเกิดก๊าซอันตราย เช่นโอโซน สารมลพิษทางอากาศทำให้ปัญหาหัวใจและปอดรุนแรงขึ้น[3] รวมทั้งอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในตอนกลางคืนอาจทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีโดมความร้อนเกิดความเครียดจากความร้อนสะสมที่สูงขึ้น ก่อความเสี่ยงต่อปัญหาต่าง ๆ เช่น การขาดน้ำและรบกวนการนอนหลับ ซึ่งอาจทำให้ความเหนื่อยล้าและความเครียดจากอุณหภูมิสูงขึ้น[3]
โดมความร้อนดักคลื่นความร้อนในภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศในบ้าน ต้องอพยพไปยังที่พักพิงฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัยจากความร้อนจัด (ซึ่งอาจถึงตายได้)[7]
ในปี ค.ศ.2003 ในยุโรปโดมความร้อนที่เกิดจากสภาวะคลื่นความร้อนที่เกิดเป็นเวลานาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึงกว่า 70,000 คน และเกิดภาวะภัยแล้งที่ยาวนานมีผลกระทบกับพืชบางชนิดที่ต้องอาศัยช่วงอากาศเย็น มีผลผลิตลดลง เช่น ข้าวสาลี[8]
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2021 คิงเคาน์ตี้ของรัฐวอชิงตัน ซึ่งรวมถึงซีแอตเทิล ได้เผยแพร่แผนที่ความร้อน แสดงให้เห็นว่าย่านที่พักอาศัยซึ่งหนาแน่นกว่าและมีต้นไม้ปกคลุมน้อยกว่า ประสบกับผลกระทบที่เป็นอันตรายจากความร้อนที่รุนแรงกว่าย่านที่พักอาศัยที่หนาแน่นน้อย[7] เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (รวมถึงภาวะโลกร้อน) ทำให้คลื่นความร้อนสูงมีแนวโน้มมากขึ้นในอนาคต เมืองที่เสี่ยงต่อสุขภาพของประชากรจากผังเมือง การดูแลสิ่งแวดล้อม (เช่นการจัดการสวนและจำนวนต้นไม้ การจัดการไฟป่า) อาจต้องเผชิญกับอันตราย[7]
ตัวอย่างปรากฏการณ์
[แก้]ตามลำดับเวลา
- คลื่นความร้อนในอเมริกาเหนือ ค.ศ. 2012
- คลื่นความร้อนในอเมริกาเหนือ ค.ศ. 2018
- คลื่นความร้อนในยุโรป ค.ศ. 2018 ในสเปนและโปรตุเกสทำสถิติอุณหภูมิสูงสุด คือ 47.3 และ 47.4 องศาเซลเซียสตามลำดับ เกิดภัยแล้งอย่างหนักในออสเตรียแถบตอนเหนือและแถบตะวันตก สวีเดนเกิดไฟป่ากว่า 50 แห่ง[8]
- รัสเซียคลื่นความร้อน ค.ศ. 2021
- ไฟป่าบริติชโคลัมเบีย ค.ศ. 2021
- คลื่นความร้อนอเมริกาตะวันตกเฉียงเหนือ ค.ศ. 2021 คลื่นความร้อนสูงที่ทำลายสถิติในพอร์ตแลนด์และซีแอตเทิล ทำให้อุณหภูมิในทั้งสองเมืองสูงขึ้นกว่า 112 องศาฟาเรนไฮต์ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม[4] ซึ่งก่อนหน้าในเดือนมิถุนายนโดมความร้อนสร้างสภาพอากาศที่ร้อนจัดในสหรัฐอเมริกาตะวันตกเฉียงใต้ ทำลายสถิติอุณหภูมิ อุณหภูมิสูงสุดที่ 123 องศาฟาเรนไฮต์ ในปาล์มสปริงส์ และลาสเวกัสทำสถิติสูงสุดที่ 114 องศาฟาเรนไฮต์[7]
- โดมความร้อนในตะวันออกกลาง ค.ศ. 2021 ทำสถิติอุณหภูมิสูงสุดใหม่ของเดือนมิถุนายนที่ 51.8 องศาเซลเซียส ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์[9]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 "What is a heat dome?". National Oceanic and Atmospheric Administration. June 30, 2021.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ Rosenthal, Zachary (July 1, 2021). "Extreme heat". AccuWeather.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 Irfan, Umair (2021-06-23). "The surprisingly subtle recipe making heat waves worse". Vox (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ 4.0 4.1 Freedman, Andrew. "Northwest "heat dome" shows the extreme impacts of climate change". Axios (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ 5.0 5.1 "Western North American extreme heat virtually impossible without human-caused climate change – World Weather Attribution" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ Mendoza, Jordan. "It's bringing record highs to the Pacific Northwest. What is a heat dome?". USA TODAY (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 "What is a heat dome? Pacific Northwest swelters in record temperatures". Environment (ภาษาอังกฤษ). 2021-06-29.
- ↑ 8.0 8.1 ธนบุญสมบัติ, บัญชา (2018-08-11). "Cloud Lovers : Omega Block คือต้นเหตุ 'คลื่นความร้อน'ที่ยุโรป : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ". มติชนออนไลน์.
- ↑ "Remarkable Heatwave Scorches the Middle East – "Heat Dome" Phenomenon". SciTechDaily (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-06-13.